Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนภาคใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถาการณ์ชายแดนภาคใต้ ( DSJ)

 

ถึงแม้สุขภาพจะไม่อำนวย แต่ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูป ก็ได้ร่วมเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555 ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมเป็นเจ้าภาพกับสำนักงานปฏิรูป ผ่านวีดิทัศน์จนได้

เนื้อหาในปาฐกถา ในวาระเปิดฉากขับเคลื่อนการปฏิรูป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏดังต่อไปนี้

 

............................................................

 ;

ท่านอาจารย์ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ คุณหมอพลเดช ปิ่นประทีป ประธานสมัชชาเฉพาะประเด็นเรื่องชายแดนใต้ ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านครับ 

ผมมีความยินดี วันนี้เรามีการประชุมสภาประชาสังคม หรือสมัชชาเฉพาะประเด็นชายแดนใต้ ในเรื่อง “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” เรื่องแนวคิดไม่ทอดทิ้งกัน เป็นหลักการใหญ่ที่เรียกว่าใหญ่มากเลย เพราะว่าสังคมทั่วโลกวิกฤต วิกฤตอย่างมาก เพราะไปถือหลักการอื่น ใช้หลักการเรื่องอำนาจและเงินเป็นสำคัญ ทำให้ทอดทิ้งกัน เกิดเหตุความขัดแย้งการทอดทิ้งกัน การทำลายสังคม ทำลายเศรษฐกิจ การเอาเปรียบกันต่างๆ นานา ทั่วโลกเกิดวิกฤตการณ์ไปทั่ว ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ใหญ่ที่มาบรรจบกัน ทั้งวิกฤตธรรมชาติ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสังคม วิกฤตการเมืองพร้อมกันไปบรรจบทุกอย่าง เป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกทีเดียว

ไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์นั้นด้วย เพราะเราไม่ถือหลักเคารพพระผู้เป็นเจ้า หรือเคารพหลักธรรมธรรมชาติ ที่ว่ามนุษย์ทั้งหมด ธรรมชาติทั้งหมดล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อเป็นหนึ่งเดียวกันเราก็จะทอดทิ้งกันไม่ได้ จะทำอะไรก็ต้องคิดถึงทั้งหมด การที่ถืออำนาจเป็นใหญ่ถือเงินเป็นใหญ่เป็นการไม่เคารพหลักการตัวนี้ ทำให้เกิดการทอดทิ้งกัน เกิดการแบ่งแยก เกิดความขัดแย้งต่างๆ นานา

เพราะฉะนั้น หลักการของการประชุมที่นี่ ที่เรียกว่าชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นหลักการใหญ่มาก เป็นสัจธรรมเลยก็ว่าได้ ทีนี้จากหลักการนี้เป็นรูปธรรมของการที่จะทำงานต่อไป ก็คือการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ที่ท่านทั้งหลายกำลังทำอยู่นี้ เราต้องมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง ในทุกระดับด้วย ตั้งแต่ครอบครัวขึ้นไปจนถึงระดับชาติ

ถ้าเรามีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ นอกจากเป็นหลักการประชาธิปไตยแล้วยังเป็นหลักการที่สร้างจิตสำนึกใหม่ เราต้องมีจิตสำนึกใหญ่ที่เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน  เราไม่ใช้อำนาจเป็นใหญ่ ไม่ใช้เงินเป็นใหญ่ แต่ใช้หลักธรรม คือการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

การจะทำอะไรนั้น ไม่ใช่ใช้อำนาจสั่งการไปโดยคนอื่นไม่ได้มีส่วนร่วม  เพราะฉะนั้นที่เรามาร่วมคิดร่วมทำกันคือหลักการประชาธิปไตย และเป็นหลักการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนอื่นอย่างเท่าเทียมกัน เราจึงมาปรึกษาหารือกัน มาร่วมประชุม มาจัดสมัชชาเฉพาะประเด็น จัดสมัชชาประชาสังคมต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นรูปธรรม

ท่านผู้มีเกียรติครับ สิ่งที่เป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดในประเทศของเราคือ การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การรวมศูนย์อำนาจเป็นต้นตอของความชั่วร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศนี้

ประการที่หนึ่งการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้เกิดความขัดแย้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่น  วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ โดยมีคุณค่าร่วมกัน มีความเชื่อร่วมกัน  มีขนบธรรมเนียมประเพณีวิธีปฏิบัติต่างๆ นานา ร่วมกันเป็นวิถีชีวิตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและสงบสุข

การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางนั้น ก็อยากให้ทั้งประเทศเลยเหมือนๆ กันไปหมด ด้วยอำนาจของกฎหมายก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายก็ตาม การใช้พละกำลังตำรวจทหารก็ตาม อันนี้คือการใช้อำนาจบังคับให้เหมือนๆ กัน ก็เกิดความขัดแย้งไปทั่วประเทศ คือขัดแย้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่น  และอาการก็ออกมาต่างๆนานา ที่ชัดเจนที่สุดเลยที่ชายแดนใต้ ที่เกิดเป็นความรุนแรงขึ้น อันนั้นคือประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ส่วนกลไกของรัฐต่างๆ ทำงานโดยใช้อำนาจ ไม่ได้ใช้ความรู้ ไม่ได้ใช้ปัญญา แต่เป็นการใช้อำนาจสั่งการไปทั่ว ทำให้ทำงานต่างๆ ไม่ได้ผล เพราะในสังคมที่ซับซ้อนและก็ยากในปัจจุบันนั้น อำนาจได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย แต่กลับทำให้เกิดสิ่งแทรกซ้อนมากขึ้น

เพราะฉะนั้นถ้าเราไปดูกลไกของรัฐ ทั้งทางราชการและทางการเมือง จะเห็นว่ามีสมรรถนะน้อยที่จะแก้ปัญหาต่างๆ อาจจะเรียกว่าแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย แก้ความยากจนก็ไม่ได้ แก้เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้  แก้เรื่องความรุนแรงก็ไม่ได้ เพราะว่ากลไกของรัฐที่ใช้อำนาจโดยไม่ใช้ความรู้ ไม่ใช้ปัญญาไม่ใช้การมีส่วนร่วมนั้นได้ผลน้อยลงๆ เรื่อยๆ

ประการที่สาม กลไกของรัฐจะมีการทุจริตคอรัปชั่นมาก อันนี้ก็เป็นหลักสากล เป็นสัจธรรมเพราะถ้าอำนาจเข้มข้นที่ไหน คอรัปชั่นการทุจริตก็จะมากที่นั่น เพราะฉะนั้นการรวมศูนย์อำนาจไว้เป็นต้นเหตุของการคอรัปชั่น ซึ่งเรามีเต็มประเทศไปหมดเลย เป็นการบ่อนทำลายประเทศเป็นอย่างยิ่ง

ประการถัดไป ทำให้เกิดการแย่งอำนาจกันอย่างรุนแรง  เพราะว่าอำนาจรวมศูนย์อยู่มากคนก็อยากได้ เพราะว่าได้ตรงนี้แล้วถือว่าได้หมดเลย ก็อยากจะลงทุนทุกอย่าง ไม่ว่าจะลงทุนเงิน ลงทุนใช้ความรุนแรง ใช้ความฉ้อฉลต่างๆ เพื่อจะมาแย่งอำนาจ  เป็นต้นเหตุให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเพราะการรวมศูนย์อำนาจ  ถ้าอำนาจกระจายไปสู่ชุมชนท้องถิ่นหมดโดยทั่วถึง  ก็ไม่มีใครอยากจะมาแย่งอำนาจอะไร  มันก็จะหาผลประโยชน์อะไรไม่ได้ คนที่จะเข้ามาทำก็เพราะทำเพื่อมีความสามารถ มีความสุจริต มีความคิดที่จะทำเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่มาเพื่อหาผลประโยชน์กันอย่างทุกวันนี้

ประการถัดไป การรวมศูนย์อำนาจนี้ ทำให้ทำรัฐประหารได้ง่าย เพราะว่าใช้กำลังนิดเดียวไม่กี่คนก็ยึดอำนาจได้แล้ว เพราะอำนาจมันรวมศูนย์อยู่ ถ้าอำนาจมันกระจายไปหมด ก็ไม่มีทางจะยึดอำนาจได้ ไม่รู้จะยึดตรงไหน  เพราะฉะนั้นประเทศที่เขากระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นโดยทั่วถึงจะไม่มีรัฐประหารเพราะมันทำไม่ได้ มันยึดไม่ได้

ท่านผู้มีเกียรติครับ ถ้าเราไปดูอย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ซึ่งเราคิดว่าเขาเป็นประเทศที่ดีที่น่าอยู่ ย้อนหลังไปร้อยกว่าปีเขาเต็มไปด้วยคอรัปชั่น โคตรโกง โกงทั้งโคตร อะไรมีทุกอย่างในสวิสเซอร์แลนด์ ลองไปดูประวัติศาสตร์ของเขา เพราะอำนาจรวมศูนย์อยู่อย่างเรานี้ เมื่อเขารู้ตรงนี้เขากระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นโดยทั่วถึง ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เล็กนิดเดียวมีประชากร 6 ล้านคนเท่านั้นเอง แต่อำนาจนั้นกระจายไปสู่ 26 ท้องถิ่น เขาเรียกว่าแคนตอน (canton) 23 แคนตอน กับอีก 3 ที่เป็นเซมิออโตเมติก หรือกึ่งอัตโนมัติรวมกันเป็น 26 ประชาชนเข้ามามีบทบาทได้โดยตรง เข้ามาควบคุมการบริหารท้องถิ่นได้ เรื่องอะไรหลายอย่างก็ใช้ประชาชนเข้ามา เป็นประชาธิปไตยโดยตรง คอรัปชั่นก็หายไป

ท่านผู้มีเกียรติครับ  เพราะฉะนั้นปัญหาใหญ่ของประเทศเราอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ เราทำอย่างอื่นต่างๆ นานาอย่างที่เราเห็น ตลอดเวลาเกือบ 80 ปีที่เรียกว่าประชาธิปไตย ประชาธิปไตยก็ไม่เกิดเป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจที่ระดับบนเท่านั้น ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นไม่เกิด ฉะนั้นสมัชชาของเรา สภาประชาสังคมของเรา ชื่อก็บอกแล้ว ประชาสังคมแปลว่า สังคมเข้ามามีส่วนร่วม เราต้องเป็นประชารัฐ   ในเพลงชาติของเรา เป็นรัฐที่ประชาชนเข้ามามีบทบาทอย่างที่ท่านทั้งหลายกำลังประชุมกันอยู่นี่

เพราะฉะนั้น เรื่องกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นโดยทั่วถึง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดนะครับ ที่จะทำให้เกิดศานติสุขขึ้น เราชูประเด็นในการที่จะปฏิรูปประเทศไทยคือชุมชนจัดการตัวเอง ท้องถิ่นจัดการตัวเอง จังหวัดจัดการตัวเอง กลุ่มจังหวัดจัดการตัวเองคือกลุ่มจังหวัดที่มีภูมิประเทศใกล้เคียงกัน มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันก็ควรจะรวมกลุ่ม อย่างเช่น ปัตตานี นราธิวาส  ยะลา ก็ต้องถือว่ามีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ก็เป็นกลุ่มจังหวัดที่ควรจะจัดการตัวเอง  ถ้าถามว่าจัดการตัวเองจัดการอะไร  จัดการสองอย่างครับ

หนึ่งจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ  การศึกษา ประชาธิปไตยไปด้วยกัน และเรามีตัวอย่างมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อชุมชนจัดการตัวเอง มีสภาผู้นำชุมชนที่มีผู้นำตามธรรมชาติ ที่มีอยู่ในชุมชนมารวมตัว เป็นสภาผู้นำชุมชน ซึ่งท่านทั้งหลายก็มีอยู่จะเป็นโต๊ะครู  เป็นอิหม่าม เป็นผู้นำกลุ่มอาชีพอะไรต่างๆ ก็มีอยู่เป็นธรรมชาติในชุมชน และผู้นำตามธรรมชาติจะมีคุณสมบัติสูงกว่าผู้นำโดยการเลือกตั้งและโดยการแต่งตั้ง

ผู้นำตามธรรมชาติจะมีคุณสมบัติประมาณ 4–5 อย่าง ดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง เป็นคนเห็นแก่ส่วนรวม ถ้าเป็นคนเห็นแก่ตัว ชาวบ้านเขาคงไม่เอาด้วย เขารู้ ทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นผู้นำตามธรรมชาติเป็นคนเห็นแก่ส่วนรวม

สอง เป็นคนสุจริต ชาวบ้านเขาจะรู้ทำงานด้วยกัน เขาจะรู้ใครสุจริต ใครไม่สุจริตจะรู้หมด ใครทุจริตเขาก็ไม่เอาเป็นผู้นำไม่ได้

ประการที่สาม เป็นคนฉลาดมีสติปัญญาเป็นคนรอบรู้ รู้เรื่องราวต่างๆ รู้เรื่องภูมิประเทศ  ประวัติศาสตร์  เศรษฐกิจ วัฒนธรรมต่างๆนานา

ประการที่สี่ เป็นผู้ที่สื่อสารเก่ง สื่อสารแล้วผู้คนรู้เรื่อง มีเสน่ห์จูงใจในการพูดจาต่างๆ

ประการที่ห้าเมื่อมีคุณสมบัติต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ ก็เกิดโดยอัตโนมัติเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป อันนี้จะต่างจากผู้นำที่เกิดจากการเลือกตั้ง หรือโดยการแต่งตั้ง ซึ่งไม่แน่ว่าจะมีความเห็นต่อส่วนรวม   ไม่แน่ว่าจะเป็นคนสุจริต  ไม่แน่ว่าจะเป็นคนมีสติปัญญา  ไม่แน่นอนอะไรสักอย่าง สุดแล้วแต่เหตุปัจจัยต่างๆ  การใช้เงินใช้ทองใช้อำนาจใช้อะไรต่ออะไรต่างๆ ให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง

เพราะฉะนั้น ผู้นำธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนเป็นผู้นำที่มีคุณภาพสูง และมีเป็นจำนวนมากแต่ละหมู่บ้านอาจจะมี 40–50 คน ท่านทั้งหลายลองคิดดู เรามี 80,000 หมู่บ้านถ้าเราเอา 50 คูณ ก็ประมาณ 4–5 ล้านคนเป็นจำนวนมาก ถ้าเรามองข้างบนไปที่นักการเมือง เราเกือบจะมองไม่เห็นเลยว่าเราจะมีคนที่สุจริต คนที่มีสติปัญญาสูง มีคนที่เห็นแก่ส่วนรวมจำนวนมาก แต่ว่าที่ชุมชนนั้นมีจำนวนมากทุกแห่งหนเป็นธรรมชาติ มีเป็นล้านๆคน

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจับตรงนี้ให้ได้ว่าชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนจัดการตัวเอง เราจะมีผู้นำที่มีคุณภาพเรียกว่าสูงสุด เข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อส่วนรวม เมื่อชุมชนจัดการตนเอง มีผู้นำตามธรรมชาติเข้ามารวมตัวกัน แล้วก็สำรวจปัญหาของชุมชน ทำแผนชุมชน เอาแผนชุมชนให้คนทั้งหมู่บ้านดู อันนี้เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ซึ่งมีมาก่อนประชาธิปไตย ไม่ได้เริ่มต้นที่อังกฤษ

ประชาธิปไตยชุมชนนั้นมีมาช้านาน เพราะว่าในชุมชนถึงจะมีผู้นำชุมชน มีหัวหน้าเผ่าอะไรก็ตาม ในอัฟริกาเขาไม่ได้เอาแต่ใจตนเอง เวลาจะตัดสินใจอะไรๆ สำคัญๆ เขาประชุมชาวบ้าน ไปอ่านของเนลสัน แมนเดลล่า (Nelson Mandela) ที่อัฟริกาใต้ เขาเล่าเรื่องชีวิตในชุมชนที่เขาเติบโตมา เราก็จะเห็นประชาธิปไตยชุมชนอย่างนี้ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูง ประชาธิปไตยอรรถประโยชน์ คือมีแล้วสร้างประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน เรื่องความยุติธรรมต่างๆ ได้ เป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์  ไม่ได้ใช้เงินใช้ทอง ไปแก่งแย่งใช้ความรุนแรง มีการเข่นฆ่ากันทางการเมืองต่างๆ นานา

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจับหลักตรงนี้ได้ว่า ชุมชนจัดการตนเองเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่จะให้พลังทางสังคมทางปัญญาเป็นพลังที่จะสร้างศานติสุขในชุมชน เราก็ลงมือทำเลย เราไม่ต้องไปรอการแก้กฎหมายหรืออะไรต่างๆ  เพราะการทำความดีนั้นไม่ต้องขออนุมัติ ทำความดีความถูกต้องเราลงมือทำเลย

ทีนี้การจัดการตัวเองอีกอย่างหนึ่ง คือจัดการเชิงนโยบาย นโยบายที่ไม่ดีกระทบชุมชนท้องถิ่นอย่างหนัก เราต้องดูเรื่องนี้ มันมีนโยบายอะไรบ้างที่จะมากระทบ เพราะว่าการจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการนั้นนำไปสู่สังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และมีนโยบายอะไรบ้างที่มารบกวนความสงบสุขของชุมชนท้องถิ่น เราต้องสามารถขับเคลื่อนนโยบายนั้นๆ ได้

เพราะฉะนั้นการที่ท่านทั้งหลายมาประชุมสมัชชาประชาสังคม สมัชชาเฉพาะประเด็นที่ชายแดนใต้  จุดใหญ่จะเป็นการสร้างประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่น สร้างความร่วมมือกัน เป็นการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันอย่างที่ว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ซึ่งจะสะท้อนกลับไปทำให้การเมืองระดับชาติดีขึ้น ระบบกลไกของรัฐดีขึ้น  คอรัปชั่นจะน้อยลง ความสมรรถนะทางกลไกรัฐจะเพิ่มขึ้น เพราะว่ามีฐานที่แข็งแรง ที่ฐานของประเทศคือชุมชนท้องถิ่น  ชุมชนท้องถิ่นนั้นเหมือนเป็นฐานปิระมิดของสังคมหรือฐานพระเจดีย์ของสังคม ถ้าฐานแข็งแรงแล้วก็จะรองรับสังคมทั้งหมดให้มั่นคง

กระบวนการสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น หรือว่ากระบวนการสภาประชาสังคมต้องทำอย่างต่อเนื่อง เราไม่ใช่ทำครั้งเดียวและมีข้อเสนอไป เราทำอย่างต่อเนื่องตลอดไปเลย กระบวนการนี้เมื่อขับเคลื่อนไปก็จะทำให้เกิดพลังมากขึ้นเรื่อยๆ สะสมพลังในตัวเองเป็นพลังทางสังคม และพลังทางปัญญา  จริงๆ แล้วเป็นพลังทางจิตวิญญาณด้วยเป็นสปิริตชัวฟอส (Spiritual Force)

เพราะฉะนั้นขอให้เป็นกระบวนการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะสะสมและเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นลำดับๆ แต่จะไปถึงจุดเปลี่ยน วันหนึ่งพอสะสมพลังทางปัญญาพลังทางจิตวิญญาณถึงขนาดก็จะถึงจุดเปลี่ยนที่เรียกว่า เทิร์นนิ่งพ๊อยท์ (Turning Point) พอถึงจุดเปลี่ยนแล้วจะไม่หันกลับไปเป็นแบบเดิม จุดเปลี่ยนนั้นคือ เกิดสังคมศานติสุขในชายแดนใต้

ท่านอาจารย์ประสิทธิ์  คุณหมอพลเดช และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านครับ ผมในฐานะประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปขอแสดงความชื่นชม และแสดงความยินดีกับท่านทั้งหลายที่ได้จัดการประชุมสมัชชา หรือจัดการประชุมสภาประชาสังคมขึ้น ในเรื่องชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน ผมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากเป็นหลักการที่ใหญ่มาก ถ้าได้ร่วมกันทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะไปถึงจุดเปลี่ยนที่เราสามารถสร้างศานติสุขในชายแดนใต้ขึ้นมา การมีศานติสุขในชายแดนใต้นั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นความงามของแผ่นดิน เป็นความงามของมนุษยชาติ

ขออวยพรให้ผู้มีเกียรติที่เคารพทุกๆ ท่านประสบความสำเร็จ ประสบความสุขสวัสดีและก็มีความสามัคคีกันที่จะขับเคลื่อนต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนที่ว่า เกิดสังคมศานติสุขในชายแดนใต้ขึ้น ขอบพระคุณครับ

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

8ปีไฟใต้ จัดงานใหญ่สมัชชาปฏิรูป เน้นกระจายอำนาจ-แก้ปัญหายุติธรรม

http://www.deepsouthwatch.org/node/2626

สมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ค้นทางดับไฟสู่การจัดการตนเอง

http://www.deepsouthwatch.org/node/2636

2555สมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ เดินสายจัด200เวทีกระจายอำนาจ

http://www.deepsouthwatch.org/node/2601

เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 "ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน"

http://www.deepsouthwatch.org/node/2619

เปิดเบื้องหน้าเจาะเบื้องหลัง 2555ปีปฏิรูปชายแดนใต้

http://www.deepsouthwatch.org/node/2648

2555‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’เดินหน้าปฏิรูป

http://www.deepsouthwatch.org/node/2644

เยียวยาเหยื่อไฟใต้ สู่กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ (1)

http://www.deepsouthwatch.org/node/2651

เยียวยาเหยื่อไฟใต้ สู่กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ (2)

http://www.deepsouthwatch.org/en/node/2660

กระจายอำนาจ สู่การปฏิรูปโครงสร้างรัฐชายแดนใต้ (1)

http://www.deepsouthwatch.org/node/2662

กระจายอำนาจ สู่การปฏิรูปโครงสร้างรัฐชายแดนใต้ (2)

http://www.deepsouthwatch.org/node/2665

กระจายอำนาจ สู่การปฏิรูปโครงสร้างรัฐชายแดนใต้ (3)

http://www.deepsouthwatch.org/node/2671

กระจายอำนาจ สู่การปฏิรูปโครงสร้างรัฐชายแดนใต้ (4)

http://www.deepsouthwatch.org/en/node/2678

กระจายอำนาจ สู่การปฏิรูปโครงสร้างรัฐชายแดนใต้ (5)

http://www.deepsouthwatch.org/node/2687

‘สมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้’เริ่มแล้ว ถกปมยุติธรรม–กระจายอำนาจวันนี้

http://www.deepsouthwatch.org/node/2688

เริ่มแล้ว‘สมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้’ สภาประชาสังคมจี้เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

http://www.deepsouthwatch.org/node/2690

ประชาสังคมจี้รัฐเยียวยาไฟใต้ทุกกลุ่ม ให้ทบทวนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน–กฎอัยการศึก

http://www.deepsouthwatch.org/node/2693

สาวมุสลิมหนีตามทหารอีสาน กอ.รมน.เผยมีเป็นพัน รับรีบแก้

http://www.deepsouthwatch.org/node/2696

ประเวศ วะสี ‘ชายแดนใต้ต้องไม่ทอดทิ้งกัน’

http://www.deepsouthwatch.org/node/2697

เปิดข้อมูลเหยื่อไฟใต้ ที่ภาคประชาสังคมเยียวยา

http://www.deepsouthwatch.org/node/2699