Skip to main content

 เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ชี้อุปสรรคกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ หากยังคิดในกรอบรัฐเดียวแบบรวมศูนย์และผูกขาดอธิปัตย์

 

เอนก เหล่าธรรมทัศน์

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 มกราคม 2555 ที่ห้องศาสตราจารย์ทวีแรงขำ (ร. 103) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดสัมมนาระดมความเห็นเรื่อง “คลื่นลูกที่สองของการกระจายอำนาจ : บริบทใหม่ ความจำเพาะของพื้นที่ และการเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” มีนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ทั่งประเทศเข้าประมาณ 100 คน

ศาสตราจารย์(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การกระจายอำนาจ คือ การคืนอำนาจให้ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น” ว่า การกระจายอำนาจในรูปของการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หากยังคิดในกรอบความเป็นรัฐเดียวแบบรวมศูนย์และผูกขาดอำนาจอธิปัตย์จะทำได้ยาก เพราะอำนาจยังอยู่ที่รัฐบาล ส่วนกระทรวงทบวงกรมมุ่งสร้างความเป็นเลิศเฉพาะทาง แต่มีความรู้เรื่องพื้นที่น้อยมาก ต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความรู้เรื่องพื้นที่อย่างดี

ศาสตราจารย์(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าวอีกว่า แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่กรอบความคิดเอกกะนิยม คือการทุกอย่างต้องเหมือนกันทั้งหมด ได้ทำลายความสวยงามที่หลากหลายไป จริงๆ แล้วควรเป็นพหุรัฐ ถ้าเป็นเป็นพหุนิยมมากขึ้น ก็จะเห็นความงามที่แตกต่างได้ ไม่ใช่มีเพียงมาตรฐานเดียว 

ศาสตราจารย์(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าวว่า จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ทุกมาตรา แต่ที่ผ่านมาทั้งทหาร นักวิชาการ นักปฏิรูป อำมาตย์ ไพร่ ก็ยังคิดไม่พ้นกรอบเดิม คือ รัฐรวมศูนย์อำนาจ ผูกขาดอธิปไตย และยิ่งรวมศูนย์อำนาจ นายกรัฐมนตรีก็จะถูกเรียกร้องให้ทำเรื่องเล็กลง

ศาสตราจาย์ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการสัมมนาเรื่อง“บริบทใหม่ ความเคลื่อนไหวใหม่ กับคลื่นลูกที่สองของการกระจายอำนาจ” ว่า ต้องให้องค์กรปกครองท้องถิ่นใหญ่ขึ้น มากกว่าองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล โดยให้มีอำนาจทางการคลังมากขึ้น เช่น เก็บภาษี โดยอาจรวมเป็นกลุ่มจังหวัด

ศาสตราจาย์ดร.จรัส ยังได้นำเสนอบทความทางวิชาการเรื่อง ท้องถิ่นพิเศษกับแนวคิดจังหวัดปกครองตนเอง โดยระบุว่า ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความอ่อนแอลง เพราะไม่มีแรงจูงใจที่พึ่งตนเองทางการคลัง เรียกว่าเป็น โรคเฮมิลตัน พาราด็อก เพราะมัวแต่พึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐ