Skip to main content

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

l

มาถึงวันนี้ งาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” กลายเป็นอีกงานใหญ่ประจำปีของกลุ่มกิจกรรมใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่รวมตัวกันในนาม “”เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” ไปแล้ว

คราวนี้ “เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” จัดงาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” ระหว่างวันที่ 13–15 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ใต้ จังหวัดตรัง

ที่ประชุมที่มีแกนนำเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้าร่วมกันอย่างคับคั่งหลายร้อยคน ร่วมกันพิจารณาและลงมติในหลากหลายประเด็น ซึ่ง  “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ขอนำรายละเอียดในแต่ละมติมานำเสนอเรียงเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้

 

……………………………………………………..

 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ระเบียวาระที่ 2.1  วันที่ 2–4 กุมภาพันธ์ 2555

การจัดการปัญหาโฆษณาอาหารและยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต

              

               สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พิจารณารายงานเรื่องการจัดการปัญหาโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต

      กังวล ต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายของการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในปัจจุบันที่อวดอ้างสรรพคุณทางสุขภาพเกินจริง ผ่านทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย มีอิทธิพลต่อผู้บริโภค และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

      ห่วงใย ว่าระบบและกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ไม่ทันสมัยและขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้

      ตระหนัก ถึงโทษภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงความสูญเปล่าด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากอิทธิพล ของการโฆษณาดังกล่าว รวมทั้งความสำคัญของระบบและกลไกการควบคุมและเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ

      ชื่นชม ต่อความพยายามของทุกภาคส่วน ที่ต้องการพัฒนาระบบและกลไกการควบคุมและเฝ้าระวังการ โฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ปราศจากการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เป็นเท็จและหลอกลวงผู้บริโภค

      เห็นว่า การแก้ปัญหาการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้ผล ควรให้ความสำคัญแก่การพัฒนาศักยภาพของผู้บริโภคและสังคม ให้รู้เท่าทันการโฆษณา และมุ่งจัดการปัญหาด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

 

จึงมีมติดังต่อไปนี้

               1.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาที่ทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ เช่น ข้อมูลการอนุญาต และข้อเท็จจริงเชิงวิชาการของผลิตภัณฑ์

               ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพิ่มบทลงโทษ กับการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย

               เฝ้าระวัง จัดการ และดำเนินคดีกับโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างมี ประสิทธิภาพ โดยกำหนดเป็นแนวทางมาตรฐานและใช้ปฏิบัติร่วมกัน และประกาศข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคและสังคมไทยรู้เท่าทันปัญหา

               สนับสนุนให้คำปรึกษาการดำเนินคดีแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ที่รวดเร็วทันต่อการแก้ปัญหา

               2.ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการประกาศและบังคับใช้หลักเกณฑ์การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งกำหนดกลไกการกำกับดูแลอย่างชัดเจน

               กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ จัดสรรเวลาอย่างชัดเจน ให้หน่วยงาน หรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ได้นำเสนอข้อมูลเพื่อให้เท่าทันการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

               จัดสรรงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการรับสื่ออย่างเท่าทัน

               3.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

               จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่อต่างๆ ด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2555 และนำเสนอเพื่อรับรองในสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หรือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป

               ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบและกลไกการจัดการกับการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่เป็นการเร่งด่วน แล้วดำเนินการทดลองระบบและกลไกดังกล่าว

               สนับสนุนให้องค์การวิจัยและหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม พัฒนาระบบการ เฝ้าระวังการโฆษณาและการประเมินผลกระทบจากการโฆษณา และให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

               เร่งดำเนินการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการโฆษณา และตระหนักในเรื่องการใช้สิทธิผู้บริโภค รวมทั้งให้รู้เท่าทันการโฆษณา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

               4.ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บูรณาการการเฝ้าระวังโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเอกภาพ และพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ให้สามารถจัดการกับช่องทางการสื่อสาร ที่อยู่ในบังคับของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

               5.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ สนับสนุนงบประมาณและการดำเนินงานขององค์กรภาคีเครือข่ายในพื้นที่ รวมทั้งการจัดตั้งกลไกการควบคุมและเฝ้าระวังที่มีส่วนร่วม โดยองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและองค์กรสื่อ ในการดำเนินการให้ได้ผลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

               6.ให้องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนเป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินการร่วมกับวิชาชีพสุขภาพ สถาบันการศึกษา องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และวิชาชีพอื่นๆ เช่น ครู ทนายความ กำหนดมาตรการ และแนวทางการกำกับดูแล จริยธรรมและจรรยาบรรณ ในการสื่อสารเรื่องอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพสู่ผู้บริโภค

               7.ให้ สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมอย่างเข้มแข็งในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ และร่วมเป็นเครือข่ายในการควบคุมและเฝ้าระวังสื่อในพื้นที่

               8.ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 หมวด 8 การคุ้มครองผู้บริโภค ข้อ 74 และหมวด 9 การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ ด้านสุขภาพ ข้อ 85 และรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5