ไมตรี จงไกรจักร เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ
พลันที่เกิดมหาอุทกภัยในภาคกลาง เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิก็เคลื่อนพลเข้าสนับสนุนให้การช่วยเหลือทันที
จุดแรกที่พวกเราเข้าไปคือ ศปภ. ทำให้หวนคิดถึงช่วง 5 วันแรกของสึนามิ เมื่อ 7 ปีก่อน ของบริจาคกองเป็นภูเขา มีคนใจอาสาช่วยเหลือกันมากมาย มีระบบการเบิกจ่ายโดยขั้นตอนการขออนุมัติจากคนๆ เดียว ไม่มีบัตรไม่มีสิทธิได้รับ ไม่มีคนรับรองไม่ได้ของบริจาค ระบบราชการทั้งหมดทุ่มสรรพกำลังไปกับการบริหารจัดการของบริจาค
ภาพเดิมๆ ที่คอยทิ่มแทงหัวใจผู้ประสบภัยอย่างผมตลอดมา 7 ปีเต็มๆ แล้ว ที่มันคอยทิ่มแทงอยู่ทุกครั้งยามเกิดภัยพิบัติ ระบบนี้เมื่อไหร่รัฐไทยถึงจะทบทวนสรุปบทเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงเสียที จะตายกันอีกเท่าไหร่ จะเกิดอีกสักกี่หน ถึงจะยอมจำนนต่อธรรมชาติ ยอมกระจายการจัดการ ยอมรับสิทธิชุมชน ยอมรับสิทธิความเป็นมนุษย์ ว่าเขาต้องได้รับการดูแล
“เขาประกาศให้เขตผมอพยพแล้ว เขาบอกหากไม่อพยพ เขาจะตัดความช่วยเหลือทั้งหมด เราจะทำอย่างไรกันดี” ชายคนหนึ่งลุกขึ้นถามในที่ประชุมของชุมชนเคหะบางบัว
“ป้าไม่ไปหรอก เพราะหลานพาป้าไปแล้วที่ศูนย์พักพิง เขาดูแลเราดี ป้าไม่ใช่ผู้ดี บางครั้งป้านึกว่าป้าเป็นผู้ป่วยด้วยซ้ำ เพราะเช้าตื่นมารอข้าวเช้า กลางวันนั่ง นอน รอข้าวเที่ยง บ่ายนอนพักกลางวันรอข้าวเย็น ป้าก็ว่าป้าไม่ได้ป่วยอยู่ได้ 7 วัน กลับบ้านดีกว่า มีมือมีขาทำอะไรได้อีกเยอะ” ป้าแย่งเล่าให้ฟัง แล้วคำถามก็พรั่งพรูออกมามากมาย
“เราไม่ไป เราจะอยู่อย่างไรดี เราจะเตรียมอย่างไร ทำไงดีครับ บทเรียนสึนามิจะแนะนำอะไรเราได้บ้าง” คำถามสุดท้ายที่ออกจากปากแกนนำชุมชน ทำให้ทีมเราชาไปทั้งตัวเหมือนกันว่า ประสบการณ์เราจะช่วยเขาได้แค่ไหน
“สิ่งที่เราควรทำเป็นอย่างแรกในสถานการณ์ที่มาถึงขั้นนี้แล้วนะครับ” (น้ำสูง 10 เซนติเมตร) ผมเริ่มกระบวนการเรียนรู้เลย เมื่อพวกเขาสนใจ และยืนยันที่จะอยู่ให้ได้ภายในชุมชน 1.) เราควรรวมกลุ่มกันเพื่อทำข้อมูลชุมชนเรา หากมีแล้วนะครับก็สำรวจเพิ่มเติม เช่น ตรงไหนพอจะเป็นที่พักรวมได้บ้าง อาจมีหลายจุดก็ได้ตามความเหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในชุมชน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก ผู้หญิงเปราะบาง 2.) สำรวจเสบียงว่าหากเราจะอยู่ 1 เดือนโดยตัดขาดจากโลกภายนอก เราต้องเตรียมอะไรบ้าง เท่าไหร่ และเรามีอะไรอยู่บ้างแล้ว 3.) แบ่งบทบาทหน้าที่กันในชุมชน ทีมประสานภายนอก ประสานภายใน ความปลอดภัย เวรยาม แม่ครัว ทีมอสม. (พยาบาล) ยารักษาโรค เครื่องครัว ฝ่ายสุขอนามัย 4.) เราต้องมีทีมวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารและเฝ้าระวังด้วย ต้องหาอุปกรณ์ เครื่องมืออะไรไว้บ้าง เพื่ออำนวยความสะดวก เช่น เรื่องน้ำ เรื่องไฟฟ้า เรื่องส้วม เรื่องเรือ อื่นๆ นี่คือเรื่องเบื้องต้นในการเตรียมรับมือในภาวะฉุกเฉินในขณะนี้ เราต้องลงมือเตรียมทันที รอใครไม่ได้
จากสึนามิถึงมหาอุทกภัย บทเรียนทั้งหมดที่มีพวกเราไปช่วยเหลือเฉพาะหน้า ด้านกู้ชีพ กู้ภัย ควบคู่กับการแลกเปลี่ยนช่วยให้เขาดูแลตัวเองได้ด้วย อนาคตเมื่อเข้าช่วงฟื้นฟู พวกเรามีความจำเป็นที่จะต้องไปหนุนเสริม เรื่องชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เพื่อเขาจะได้ช่วยคนอื่นต่อไป
ครบรอบรำลึก 7 ปีสึนามิ บทเรียนที่ควรจำกลับไม่มีใครอยากจดจำมัน ไม่มีใครอยากเอาเป็นบทเรียนในการดำรงอยู่ในประเทศนี้ ที่มีภาวะเสี่ยงภัยพิบัติ
เมื่อคราวครบรอบ 6 ปีสึนามิ รัฐบาลมีนโยบายว่าจะจัดงานรำลึกเป็นปีสุดท้าย อ้างว่าไม่อยากให้ผู้ประสบภัยระลึกถึงความสูญเสียอีก ยังมีแนวนโยบายต่อว่า การซ้อมอพยพก็ไม่ควรต้องซ้อมทุกปี เพราะไม่รู้เมื่อไหร่จะเกิด ตลอดปี 2554 ที่ผ่านมา ไม่มีการซ้อมอพยพหลบภัยเกิดขึ้นใน 6 จังหวัดอันดามันเลย
“นักมวยไม่ซ้อมก็ถูกน็อค”
สึนามิแผ่นดินไหวจนเกิดความสูญเสีย มีเวลาเตรียมตัวรับมือไม่เกิน 1 ชั่วโมง น้ำท่วมมีเวลากว่า 2 เดือนในการเตรียมตัว มีคนตายมากกว่า 600 คน แล้วเราจะกำหนดอนาคตตนเองให้อยู่ในความเสี่ยงของสังคมไทยภายใต้ระบบรัฐไทยอย่างไรดี
7 ปี บทเรียนสึนามิจากภัยพิบัติในประเทศไทย เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิได้ขยายตัวออกไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอื่นๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเองของเครือข่ายประชาชน จนเกิดพื้นที่รูปธรรมในหลากหลายรูปแบบ
พื้นที่ชุมชนเมืองจังหวัดอุบลราชธานี มีแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ และมีอาสาสมัครที่ช่วยเหลือกันกว่า 200 คน ทั้งที่ช่วยกันเอง และช่วยเหลือเพื่อนๆ
เครือข่ายชุมชนกระเบื้องใหญ่ เกิดแผนเตรียมความพร้อม และแผนบริหารจัดการน้ำ แผนฟื้นฟูชุมชนครบวงจร เมื่อภัยเกิดที่ไหนที่นี่จะส่งทรัพยากรไปช่วยเหลือเพื่อนๆ พร้อมส่งกำลังคนไปหนุนช่วยด้วย
เครือข่ายปทุม หลังจากภัยพิบัติที่ผ่านมาบทเรียนได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นเครือข่ายเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ที่มีระบบการจัดการภายใน และช่วยเหลือกันเอง ช่วยเหลือชุมชนเครือข่ายใกล้เคียง ขณะนี้ยกระดับไปสู่แผนฟื้นฟูชุมชน ด้านพันธุ์พืชต่อไป
พื้นที่เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน มีแผนป้องกันภัยพิบัติ ตั้งแต่แผนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แผนรับมือน้ำท่วม แผนพาน้ำลงทะเล แผนช่วยเหลือกูชีพ น้ำท่วมครั้งนี้เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยขนสรรพกำลังและเครื่องมือทั้งหมด มาประจำการในกรุงเทพฯ กว่า 2 เดือน
ที่ภาคใต้ ก็มีเครือข่ายเขาพนม จังหวัดกระบี่ เครือข่ายชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา มีพื้นที่รูปธรรมที่ตำบลท่าหิน ที่ตำบลขอนคลาน จังหวัดสตูล และที่อื่นๆ อีกมากมาย
วันนี้ เครือข่ายประชาชนเดินหน้าไปแล้วในหลากหลายมิติ
7 ปีสึนามิถึงมหาอุทกภัย รัฐควรส่งเสริมให้ชุมชนจัดทำแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับชุมชนหมู่บ้าน และแผนระดับตำบล โดยต้องสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนให้เป็นรูปธรรม ทั้งด้านการอบรมอาสาสมัครให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง สนับสนุนเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ ระบบสื่อสารภายใน ตามแผนชุมชน ภัยพิบัติจัดการรวมศูนย์ล้มเหลว การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการเอง รัฐส่วนกลางมีหน้าที่สนับสนุนทรัพยากรทุกด้าน
ในวาระครบรอบ 7 ปีสึนามิ ซึ่งมีญาติสนิทมิตรสหายเสียชีวิตไปเกือบ 50,000 คน หนึ่งในนั้นคือคุณพ่อของผม เพราะฉะนั้นสึนามิคือบทเรียนที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อของคนในชาติ ควรค่าแก่การรำลึกถึง การจัดงานรำลึกขึ้นของคนในหมู่บ้านเล็กๆ บ้านน้ำเค็มที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บทเรียนการต่อสู้ของเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เกิดขึ้นเมื่อสูญเสีย
“จงเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติก่อนที่จะสาย อย่าคอยให้สูญเสียแล้วค่อยเตรียม”
(บทความในวาระการจัดงานรำลึกครบรอบ 7 ปีสึนามิ ณ บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา วันที่ 26 ธันวาคม 2554)