โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
เมื่อเวลา10.00 น.วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลปกครองสงขลา นายสมยศ วัฒนภิรมย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสงขลาออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ระหว่างนายอิสมาแล เตะและนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดี 1,2 กับกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องที่ 1, 2 คดีหมายเลขดำที่187/ 2554 คดีหมายเลขแดงที่ 235/2554 และคดีหมายเลขดำที่ 188/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 236/2554
คำพิพากษาสรุปว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชำระเงินแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1จำนวน 255,000 บาท และผู้ฟ้องที่ 2 จำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดี ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
คำพิพากษาระบุสรุปว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองไว้เป็นเวลา 9 วัน ตั้งแต่ 27 มกราคม 2551 และปล่อยตัวไปในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเกินกว่าที่พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ให้อำนาจในการควบคุมตัว ซึ่งตามมาตรา 15 ทวิ ของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถกักไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน จึงเป็นการกักตัวไว้โดยไม่ชอบด้วย
“ส่วนค่าเสียหายจากการถูกควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการละเมิด ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้เรียกความเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดี เป็นเงิน 500,000 บาท ถือว่าสูงเกินไป เพราะผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ไม่ได้ถูกควบคุมในเรือนจำและไม่ใช่ในฐานะจำเลยหรือผู้กระทำความผิด จึงเห็นควรลดเหลือกึ่งหนึ่งจำนวน 250,000 บาท” คำพิพากษาระบุ
“...การการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติรับรองไว้ อีกทั้งเมื่อเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ อันเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของบุคคลอื่น จึงควรต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และต้องแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้แก่บุคคล ซึ่งรับผลดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้” คำพิพากษาระบุ
คำพิพากษาระบุสรุปอีกว่า สำหรับค่าเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจากการรักษาพยาบาล กรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังทำร้ายผู้ฟ้องคดีทั้งสองในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ยื่นพยานหลักฐาน ได้แก่ สำเนาเวชระเบียนบันทึกตรวจโรค เลขที่ 0516385 ของโรงพยาบาลยะลา ประกอบกับภาพถ่ายบาดแผลที่สอดคล้องกัน จึ่งน่าเชื่อว่า บาดแผลตามที่แพทย์วินิจฉัยไว้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นกระทำการละเมิดตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ฟ้องที่ 1 จำนวน 5,000 บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ ว่าถูกการกระทำร้ายร่างกาย ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้
ส่วนคำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทั้งนี้นายอิสมาแล เตะ และนายอามีซี มานาก ถูกทหารควบคุมตัวขณะยังเป้นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา