รวยริน เพ็ชรสลับแก้ว โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
ระหว่างวันที่ 1 – 4 ธันวาคม 2554 ตัวแทนจากโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) ประกอบด้วย นายสุพจ จริงจิตร บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ นายมูฮำหมัด ดือราแม ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท ผู้ช่วยบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ และนางสาวรวยริน เพ็ชรสลับแก้ว นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เดินทางไปยังเมืองบันดา อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรด้านสื่อและองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดอาเจะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร่างเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในอนาคต
การเดินทางไปครั้งนี้ ได้รับการตอนรับและดูแลอย่างดีตลอดทั้ง 4 วัน จากนางสาว Sri Wahyuni ผู้อำนวยสถาบันวัฒนธรรมอาเจะห์ และมีนักศึกษาไทยจากจังหวัดยะลา ที่กำลังศึกษาอยู่ที่นั่นมาช่วยอีกแรงหนึ่ง ต่อไปนี้เป็นประมวลภาพภารกิจของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ในดินแดนแห่งสันติภาพ อาเจะห์ดารุสซาลาม ประเทศอินโดนีเซีย
...........
วันที่ 1 ธันวาคม 2554 เดินทางไปยังสำนักข่าวของ The Atjeh Post ซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่นของจังหวัดอาเจะห์ ภายในเมืองบันดาอาเจะห์ โดยมีผู้บริหารและผู้สื่อข่าวของ The Atjeh Post ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของสื่อและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นาย Nurlis E. Mueko เจ้าของสำนักข่าว The Atjeh Post (คนกลาง) ส่วนคนซ้ายคือนางสาว Sri Wahyuni ผู้อำนวยสถาบันวัฒนธรรมอาเจะห์
ในการพบปะครั้งนี้มีนาย Nurlis E. Mueko เจ้าของสำนักข่าว The Atjeh Post เล่าถึงการทำงานของสื่อมวลชนในอาเจะห์ ซึ่งนาย Nurlis เล่าว่าในช่วงที่มีปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มต่อสู้เพื่อเอกราชของอาเจะห์ หรือ ขบวนการ GAM ในช่วงนายซูฮาร์โต้ เป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซีย มีการใช้ปิดกั้นสื่ออย่างรุนแรง แต่กระนั้นก็ยังทำให้คนนอกพื้นที่รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นอาเจะห์ โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
นาย Nurlis เล่าว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีสื่อของคนอาเจะห์ที่อยู่นอกพื้นที่ด้วย แม้สื่อมวลชนในอาเจะห์จะไม่นำเสนอข่าวความรุนแรงและการละเมิดสิทธิภายในอาเจะห์เอง แต่ข่าวเหล่านั้นก็ถูกนำเสนอเผยแพร่นอกพื้นที่ โดยส่วนมากข่าวถูกส่งไปที่กรุงจาการ์ต้า เมืองหลวงของอินโดนีเซียและเมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ
“ครั้นเมื่ออาเจะห์มีกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้น การนำเสนอข่าวของสื่อก็จะเปลี่ยนไปจากที่เน้นเหตุการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเดียว ยังเน้นในเรื่องการตั้งคำถามว่า ทำไมต้องต่อสู้กันอีก โดยพยายามนำเสนอถึงผลกระทบและความเดือดร้องของประชาชน ความยากจนและความลำบากของชาวบ้านที่เกิดจากความรุนแรง ผลกระทบต่อเด็กและสตรี"
นาย Nurlis เล่าด้วยว่า สันติภาพในอาเจะห์ เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การสิ้นอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ และการเกิดขึ้นของคลื่นสึนามิทีทำให้กองกำลังทั้งฝ่ายรัฐบาลและขบวนการ GAM มีความเห็นอกเห็นใจผู้ประสบภัยและเกิดการช่วยเหลือกัน ซึ่งนำไปสู่การสนทนาสันติภาพ
“ในช่วงนั้น มีการรวมกลุ่มกันของสื่อมวลชนในอาเจะห์ เพื่อมาหารือร่วมกันว่า จะนำเสนอข่าวอย่างไรเพื่อในเกิดความสมานฉันท์ ไม่เน้นความต้องการของกลุ่มหรือฝ่ายใด ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายขบวนการ GAM แต่เน้นไปที่ความต้องการของประชาชน รวมทั้งความยุติธรรมที่ประชาชนได้รับ”
นาย Nurlis ย้ำในตอนท้ายว่า ตอนนี้กระแสความสนใจ ของคนในอาเจะห์ขณะนี้ก็คือประเด็นผลกระทบ ประเด็นสตรี เนื่องจากเป็นผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุด เพราะบางหมู่บ้านมีแต่ผู้หญิง เพราะผู้ชายเสียชีวิตจากการสู้รบ
จากกระแสดังกล่าว ทำให้นาย Nurlis เรียกร้องให้โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ส่งข่าวหรืองานเขียนเกี่ยวกับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เนื่องจากเป็นข่าวที่คนอาเจะห์สนใจ นำมาสู่ข้อตกลงเบื้องต้นว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข่าวระหว่างกัน
หลังการพูดคุย นางสาว Sri Wahyuni ผู้อำนวยสถาบันวัฒนธรรมอาเจะห์ ได้นำไปยังพิพิธภัณฑ์สึนามิ ภายในเมืองบันดาอาเจะห์ แต่เนื่องจากเป็นเวลา 16.00 น.เศษ ซึ่งพิพิธภัณฑ์สึนามิได้ปิดทำการแล้ว จากนั้นจึงเดินทางไปยังสุสานรวมฝังศพผู้เสียชีวิตจากสึนามิ ใกล้กับมัสยิดบัยตุลเราะห์หีมริมทะเลในเมืองบันดาอาเจะห์
สุสานรวมฝังศพชาวอาเจะห์ที่เสียชีวิตจากสือนามิ
หน้าสุสานมีป้ายสลักโองการในคำภีร์อัลกุรอ่านบทอัล-อัมบียา โองการที่ 35 เป็นภาษาอาหรับ มีคำแปลเป็นภาษาอาเจะห์ มีความหมายว่า “ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสความตาย และเรา(อัลลอฮ) จะทดสอบพวกเจ้าด้วยความชั่วและความดีและพวกเจ้าจะต้องกลับไปหาเราอย่างแน่นอน”
พร้อมทั้งยังจารึกข้อความเป็นภาษาอาเจะห์ระบุว่า “ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮ ที่นี่คือที่ฝังศพเหล่าผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวและคลื่นใหญ่ ประมาณ 14,264 คน เมื่อเช้าวันที่ 14 เดือนซุลกะอ์ดะห์ ปีฮิจเราะห์ศักราช 1325 ตรงกับวันที่ 26 ธันวาคม ปีคริสตศักราช 2004
ป้ายสลักข้อความภาษาอาเจะห์หน้าสุสานเหยื่อสึนามิ
เปาะมีมี ชาวบ้านอาเจะห์ดั้งเดิมซึ่งทำหน้าที่ขับรถ บอกว่า นับวันการเขียนภาษาอาเจะห์ยิ่งน้อยลง ส่วนในการพูดก็มักผสมกับภาษาบาอาซาอินโดนีเซีย ส่วนการเขียนภาษาอาเจะห์ด้วยอักษรยาวีแทบไม่เหลือแล้ว
วันที่ 2 ธันวาคม 2554 ทีมโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้เดินทางไปยังสำนักงานองค์กรฟื้นฟูและสันติภาพอาเจะห์ (Aceh reintegration and peace agency) เพื่อพบนาย Yarmen Dinamika บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว Serambi Indonesia ซึ่งเป็นหนังสื่อพิมพ์ชื่อดังฉบับหนึ่งของอินโดนีเซีย
นาย Yarmen Dinamika ยังเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย Syah Kuala แห่งเมืองบันดาอาเจะห์ด้วย โดยสอนวิชาสื่อสันติภาพ เขาเล่าถึงสภาพการทำงานของสื่อมวลชนในอาเจะห์ทั้งในช่วงก่อนมีบันทึกข้อตกลงสันติภาพเมื่อปี คริสตศักราช 2002 และหลังจากมีข้อตกลงสันติภาพ
นาย Yarmen พูดถึงการสร้างสันติภาพว่า มีกุญแจสำคัญสู่สันติภาพ มี 5 ประการ ได้แก่ Mean Peace คือ ความตั้งใจสันติภาพ Think Peace คือ คิดสันติภาพ Talk/Say Peace คือ พูดสันติภาพ Write Peace คือ เขียนสันติภาพ ซึ่งข้อนี้ตรงกับหน้าที่ของสื่อโดยตรง คือ การเขียนข่าว
ประการสุดท้ายคือ Do Peace คือ ทำสันติภาพ คำว่า Do หรือแปลว่า ทำ หมายถึง preventive การปกป้อง promotion การสนับสนุน rehabilitation การกอบกู้ reconciliation การปรองดอง ซึ่งเป็นคำอธิบายตามโจฮัน เกาล์ตุง (Johan Galtung) ในหนังสือชื่อ“สันติภาพโดยสันติวิธี”
ขณะเดียวกันสำนักข่าว Serambi Indonesia เองก็ได้กำหนดนิยามใหม่ของการทำข่าวสันติภาพ หรือ Peace Journalism คือ จาก 5W1H เป็น 3W5B
5W1H คือหลักการทำข่าวปกติ ที่ประกอบด้วย who what where when why how แต่ตามคำนิยามใหม่ จะรวบ 5W1H เป็น 1W คือ what happen?
ส่วน W ตัวที่ 2 คือ what that mean to me? หมายถึง คนอ่านจะได้อะไร
และ W ตัวที่ 3 คือ what should I do? แล้วฉันจะทำอะไร
ส่วน 5B มาจาก 5 Benefits หรือ ประโยชน์ 5 ประการ ได้แก่ Practical Benefit ประโยชน์ด้านการปฏิบัติ, Intellectual Benefit ประโยชน์ด้านสติปัญญา, Emotion Benefit ประโยชน์ด้านอารมณ์ความรู้สึก, Spiritual Benefit ประโยชน์ด้านจิตวิญญาณ และ Peace Benefit ประโยชน์ด้านสันติภาพ
Yarmen ได้นำไปไปผลิตเป็นหลักสูตรสำหรับใช้สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันมีการเปิดฝึกอบรมให้กับนักข่าวเป็นระยะ ซึ่งการฝึกอบรมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในช่วงเดือนเมษายนปี พ.ศ.2555 จึงมีข้อตกลงเบื้องต้นที่จะส่งผู้สื่อข่าวจากโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้เข้าร่วมอบรมด้วย
คำนิยามใหม่ในการทำข่าวสันติภาพ
คำนิยามใหม่ดังกล่าว นาย
เสร็จจากนาย Yarmen ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ทีมโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ได้เดินทางไปพบกับนาย Saifuddin Bantasam, S.H,M.A. ผู้อำนวยการศูนย์สันติศึกษาและแก้ปัญหาความขัดแย้ง มหาวิทยาลัย Syah Kuala เมืองบันดาอาเจะห์ เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพในอาเจะห์ และมุมมองความเข้าใจของคนต่างประเทศต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
Saifuddin Bantasam พูดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยว่า จากการที่ตนได้ไปพูดตามสถานที่ต่างๆ พบว่า คนต่างชาติส่วนใหญ่เข้าใจว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นความขัดแย้งทางศาสนา แต่ตนเองไม่เชื่อเช่นนั้น โดยเชื่อว่าความขัดแย้งทางศาสนาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และเชื่ออีกว่าน่าจะมาจากหลายสาเหตุ แต่ก็ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์ หรือนำไปอธิบายให้คนทั่วไปทราบ
นาย Saifuddin Bantasam
นาย
นาย Saifuddin Bantasam บอกว่า ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะไม่มีข้อมูลจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกเผยแพร่ออกมาสู่ภายนอก สื่อไม่ได้นำเสนอข่าวที่เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศที่คนนอกพื้นที่เข้าใจ จึงทำให้คนนอกไม่ทราบว่าจะเข้าไปช่วยคนในพื้นที่อย่างไร ดังนั้นจึงขอให้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ศูนย์สันติศึกษาและแก้ปัญหาความขัดแย้ง มหาวิทยาลัย Syah Kuala ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหา รวมทั้งสามารถใช้ในการอธิบายกับคนทั่วไปได้
ทีมโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ถ่ายรูปกับนายSaifuddin
ในช่วงคำวันเดียวกัน ทีมโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ได้เดินทางไปที่ร้านอาหารริมทะเลนอกเมืองบันดาอาเจะห์ เพื่อพบปะกับนาง Rukaiyah แกนนำสตรีนักกิจกรรมของอาเจะห์ ซึ่งมีบทบาทในด้านการช่วยเหลือกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างขบวนการกู้เอกราชอาเจะห์ (GAM) กับกองกำลังของรัฐบาลอินโดนีเซีย รวมทั้งกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ
นาง Rukaiyah
จากการพูดคุย พบว่า กลุ่มสตรีในอาเจะห์มีความเข้มแข็งมาก สามารถช่วยเหลือสตรีที่สามีเสียชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องการประกอบอาชีพ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองและลูกๆ ได้ โดยส่วนจะประกอบอาชีพ ตัดเย็บเสื้อผ้า ของใช้ ของฝากต่างๆ ซึ่งตลอดเส้นทางจากเมืองบันดาอาเจะห์ มักมีร้านขายของฝากประเภทเครื่องจักรสานของกลุ่มสตรีหม้ายด้วย เป็นต้น
ที่สำนักงานขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Wahana Lingkungan Hidop Indonesia หรือ WALHI ประจำอาเจะห์
วันที่ 3 ธันวาคม 2554 เดินทางไปยังสำนักงานขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Wahana Lingkungan Hidop Indonesia หรือ WALHI ประจำอาเจะห์ เพื่อรับฟังข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของอาเจะห์ โดยมี Ir.Teuku Muhammad Zulfikar, MP ผู้อำนวยการบริหารของ WALHI ประจำอาเจะห์พร้อมคณะ และนาย Firman Hidayat นักข่าวสิ่งแวดล้อม จากสำนักข่าว The Globe Journal ร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากการพูดคุยมีข้อตกลงเบื้องต้นที่จะแลกเปลี่ยนการส่งอบรมนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อม
นาย Junaidi Hanafiah คนขวาสุด
ในช่วงเย็นวันเดียวกันได้พบปะกับนายJunaidi Hanafiah ช่างภาพข่าวสันติภาพของอาเจะห์ สังกัดสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก ได้มีการแลกเปลี่ยนเรื่องการทำงานของนักข่าวและช่างภาพของอาเจะห์กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีข้อตกลงเบื้องต้นว่า นายJunaidi ขอให้ส่งข้อมูลสรุปสถานการณ์และปัญหาของการผลิตนักข่าวและการสื่อสารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเพื่อหาช่องทางในการช่วยเหลือในเรื่องการผลิตนักข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
วันที่ 4 ธันวาคม 2554 เป็นวันครบรอบของขบวนการ GAM เดิมทีมโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ได้รับการชักชวนจากสื่อในอาเจะห์ให้เข้าร่วมงานด้วย แต่เนื่องจากเกรงจะมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ชักชวนจึงล้มเลิกความคิดที่จะชวนเข้าร่วมงาน ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง
ขณะเดียวกับกำหนดการลงหมู่บ้านของอดีตขบวนการ GAM ก็ต้องล้มเลิกไปด้วย เนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพของสมาชิกในทีม จึงเป็นอันว่าภารกิจของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ในอาเจะห์สิ้นสุดลงในวันเดียวกันนั้นเอง
อาชีพหลักของชาวอาเจะห์คือทำนา