ปอเนาะผวาประชาคมอาเซียน หวั่นมาเลย์-อินโดฯตั้งโรงเรียนแข่ง ถกหาทางปรับตัว ชี้มุสลิมกัมพูชาพร้อมรับมากกว่าไทย ศอ.บต.หนุน 149 ล้าน พัฒนาตาดีกา
EN-US;mso-fareast-language:EN-US;mso-bidi-language:TH"> ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิซ หิเล mso-fareast-font-family:"Times New Roman";mso-ansi-language:EN-US;mso-fareast-language:
EN-US;mso-bidi-language:TH">
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา และบริษัทสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัดสัมมนานานาชาติ “บทบาทการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวทีประชาคมอาเซียน” “ The role of Islamic Education Institutions of Southern Thailand in ASEAN Community 2015” เพื่อให้ความรู้ด้านการศึกษา เตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเพื่อสู่ประชาคมอาเซียน มีผู้บริหารโรงเรียน ประธานศูนย์ตาดีกาในจังหวัดยะลาเข้าร่วม กว่า 180 คน
ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิซ หิเล ผู้จัดการโรงเรียนลุกมานูลฮากีม อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ในฐานะนายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเปิดโลกทัศน์ของผู้เกี่ยวข้องในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยเฉพาะผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและประธานศูนย์ตาดีกา รวมทั้งกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของอาเซียน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิซ เปิดเผยอีกว่า ประเทศมาเลเซียหรืออินโดนีเซียเตรียมที่จะมาเปิดสถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือเรียกว่าโรงเรียนปอเนาะแน่นอน เพราะคุณภาพการศึกษาของมาเลเซียดีกว่า เด็กและเยาวชนในพื้นที่จะเข้าไปเรียนในสถาบันการศึกษาเหล่านั้นมากขึ้น ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะมีผู้เข้าเรียนน้อยลง จนอาจถึงขั้นต้องปิด
ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิซ กล่าวว่า ดังนั้นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องปรับตัวและเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีผลสำฤทธิ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีคุณภาพต่ำ เช่น ภาษามลายู แม้จะเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เมื่อสอบเข้าเรียนปริญญาตรีในมาเลเซีย กลับต้องเรียนภาษาใหม่อีกครั้ง
“การศึกษาของมาเลเซีย ไปไกลแล้ว มาเลเซียกำลังคิดที่จะเปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ส่วนการศึกษาของคนชายแดนใต้ไม่ได้พัฒนามาก ทำให้ต้องออกไปเรียนที่อื่น ยังไม่ต้องคิดเรื่องการออกไปเปิดสถานศึกษาที่อื่น” ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิซ กล่าว
ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิซ เปิดเผยต่อไปว่า ประชาคมอาเซียน มีเรื่องการเปิดเสรีในด้านบริการการศึกษาด้วย ทำให้หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนสามารถมาเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวระหว่างเปิดพิธีว่า ศอ.บต.ได้เตรียมงบประมาณ 149 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนครูผู้สอนอิสลามศึกษา ปรับปรุงสถานที่และพัฒนาศักยภาพของผู้สอนตาดีกา(โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐาน) จำนวน 609 แห่ง
ผศ.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณะบดีคณะศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวในการบรรยายเรื่อง การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า ตนเคยบอกกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า การพัฒนาการศึกษาเพื่อเตรียมเข้าสู่อาเซียนต้องมองที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคนในพื้นที่กำลังเรียนในหลักสูตรเดียวกับที่คนอีก 300 กว่าล้านคนในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ภาษามลายู อิสลามศึกษา เป็นต้น
ผศ.สุกรี กล่าวว่า สถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจุดแข็งคือ ภาษามลายู ดังนั้นบุคลากรทางการศึกษาจะต้องมีทักษะด้านการใช้ภาษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการเตรียมการสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม พร้อมๆกับการพัฒนาบุคลากรและการประเมินผล
ผศ.สุกรี กล่าวด้วยว่า สำหรับมุสลิม ประเทศกัมพูชามีความพร้อมเข้าสู่อาเซียนมาก เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญ เช่น จัดสรรงบประมาณถึง 2,000 ล้านบาท สำหรับกิจการฮัจญ์ นอกจากนี้ ต่างประเทศเช่น มาเลเซีย ได้เข้าไปเปิดโรงเรียนในกรุงพนมเปญของกัมพูชาเพื่อช่วยพัฒนามุสลิมในกัมพูชา
ผศ.สุกรี เปิดเผยด้วยว่า ประเทศกัมพูชามีปลัดกระทวงที่เป็นชาวมุสลิมถึง 5 คน รองปลัดกระทรวงอีก 8 คน หนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิง
รศ.ดร.อิบราเฮม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี กล่าวในการบรรยายเรื่อง “การเตรียมความพร้อมของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาเพื่อสู่อาเซียน” ว่า ชาวมาเลเซียมีความภูมิใจที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการใช้ภาษามลายูอักษรยาวี ซึ่งน่าจะเป็นที่เดียวในกลุ่มประเทศอาเซียน ในฐานะที่ภาษามลายูอักษรยาวี เป็นอารยธรรมหนึ่งของอิสลามในภูมิภาค
รศ.ดร.อิบราเฮม กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยกับต่างประเทศในด้านการพัฒนาการศึกษา 10 ฉบับ แต่ฝ่ายไทยไม่ทำอะไรเลย เพราะไม่รู้จะทำอะไร
ส่วนในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เป็นการบรรยายของนักวิชาการจากองค์กรมูฮัมมาดียะห์ และมหาวิทยาลัยมูฮัมมาดียะห์ ประเทศอินโดนีเซีย