Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 

 

       สำเริง

                            สำเริง วงศ์มุณีวรณ์

 

 

 

แม้ภูมิศาสตร์ของจังหวัดสตูล จะมีเทือกเขาบรรทัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก แล้วค่อยๆ ลาดลงต่ำสู่ทิศตะวันตกออกทะเลอันดามัน โดยมีลุ่มน้ำสำคัญแค่สายสั้นๆ คือ คลองละงู คลองดุสน และคลองท่าแพ เป็นเส้นทางน้ำผ่าน กรณีน้ำท่วมน้ำหลาก จึงเป็นเหตุการณ์ปกติของจังหวัดสตูลมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

ทว่า ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมหนักหน้าห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส อำเภอควนโดน บริเวณตลาดสดตำบลฉลุง บริเวณเทศบาลเมืองสตูล บริเวณตลาดสดในตัวอำเภอละงู และบริเวณอื่นๆ ตอนต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 ปลายเดือนมีนาคม 2554 และเดือนกันยายน 2554 ย่อมยืนยันได้อย่างดีว่า เมื่อใดฝนฟ้ามรสุมปกคลุมจังหวัดสตูล เมื่อนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก จะเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวทันที

บ่ายวันหนึ่ง รถบรรทุกหลายคันจอดจอแจอยู่ตรงบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสตูล ของบริจาคน้ำดื่ม ข้าวสารอาหารแห้ง ถูกลำเลียงขึ้นเอาไปไว้บนคันรถ มีจุดมุ่งหมายปลายทางส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่กรุงเทพมหานคร

นายสำเริง วงศ์มุณีวรณ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล ปาดเหงื่อที่ชุ่มหน้าออก พร้อมกับบอกถึงการเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในจังหวัดสตูลว่า ขณะนี้จังหวัดสตูลได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2554 ขึ้นมาแล้ว มีนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ

“เราได้จัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มจังหวัดสตูลปี  2554 เสร็จแล้ว จากนั้นได้ประสานงานกับทางอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดทำแผนเฉพาะกิจฯ จัดเตรียมบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ และระบบสื่อสาร รวมถึงการติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยและป้ายแจ้งเตือนภัยพร้อมกันไปด้วย” นายสำเริง กล่าว

สำหรับจังหวัดสตูลมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 5 ชุด 50 คน แต่ละอำเภอมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วอำเภอละ 1 ชุด ชุดละ 10 คน

ในส่วนของกระบวนการเฝ้าเตือนภัยนั้น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดกระบวนการแจ้งเตือนภัยเพื่อให้การช่วยเหลือ เช่น ชลประทานจังหวัดสตูล ทำหน้าที่ตรวจเช็คสภาพลุ่มน้ำ รายงานน้ำท่าทุกพื้นที่ให้จังหวัดทราบ สถานีอุตุนิยมวิทยาสตูล ทำหน้าที่รายงานปริมาณน้ำฝน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล ทำหน้าที่ขยายผล รวบรวมข้อมูล แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์

พร้อมกันนี้ จังหวัดสตูลยังได้จัดทำป้ายและธงสัญญาณเตือนภัย พร้อมไซเรน เพื่อบอกสถานการณ์น้ำ เพราะที่ผ่านมาการแจ้งเตือนผ่านวิทยุไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยจะติดป้ายใน 3 ลุ่มน้ำสำคัญ ที่มักจะเกิดปัญหา 3 จุด จุดละ 4 – 5 แห่ง พร้อมเตือนภัยประชาชน หากต้องอพยจะติดสัญญาณสีแดงพร้อมเปิดไฟแดง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานสตูล นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจังหวัดสตูล ปี 2554 มีส่วนราชการต่างๆ เช่น ตัวแทนจากทรัพยากรน้ำภาค 8 สำนักงานชลประทานจังหวัดสตูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสตูล เป็นต้น

ในวันดังกล่าว นายสำเริง วงศ์มุณีวรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาอุทกภัยประจำลุ่มน้ำจังหวัดสตูล ปี2554 แยกเป็น คณะทำงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองดุสน คณะทำงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองท่าแพ และคณะทำงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองละงู มีหน้าที่สำรวจ วิเคราะห์ปัญหา สาเหตุของการเกิดอุทกภัยในแต่ละลุ่มน้ำ ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว

สำหรับโครงการระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย โครงการขุดลอกคลองมำบัง ช่วงตำบลควนโดน ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน ตำบลบ้านควน ตำบลควนขัน ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล กว้างประมาณ 20 เมตร ลึกประมาณ 3.50 เมตร ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

โครงการขุดลอกคลองสาขาของคลองมำบัง ช่วงตำบลควนโดน ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน ตำบลบ้านควน ตำบลควนขัน ตำบลพิมาน อำเภอเมือง กว้างประมาณ 5 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

โครงการขุดลอกคลองท่าแพ ช่วงตำบลท่าแพ ตำบลแป-ระ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าแพ กว้างประมาณ 10 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร ระยะทางประมาณ 2.50 กิโลเมตร และโครงการขุดลอกคลองสาขาของคลองท่าแพ ช่วงตำบลท่าแพ ตำบลแป-ระ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าแพ กว้างประมาณ 4 เมตร ลึกประมาณ 2.50 เมตร ระยะทางประมาณ 2.50 กิโลเมตร

โครงการขุดลอกคลองละงู ช่วงตำบลเขาขาว ตำบลกำแพง ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู กว้างประมาณ 20 เมตร ลึกประมาณ 2.50 เมตร ระยะทางประมาณ 1.50 กิโลเมตร และโครงการขุดลอกคลองสาขาของคลองละงู ช่วงตำบลเขาขาว ตำบลกำแพง ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู กว้างประมาณ 5 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

โครงการขุดลอกคูระบายน้ำริมถนนยนตการกำธร ระหว่างอำเภอควนโดน-อำเภอเมือง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 1.50 เมตร พร้อมวางท่อระบายน้ำ

โครงการขุดลอกคูระบายน้ำริมถนนสายฉลุง–ท่าแพ–ละงู ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 3 เมตร ความลึกเฉลี่ย 1.50 เมตร พร้อมวางท่อระบายน้ำ

นี่คือ ภาพคร่าวๆ ของการเตรียมการป้องกันและเตรียมรับมือภัยพิบัติ ที่จังหวัดสตูล