Skip to main content

สภาประชาสังคมชายแดนใต้

 

เวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” วันที่ 5 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่สองและวันสุดท้ายของงาน เนื้อหาเน้นหนักอยู่ที่ประเด็นการกระจายอำนาจ

 

า

                                         ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

 

 

ทำไมต้องกระจายอำนาจ

รูปแบบการกระจายอำนาจ เขตปกครองพิเศษ ปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร เลือกตั้งผู้ว่าฯ ปัตตานีมหานคร ท้องถิ่นพิเศษ ออโตโนมี นครปัตตานี เขตปกครองตนเอง

จุดเปลี่ยน ความขัดแย้งสู่ความรุนแรง ความรุนแรง...จบด้วยการสูญเสีย

จากข้อมูลทางสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547–พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา รวมเวลา 95 เดือน เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งสิ้น 11,332 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็น 13,295 ราย มียอดผู้เสียชีวิตที่เป็นพุทธศาสนิกชน 1,918 ราย และชาวมุสลิม 2,928 ราย ไม่ระบุศาสนา 138 ราย จะเห็นได้ว่ายอดผู้เสียชีวิตชาวมุสลิมมีอัตราสูงกว่า กลับกันกับยอดผู้ได้รับบาดเจ็บกล่าวคือ มีพุทธศาสนิกชนถึง 5,026 ราย ชาวมุสลิมเพียง 2,692 ราย ไม่ระบุศาสนา 593 ราย

 

ความขัดแย้งที่รุนแรงต้องการเปลี่ยนผ่าน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า ในช่วงของระยะเปลี่ยนผ่านเกิดสถานการณ์ความรุนแรงยืดเยื้อเรื้อรัง 8 ปีที่มีคนตายไปเยอะ ถ้าจะเปลี่ยนความขัดแย้ง ความรุนแรงไปสู่แนวทางสันติ อยู่ดีๆ จะไปเปลี่ยนไม่ได้เลย ต้องมีช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่วิชาการเรียกว่าการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง ต้องมีกระบวนการในระยะเปลี่ยนผ่าน

“คือลักษณะพิเศษของเหตุการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ของเรา ผมคิดว่ามันเป็นจุดที่ทำให้เกิดทางตันในทางการเมือง ความรุนแรง ทำให้คนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก เป็นการปิดความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ฉะนั้นเราต้องการพื้นที่ใหม่ทางการเมือง ในการพูดคุย เจรจา ปรึกษาหารือ ระหว่างฝ่ายต่างๆ ทั้งระดับข้างบนสุด ระดับกลาง ระดับล่าง ต้องมีการสร้างกระบวนการร่วมกัน จะทำให้เกิดความคิดที่เปิดออก หาหนทางแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางสันติ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์ศรีสมภพ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า ตรงนี้จะนำมาสู่กระบวนการที่นำมาสู่ข้อเสนอ การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เขตปกครองพิเศษ ปัตตานีมหานคร หรือรูปแบบอื่นๆ ขึ้นมา พวกนี้เป็นทางเลือกที่เกิดขึ้นหลังจากที่ทุกคนเห็นทางตัน ต้องการหาโอกาสใหม่ๆ ทางเลือกที่เกิดขึ้นทำให้เรามองเห็นว่ามันเป็นไปได้ โอกาสที่ถูกปิดมันสามารถจะเปิดออกได้ด้วยวิถีทางสันติ ด้วยวิธีการปฏิรูปทางการเมือง

“การเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง มีความจำเป็นที่ต้องเปิดพื้นที่ใหม่ในทางการเมือง เพื่อสร้างกระบวนการร่วมกันอย่างสันติ โดยการปฏิรูปทางการเมืองให้เป็นทางเลือกในการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อการแก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจ”

นายมันโซร์ สาและ ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ให้ประชาชนมีสิทธิ์ มีส่วน ในการที่จะกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ตัวเองต้องการ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยเรียกว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง

“ลักษณะข้อเท็จจริงของโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นยังคงผูกพันกับอำนาจส่วนกลางมาก เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด จริงๆ แล้วเป็นเพียงกลไกที่ประชาชนในระดับล่าง ยังไม่สามารถจะพัฒนาตัวเองไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในความหมายของประชาธิปไตย ฉะนั้นในการสนับสนุนหลักเกณฑ์การกระจายอำนาจให้ประชาชนเข้าใจ ถือเป็นหลักเบื้องต้นของการพัฒนาประชาธิปไตย ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้ามากขึ้น” นายมันโซร์ กล่าว

 

ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์

พลตำรวจตรีจำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ กล่าวว่า ความแตกต่างของชาวมลายูปัตตานี เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์มลายูอยู่ในดินแดนแห่งนี้มายาวนาน ชาวมลายูเคยมีรูปแบบการเมืองและการปกครอง ซึ่งเป็นรูปแบบลักษณะของตัวเองมาก่อน หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองสมัยรัชการที่ 5 ได้มีการรวมศูนย์อำนาจไปสู่ส่วนกลาง ยกเลิกตำแหน่งผู้นำ ดังนั้นชนชาวมลายูปัตตานีจึงเรียกร้องยื่นข้อเสนออยู่หลายประการที่ต้องการให้รัฐเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น

“สิ่งที่ชนชาวมลายูภาคภูมิใจคือ ประวัติศาสตร์ความเป็นชาติพันธุ์มลายู ซึ่งมีภาษาเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะภาษามลายูเป็นภาษาซึ่งใช้กันมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการสำรวจพบว่า ภาษามลายูเป็นภาษาที่ใช้กันในอันดับ 7 ของโลก เพราะฉะนั้นบอกได้เลยว่าชนชาวมลายูปัตตานี มีประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง มีอารยธรรม ประเพณี มีศาสนาและภาษาที่แตกต่าง การที่จะให้ดินแดนแห่งนี้มีความสงบสุข จะต้องให้เกียรติให้ความเคารพในความเป็นอัตลักษณ์ของชนชาวมลายู” พลตำรวจตรีจำรูญ กล่าว

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ์ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า ตนเห็นว่าถึงเวลาที่คนในพื้นที่จากทุกภาคส่วน ต้องมานั่งคุยกันว่า จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่นี้อย่างไร ในอดีตที่ผ่านมาเกือบ 9 ปี มีนักบุญจากภายนอกพื้นที่เข้ามาเยอะมากหลายภาคส่วน แต่ทำไม่สำเร็จ ตนจึงเห็นว่าน่าจะใช้โอกาสนี้ นำคนรากหญ้า คนทุกภาคส่วน จากทุกอาชีพในพื้นที่มาคุยกัน

“นอกเหนือจากคุยกันเองแล้ว ต้องทำให้คนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เกิดความไว้วางใจทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ ขยายพื้นที่ให้ใหญ่ เมื่อมวลชนเข้ามาร่วมมาก พลังการต่อรองจะสูง ใครก็ตามที่เป็นแกนนำก่อความรุนแรงก็จะเห็น เมื่อมีคนนเห็น เขายังฝืนไม่คุย ไม่พูด ฝืใช้ความรุนแรงลูกเดียว อนาคตเขาก็ไม่ดี การต่อสู้ในอนาคตก็จะแพ้ ทีนี้การแพ้ทางมวลชนคือการแพ้การเมือง เมื่อแพ้การเมือง การทหารก็ไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นหัวใจคือการเปิดพื้นที่ให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะให้พลังต่อรองสูงขึ้น ทุกฝ่ายจะได้ให้ความสำคัญและต้องมาคุยกัน” นายประสิทธิ์ กล่าว

 

เราต้องออกแบบบ้านของเราเอง

การกระจายอำนาคือ การออกแบบบ้านของเราเอง เราจะได้อยู่โดยปราศจากความหวาดกลัว จากที่เคยเป็นเหมือนเรื่องต้องห้าม กลายเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องพูดคุยอย่างเปิดเผย ทำไมต้องเริ่มคิด และต้องคุยกันเรื่องนี้ เพราะนี่คือทางออกจากความรุนแรงที่รายรอบและยืดเยื้อ รัฐธรรมนูญไม่ใช่เพียงแค่เปิดช่องให้ทำได้ หากแต่เราจำเป็นต้องส่งเสริมสิทธิในการจัดการกับชีวิตของตัวเอง สิทธิที่จะอยู่ร่วมกันอย่างไร สิทธิที่จะคิดได้ว่าเราจะทำกันอย่างไร

โอกาส ไม่ใช่เพียงถามว่าทำไมต้องกระจายอำนาจ แต่การกระจายอำนาจเป็นสิ่งจำเป็น เราจึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาร่วมกัน