Skip to main content

อารีด้า สาเม๊าะ

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

                       า

                 ล่วงเลยมา 8 ปีแล้ว นับตั้งแต่เหตุการณ์กลุ่มคนร้ายบุกปล้นปืนทหารกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไร้วี่แววสงบสุข

ตัวเลขความเสียหายล่าสุด จากการรวบรวมข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สรุปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2554 ระบุว่าเกิดเหตุรุนแรง 13,098 เหตุการณ์ เสียชีวิต 5,014 ศพ และบาดเจ็บ 8,357 ราย

 

ในวาระ 8 ปีแห่งความสูญเสีย ทางสภาประชาสังคมชายแดนใต้ จึงจัดเวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 "ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน" มีขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อวันที่ 4-5 ม.ค.ที่ผ่านมา

เป็นการจัดงานร่วมกับข่ายงานชุมชนท้องถิ่น และประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ สนับสนุนโดยสำนักงานปฏิรูป (สปร.) เพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรม เพื่อรับฟังข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอต่อสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สปร.

โดยเน้น 2 เรื่องหลัก คือ การกระจายอำนาจ และกระบวนการยุติธรรม ท่ามกลางความสนใจประชาชนทั่วไป และภาคประชาสังคมจาก จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

               d

        เปิดเวทีด้วยประเด็น "ยุติธรรมสมานฉันท์" พูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง และได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับต่างๆ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

น.ส.ลม้าย มานะการ และ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ตัวแทนคณะจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะทำงานยุติธรรมสมานฉันท์ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกันนำเสนอในประเด็นนี้

น.ส.ลม้าย ระบุว่าภาคประชาสังคมได้ช่วยเหลือเยียวยาคนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยไม่เลือกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีสิทธิได้รับการเยียวยา ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจากสถานการณ์ภาคใต้ (กยต.) ไม่ว่าจะเป็นในเหตุการณ์ กูจิงลือปะ เหตุการณ์ตากใบ และเหตุการณ์ตันหยงลิมอ

รวมทั้งครอบครัวกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพราะผู้ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

ที่ผ่านมาภาคประ ชาสังคมทำงานเชิงรณรงค์ ผลักดันให้ความช่วยเหลือเหยื่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งด้านการศึกษา ด้านการส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้ครอบครัวผู้ประสบภัยมีรายได้มั่นคง และจัดทำฐานข้อมูลการให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งให้ความรู้ด้านกฎหมาย โดยศูนย์ทนายความมุสลิม และงานพัฒนาฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ รณรงค์สร้างสันติภาพและยุติความรุนแรงผ่านสื่อ

"ภาคประชาสังคมเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายมากกว่าภาครัฐ เราช่วยเหลือทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อ สิ่งที่ต้องการจากการทำงานเยียวยาคือ ลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น" น.ส.ลม้ายกล่าว

l

ขณะที่ นายอาดิลัน เปิดเผยข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ ทั้งกฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า บุคคลเหล่านี้จะไม่ได้รับการเยียวยา เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขของ กยต. จนต้องตั้งศูนย์ทนายความมุสลิมขึ้นมาช่วยเหลือทางคดีให้จำเลยในคดีความมั่นคง และจัดอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความออกไปให้ความช่วยเหลือ และให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ชาวบ้าน

อาดิลัน เสนอว่า ข้อเสนอที่มีต่อสมัชชาปฏิรูป คือช่วยขับเคลื่อนเรื่องค่าชดเชยผู้ถูกดำเนินคดีอาญา ที่ขณะนี้ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะที่ชาวบ้านก็ยังไม่เข้าใจ และเข้าไม่ถึง ต้องให้เครือข่าย นักกฎหมายช่วยเหลือเรียกร้องค่าชดเชยแก่จำเลยในคดีอาญา

"ข้อมูลที่นำเสนอในเวทีวันนี้ แสดงให้เห็นข้ออ่อนของการใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง คือประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องสิทธิและข้อกฎหมาย ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้ง่าย อยากให้เจ้าหน้าที่ทบทวนว่า 8 ปี ที่ประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง เพียงพอแล้วหรือยัง การจัดการปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ กับการใช้กฎหมาย ความมั่นคง ควรจะไปในทิศทางใด" ตัวแทนภาคประชาสังคมชายแดนใต้สะท้อนปัญหา

อีกประเด็นสำคัญของเวทีนี้ คือการเสวนาเรื่องการกระจายอำนาจ ผ่านการสรุปโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในผู้ผลักดันเขตปกครองพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข้อเสนอทั้งสิ้น 6 ทางเลือก

ทางเลือกที่ 1 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต.ในปัจจุบัน มีพื้นที่ดูแลครอบคลุม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเลขาธิการที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง

มีผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย ดูแลรายจังหวัด ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ สำหรับการทำงานในพื้นที่

ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตั้งแต่ระดับจังหวัด เมือง และตำบลตามลำดับ มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)

ทางเลือกที่ 2 คือ ทบวงการบริหารพื้นที่ชายแดนใต้ มีสถานะเทียบเท่ากระทรวงจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐมนตรี มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง ทำหน้าที่เป็นรองปลัดทบวง และมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็น รูปแบบที่มีลักษณะประนีประนอมระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ยึดหลักการถ่ายโอนอำนาจ

โครงสร้างการบริหาร มีรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นผู้บริหารสูงสุด ปลัดทบวงเป็นข้าราชการประจำ โดยให้รองปลัดทบวงที่มาจากผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กำกับดูแลการบริหารงานในแต่ละจังหวัด

มีสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากการเลือกตั้งตัวแทนภายในกลุ่มอาชีพ มีอำนาจให้ความเห็นชอบต่อนโยบายและงบประมาณของทบวงฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ยังคงอยู่เหมือนเดิม มีสภาท้องถิ่นที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งในแต่ละเขตท้องถิ่น และผู้นำศาสนาที่สรรหามาจากท้องถิ่น

ทางเลือกที่ 3 "สามนคร 1" เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นรายจังหวัด ยังคงเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแค่ 2 ระดับคือ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล และยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค

ในส่วนของโครงสร้างการบริหาร มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สมาชิกสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขต (อำเภอ) มีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลยังคงอยู่

ทางเลือกที่ 4 "สามนคร 2" เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ว่าราช การจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นรายจังหวัด ปรับจังหวัดให้เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคล้ายกรุงเทพมหานคร

ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล มีสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขต หรืออำเภอต่างๆ มีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น

ทางเลือกที่ 5 "มหานคร 1" เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ รวมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ อ.เทพา อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี จ.สงขลา เป็นหนึ่งหน่วยการปกครอง

มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดย่อย มีสภามหานครมาจากการเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้ง สภาเขตมาจากการเลือกตั้งโดยตรงภายในเขต และมีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น

ทางเลือกที่ 6 "มหานคร 2" เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ รวมปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอสงขลา เป็นหนึ่งหน่วยการปกครอง มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหาร ส่วนตำบล

มีสภามหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรงตามเขตเลือกตั้ง และสภาเขตมาจากการเลือกตั้งโดยตรงภายในเขต สภาประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งตามสาขาอาชีพ และมีคณะผู้อาวุโสทางจริยธรรม ซึ่งมาจากผู้รู้ทางศาสนาในพื้นที่

จากข้อเสนอถึงรูปแบบการกระจายอำนาจ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ที่ปรึกษาสภาประชาสังคมชายแดนใต้ หนึ่งในผู้ผลักดันการกระจายอำนาจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมให้มุมมองว่า เป็นไปไม่ได้ที่โครงสร้างการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเหมือนกับการปกครองในภาคอื่นๆ เพราะประชากรที่นี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนา อิสลาม เพราะฉะนั้น ต้องมีรูปแบบที่เป็นของตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่

"รูปแบบโครงสร้างการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานีมหานคร เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 2,000 คน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 2 ล้านคน จึงยังเป็นเพียงความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ปัตตานีมหานครจึงยังไม่ใช่ข้อสรุปว่า โครงสร้างใหม่ในการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องใช้รูปแบบปัตตานีมหานคร"

ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ปิดท้ายว่า ในการนำเสนอรูปแบบ หรือโมเดลการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 โมเดล ในเวทีสมัชชาปฏิรูปครั้งนี้ ที่จริงแล้วยังมีโมเดลที่ 7 คือกระดาษเปล่าที่รอให้ประชาชนเข้ามาเขียน ซึ่งโมเดลที่ 7 อาจเป็นโมเดลที่ดีที่สุดก็เป็นได้

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับที่ 7714 วันที่ 12 มกราคม 2555