Skip to main content

อารีด้า  สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

              เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2554 ที่ห้องจาบังติกอ โรงแรมซีเอส ปัตตานี เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี จัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อการติดตามมติสมัชชาสุขภาพ วาระนโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ มีตัวแทนฝ่ายวิชาการ ประชาสังคมและภาคราชการเข้าร่วม
               นายวรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี กล่าวแสดงความเห็นในประเด็นข้อเสนอในการจัดรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นแบบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ข้อเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองในจังหวัดชายแดนใต้มีการพูดถึงสูงมาก จนไม่อาจปิดกั้นความคิดของคนในพื้นที่ได้แล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายจำนวนมากที่เอื้อต่อการปกครองที่ดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาในระดับการปฏิบัติ ซึ่งต้องแก้ไข

                  นายวรวิทย์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยการกระจายอำนาจหรือการกำหนดรูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนประเด็นกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมได้ ทั้งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้

                  นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.ออกมาบังคับใช้ได้เพียงหนึ่งปีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันเสนอว่าจะให้ศอ.บต.ไปอยู่ภายใต้การกำกับของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งตนไม่เห็นด้วย ดังนั้นทางสมาชิกวุฒิสภา พร้อมกับอีกหลายองค์กรจะเชิญนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงในเรื่องนี้ หลังวันที่ 15 มกราคม 2555
                   นายนิพนธ์ บุญญามณี ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเสนอเรื่องปัตตานีมหานคร เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมใหญ่เป็นอย่างมา ว่าทำไมชายแดนใต้ถึงต้องเป็นปัตตานีมหานคร และต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ด้วย เนื่องจากต้องผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร การที่กฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบได้ ก็ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ถ้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วย แต่ที่ประชุมวุฒิสภาไม่เห็นด้วย เรื่องนี้ก็เป็นไปไม่ได้

                   “สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจต่อสังคมใหญ่ และต้องระวังการตีความผิดๆ เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบต่อคนเสนอเรื่องนี้เอง ผมเคยส่งคนไปเตือนบุคคลเหล่านั้นแล้วว่า การที่เสนอประเด็นที่ละเอียดอ่อนนี้ต้องคำนึงความเป็นไปได้ด้วย” นายนิพนธ์ กล่าว

                   สำหรับเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อการติดตามมติสมัชชาสุขภาพ วาระนโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ มีการแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มย่อย เพื่อพิจารณาข้อเสนอตามมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 1 ประเด็นการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2551 ซึ่งมีข้อเสนอ 6 ประเด็น ได้แก่ ข้อเสนอในการจัดรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นแบบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อเสนอนโยบายด้านการปฏิรูประบบความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษา ข้อเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจ ข้อเสนอนโยบายด้านการปฏิรูปสังคม ประเพณี วัฒนธรรม และข้อเสนอนโยบายด้านสุขภาพ การแพทย์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

                   จากนั้นในช่วงบ่ายมีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ และฝ่ายราชการ ได้แก่ นายนิพนธ์ บุญญามณี ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ นายมูฮัมหมัดซุลฮัน ลามะทา ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา นายมูฮัมหมัดอารีฟีน จะปะกียา ตัวแทนพรรคมาตุภูมิ นายวรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี และนางสาวมยุเรศ อร่ามรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ มาร่วมวิพากษ์ข้อเสนอทั้ง  6 ประเด็นทั้งข้อเสนอเดิมและข้อเสนอใหม่เพิ่มเติม เพื่อกำหนอเป็นมติข้อเสนอใหม่ของสมัชชาสุขภาพ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
 

                   สำหรับข้อเสนอประเด็นการจัดรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นแบบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เสนอคือนายสุกรี หลังปูเต๊ะ เดิมได้เสนอให้มีการจัดตั้งทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัจจุบันมีการออกพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 หรือพ.ร.บ.ศอ.บต. แล้ว ซึ่งเนื้อบางส่วนพัฒนามาจากมติของสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 1

                    นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้จัดให้มีสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการ รวมทั้งในพ.ร.บ.ศอ.บต. ก็ไม่ได้กำหนดให้จัดตั้งสมัชชาดังกล่าว จึงควรเสนอให้มีสมัชชาดังกล่าว โดยภาคประชาชนเป็นฝ่ายขับเคลื่อนกระบวนการและกลไกเอง โดยการร่วมมือจากภาครัฐ ภาควิชากรและภาคการเมือง

                      ส่วนข้อเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรสภาผู้รู้ทางศาสนาหรือปราชญ์ชาวบ้านในระดับตำบล ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งที่ได้ริเริ่มการจัดตั้งสภาชูรอ หรือ สภาแห่งการปรึกษาหารือนำร่อง เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาชุมได้ค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง จึงขอเสนอให้สรรหาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมในการจัดตั้งสภาดังกล่าวขึ้นมา รวมทั้งควรกำหนดในกฎหมายท้องถิ่นอย่างชัดเจนด้วย