Skip to main content

อารีด้า สาเม๊าะ

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

เปิดรากเหง้าปัญหาการศึกษาในสังคมมลายูมุสลิมชายแดนใต้ จากตาดีกาถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ตัวอย่างที่ปอเนาะ‘ปือดอ’

 

      ส

โรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน หรือ ปอเนาะปือดอ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

 

 “เมื่อสิบปีที่แล้ว มีนักเรียนที่มาสมัครเรียนที่นี่ไม่กี่คน ที่อ่านภาษามลายูไม่ออก ทั้งภาษามลายูที่ใช้อักษรรูมีหรืออักษรยาวี แต่ถ้าคนไหนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า เด็กคนนั้นไม่ได้เรียนโรงเรียนตาดีกามาก่อน

“ทว่า ปัจจุบันมีนักเรียนที่เก่งภาษามลายู กลับหาตัวยากขึ้น”

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

นายอับดุลเลาะ หะยียามา ผู้จัดการโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส หรือปอเนาะปือดอ สะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งนี้ 

 

ด

               นายอับดุลเลาะ หะยียามา ผู้อำนวยการโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน

 

อับดุลเลาะ อธิบายว่า ผลการเรียนวิชาศาสนาของนักเรียนมีแนวโน้มแย่ลงทุกวัน อันเนื่องมาจากพื้นฐานทางด้านภาษามลายู ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนวิชาศาสนาเป็นหลักลดน้อยถอยลง

“พื้นฐานทางด้านภาษามลายูเหล่านั้น มาจากการเรียนการสอนในโรงเรียนตาดีกา นั่นเอง”

อับดุลเลาะ สังเกตเห็นว่า 5 ปีให้หลังมานี้ มีนักเรียนที่เรียนจบมัธยมปลายไปพร้อมๆ กับเรียนจบวิชาศาสนาชั้นชั้น 10 หรือระดับชั้นสูงสุดในสายวิชาศาสนา มีจำนวนลดลงอย่างมาก

เด็กนักเรียนพวกนี้ มักมีพื้นฐานทางด้านศาสนาและภาษามลายูที่เรียนมาจากโรงเรียนตาดีกาดีพอสมควร จึงมักจะเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสายศาสนาที่ชั้น 3 หรือชั้น 4 พร้อมๆ กับการเข้าเรียนสายสามัญในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

ทว่า ปัจจุบัน เด็กที่เข้าเรียนในชั้น 3 หรือ 4 หรือตำกว่านั้น ยังเรียนซ้ำชั้น

อับดุลเลาะ บอกว่า “ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อนเลย”

เมื่อนักเรียนมีพื้นฐานต่ำ ทางโรงเรียนก็ต้องใช้ตำราศาสนา หรือที่เรียกว่า กีตาบ ที่ชั้นต่ำลงมา เพื่อให้นักเรียนสามารถสอบผ่านไปได้

“สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็คือ เพียงแค่สอนให้เด็กสอบผ่านเท่านั้น” อับดุลเลาะ เล่าพร้อมแสดงสีหน้าเศร้า

อีกปัญหาที่เจอ คือ เด็กมีนิสัยก้าวร้าว ซึ่งอับดุลเลาะเล่าว่า “บางครั้งถึงขั้นจะทำร้ายครูผู้สอน เพราะไม่พอใจที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน”

“นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมตอนนี้” อับดุลเลาะ ย้ำ

เขาอธิบายว่า ที่เป็นเช่นนั้น น่าจะมาจากเพราะเด็กไม่เรียนตาดีกาหรือการเรียนการสอนในโรงเรียนตาดีกาไม่เข้มแข็งพอ

“การบ่มเพาะคนมลายูมุสลิมที่ดี ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ช่วยวัยเด็ก ซึ่งในสังคมมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสถาบันบ่มเพาะเยาวชนขั้นพื้นฐานก็คือ โรงเรียนตาดีกา”

“เมื่อไม่ได้เรียนตาดีกา พื้นฐานทางด้านจริยธรรมของเด็กก็ไม่แข็งแรง ส่งผลให้เด็กมีคุณธรรมศีลธรรมแย่กว่าเด็กที่ผ่านการอบรมบ่มนิสัยจากโรงเรียนตาดีกา”

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน เคยมีนักเรียนค้ายาเสพติดภายในโรงเรียน เมื่อสืบประวัติแล้วก็พบว่า เป็นนักเรียนที่มีพื้นฐานทางด้านศีลธรรมต่ำ   

 

;

             ตารางสอนวิชาสายศาสนาของโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

 

มันยิ่งน่าช้ำใจมาก ในเมื่อโรงเรียนแห่งนี้ เคยมีชมรมตาดีกาภายใต้การดูแลของโรงเรียน ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการส่งนักเรียนศาสนาชั้นสูงไปเป็นครูสอนตาดีกาในเครือข่ายถึง 48 แห่ง

เป็นชมรมที่เรียกในภาษามลายูว่า PERTANAM ย่อมาจาก Persatuan Tadika Nahdzah Maju แปลเป็นภาษาไทย คือ ชมรมโรงเรียนตาดีกานะห์ฎอตุสูบานก้าวหน้า ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528

ปัจจุบันชมรมที่เคยมีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอนตาดีกาแห่งนี้สลายตัวไปแล้ว จากพิษปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อับดุลเลาะ เล่าว่า เมื่อไม่มีชมรมตาดีกา ทางโรงเรียนเองก็ไม่กล้าที่จะส่งนักเรียนไปสอนตามโรงเรียนตาดีกาในชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ทั้งๆที่การส่งนักเรียนไปสอน มีส่วนช่วยให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนศาสนามากขึ้น เพราะต้องใช้ความรู้ทางด้านศาสนาที่ได้ ไปถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ฟังอีกทอดหนึ่ง

แม้กระนั้น อับดุลเลาะ หะยียามา ในอีกฐานะหนึ่งคือ นายกสมาคมปัญญาชนมุสลิมชายแดนใต้ พยายามสะท้อนปัญหาเหล่านี้ในหลายเวทีสาธารณะ ด้วยความหวังที่จะให้การศึกษาทางด้านศาสนาอิสลามในชายแดนใต้ ได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับความพยายาของอีกหลายคน

สถานการณ์เช่นนี้ คงไม่เพียงแต่ที่โรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน เท่านั้น ทว่า น่าจะเป็นภาพสะท้อนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอีกหลายแห่งในชายแดนใต้วันนี้