Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

น้ำถล่มนครฯ หนักเข้าขั้นวิฤต สั่งปิดโรงเรียนทั้งจังหวัด โรงพยาบาลท่าศาลาเร่งอพยพคนไข้หนีภัยน้ำ ด้านหาดใหญ่พ้นวิกฤติ นายกฯสมาคมโรงแรมบ่นอุบ ท่องเที่ยวสูญ 50 ล้าน พัทลุงฝนยังถล่มหนัก ผู้ว่าสุราษฎร์ฯ ประกาศ 6 อำเภอพื้นที่ประสบภัย ชุมพรอ่วมน้ำถล่มถนนอัมพาต สุไหงโก–ลกเจอมาเลย์ระบายน้ำใส่

 

ม

วิกฤติ-สภาพน้ำที่ห้างโรบินสันกลางเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งขณะนี้วิกฤติหนัก จนต้องสั่งปิดโรงเรียนทั้งจังหวัด

 

สถานการณ์น้ำท่วม 4 ชุมชนของหาดใหญ่ใน เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทั้งชุมชนเทศาพัฒนา ชุมชนตลาดพ่อพรหม ชุมชนวัดหาดใหญ่ใน และชุมชนริมคลอง ร.1 ถูกน้ำจากคลองระบายน้ำ ร.1 ล้นตลิ่งเข้าท่วมตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2555 ขณะนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยกเว้นชุมชนหลังวัดหาดใหญ่ใน ที่ยังมีสภาพน้ำท่วมขังเนื่องจากเป็นที่ลุ่ม หลังจากระดับน้ำลดลงจนแห้งสนิท ตั้งแต่เวลา 03.00 น. วันที่ 3 มกราคม 2555 ส่งผลให้เส้นทางถนนเพชรเกษมเข้าออกตัวเมืองหาดใหญ่กลับมาใช้งานตามปกติ ส่วนสภาพน้ำในคลองอู่ตะเภา และคลองระบายน้ำ ร.1 เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บรรดาร้านค้าและตลาดสดหาดใหญ่ใน เริ่มกลับมาเปิดให้บริการ ท่ามกลางกองขยะจากบ้านเรือนและที่ถูกน้ำพัดพาเกลื่อนถนน

 

ท่องเที่ยวหาดใหญ่สูญ 50  ล้าน

นายสมชาติ พิมพ์ธนพูนพร นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่–สงขลา เปิดเผยว่า ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในอำเภอหาดใหญ่ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่ เมื่อวันขึ้นปีใหม่กว่า 50 ล้านบาท เนื่องจากน้ำท่วมถนนกาญจนวนิช ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลัก เชื่อมด่านพรมแดนอำเภอสะเดากับอำเภอหาดใหญ่ รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียยกเลิกการเดินทางเข้ามาเที่ยวหาดใหญ่ และยกเลิกการจองห้องพักเกือบทั้งหมด ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวส่งท้ายปีเก่าแล้ว ก็ต้องรีบเดินทางกลับก่อนกำหนด เพราะกลัวติดน้ำท่วมกลับประเทศช้ากว่ากำหนด

“ผมเสนอให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่อำเภอหาดใหญ่ เพื่อจะนำปัญหาและข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาน้ำท่วมหาดใหญ่และถนนกาญจนวนิช เสนอน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพิจารณาโดยตรง เพราะนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นหัวใจหลักของธุรกิจการท่องเที่ยวหาดใหญ่” นายสมชาติ กล่าว

เมื่อเ-ลาประมาณ 20.00 น. วันที่ 2 มกราคม 2555 เกิดเหตุดินถล่มลงมาจากเขาแก้ว เทือกเขาบรรทัด ใกล้กับน้ำตกโตนปลิว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง หมู่ที่ 7 บ้านป่ากล้วย ตำบลฉลุง อำภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ต้นไม้ขนาดใหญ่บนเขาแก้วโค่นล้ม และหินขนาดใหญ่ไหลลงมากองรวมกันที่เชิงเขาระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร ส่งผลให้บริเวณที่ดินถล่มกลายเป็นทางน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำป่าไหลลงมาตลอด เป็นเหตุให้สวนผลไม้และสวนยางพาราของชาวบ้านได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ น้ำป่ายังได้พัดเอาดินและโคลนเข้าไปทับถมบ้านเรือนของชาวบ้านชุมชนป่ากล้วย ตรงบริเวณเชิงเขาได้รับความเสียหาย 4 หลัง ซุ้มในร้านอาหารพฤกษา บริเวณน้ำตกโตนปลิวพัง 4 หลัง ภายในร้านเต็มไปด้วยซากโคลนและเศษไม้

นางประไพ ขุนจันทร์ อายุ 50 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่บ้านได้รับความเสียหาย บอกว่า ขณะเกิดเหตุมีฝนตกหนัก คาดว่าดินบนภูเขาอุ้มน้ำไว้ไม่อยู่

 

ฝนยังถล่มพัทลุงหนัก

สำหรับจังหวัดพัทลุงสถานการณ์น้ำท่วมยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะพื้นที่เขตเทศบาลเมืองพัทลุง ปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่อง ทำให้ถนนหลายสายในเขตเทศบาลมีน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะถนนราเมศว์จากแยกท่ามิหรำจนถึงตัวเมืองพัทลุง และที่โรงพยาบาลพัทลุง เจ้าหน้าที่ต้องเร่งขนย้ายผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ขึ้นที่สูง หลังมีน้ำไหลท่วมเข้าไปในโรงพยาบาล พร้อมทั้งเร่งเสริมแนวกระสอบทราย เพื่อป้องกันน้ำทะลักไหลเข้าท่วมเพิ่ม ในขณะบ้านเรือนหลายชุมชนในเขตเทศบาลมีน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร

ล่าสุด น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัด ยังคงไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตรสวนยางพาราและนาข้าว รวมถึงถนนสายระหว่างอำเภอและสายรองในหมู่บ้านหลายสายมีน้ำท่วมสูงถึง 80 เซนติเมตร โดยเส้นทางถนนเพชรเกษม ช่วงพัทลุง–ตรัง ที่บ้านต้นไทร ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ น้ำป่าไหลผ่านถนน เป็นทางยาวกว่า 500 เมตร ทำให้รถเล็กไม่สามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้

ในขณะที่เส้นทางอำเภอศรีบรรพต ตรงแยกโพธิ์ทองน้ำท่วมสูงเป็นทางยาวกว่ากว่า 1 กิโลเมตร ทำให้ไม่สามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้ และขณะเดียวกันถนนสายขาเข้าอำเภอควนขนุน ท้องที่หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 8 ตำบลควนขนุน มีน้ำท่วมสูงเป็นทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร รถเล็กต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง

ที่อำเภอตะโหมด ระดับน้ำยังท่วมสูงในตำบลคลองใหญ่ ตำบลแม่ขรี ตำบลตะโหมด อำเภอบางแก้ว ระดับน้ำท่วมสูงในตำบลท่ามะเดื่อ ตำบลนาปะขอ ตำบลโคกสัก อำเภอเขาชัยสน ระดับน้ำท่วมสูงในตำบลโคกม่วง ตำบลเขาชัยสน ตำบลจองถนน โดยพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลเขาชัยสน ชาวบ้านกว่า 10 หลังคาเรือน ต้องมานานอนกางเต็นท์อยู่บนถนน เนื่องจากบ้านเรือนถูกน้ำท่วมสูง

ต่อมา นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่เร่งกู้โรงพยาบาลพัทลุง โดยให้นำกระสอบทรายปิดกั้นประตูทางเข้าโรงพยาบาลพัทลุงทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันน้ำหลากเข้าโรงพยาบาล เนื่องจากน้ำที่ท่วมขังบนถนนสายหน้าโรงพยาบาลพัทลุงยังไม่ลดระดับ

นายแพทย์วีรวัฒน์ ยอแสงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ได้ขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากสำนักงานชลประทานจังหวัดพัทลุงมาเร่งสูบน้ำที่ท่วมภายในโรงพยาบาลแล้ว แต่ยังไม่มีการขนย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล คาดว่าถ้าฝนไม่ต้องซ้ำ สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายในวันที่ 3 มกราคม 2555

สำหรับเขตเทศบาลเมืองพัทลุง น้ำที่ท่วมบนถนนสายราเมศวร์ลดระดับลงเล็กน้อย ขณะที่ถนนสายผดุงดอนยอ สายพัฒนา สายจรูญธรรม และสายประชาบำรุง ยังคงมีน้ำท่วมขังสูงเฉลี่ย 40 เซนติเมตร และเริ่มลดระดับลง รถเล็กต้องใช้ความระมัดระวังในการสัญจร ขณะที่ถนนเพชรเกษมช่วงพัทลุง–ตรัง บริเวณแยกบ้านม่วงลูกดำ หมู่ที่ 4 ตำบลชุมพล อำเภอเมืองพัทลุง ยังคงมีสภาพน้ำไหลผ่านถนนเป็นช่วงๆ รถเล็กสามารถผ่านไปได้ถึงจังหวัดตรัง

ส่วนอำเภอป่าบอน น้ำท่วมที่ตำบลโคกทราย ตำบลวังใหม่ อำเภอกงหรา ระดับน้ำท่วมสูงที่หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 9 ชาวบ้านกว่า 25 ครัวเรือน ต้องอพยพขึ้นบนที่สูง ที่อำเภอควนขนุน ระดับน้ำท่วมสูงในตำบลควนขนุน ตำบลชะมวง ตำบลปันแต ตำบลพนางตุง น้ำท่วมถนนไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ ที่อำเภอป่าพะยอม อำเภอปากพะยูน มีน้ำท่วมสูงประมาณ 80 เซนติเมตร – 1 เมตร ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่า 30,000 ครอบครัว ต้องเร่งขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงเป็นการด่วน เนื่องจากปริมาณน้ำมีสีแดงขุ่นไหลแรงเพิ่มระดับขึ้นตลอดเวลา

 

ตรังเจอภัยน้ำท่วมด้วย

จังหวัดตรังเป็นอีกจังหวัดที่ประสบอุทกภัย น้ำในคลองนางน้อยที่มีกระแสไหลเชี่ยวพุ่งเข้ากระแทกพนังกั้นน้ำ ระหว่างบ้านหนองเอื้องน้ำหมู่ที่ 7 ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมืองตรัง และบ้านโพธิ์ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองตรังพังทลาย ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 7 บ้านท่าปาบ ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมืองตรัง 12 ครัวเรือน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 2 มกราคม 2555 โดยระดับน้ำบางจุดเป็นที่ราบลุ่ม สูงกว่า 1.30 เมตร ชาวบ้านต้องอพยพออกมากางเต็นท์นอนริมถนน ที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลนาโยงใต้จัดเตรียมไว้

นายอำนวย จันทรักษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จังหวัดตรังน้ำท่วมมี 2 พื้นที่คือ หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 10 ตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอด น้ำได้ท่วมบ้านเรือนราษฎร 15 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ท่วมซ้ำซาก และท่วมสวนยางพารา 35 ไร่ ระดับน้ำสูงประมาณ 40 เซนติเมตร และหมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 7 ตำบลนาโยงใต้ น้ำท่วมบ้านราษฎร 12 ครัวเรือน รวมราษฎรได้รับผลกระทบเกือบ 30 ครัวเรือน

 

นครฯ วิกฤติ

ทางด้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในลำคลองสายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกันน้ำจากเทือกเขาหลวงได้ไหลทะลักเข้าสู่เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้ชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครศรีธรรมราช ที่อยู่ริมคลองสายหลัก ได้แก่ คลองคูเมือง คลองสวนหลวง คลองป่าเหล้า คลองคูพาย คลองหน้าเมือง คลองราเมศวร์ มีระดับน้ำสูง และไหลบ่าเข้าท่วมหมู่บ้านใกล้เคียง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนนับพันครัวเรือน ทั้งนี้ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้จัดตั้งศูนย์อพยพในโรงเรียนสังกัดเทศบาลหลายโรงด้วยกัน

ในส่วนของการระบายน้ำยังล่าช้า เนื่องจากมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพียง 3 เครื่อง ถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างถนนราชดำเนินไปยังถนนพัฒนาการคูขวางใช้ได้เพียง 3 เส้นทาง น้ำท่วมสูงรถทุกชนิดไม่สามารถผ่านไปมาได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เชาวนวัศน์ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการอพยพประชาชนหลายจุด เช่น ชุมชนบ่อทรัพย์อพยพมาที่โรงเรียนเสมาเมือง ชุมชนนอกโคกมาที่วัดศรีทวี เป็นต้น และน้ำท่วมสูงมิดหลังคาที่บ้านบางงัน สถานการณ์น้ำรุนแรงมาก โดยเฉพาะน้ำป่าที่ไหลเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช เทศบาลได้ระดมเครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่อง เข้าติดตั้งและเร่งระบายน้ำออกอ่าวไทยอย่างเร่งด่วน

ระดับน้ำที่ท่วมสูงอย่างต่อเนื่องในเขตเทศบาลได้ทะลักเข้าสู่ตลาดพืชผล ซึ่งเป็นตลาดรวมสินค้าทางเกษตรจำพวกผัก ผลไม้ จากทั่วทุกภาคของประเทศไทยด้วย ตลาดอยู่ในสภาพจมน้ำ พ่อค้าแม่ค้าต้องอพยพเอาสินค้าที่ยังขนย้ายได้ออกมาจำหน่ายราคาถูกบนเกาะกลางถนนกะโรม ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

 

สั่งหยุดเรียนทั้งจังหวัด

นายสมพงศ์ อยู่เถาว์ หัวหน้างานส่งเสริมความประพฤตินักเรียนนักศึกษา เขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการสั่งปิดโรงเรียนทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมขยายวงกว้างกระทบต่อนักเรียนและสถานศึกษา โรงเรียนหลายโรงจมน้ำได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ สถานศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และสถาบันการอาชีวะ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้สั่งปิดเรียนมีกำหนดเปิดในวันที่ 9 มกราคม 2555 ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช น้ำป่าทะลักจากภูเขามหาชัย เทือกเขาหลวง เข้าท่วมมหาวิทยาลัยแล้วเช่นกัน

นายสไลเดช แสงพยัคฆ์ นายสถานีรถไฟนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ขณะนี้รถไฟทุกขบวนที่เดินรถเข้าสู่สถานีปลายทางนครศรีธรรมราชงดเดินรถแล้ว ทั้งรถท้องถิ่นและขบวนรถนครศรีธรรมราช–กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 10 ขบวน สำหรับรถปลายทางนครศรีธรรมราช จะเดินรถมาแค่สถานีชุมทางทุ่งสง จากนั้นการรถไฟบริการผู้โดยสารด้วยรถบัสมายังสถานีรถไฟนครศรีธรรมราช

ส่วนขบวนรถปลายทางกรุงเทพมหานคร จะใช้รถบัสบริการไปส่งยังสถานีทุ่งสงโดยสารรถไฟต่อไปยัง กรุงเทพมหานคร จุดที่ไม่สามารถเดินรถไฟได้อยู่ระหว่างสถานีรถไฟนครศรีธรรมราชกับสถานีรถไฟบ้านโคกคราม อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช

สำหรับผู้โดยสารที่ประสงค์จะคืนตั๋วโดยสาร คืนตั๋วได้เต็มราคา ขณะนี้มีผู้คืนตั๋วแล้วประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้โดยสารทั้งหมดที่จองตั๋วล่วงหน้า

 

ประกาศ 8 เขตภัยพิบัติ

นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติอุทกภัยตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว 8 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอขนอม อำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร อำเภอเมือง อำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล และอำเภอนบพิตำ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบการเบิกจ่ายงบประมาณ และให้การช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบราชการ

ขณะนี้ทุกอำเภอที่เกิดอุทกภัยได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมีกำลังพลจากกองทัพภาคที่ 4 พร้อมด้วยเครื่องมือยุทโธปกรณ์เข้ากู้เส้นทางต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเส้นทางในอำเภอนบพิตำ

ขณะเดียวกัน น้ำป่ายังคงไหลทะลักอย่างต่อเนื่องตลอดแนวเทือกเขาหลวง ในอำเภอสิชล อำเภอนบพิตำ อำเภอลานสกา อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอพรหมคีรี และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ที่ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองมีกระแสน้ำป่าไหลทะลักมาในคลองบ้านตาล ส่งผลให้ถนนสายนครศรีธรรมราช–จันดีใช้การไม่ได้ เช่นเดียวกับถนนสายเบญจม–นาพรุ ช่วงตำบลนาสาร อำเภอพระพรหม น้ำท่วมสูงใช้สัญจรไม่ได้

นายปรีชา คุ้มวงศ์ นายอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกำลังอาสารักษาดินแดน ได้เดินทางเข้าพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย เนื่องจากมีรายงานว่า หมู่ที่ 8 ตำบลนบพิตำ ถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง และมีดินถล่ม หลายจุดเสาไฟฟ้าโค่นล้ม ยังไม่ทราบชะตากรรมของชาวบ้า เนื่องจากเป็นเขตอับสัญญาณโทรศัพท์ ขณะเดียวกันอาสาสมัครภาคประชาชน ต่างติดตามสถานการณ์คอยแจ้งเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง

นายทวีผล บุญผล ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 12 ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ชาวบ้านได้อพยพขนย้ายสิ่งของออกมาจากบ้านเขาวัง ทางขึ้นโรงเรียนตชด.บ้านเขาวัง ตำบลหินตก เนื่องจากปริมาณฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้ภูเขาวังปริแยกเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร

 

ท่าศาลวุ่นต้องอพยพคนไข้

ที่โรงพยาบาลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยประสบกับอุทกภัยอย่างหนักมาเมื่อครั้งเดือนมีนาคม–เมษายน 2554 น้ำได้ทะลักเข้าท่วมโรงพยาบาลอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 2 มกราคม 2555

นายแพทย์กิตติ รัตนสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าศาลา เปิดเผยว่า หลังจากน้ำท่วม โรงพยาบาลได้อพยพคนไข้ไอซียูไปยังโรงพยาบาลมหาราชเป็นชุดแรก  จากนั้นอพยพส่วนอื่นๆ ตามไปอีกรวมแล้วกว่า 50 คน ไม่รวมคนไข้ที่กลับไปรักษาที่บ้าน ก่อนหน้านี้ได้เตรียมพร้อมอพยพคนไข้ และเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ความเสียหายจึไม่มาก

วันเดียวกันนี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะได้เดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งที่บ้านแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชพบว่า บริเวณหมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 บ้านแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง รุกเข้าสู่พื้นที่ของหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สาธารณูปโภค และบ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ต้องอพยพไปพักในสถานที่ที่ทางราชการจัดให้

นายปลอดประสพ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างเขื่อน และท่าเรือให้มีความมั่นคงแข็งแรงเป็นแนวป้องกันชายฝั่ง และปรับปรุงเป็นจุดท่องเที่ยว โดยใช้หลักการวิศวกรรม ตนจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบ น่าจะดำเนินการและเห็นผลภายใน 1–2 ปีนี้ ส่วนการขอใช้พื้นที่ป่าชายเลนเนื้อที่ 150 ไร่ เพื่ออพยพประชาชนใช้เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ ตนจะได้ผลักดันให้

 

ประกาศ 6 อำเภอสุราษฎร์ฯ พื้นที่ประสบภัย

ทางด้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี เช้าวันที่ 3 มกราคม 2555 น้ำได้ไหลเข้าท่วมถนนสายสุราษฎร์ธานี–นครศรีธรรมราช ช่วงบริเวณหน้าโรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ หลักกิโลเมตรที่ 33 เป็นระยะทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ระดับน้ำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร รถเล็กผ่านไปมาลำบาก

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ สรุปความเสียหายเบื้องต้นว่า มีพื้นที่ความเสียหาย 6 อำเภอ 36 ตำบล 251 หมู่บ้าน 16,165 ครัวเรือน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 47,032 คน ล่าสุดนายธีรยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานี ประกาศให้อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม อำเภอดอนสัก และอำเภอกาญนจดิษฐ์ เป็นพื้นที่ประสบภัยฉุกเฉินแล้ว พร้อมประกาศเตือนประชาชนในอำเภอกาญจนดิษฐ์เตรียมรับน้ำป่าจากเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นอีกระลอก เนื่องจากเวลา 07.00 น.ของวันที่ 3 มกราคม 2555 วัดปริมาณน้ำฝนได้ 210 มิลลิเมตร

ส่วนการช่วยเหลือประชาชนกว่า 50 ครัวเรือนที่ถูกตัดขาดที่บ้านหน้าถ้ำ หมู่ที่ 13 ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้

 

ชุมพรยังอ่วม

สำหรับจังหวัดชุมพร จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2555 มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอหลังสวน อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี อำเภอละแม และอำเภอพะโต๊ะ ขณะนี้ยังคงมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ล่าสุด นายพินิจ เจริญพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้ประกาศให้ทั้ง 5 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว

ส่วนถนนสายเอเชีย 41 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 47–48 เยื้องหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งตะโก ที่กลับมาใช้สัญจร หลังจากฝนหยุดตกเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 2 มกราคม 2555 ล่าสุดฝนกลับมาตกอย่างหนักอีกครั้ง ทำให้ปริมาณน้ำไหลทะลักเข้าท่วมเส้นทางดังกล่าว จนรถทุกชนิดไม่สามารถผ่านไปมาได้ ต้องหันไปใช้ทางเลี่ยงเลียบชายทะเลแทน

 

เวลา 11.00 น. ที่อาคารเอนกประสงค์ หลังมัสยิดบ้านสะโต หมู่ที่ 5 ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วยนายอับดุลการิม รามันห์สิริวงศ์ เลขาธิการสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย / คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา นายสมเกียรติ ศีรษะเนตร นายอำเภอรามัน นายเวโรจน์ สายท้องแท้ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดยะลา (สสจ.ยะลา) คณะสื่อมวลชน และสมาชิกกองอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ได้เดินทางเข้าพบปะเยี่ยมเยียนชาวบ้าน

พร้อมกับนำข้าวสารอาหารแห้ง พร้อมน้ำดื่ม จำนวน 300 ชุด มอบแก่ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ หมู่ที่ 5 บ้านสะโต (บ้านกำปงบาโงย, บ้านบายอยือนิ, บ้านบูแกะซืองอ บ้านย่อยบ้านสะโต) หมู่ที่ 6 บ้านลาโม๊ะ หมู่ที่ 2 บ้านแยะ หมู่ที่ 1 บ้านกือเม็ง อ.รามัน จ.ยะลา ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม

มีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวนกว่า 200 ครัวเรือน ซึ่งชาวบ้านบางส่วนที่ได้รับความเดือดร้อนมาก ต้องนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และทรัพย์สินที่จำเป็นไปไว้บนถนนหรือนำไปไว้ในที่สูง โดยในวันนี้สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดยะลา รวมถึงโรงพยาบาลรามันนำเจ้าหน้าที่มอบยาเวชภัณฑ์และออกให้บริการตรวจสุขภาพของชาวบ้านที่ประสบภัยอีกด้วย

 

มาเลย์ระบายน้ำเข้าโก–ลก

ที่จังหวัดนราธิวาส ล่าสุดฝนตกแผ่คลุม 13 อำเภอ แต่ไม่หนักมากนัก ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสุไหงโก–ลก แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสายบุรีล้นตลิ่ง ระดับความสูงเฉลี่ย 110–140 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่ต้องเร่งอพยพชาวบ้าน 2 ชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก–ลกคือ ชุมชนบือเร็งกับชุมชนหัวสะพาน 27 ครัวเรือน รวม 158 คน ไปอาศัยอยู่ชั่วคราวที่ศูนย์อพยพโรงเรียนเทศบาล 4

สาเหตุที่ระดับน้ำในแม่น้ำสุไหงโก–ลก มีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากประเทศมาเลเซียเร่งระบายน้ำจากเมืองรันตูปันหยัง รัฐกลันตัน ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมแหล่งเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย

 

ยะลาเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับจังหวัดยะลา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำสายบุรี ตั้งแต่ตำบลบาลอ ตำบลกายูบอเกาะ ตำบลตะโละหะลอ ตำบลอาซ่อง ตำบลแกะรอ และตำบลท่าธง ได้เอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฟากฝั่ง มีผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่า 1,000 คน

นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 6 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมออกไปตรวจเยี่ยม และให้ปลัดอำเภอประจำตำบลออกไปสำรวจความความเดือดร้อน และนำเรือท้องแบนไปช่วยหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมหนักแล้ว ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว เหลือเพียงในบางหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มที่มีน้ำท่วมขัง