อารีด้า สาเม๊าะ ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
“8 ปีไฟใต้” กับตัวเลขความเสียหายล่าสุด จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สรุปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2554
เกิดเหตุรุนแรง 13,098 เหตุการณ์ เสียชีวิต 5,014 ศพ บาดเจ็บ 8,357 ราย
จนถึงวันนี้ ไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ความสงบจะกลับคืนสู่ปลายด้ามขวานได้เมื่อไหร่
ผศ.ดร.ศรีสมภพจิต จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เรียกสภาพการณ์เช่นนี้ว่า “สภาวะขัดแย้งเรื้อรัง”
ความสูญเสียที่เกิดขึ้น จึงมากพอที่จะต้องพูดคุย หารือ เพื่อหาข้อยุติความขัดแย้ง หนึ่งในกลไกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เพื่อการนี้คือ “สมัชชาปฏิรูป” ที่มีศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการฯ
สมัชชาปฏิรูป โดยศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธานฯ ขึ้นมาดำเนินการ
คณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ผลักดันให้สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกับสำนักงานปฏิรูป ออกหน้าเป็นเจ้าภาพจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ระหว่างวันที่ 4–5 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ท่ามกลางผู้คนจากจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และสี่อำเภอ ในจังหวัดสงขลา เข้าร่วมงานกันคับคั่งร่วมพันคน ทั้งสองวัน
เปิดประเด็น‘ยุติธรรมสมานฉันท์’
เวทีสมัชชาวันที่ 4 มกราคม 2555 เป็นการพูดคุยกันในประเด็นยุติธรรมสมานฉันท์ เน้นหนักไปที่กระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง และได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงฉบับต่างๆ โดยเฉพาะจากการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548
น.ส.ลม้าย มานะการ และนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ เป็นตัวแทนคณะจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะทำงานยุติธรรมสมานฉันท์ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกันนำเสนอในประเด็นนี้
น.ส.ลม้ายยืนยันต่อผู้เข้าประชุมว่า ภาคประชาสังคมได้ช่วยเหลือเยียวยาคนทุกกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบโดยไม่เลือกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีสิทธิได้รับการเยียวยาตามเงื่อนไขของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจากสถานการณ์ภาคใต้ (กยต.) ในเหตุการณ์กูจิงลือปะ เหตุการณ์ตากใบ และเหตุการณ์ตันหยงลิมอ รวมทั้งครอบครัวกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพราะผู้ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมทำงานเชิงรณรงค์ ผลักดันให้ความช่วยเหลือเหยื่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งด้านการศึกษา ด้านการส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้ครอบครัวผู้ประสบภัยมีรายได้มั่นคง และจัดทำฐานข้อมูลการให้ความช่วยเหลือ พร้อมกับให้ความรู้ด้านกฎหมายโดยศูนย์ทนายความมุสลิม และงานพัฒนาฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ รณรงค์สร้างสันติภาพและยุติความรุนแรงผ่านสื่อ
“ภาคประชาสังคมเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายมากกว่าภาครัฐ เราช่วยเหลือทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อ สิ่งที่ต้องการจากการทำงานเยียวยาคือ ลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น” น.ส.ลม้าย กล่าว
นายอาดิลัน เปิดเผยข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจากการบังคับใช้กฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ว่า บุคคลเหล่านี้ จะไม่ได้รับการเยียวยา เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขของ กยต. จนต้องตั้งศูนย์ทนายความมุสลิมขึ้นมาช่วยเหลือทางคดีให้กับจำเลยในคดีความมั่นคง และจัดอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความออกไปให้ความช่วยเหลือ และให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ชาวบ้าน
“ข้อเสนอที่มีต่อสมัชชาปฏิรูปคือ ช่วยขับเคลื่อนเรื่องค่าชดเชยผู้ถูกดำเนินคดีอาญา ที่ขณะนี้ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะที่ชาวบ้านก็ยังไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึง ต้องให้เครือข่ายนักกฎหมายช่วยเหลือเรียกร้องค่าชดเชยแก่จำเลยในคดีอาญา” นายอาดิลัน กล่าว
ข้อมูลที่นำเสนอในเวทีวันนี้ แสดงให้เห็นข้ออ่อนของการใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงคือ ประชาส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องสิทธิและข้อกฎหมาย ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้ง่าย
“อยากให้เจ้าหน้าที่ทบทวนว่า 8 ปี ที่ประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง เพียงพอแล้วหรือยัง การจัดการปัญหาความรุนแรงในพื้นกับการใช้กฎหมายความมั่นคง ควรจะไปในทิศทางใด” นายอาดิลัน กล่าว
เดินหน้าสู่‘การกระจายอำนาจ’
วันที่ 5 มกราคม 2555 เป็นเวทีว่าด้วยการกระจายอำนาจ มีผศ.ดร.ศรีสมภพ รับหน้าเสื่อประมวลสรุปข้อเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจ ตลอด 8 ปี ที่มีผู้เสนอรูปแบบการกระจายอำนาจสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น 6 รูปแบบ หรือนัยหนึ่งคือ 6 ทางเลือก
ทางเลือกที่ 1 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต. ในปัจจุบัน มีพื้นที่ดูแลครอบคลุม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเลขาธิการที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง มีผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย ดูแลรายจังหวัด ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ สำหรับการทำงานในพื้นที่ ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตั้งแต่ระดับจังหวัด เมือง และตำบลตามลำดับ มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)
ทางเลือกที่ 2 คือ ทบวงการบริหารพื้นที่ชายแดนใต้ มีสถานะเทียบเท่ากระทรวงจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐมนตรี มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง ทำหน้าที่เป็นรองปลัดทบวง และมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นรูปแบบที่มีลักษณะประนีประนอมระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ยึดหลักการถ่ายโอนอำนาจ
โครงสร้างการบริหาร มีรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นผู้บริหารสูงสุด ปลัดทบวงเป็นข้าราชการประจำ โดยให้รองปลัดทบวงที่มาจากผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส กำกับดูแลการบริหารงานในแต่ละจังหวัด มีสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากการเลือกตั้งตัวแทนภายในกลุ่มอาชีพ มีอำนาจให้ความเห็นชอบต่อนโยบายและงบประมาณของทบวงฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ยังคงอยู่เหมือนเดิม มีสภาท้องถิ่นที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งในแต่ละเขตท้องถิ่น และผู้นำศาสนาที่สรรหามาจากท้องถิ่น
ทางเลือกที่ 3 สามนคร 1 เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นรายจังหวัด ยังคงเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแค่ 2 ระดับคือ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล และยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค ในส่วนของโครงสร้างการบริหาร มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สมาชิกสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขต (อำเภอ) มีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลยังคงอยู่
ทางเลือกที่ 4 สามนคร 2 เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นรายจังหวัด ปรับจังหวัดให้เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคล้ายกรุงเทพมหานคร ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล มีสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขต หรืออำเภอต่างๆ มีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น
ทางเลือกที่ 5 มหานคร 1 เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ รวมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งหน่วยการปกครอง มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดย่อย มีสภามหานครมาจากการเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้ง สภาเขตมาจากการเลือกตั้งโดยตรงภายในเขต และมีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น
ทางเลือกที่ 6 มหานคร 2 เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ รวมจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งหน่วยการปกครอง มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล มีสภามหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรงตามเขตเลือกตั้ง และสภาเขตมาจากการเลือกตั้งโดยตรงภายในเขต สภาประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งตามสาขาอาชีพ และมีคณะผู้อาวุโสทางจริยธรรม ซึ่งมาจากผู้รู้ทางศาสนาในพื้นที่
“อันที่จริงยังมีโมเดลที่ 7 คือกระดาษเปล่า รอให้ประชาชนช่วยกันเขียนขึ้นมาเอง โมเดลที่ 7 อาจจะเป็นโมเดลที่ดีที่สุดก็เป็นได้” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
ตามด้วยวงอภิปราย “ทางเลือกการกระจายอำนาจในรูปแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ : มุมมองที่หลากหลาย” ประเด็นที่น่าสนใจจากการอภิปรายในหัวข้อนี้ เป็นคำเตือนของนายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตคณะกรรมการปฏิรูป
นายพงศ์โพยมบอกว่า อย่าไปหลงกับรูปแบบการปกครอง จุดสำคัญต้องเอาอำนาจของรัฐมามอบให้ภาคประชาชน ในรูปขององค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่นำมาบวกกับภาคประชาชน ด้วยการสร้างกลไกลภาคประชาชนขึ้นมาถ่วงดุลกับกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“ผมชอบคำว่าจังหวัดจัดการตนเอง เพราะดูดีรัฐปฏิเสธได้ยาก จะใช้คำว่า super ท้องถิ่น หรือท้องถิ่นรูปแบบพิเศษก็ได้ ขอให้หลีกเลี่ยงคำว่าเขตปกครองตนเอง เพราะล่อแหลมต่อความหวาดระแวงของฝ่ายอื่น” นายพงศ์โพยม กล่าว
นายพงศ์โพยมได้เสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ 13 ข้อ
ข้อที่ 1 รูปแบบขององค์กร บทบาท อำนาจหน้าที่ ต้องชัดเจน ข้อ 2 จะยอมให้ส่วนกลางเข้ามากำกับดูแลมากน้อยแค่ไหน ข้อ 3 ต้องมีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้อ 4 หน่วยงานส่วนกลางในพื้นที่ต้องมีอยู่ เพราะยังมีงานส่วนหนึ่งที่รัฐบาลยังสงวนไว้ ข้อ 5 การจัดเก็บภาษีรายได้และรายจ่าย จะตกลงกับรัฐบาลกลางอย่างไร ถ้าตกลงกันไม่ได้รัฐบาลกลางไม่ให้จัดเก็บภาษีเองแน่ๆ ข้อ 6 งานบริหารบุคคลจะทำอย่างไร เพราะถ้าไม่ใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก 80% ของหน่วยงานที่มีอยู่ตอนนี้ จะต้องมาอยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ งานบริหารงานบุคคลจะยุ่งยากมาก
ข้อ 7 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วจะทำอย่างไร ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือยกระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็น super องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หรือจะให้เป็นเหมือนกรุงเทพมหานคร ข้อ 8 การปกครองท้องที่คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะคงไว้หรือยกเลิก ข้อ 9 กลไกการมีส่วนร่วม การตรวจสอบถ่วงดุลโดยภาคประชาชน จะยอมให้มีหรือไม่ ข้อ 10 กรณีมีข้อขัดแย้งกับหน่วยงานราชการ จะมีทางออกอย่างไร คณะกรรมการปฏิรูปเสนอให้มีศาลปกครองท้องถิ่น กรณีมีความขัดแย้งทางนโยบายการแก้ปัญหาจะจบตรงไหน คณะกรรมการปฏิรูปเสนอให้มีคณะอนุญาโตตุลาการ ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ก็ไปที่ศาลปกครองท้องถิ่น แต่ถ้าผิดกฎหมายตำรวจก็ดำเนินคดีไปตามปกติ ข้อ 11 กรณีมีการร้องเรียน ร้องทุกข์เกี่ยวกับการบริหารงานท้องถิ่น ใครจะเป็นเจ้าภาพ จะอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้แทนของรัฐบาลกลางที่ถูกส่งมา ข้อ 12 การใช้อำนาจบังคับ (Enforcement) ของโครงสร้างการปกครองใหม่ จะมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชน ข้อ 13 รูปแบบที่กำลังเสนออยู่นี้ ตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาความไม่สงบได้หรือไม่ เพราะจะเป็นโจทย์แรกที่รัฐบาลจะถาม
ท้ายที่สุดนายพงศ์โพยมมองว่า การยกร่างกฎหมายจะต้องมาพร้อมกับคำตอบที่มีเหตุมีผล มีข้อมูลสถิติ ตัวเลขสนับสนุน
ขณะที่พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ที่ปรึกษาสภาประชาสังคมชายแดนใต้ หนึ่งในแกนนำรณรงค์เรียกร้องการกระจายอำนาจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ที่โครงสร้างการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเหมือนกับการปกครองในภาคอื่นๆ เพราะประชากรที่นี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้นต้องมีรูปแบบที่เป็นของตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่
“รูปแบบปัตตานีมหานคร เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 2,000 คน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 2 ล้านคน จึงเป็นเพียงความเห็นของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการรูปแบบปัตตานีมหานคร”
เป็นข้อสรุปที่หล่นออกมาจากปาก พล.ต.ต.จำรูญบนเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน”