เครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิดจัดเวทีเสวนา “ร่วมปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” ชี้โรงไฟฟ้าถ่านหินทำลายสิ่งแวดล้อม คนในพื้นที่ค้าน กฟผ.สุดตัว ระบุไม่อยากเห็นแก่เงินทองและสิ่งของเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ กฟผ.เอามาแจกแล้วแลกกับวิถีชีวิตเครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิดจัดเวทีเสวนา “ร่วมปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” ชี้โรงไฟฟ้าถ่านหินทำลายสิ่งแวดล้อม คนในพื้นที่ค้าน กฟผ.สุดตัว ระบุไม่อยากเห็นแก่เงินทองและสิ่งของเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ กฟผ.เอามาแจกแล้วแลกกับวิถีชีวิต
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 3 มีนาคม 2555 ที่โรงเรียนบ้านแหลม ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิดจัดเวทีเสวนา “ร่วมปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีชาวบ้านตำบลวังวน และตำบลที่เป็นพื้นที่ศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง เข้าร่วมประมาณ 200 คน
สำหรับบริเวณหน้าเวทีมีการขายเสื้อ และเปิดรับบริจาคเพื่อเป็นกองทุนในการขับเคลื่อนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดตรังด้วย ขณะที่ตามหน้าบ้านของชาวบ้านบ้านแหลม หลายบ้านต่างติดป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
นางสาวศยามล ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการจิตสำนึกนิเวศวิทยา นำเสนอว่า รายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังระบุว่า เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินซับบิทูบินัสวันละ 7,144 ตันต่อวัน ปีละ 2.23 ล้านตัน เพื่อผลิตไฟฟ้า สูบน้ำทะเลมาใช้วันละ 2,190,836 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แล้วปล่อยกลับลงทะเล น้ำทะเลสำหรับผลิตน้ำจืด 4,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่มีท่าเรือขนส่งถ่านหิน โดยเรือขนลำละ 8-9 พันตัน ปีละ 279 เที่ยวต่อปี
“พื้นที่ศึกษาสถานที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ประกอบด้วย บ้านหัวหิน ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง บ้านเกาะแลน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง บ้านหาดทรายขาว ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง บ้านนายอดทอง ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และบ้านทุ่งค่าย ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง” นางสาวศยามล นำเสนอ
นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการจากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต นำเสนอว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP 2010) ของกระทรวงพลังงาน ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ 5 โรง รวมทั้งสิ้น 5,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 15 โรง รวมทั้งสิ้น 16,670 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง รวมทั้งสิ้น 8,400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 4,617 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากเขื่อน 512 เมกะวัตต์ ขณะที่ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 7,137 เมกะวัตต์ และซื้อต่างประเทศ 11,669 เมกะวัตต์
“ปัญหาของแผน PDP คือมีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าปี 2554 สูงเกินจริง โดยมีการคาดการณ์ความต้องการอยู่ที่ 24,568 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดจริงอยู่ที่เพียง 23,900 เมกะวัตต์ การพยากรณ์อยู่บนพื้นฐานของสมมติฐานของอัตราการเติบโตของผลผลิตมวลรวมประชา ชาติ (GDP) ต่อปีของไทยจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 4.4% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และเพิ่มเป็น 4.11% ใน 20 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่แค่ 2.9%” นายสันติ นำเสนอ
นายศักดิ์กมล แสงดารา ชาวบ้านตำบลบางสัก กล่าวในเวทีว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ตอนนี้ที่ตำบลบางสักมีการรวมกลุ่มกันแล้วประมาณ 1 พันกว่าคนที่จะคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
“คนตรังหากินกับทะเล ทะเลตรังมีพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีปู ปลา กุ้ง หอย นานาชนิด แล้วหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นจะมีอะไรมารับประกันว่าจะไม่ส่งกระทบกับทะเล และสภาพอากาศของจังหวัดตรัง เพราะขนาดเกิดเหตุไฟไหม้ป่าที่อินโดนีเซียยังส่งผลกระทบมาถึงจังหวัดสตูล เลย” นายศักดิ์กมล กล่าว
นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์ ชาวบ้านตำบลวังวน กล่าวในเวทีว่า จุดยืนของตนคือไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ก่อนได้ถามชาวบ้านในเวทีว่า เอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง โดยมีชาวบ้านในเวทีต่างกล่าวขานตอบกลับมาว่า ไม่เอา
“ถ้าไม่เอา เราจะต้องมีการรวมกลุ่มกันระหว่างชาวบ้านในตำบลที่เป็นพื้นที่ศึกษาของกฟผ. ที่จะตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง ทั้ง 5 พื้นที่ โดยหารือวางแผนร่วมกันว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป” นายวุฒิชัย กล่าว
นายย่าเด็น โต๊ะมา ชาวบ้านตำบลกันตังใต้ กล่าวในเวทีว่า ตนทราบมาว่าก่อนหน้านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีการแจกสิ่งของให้กับคนชรา มีการอุดหนุงบประมาณให้กับมัสยิด วัด โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล และชุมชนในตำบลวังวน ขณะเดียวกันตนทราบมาว่าในเดือนมีนาคม 2555 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะนำผู้นำชุมชน และชาวบ้านในตำบลกันตังใต้ไปดูงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
“ผมจึงไม่อยากให้พี่น้องเห็นแก่เงินทองและสิ่งของเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่กฟผ.เอามาแจกแล้วแลกกับวิถีชีวิตของเรา ชีวิตของลูกหลานในวันข้างหน้า เราต้องช่วยกันคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมกัน” นายย่าเด็น กล่าว