Skip to main content

ทหารเร่งกู้เส้นทางนบพิตำ แม่ค้าผลไม้บ่นอุบชาวสวนกรุงชิงขนผลผลิตออกมาไม่ได้ ขาดรายได้ยับ แม่เฒ่าเมืองคอนจมน้ำดับ สงขลาคลื่นลมยังแรง ปัตตานีประกาศ 12 อำเภอภัยพิบัติ

       ั

        เร่งกู้-ทหารสะพานข้ามคลองกลาย ช่วยชาวกรุงชิงให้สามารถสัญจรไปมา ขนผลไม้ไปขายได้

 

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช ปรากฏว่าในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชกำลังเข้าสู่สภาวะปกติ ยกเว้นชุมชนบ้านตก ชุมชนบ่อทรัพย์ ชุมชนท่าโพธิ์ และชุมชนราเมศวร์ ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง แต่ระดับน้ำก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จากการระบายน้ำลงสู่คลองท่าซาก คลองปากนคร ออกสู่ปากอ่าวปากนคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เชานวัศน์ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า มีการระดมเครื่องสูบและผลักดันน้ำรวม 19 ตัว เร่งระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่อง การระบายน้ำเป็นไปได้ดี โดยวันที่ 8 มกราคม 2555 จะมีการทำความสะอาดเมืองครั้งใหญ่

 

ทหารเร่งกู้เส้นทางเข้าชุมชนเทือกเขา

ส่วนเขตเทือกเขาหลวง เช่น ชุมชนบ้านห้วยตง บ้านหวายช่อ หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 8 ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังพลขอกรมการทหารช่าง กองทัพภาคที่ 4 ได้นำเครื่องจักกลหนัก พร้อมเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงเส้นทาง จากแขวงการทางจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าไปเร่งกู้เส้นทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้การได้ โดยเฉพาะในอำเภอนบพิตำ ล่าสุดรถยนต์ทุกชนิดเดินทางเข้าไปได้แค่โรงเรียนบ้านปากลงเท่านั้น

ล่าสุด กำลังทหารช่าง ช.พัน 401 และช.พัน 402 พัทลุง, ทหารช่างกรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 และ ทหารจาก ป.105 กองทัพภาคที่ 4 พร้อมเจ้าหน้าที่จากศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 4 อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันกู้สะพานแบริ่ง ที่ลอยในลำคลองกลายกลับมาไว้ที่เดิม และเร่งถมดินลงไปในลำคลองกลาย เพื่อสร้างทางเบี่ยงตลอดทั้งวัน คาดว่าจะสามารถกู้สะพานแบริ่งและสร้างทางเบี่ยงเสร็จภายในค่ำวันที่ 5 มกราคม 2555 จากนั้นจะเปิดให้ประชาชน หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ตำบลปากลง สัญจรไปมาได้ตามปกติ จากเดิมต้องไต่สะพานเชือกข้ามคลองกลายออกมาจากหมู่บ้าน

 

เร่งกู้เสาไฟฟ้าแรงสูงนบพิตำ

นายภณุตส์ นาคเพ็ชร์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ที่บ้านเขาไม้ไผ่ หมู่ที่ 8 ตำบลกรุงชิง และบ้านห้วยตง หมู่ที่ 7 ตำบลกรุงชิง มีเสาไฟฟ้าแรงสูงถูกน้ำป่าซัดล้มเสียหาย 12 ต้น ราษฎรไม่มีไฟฟ้าใช้ 80 ราย ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำลังส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงใหม่ต่อไป คาดว่าจะซ่อมเสร็จ ในวันที่ 9 มกราคม 2555 เนื่องจากสะพานที่จะเข้าหมู่บ้านขาดถึง 7 สะพาน ต้องเรอให้ซ่อมสะพานเสร็จก่อน

 

ชาวสวนกรุงชิงขาดรายได้

นางนุสรา เมืองสุวรรณ อายุ 35 ปี แม่ค้ารับซื้อผลไม้ในตลาดตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่มังคุด ลองกอง และเงาะกำลังออกผลผลิต น่าเสียดายที่ชาวสวนผลไม้หมู่ที่ 6 ตำบลกรุงชิง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกสวนผลไม้ทั้งเงาะ มังคุด ลองกองนับหมื่นไร่ มีผลผลิตออกสู่ตลาดวันละนับพันตัน แต่ไม่สามารถนำผลผลิตออกมาขายได้ เนื่องจากสะพานแบริ่งข้ามคลองกลายถูกน้ำป่าซัดขาด ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรนับพันตันต่อวันเน่าเสีย ไม่สามารถขนออกมาจากหมู่บ้านได้ ทำให้ราษฎรขาดรายได้จำนวนมาก

“ความจริงสะพานข้ามคลองกลาย ถูกน้ำป่าซัดพังเสียหายมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2554 เจ้าหน้าที่เพียงแต่ซ่อมสร้างสะพานแบริ่งเป็นทางเบี่ยงให้เท่านั้น ไม่ยอมสร้างสะพานใหม่ถาวรให้เลย ชาวบ้านอยากให้สร้างสะพานถาวรให้เสร็จโดยเร็ว จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนแบบนี้” นางนุสรา กล่าว

ส่วนที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช มีหลายพื้นที่ยังคงถูกตัดขาด เนื่องจากสะพานเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน และเส้นทางหลักได้รับความเสียหาย จนไม่สามารถใช้การได้เช่นกัน ในช่วงเที่ยงนายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางลงมาตรวจเยี่ยม เพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่

 

แม่เฒ่าจมน้ำเสียชีวิตอีก 1 ราย

เมื่อเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน พ.ต.ท.ไพรัช ทองฉิม พนักงานสอบสวนเวร สถานีตำรวจภูธรย่อยปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช  ไปชันสูตรพลิกศพนางกอบ นิ่มช่วย อายุ 71 ปี อยู่ที่บ้านเลขที่ 368 หมู่ที่ 10 ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ที่จมน้ำเสียชีวิตใกล้กับบ้านริมถนนสายบางปู–ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ขณะเดินลุยน้ำไปทำความสะอาดบ้านที่ถูกน้ำท่วม นับเป็นผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำเป็นรายที่ 3 และยังมีผู้เสียชีวิตเพราะถูกไฟฟ้าช็อต ขณะน้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านอีก 1 ราย

 

สอบเขาถล่มร่อนพิบูลย์

นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกสำรวจความเสียหายและความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ ที่บ้านเขาวัง หมู่ที่ 12 ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จุดเกิดเหตุเป็นสวนยางพาราและสวนไม้ผลของชาวบ้าน ดินภูเขาพังถล่มลงมาทับเสาไฟฟ้าเสียหายหลายต้น ถนนพังยับ พืชสวนการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง เส้นทางเข้าหมู่บ้านเขาวังถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง ทำให้โรงเรียนตชด.บ้านเขาวัง และชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 150 ครัวเรือน กว่า 1,200 คน ถูกตัดขาด ไม่สามารถออกมาภายนอกได้ ขณะนี้ต้องเร่งเจรจากับเจ้าของที่ดิน เพื่อตัดแต่งไม้ผลเปิดให้ไฟฟ้าสามารถเดินสายส่งใหม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะรับผิดชอบทั้งหมด

นายทวีสน บุญผล ผู้ใหญ่บ้านเขาวัง กล่าวว่า เกิดภูเขาพังถล่มลงมาปิดเส้นทางสัญจร และยังคงมีดินสไลด์ลงมาต่อเนื่อง โชคดีบริเวณที่ดินพังลงมา ไม่มีบ้านเรือนชาวบ้านอาศัยอยู่ ขณะนี้ชาวบ้านต้องเดินเท้าแบกหามผลผลิตทางการเกษตร เช่น มังคุด ทุเรียน เงาะ ขึ้นลงภูเขาออกมากว่า 200 เมตร ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน

สำหรับบ้านเขาวังเกิดเหตุดินถล่มลงมา มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะมีรอยร้าวเพิ่มขึ้นหลายจุด ลึกเข้าไปอีกนับสิบเมตร

 

 

นายอำเภอเจรจาเปิดเส้นทางใหม่

นายธำรง เขมะรัตน์ นายอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมนายภานุวัฒน์ ทิพย์ศรีนิมิต ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคร่อนพิบูลย์ ได้เข้าเจรจากับนางแก้ว ดวงฤทธิ์ อายุ 70 ปี อยู่ที่หมู่บ้าน 88/2 หมู่ที่ 10 ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับจุดพังถล่ม และมีที่ดินสวนผลไม้ของนางแก้ว พังถล่มออกมาตลอดแนว ในเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เนื่องจากนางแก้วไม่ยินยอมให้เดินสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านที่ดิน ตัดไม้ผล และตัดแนวถนนเข้าในที่ดิน อ้างว่าสวนสมรมแห่งแรกและแห่งเดียวของครอบครัวเดิมที่มีอยู่ประมาณ 10 ไร่ ถูกตัดถนนไปแล้ว โดยไม่ได้สิ่งใดตอบแทนกลับมาเลย มาครั้งนี้ยังโดนดินพังถล่มทับ ทางการยังจะมาขอที่ดินอีก ตนไม่มีที่ดินทำกินแล้ว ไม่ได้ว่าจะไม่ให้แต่ที่ชีวิตที่เหลืออยู่ จะเอาอะไรกิน ตนมีลูกอีก 5 คน ที่ต้องแบ่งที่ดินผืนนี้จะอยู่กันอย่างไร

ในที่สุด นายธำรงได้เจรจาต่อรองจนนางแก้ว และน.ส.โสภา ดวงฤทธิ์ บุตรสาว ยอมรับในหลักการให้ ทางการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งดูแลครอบครัว ส่วนที่ดินที่จะขอไปทำถนน ทางการจะรับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนประมาณ 1,500 คนเศษ นักเรียนโรงเรียน ตชด.บ้านเขาวังอีก 185 คน ได้ใช้เส้นทางเข้าออก

 

แนะใช้วิธีธรรมชาติป้องกันดินถล่ม

นายสมใจ เย็นสบาย ผู้อำนวยการส่วนธรณีพิบัติภัย  กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า พื้นที่นี้มีความเสี่ยงที่จะขยายวงถล่มมากขึ้น วิธีแก้ที่เป็นธรรมชาติคือ ด้วยการโปรยเม็ดมะขามให้มากที่สุด แล้วปล่อยให้เจริญงอกงาม รากของมะขามจะเกาะยึดกับดินแน่น ช่วยเหนี่ยวรั้งไม่ให้พังทลายลงมา เมื่อโตขึ้นหากตัดก็ยังสามารถปลูกพืชอื่นๆ ต่อไปได้

“ถ้าแก้ไขตามหลักวิศวกรรม จะต้องใช้งบประมาณสูงและใช้เวลานาน แก้ปัญหาโดยใช้วิธีธรรมชาติดีที่สุด” ผู้อำนวยการส่วนภัยพิบัติ กรมทรัพยากรธรณี กล่าว

 

สงขลาคลื่นลมยังแรง

สำหรับสภาพคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยบริเวณชายฝั่ง 6 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอระโนด และอำเภอเมืองสงขลา ยังคงมีกำลังแรง แม้จะไม่สร้างความเสียหายให้กับชายฝั่ง แต่ชาวประมงพื้นบ้านยังไม่กล้าออกทำประมง เนื่องจากคลื่นยังสูง 1–2 เมตร

นายสัน หมัดเจริญ ชาวประมงพื้นบ้าน เปิดเผยว่า ตนหยุดเดินเรือมากว่า 3 เดือนแล้ว คาดว่าอีกประมาณ 4–5 วันน่าจะออกเรือทำประมงได้ ที่ผ่านต้องไปทำงานรับจ้างทั่วไปและทำงานก่อสร้างแทน เพราะขาดรายได้

ทางด้านจังหวัดพัทลุง สถานการณ์น้ำท่วมในวันที่ 5 มกราคม 2555 ยังหนักในหลายอำเภอ ล่าสุดพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลาน้ำยังท่วมขังสูงประมาณ 120 เซนติเมตร เนื่องจากรับน้ำเหนือจากเทือกเขาบรรทัด โดยเฉพาะที่ตำบลพนางตุง ตำบลมะกอกเหนือ ตำบลปันแต ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน ตำบลเขาชัยสน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน ตำบลท่ามะเดื่อ ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว ตำบลฝาละมี ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน ตำบลปรางหมู่ ตำบลชัยบุรี ตำบลพญาขันต์ อำเภอเมืองพัทลุง มีบ้านเรือนชาวบ้าน 3 หลัง ที่หมู่ที่ 5 ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน ถูกกระแสน้ำไหลทะลักจนบ้านพังเสียหาย บางส่วนต้องอพยพไปอาศัยบ้านญาติ

 

ปัตตานีประกาศ 12 อำเภอภัยพิบัติ

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดปัตตานี ยังคงน่าเป็นห่วง ถึงแม้ฝนจะทิ้งช่วงหยุดตกมาแล้วหลายวัน แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำป่า และน้ำเหนือจากจังหวัดยะลา ที่ยังคงไหลระบายลงสู่ทะเลลงแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรีอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายอำเภอริมแม่น้ำในจังหวัดปัตตานี มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน

พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรี ยังคงได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากเป็นเส้นทางน้ำที่มีความไหลเชี่ยว โดยเฉพาะในตำบลปะกาฮารัง ตำบลบาราเฮาะ และตำบลตะลุโบ๊ะ อำเภอเมืองปัตตานี ขณะนี้ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร มีบ้านเรือนกว่า 1,000 หลัง ต้องประสบปัญหาถูกน้ำท่วม ถนนไม่สามารถใช้สัญจรได้ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางเข้าออกหมู่บ้าน

นอกจากนี้ ยังพบชายอายุ 60 ปี ในที่ตำบลบาราเฮาะ เสียชีวิตจากการจมน้ำแล้ว 1 ราย ที่อำเภอยะรัง อ.แม่ลาน และอำเภอหนอกจิก ระดับน้ำลดลงมีเพียงน้ำท่วมขังในที่ลุ่ม ขณะเดียวกัน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานีได้ประกาศให้พื้นที่น้ำท่วมขังทั้ง 12 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว พร้อมกับสรุปความเสียหายเบื้องต้น 60 หมู่บ้าน 245 ตำบล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 28,760 คน 12,124 ครัวเรือน