Skip to main content

หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศแจ้งเตือนว่า ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2554 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ มีกำลังแรง ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส มีฝนตกชุกหนาแน่น มีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 เกิดฝนตกหนักและมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่

ที่จังหวัดปัตตานีมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ร่วมทั้งน้ำเหนือจากจังหวัดยะลาไหลลงมาสมทบทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มและติดแม่น้ำปัตตานี ในพื้นที่บ้านจางา ตำบลปะกาฮารัง อำเภอเมืองปัตตานี ระดับน้ำสูง 60 เซนติเมตร บ้านเรือนกว่า 80 หลังคาเรือน และถนนเข้าออกหมู่บ้านจมอยู่ใต้น้ำ คาดว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นอีก และทะลักเข้าท่วมในหลายตำบลของอำเภอเมืองปัตตานี ยะรัง และแม่ลาน

นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่หลายตำบลของอำเภอสายบุรี รวมทั้งในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ส่วนที่อำเภอโคกโพธิ์ น้ำได้ทะลักเข้าท่วมโรงพยาบาลโคกโพธิ์

ที่จังหวัดยะลา ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้น้ำเข้าท่วมหมู่บ้านที่เป็นที่ลุ่มหลายตำบล ประกอบด้วย อำเภอเมืองยะลา ได้แก่ พื้นที่ 5 หมู่บ้าน ในตำบลลำใหม่ หมู่ที่ 7 ตำบลลำพะยา หมู่ที่ 3,4 ตำบลพร่อน ในพื้นที่ 5 หมู่บ้านของตำบลบันนังสาเร็ง และ 3 หมู่บ้านในตำบลสะเตงนอก

ทางจังหวัดยะลา ได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่มีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำสายบุรี คือ 5 ตำบลในอำเภอรามัน เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่วนพื้นที่อำเภอกรงปินัง บันนังสตา ธารโต เบตง ยะหาและกาบัง เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม

นอกจากนี้มีผู้เสียชีวิต 1 คน คือนายมะยีดิง สาและมิง อายุประมาณ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 126/1 หมู่ที่ 7 ตำบลลำพะยา อำเภอเมือง ถูกกระแสน้ำพัดจมเสียชีวิต

 

ส่วนที่จังหวัดนราธิวาส น้ำเริ่มเข้าท่วมในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองนราธิวาสขังบ้างแล้ว ขณะที่ในพื้นที่ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ และบางส่วนของอำเภอระแงะ ตลอดจนถนนสายพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อำเภอเมืองนราธิวาส มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองนราธิวาสน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร

จังหวัดพัทลุง เกิดน้ำท่วมหนักที่สุด โดยน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ กงหรา ตะโหมด ศรีนครินทร์ ศรีบรรพต ป่าบอนและป่าพะยอม ระดับน้ำท่วมสูง 80 เซนติเมตร -1 เมตร ถนนหลายสายรถเล็กไม่สามารถผ่านไปมาได้ โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลโหมด แม่ขรี อำเภอตะโหมด ตำบลชะรัด อำเภอกงหรา ตำบลนาท่อม พญาขันต์ ปรางหมู่ ชัยบุรี โคกชะงาย เขาเจียก นาโหนด อำเภอเมือง และถนนสายเข้าอำเภอศรีบรรพต มีน้ำท่วมสูงเป็นทางยาวรถไม่สามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้

ส่วนพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา ของอำเภอเขาชัยสน บางแก้ว ปากพะยูน ควนขนุนและอำเภอเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำเหนือจากเทือกเขาบรรทัด หลายหมู่บ้านมีน้ำท่วมสูงชาวบ้านต้องใช้เรือในการเดิน

ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นหลายพื้นที่ ส่งผลให้หลายชุมชนในที่ลุ่มเริ่มมีน้ำไหลบ่าเข้าท่วมแล้ว โดยเฉพาะในอำเภอเมือง พระพรหม พรหมคีรีและท่าศาลา บางส่วน ส่วนในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชน้ำได้ไหลเข้าท่วมในหลายชุมชนที่อยู่ในแนวของคลองคูเมือง คลองท่าเรียน คลองราเมศวร์ คลองป่าเหล้า และคลองมะม่วงสองต้นแล้ว

ส่วนที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในหมู่ที่ 2 และ 3 คลื่นได้ซัดเข้าหมู่บ้าน ทำให้ต้นมะพร้าวบริเวณแนวชายฝั่งล้มหลายสิบต้น ถนนคอนกรีตที่ทอดอยู่กลางหมู่บ้านถูกคลื่นซัดพังยับเยินแตกเป็นชิ้นส่วน ส่วนกลางหมู่บ้านเต็มไปด้วยเศษซากชิ้นส่วนวัชพืช และขยะในทะเลถูกพัดมากองอยู่บนท้องถนน

ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี น้ำป่าจากเทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงได้ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บ้านนัง หมู่ที่ 4 ตำบลเวียง และหมู่ที่ 5 ตำบลป่าเวย์ อำเภอไชยา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังพื้นที่อำเภอวิภาวดี ท่าฉาง อำเภอดอนสักและอำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็นรอยต่อเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช และขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมด้วย

ที่จังหวัดตรัง น้ำท่วมขังในพื้นที่ราบลุ่ม 3 หมู่บ้าน 2 ตำบลของอำเภอเมืองตรัง เริ่มคลี่คลายหลังมีฝนตกน้อยลง โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่ม มักเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 บ้านท่าปาบ และหมู่ที่ 7 บ้านหนองเอื้อง ตำบลนาโยงใต้ หมู่ที่ 6 บ้านหมื่นราษฎร์ ตำบลโคกหล่อ ระดับน้ำโดยเฉลี่ยสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว

ที่จังหวัดสงขลา เกิดฝนและลมกระโชกแรง ทำให้ต้นไม้โค่นล้มทับบ้านเรือนชาวบ้านใน 2 หมู่บ้านของตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ ได้รับความเสียหาย 5 หลัง

กอ.รมน.ตั้ง 21 ศูนย์รับมือน้ำท่วมภาคใต้

ขณะเดียวกันกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยทหาร 21 ศูนย์ เตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน” และยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร