ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ นูรยา เก็บบุญเกิด
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
แนวคิดเรื่องเขตปกครองพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ หรือ "ปัตตานีมหานคร" ถูกหยิบยกถกเถียงกันมาหลายรัฐบาล แต่เนื้อหา และรายละเอียด ยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง มากนัก
โดยหัวใจหลักของแนวคิดนี้ ก็เพื่อกระจายอำนาจให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดโอกาสให้ปกครองกันเองมากขึ้น และหวังว่าจะช่วยให้สถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อมาเกือบ 8 ปี คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
แต่ก็มีผู้กุมอำนาจรัฐอีกไม่น้อย กลัวว่าแนวคิดนี้จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจรูปแบบของปัตตานีมหานครได้ดีขึ้น ล่าสุดทางเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับองค์กรเครือข่าย จัดเวทีสาธารณะในหัวข้อ "ปัตตานีมหานคร : ประชาชนจะได้อะไร" ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
นำโดย นายมันโซร์ สาและ ประธานฝ่ายประสานงานเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน จากศูนย์เฝ้าระวังสถาน การณ์ภาคใต้ และ นายอุดม ปัตนวงศ์ มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เป็นต้นพล.ต.ต.จำรูญอธิบายว่า แนวคิดปัตตานีมหานคร เกิดจากการที่องค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมมือกับองค์กรทางวิชาการ จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความต้องการของคนในพื้นที่กว่า 50 ครั้ง
ประกอบกับการศึกษาจากเอกสารทางวิชาการ การเดินทางไปดูงานในพื้นที่ที่ความขัดแย้งในต่างประเทศ เช่น มณฑลซินเกียง สาธารณ รัฐประชาชนจีน และเดินทางไปศึกษากระบวนการสันติภาพ ที่ประเทศอังกฤษใช้กับกองทัพสาธารณรัฐไอริช หรือ ไออาร์เอ
จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ กระทั่งสามารถกำหนดรูปแบบ หรือโมเดลการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ภายใต้รัฐธรรม นูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในชื่อ "ปัตตานีมหานคร"
พล.ต.ต.จำรูญ แจกแจงรายละเอียดและสาระสำคัญของปัตตานีมหานคร ด้วยว่า จะมีการเลือกตั้ง "ผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร" มีอำนาจในการบริหารและกำหนดนโยบาย โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง มีวาระ 4 ปี และมี "รองผู้ว่าราชการ" เป็นคนไทยพุทธไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ยังมีอำนาจแต่งตั้ง "ปลัดปัตตานีมหานคร" ทำหน้าที่บริหารราชการประจำตามนโยบาย แต่งตั้ง "ผู้อำนวยการเขต" ทำหน้าที่ประสานงานกับสภาเขต และแต่งตั้ง "หัวหน้าแขวง" 290 คน ทำหน้าที่ประสานงานกับสภาเขต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
ที่สำคัญคือมี "สภาปัตตานีมหานคร" ประกอบด้วยสมาชิก 43 คน มาจากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ 37 คน และกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ 3 คน ศาสนาอื่น 1 คน สตรี 1 คน และผู้พิการ 1 คน ทำหน้าที่เสนอและพิจารณาข้อบัญญัติ ตั้งกระทู้ถาม และตั้งคณะกรรมการด้านต่างๆ
ขณะเดียวกันก็มี "สภาเขต" ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อยเขตละ 7 คน มาจากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ มีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาเขต จัดสรรงบประมาณพัฒนาเขต
ที่ขาดไม่ได้คือ "สภาประชาชน" ประกอบด้วยสมาชิก 51 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มอาชีพ กลุ่มวัฒนธรรม และองค์กรประชาสังคม ทำหน้าที่เสนอแนะ ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานของผู้ว่าฯ และสมาชิกปัตตานีมหานคร พร้อมจัดทำรายงานประจำปี เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิต่อสภาปัตตานีมหานคร เพื่อเป็น กรรมาธิการด้านต่างๆ แนะนำรายชื่อผู้เหมาะจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ด้วยกระบวนการปรึกษาหารือ
อีกทั้งยังมี "คณะผู้แทนส่วนกลาง" 22 คน จากผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ประสานงานและแก้ไขข้อขัดแย้ง ระหว่างรัฐบาลกับปัตตานีมหานคร กำกับดูแลการบริหารให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานกลาง ให้คำปรึกษาในแง่ของข้อกฎหมาย และระเบียบต่างๆ มีจำนวน 22 คน จากผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมถึง "คณะผู้อาวุโสทางจริย ธรรม" 15 คน มาจากการเลือกตั้งของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ที่จบการศึกษาระดับซานาวีขึ้นไป ทำหน้าที่วินิจฉัยหลักการอิสลาม ตามที่ผู้ว่าฯ หรือประธานสภาฯ ร้อง ขอ ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของศาสนิกอื่น และไม่ขัดต่อบทบัญญัติตามกฎหมาย
"ต่อไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสามารถใช้ภาษามลายูท้องถิ่นควบคู่กับภาษาไทยได้ และอาจมีการนำกฎหมายอิสลาม หรือชารีอะฮ์ มาบังคับใช้เฉพาะสำหรับชาวมุสลิมได้" พล.ต.ต.จำรูญ ตั้งความหวัง
ทั้งยังอธิบายต่อว่า ปัตตานี มหานคร เป็นการหาจุดสมดุลระหว่างรัฐไทยที่ปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ขณะที่ฝ่ายขบวนการก่อการร้ายต้องการแบ่งแยกดินแดน แล้วก่อตั้งเป็นประเทศเอกราช หากชาวบ้านในพื้นที่เห็นด้วยกับการกำหนดอนาคตการเมืองการปกครองของตนเองในรูปแบบปัตตานีมหานครได้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ไปด้วย เนื่องจากฝ่ายขบวนการไม่สามารถหามวลชนไปสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน
นอกจากนี้ พล.ต.ต.จำรูญยังยกตัวอย่างการปกครองตนเองในมณฑลซินเกียง ที่มีประชากรเป็นชาวอุยกูร์ นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ว่าที่นั่นมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการมณฑล ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ตามวิถีวัฒนธรรมอิสลาม สามารถใช้ภาษาอุยกูร์ สื่อสารในที่สาธารณะได้ เช่น ใช้ในการเรียนการสอนในมหาวิทยา ลัยเขียนป้ายชื่อสถานที่ต่างๆ ด้วยภาษาอุยกูร์ มีสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุที่ใช้ภาษาอุยกูร์ภายในมณฑล เป็นต้น
"ที่ผ่านมาผมเดินทางไปบรรยายเรื่องการปกครองรูปแบบพิเศษปัตตานีมหานคร ให้คนเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และภูเก็ต ฟัง คนที่นั่นจึงเข้าใจว่า เป็นการปกครองในรูปแบบพิเศษที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่ใช่เพื่อการแบ่งแยกดินแดน ประชาชนในจังหวัดเหล่านั้น ก็พร้อมจะลงชื่อเพื่อผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร เข้าสู่รัฐสภาด้วยเช่นกัน" พล.ต.ต.จำรูญกล่าวความเป็นไปได้ของปัตตานีมหานคร
ด้าน น.ส.ปัทมา ละมะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขากฎหมายอิสลาม มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ร่วมแสดงความเห็นว่า ในช่วงแรกเข้าใจว่า ปัตตานีมหานครเป็นการแบ่งแยกดินแดน แต่หลังจากได้มาฟัง และได้ศึกษามากขึ้น จึงเข้าใจว่าเป็นการขอแบ่งอำนาจส่วนหนึ่งจากอำนาจส่วนกลางของประเทศไทย มาใช้สำหรับปกครองพื้นที่เท่านั้น
"กฎหมายภายใต้ราชอาณาจักรไทย ไม่สามารถครอบคลุมวิถีชีวิตอิสลามทั้งหมด เช่น มีบทลงโทษที่ไม่หนัก และมีความขัดแย้งกันในตัวเอง ตัวอย่างเช่น มีการออกกฎหมายต่อต้านการค้าประเวณี แต่กลับรณรงค์ให้ใช้ และโฆษณาขายถุงยางอนามัย จะยิ่งเป็นการส่งเสริมในคนผิดประเวณีมากขึ้น ถ้าหากเกิดปัตตานีมหานครขึ้น น่าจะสามารถนำกฎหมายอิสลามเข้ามาบังคับใช้ได้" น.ส.ปัทมาคาดหวัง
ขณะที่ นายมันโซร์ สาและ ประธานฝ่ายประสานงานเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร พ.ศ. ... เริ่มจากการสรุปความคิดเห็นของประชาชนจากการจัดเวทีสาธารณะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จนได้เป็นหลักการ 8 ข้อ เป็นแนวคิดพื้นฐานในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
แต่ที่ผ่านมา ร่างพ.ร.บ.ยังไม่สมบูรณ์ เพราะติดขัดเรื่องภาษาในข้อกฎหมาย จึงต้องรอให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยตรวจทานให้อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเดินสายจัดเวทีเปิดร่างพ.ร.บ. จำนวน 200 เวที เพื่อชี้ให้ประชาชนทราบถึงข้อดีและข้อเสียของการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบปัตตานีมหานคร โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนในระดับชุมชน เยาวชน และปัญญาชน
เวทีแรกจะประเดิมในงาน "ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน" จัดโดย สมัชชาปฏิรูปเฉพาะปัญหาชายแดนภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา วันที่ 4 ม.ค. 2555
และก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจ "ปัตตานีมหานคร" คือการล่ารายชื่อให้ได้อย่างน้อย 10,000 รายชื่อ ภายในเวลา 6 เดือน เพื่อนำเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหว เพื่อคืนความสงบสุขให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม 2554