Skip to main content

นายฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมร่วงกฎหมายต้านซ้อมทรมาน เดินหน้าล่ารายชื่อทั่วประเทศ เริ่มภาคเหนือ อีสานกลาง ใต้ หวังรัฐตั้งองค์กรดูแลเฉพาะ

 

                         นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและสมาชิกเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ในปี 2555 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จะร่วมกันล่ารายชื่อประชาชนจากทั่วประเทศให้ได้ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ป้องกันและต่อต้านการทรมาน พ.ศ....ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการออกกฎหมายฉบับนี้

นางสาวพูนสุข เปิดเผยต่อไปว่า การล่ารายชื่อดังกล่าว จะมีขึ้นพร้อมกับการรณรงค์ต่อต้านการซ้อมทรมานในทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย โดยในเดือนมกราคม 2555 จะเริ่มรงณรงค์และล่ารายที่ภาคเหนือ เดือนภุมภาพันธ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเดือนมีนาคมในภาคกลาง ส่วนในภาคใต้ยังไม่ได้กำหนด

นางสาวพูนสุข เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมามีการซ้อมทรมานเป็นระยะในประเทศไทย โดยมีการเก็บข้อมูลสถิติที่ชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการเก็บข้อมูลชัดเจนมากที่สุด แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดโดยการซ้อมทรมานได้รับโทษแต่อย่างใด หรือมีการลงเพียงอย่างมากก็แค่ถูกสั่งย้ายไปอยู่ที่อื่น

นางสาวพูนสุข กล่าวว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักในการรนณรงค์และล่ารายชื่อ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการซ้อมทรมานมากที่สุด

“เราไม่คาดหวังว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นร่างที่สมบูรณ์ได้ แต่สิ่งที่คาดหวังจากกฎหมายฉบับนี้ คือต้องการให้กลไกในการดูแลแก้ไขเรื่องการซ้อมทรมานโดยเฉพาะ เช่น มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล จึงไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มมาตราในกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น” นางสาวพูนสุข กล่าว

ก่อนหน้า ระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2554 เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อจัดโครงการอมรบเชิญปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เรื่อง ปัญหาและความสำคัญของการมีกฎหมายป้องกันการทรมานในประเทศไทย ที่ห้องไทรงาม โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

นางสาวหทัยกาญจน์ กำเนิดเพชร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า การรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนยอมรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ สิ่งแรกคือ ต้องปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องว่า การซ้อมทรมานเพื่อจะให้ได้ข้อมูลนั้น เป็นเรื่องผิดกฎหมายและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคล และต้องให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปว่า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ถึงแม้จะเป็นนักโทษก็ตาม และการซ้อมทรมานนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

นางสาวหทัยกาญจน์ กล่าวว่า คาดหวังหากพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ประกาศใช้จริงๆ คิดว่าปัญหาการซ้อมทรมานน่าจะลดลงในระดับหนึ่ง ที่สำคัญเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น

นายอิสมาแอล เต๊ะ อดีตนักศึกษาจากจังหวัดยะลา ผู้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ซ้อมทรมานตน กล่าวในเสวนาว่าด้วย “บทบาทของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต่อการป้องกันการทรมาน”ว่า แรงจูงใจที่ตนสู้คดีเพราะพอมีความรู้ในการเรียกร้องความยุติธรรมอยู่บ้าง แต่ประชาชนทั่วไปไม่มีรู้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกลัวที่จะฟ้องรัฐ จึงต้องการให้คดีของตนเป็นคดีตัวอย่างสำหรับคนที่ถูกซ้อมทรมาน

“เรื่องเงินค่าเสียหาย ผมไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่เรื่องที่สำคัญคือความยุติธรรม” นายอิสมาแอล กล่าว

นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การซ้อมทรมานเป็นกระบวนการยุติธรรมนอกระบบ ไม่ว่ากฎหมายใดๆ ก็ไม่อาจอนุญาตให้กระทำได้ คนที่ทำอาจมีเจตนาเพื่อแสวงหาข้อมูล แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ จนกระทั่งผู้ถูกซ้อมทรมานยอมกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ

นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน จากเครือข่ายกลุ่มการเมืองภาคพลเมือง กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมาน คือ ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ เพราะตราบใดที่กฎหมายพิเศษยังใช้อยู่ ก็จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายแพทย์อนันต์ชัย กล่าวด้วยว่า รัฐควรตั้งกองทุนประกันตัวผู้ต้องหา เพราะผู้ต้องหาส่วนใหญ่ มีฐานะยากจน ส่วนการเลือกตำรวจมาทำงานในพื้นที่ ต้องเป็นคนในพื้นที่ เพราะมีความเข้าใจในพื้นที่ สำหรับตำรวจมุสลิม ต้องกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องจบการศึกษาศาสนา ส่วนอัยการและศาลต้องลงพื้นที่พบกับภาคประชาชนด้วย

ในเอกสารโครงการอบรมเชิญปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดไร้มนุษยชน หรือยำยีศักดิศรี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2527 และอนุสัญญามีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2530 มีการบังคับใช้ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ ในการระงับและยับยั้งการทรมาน เป็นผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญานี้ และนำมาตรการในทางกฎหมาย ตลอดจนสามารถนำเครื่องมือต่างๆ ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาการทรมานที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารโครงการยังระบุอีกว่า ปัญหาการซ้อมทรมานจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหากยังไม่มีการตรากฎหมายเฉพาะขึ้นมาเพื่อป้องกันและแก้ไข เพราะประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีข้อจำกัดทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการขั้นตอนในการสืบสวนสอบสวน มาตรการคุ้มครองและป้องกันการทรมาน ตลอดจนการเยียวยาผู้เสียหายและการลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด ปัจจุบันจึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ครอบคลุมเพียงพอจะแก้ไขปัญหาการทรมานทั้งระบบ เพื่อคุ้มครองป้องกันประชาชนจากการถูกทรมานได้   

“เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมตระหนักถึงความสำคัญของการมีกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทรมาน จึงได้ร่วมกันร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทรมานขึ้นเพื่อนำเสนอต่อภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” เอกสารโครงการระบุ