ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
color:#222222"> color:#222222"> เตรียม-วันชัย จิตต์เจริญ อธิบายกระบวนการเตรียมความพร้อมรับมือสึนามิของบ้านน้ำเค็ม
เรือ 2 ลำแล่นฝ่าเกรียวคลื่นเปลวแดดร้อนที่สะท้อนแสงระยิบระยับ กลิ่นไอความเค็มของน้ำทะเลฟุ้งกระจาย บรรทุกเยาวชนจิตอาสากลุ่มใหญ่กว่า 30 คนที่เดินทางกลับมาจากการร่วมปลูกป่าชายเลนในบริเวณหนึ่งของบ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงามุ่งสู่จุดหมายปลายทางชายหาดแหลมสน
ครั้นเมื่อเรือเทียบท่าบริเวณชายหาดแหลมสน อันเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม สถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของโศกนาฏกรรมแห่งพิบัติภัยจากธรรมชาติ
นายวันชัย จิตต์เจริญ สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) บ้านน้ำเค็ม ซึ่งคณะครูและเยาวชนดำเนินการโครงการส่องสว่างชุมชน เชิญมาให้เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการฯ เดินนำหน้า ก่อนชี้ให้เด็กๆกระจายกันเก็บขยะกันตามชายหาด ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางมาไม่ขาดสาย
นายวันชัย จิตต์เจริญ สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) บ้านน้ำเค็ม เล่าให้ฟังถึงการเริ่มของกระบวนการชุมชนว่า เนื่องจากชาวบ้านไม่เชื่อใจระบบหอเตือนภัยสึนามิที่ภาครัฐสร้างให้ เนื่องจากเป็นการเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์แล้ว ชุมชนจึงได้มีการดำเนินการของตัวเอง ไม่ว่า การนำข้อมูลภายในครัวเรือนต่างๆภายในชุมชนมาประมวลให้เป็นข้อมูลและแผนที่ของชุมชน
นายวันชัย เล่าอีกว่า จากนั้นจึงได้เกิดการกระบวนการเตือนภัยของชุมชน แต่ก็ไม่ได้รับการเชื่อฟังจากชาวบ้านนัก ในปี 2551 จึงมีการประสานงานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา เพื่ออบรมสมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) โดยทำการอบรมไปทั้งหมด 80 คน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมบ้านน้ำเค็ม โดยมีศูนย์ประสานฯ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือในการกู้ชีพกู้ภัย อาทิ สัญญาณเตือนภัยชนิดมือหมุน เสื้อชูชีพ เรือ เป็นต้น
“ในชุมชนจะมีเจ้าหน้าที่ของเรา เฝ้าระวังสึนามิในจุดต่างๆมีการแจ้งประสานงานกันทางวิทยุสื่อสาร และโทรศัพท์มือถือ ตลอดจนมีการรับข้อความ (SMS) ผ่านโทรศัพท์จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเมื่อมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวมีความเสี่ยงที่จะเกิดสึนามิ ทางคณะกรรมการชุดเตรียมความพร้อมจะนำมาประเมิณ วิเคราะห์สถานการณ์”
“หากวิเคราะห์แล้วมีแนวโน้มอาจจะเกิดภัยพิบัติได้ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของเราไปติดเครื่งสัญญาณเตือนภัยชนิดมือหมุนที่มี 4 เครื่อง ให้ชาวบ้านเตรียมความพร้อมในการอพยพ สำหรับจุดอพยพในบ้านน้ำเค็มนั้นจะมีอยู่ 2 จุด คือโรงเรียนบ้านน้ำเค็ม และวัดน้ำเค็ม โดยในชุมชนจะมีป้ายบอกเส้นทางหนีภัย นอกจากนี้ยังมีการซ้อมแผนการอพยพปีละ 1 ครั้งด้วย” นายวันชัย บอกถึงแนวทางในการเตรียมรับมือหากเกิดสึนามิ
ไมตรี กงไกรจักร
นายไมตรี กงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน บอกถึงการเตรียมความพร้อมในจังหวัดพังงา ว่า ขณะนี้ในจังหวัดพังงามีการจัดเวทีร่วมกันภายในจังหวัด มีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพูดคุยหารือกันในเรื่องประเด็นเกี่ยวกับภัยพิบัติ มีข้อเสนอจากเวทีว่าอยากให้มีระบบการแจ้งเตือนภัยในระดับจังหวัด เพื่อให้มีการเชื่อมต่อกัน
นายไมตรี บอกถึงการได้รับข้อมูลแจ้งเตือนภัยว่า ส่วนราชการจังหวัดพังงา และคณะกรรมการศูนย์เตรียมความพร้อมบ้านน้ำเค็ม จะได้รับข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จากนั้นจะมีการแจ้งเตือนในพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ ทางวิทยุสื่อสาร และโทรศัพท์บอกต่อถึงกัน
นายไมตรี บอกอีกว่า ที่ผ่านมามีการประสานงานกับพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ อาทิ บ้านในไร่ ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง บ้านทุ่งหว้า ตำบลคึกคัก บ้านทับตะวัน ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า โดยมีศูนย์เตรียมความพร้อมบ้านน้ำเค็ม เป็นศูนย์ประสานงานหลัก
“ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำหลากดินถล่มนั้น เชื่อมต่อกับพื้นที่ตำบลรมณีย์ ตำบลท่านา อำเภอกะปง ตำบลบางไทร ตำบลโคกเคียน อำเภอตะกั่วป่า ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด และในบางพื้นที่ของอำเภอเกาะยาว ในการประสานเตรียมความพร้อมในระดับจังหวัด”
“โดยหลักแล้ว ถ้ามีเหตุการณ์น้ำท่วมที่ไหน ทีมอาสาสมัครจากบ้านน้ำเค็ม จะไปช่วยเหลือก่อน โดยนำเรือ ตลอดจนข้าวสาร อาหารแห้ง เท่าที่จะไปช่วยได้ เนื่องจากบางที่มีความเข้มแข็งระดับชุมชนน้อย” นายไมตรี บอกถึงการพยายามเชื่อมร้อยให้เป็นเครือข่ายในระดับจังหวัด
นายไมตรี บอกว่า ขณะนี้เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน ได้ทำความร่วมมือกับจังหวัดพังงา และมูลนิธิกู้ภัยต่างๆ จะยกระดับพื้นืที่ที่เสี่ยงภัยให้มีระบบที่เข้มแข็ง ไม่ว่า ทีมอาสาสมัคร มีแผนเตรียมความพร้อม แผนผจญภัย อบรมพัฒนาทีมอาสาสมัคร
“จังหวัดพังงา ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อที่จะสามาถจัดการชุมชนเองได้ทั้งหมด ตอนนี้มีเพียงข้อมูล ที่สามารถประสานงานกับคนที่จะเข้ามาให้การช่วยเหลือได้เท่านั้น” นายไมตรี บอกถึงภาพรวมเบื้องต้นของจังหวัด
เดือนธันวาคมมาเยือนอีกครั้ง ล่วงก้าวสู่ปีที่ 7 ปี ของโศกนาฏกรรมภัยพิบัติสึนามิ ชาวบ้านน้ำเค็มบางคนเพิ่งกลับมาจากกรุงเทพมหานคร หลังจากได้สับเปลี่ยนกำลังกับคนอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม