พลันที่กลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ได้แจกจ่ายเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมาสร้างในจังหวัดตรัง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็ผลิตเอกสารตอบโต้ข้อมูลของกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ในแทบจะทันทีทันใด
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลการตอบโต้กลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ถอดออกมาจากเอกสารข้อต่อข้อ ประโยคต่อประโยค
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
กลุ่มคัดค้านระบุว่า การใช้ถ่านหินซับบิทูมินัส นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย มีคุณภาพต่ำกว่าบิทูมินัส และมีมลภาวะมากกว่า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า คุณสมบัติของถ่านหินซับบิทูมินัสและบิทูมินัส มีปริมาณกำมะถันหรือก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์น้อยกว่า 1% ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพดีใกล้เคียงกัน และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะมากกว่ากัน
กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า สารปนเปื้อนที่เป็นองค์ประกอบของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ร้อยละ 0.1–1 แต่มีสารหนู 0.73–0.85 แคดเมียมต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรอทต่ำกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และตะกั่วต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีโครเมียม และซีรีเนียม
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า สารเจือปนต่างๆ ขึ้นอยู่กับแหล่งของถ่านหิน ซึ่งถ่านหินบิทูมินัสและซับบิทูมินัสมีความเจือจางน้อยมาก ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยตามหลักวิทยาศาสตร์
พร้อมกับยืนยันว่า กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดค่ามาตรฐานของสารที่เจือปนในสิ่งแวดล้อมไว้ว่า สารหนู (Arsemic) ต้องไม่เกิน 3.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แคดเมี่ยมและสารประกอบแคดเมี่ยม (Cadmium and compounds) ต้องไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า กองถ่านหินใช้น้ำดิบเพื่อฉีดพ่นประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น และควบคุมอุณหภูมิของถ่านหินไม่ให้ลุกไหม้ น้ำพ่นถ่านหินใช้หมุนเวียนโดยนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ต้องมีการเติมเพิ่มในระบบวันละ 360 ลูกบาศก์เมตร น้ำชะกองถ่านหินปนเปื้อนสารโลหะหนักและอื่นๆ ซึ่งต้องบำบัดด้วยสารเคมี หากจะระบายออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องระบายน้ำทิ้ง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การจัดเก็บถ่านหินมีโรงจัดเก็บ มีหลังคาคลุมและผนังโดยรอบ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย และป้องกันการชะล้างจากน้ำฝน เนื่องจากเป็นระบบปิด ทำให้ต้องใช้น้ำบางส่วนฉีดพรมป้องกันการฟุ้งกระจาย โดยน้ำดังกล่าวจะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ไม่มีการปล่อยลงสู่ทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติ
กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า โครงการมีการดึงน้ำจากทะเลมาใช้เพื่อดูดซับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากอากาศที่เกิดจากหม้อไอน้ำ หรือเรียกว่า Seawater FGD ซึ่งอาจทำให้โลหะหนักบางส่วนปนเปื้อนลงน้ำทะเล เช่น สารหนู แคดเมียม ปรอท และตะกั่ว
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้ระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยน้ำปูน ไม่ใช้ระบบ Seawater FGD (ระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยน้ำทะเล) โดยใช้น้ำจืดจากกระบวนการผลิตน้ำในโรงไฟฟ้า ซึ่งน้ำดังกล่าวจะนำกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่มีการปล่อยลงทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติ
กลุ่มคัดค้านระบุว่า สารสูบน้ำทะเลจากตะแกรงกรองน้ำขนาด 1 เซนติเมตร จะมีแพลงก์ตอนพืชและสัตว์เข้าสู่ระบบ และตายเนื่องจากความร้อนจากน้ำร้อนที่ทิ้งสู่ทะเลจำนวนมาก จากการต่อท่อน้ำทิ้งออกไปในทะเล 500–1,000 เมตร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำเป็นบริเวณกว้างหรือไม่
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การสูบน้ำเข้าสู่ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า จะสูบน้ำที่ระดับลึกจากท้องน้ำ 1 เมตร เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสัตว์หน้าดิน แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ รวมทั้งลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน ติดเข้าระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า เนื่องจากที่ระดับลึกของน้ำจะพบแพลงก์ตอนพืชในปริมาณน้อย เพราะแพลงก์ตอนพืชจะใช้แสงในการสังเคราะห์อาหารเพื่อการดำรงชีวิต ประกอบกับแพลงก์ตอนพืชมีวงจรชีวิตสั้น แต่มีการเพิ่มปริมาณได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงพบแพลงก์ตอนพืชอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นส่วนมาก ส่วนแพลงก์ตอนสัตว์และลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน ก็จะอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นส่วนมากเพื่อกินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร ดังนั้นการสูบน้ำจากกระดับน้ำลึกจึงไม่กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอนแต่อย่างใด
น้ำทะเลที่ผ่านการใช้หล่อเย็น ไม่ได้ต่อท่อออกไปในทะเล มีการควบคุมอุณหภูมิของน้ำที่หอหล่อเย็น การปล่อยน้ำลงสู่ทะเลนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า ณ จุดปล่อยอุณหภูมิของน้ำต้องไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส และวัดรัศมีออกไป 500 เมตร จากจุดปล่อย อุณหภูมิบริเวณปะการังต้องไม่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิบริเวณอนุรักษ์เปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 1 องศาเซลเซียส และบริเวณชุมชนอุณหภูมิเปลี่ยยนแปลงได้บวกลบ 2 องศาเซลเซียส
กลุ่มคัดค้านระบุว่า การเผาไหม้ของถ่านหินของโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์จะก่อให้เกิดเถ้าหนัก 22,500 ตันต่อปี เถ้าลอย 202,000 ตันต่อปี เถ้าลอยเป็นฝุ่นขนาดเล็กมากขนาดต่ำกว่า 10 ไมครอน กระจายได้ไกล และระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ไม่สามารถดักจับได้ และปัจจุบันประเทศไทยไม่มีเครื่องมือตรวจวัดได้
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ จะมีฝุ่นขี้เถ้า ประกอบด้วย เถ้าหนักประมาณ 19,250 ตัน/ปี เถ้าลอยประมาณ 76,950 ตัน/ปี จะถูกดักจับโดยเครื่องดักจับฝุ่นที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอนอยู่ที่ 99.9 % ทั้งนี้เถ้าหนักสามารถนำไปทำปุ๋ยได้ และเถ้าลอยจะนำไปใช้ในระบบการผลิตปูนซิเมนต์ต่อไป
กลุ่มคัดค้านระบุว่า จะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการเผาน้ำมัน 29% และมากกว่าก๊าซธรรมชาติถึง 80% ซึ่งเป็นเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติตามมา
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า จากผลการศึกษาโรงไฟฟ้าลิกไนต์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่ใช้ถ่านหินคุณภาพดี เทคโนโลยีในกระบวนการเผาไหม้มีประสิทธิภาพสูง จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปอีก
ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละประทศในปี 2551 เรียงตามลำดับดังนี้ ประเทศจีน 21.1% ประเทศสหรัฐอเมริกา 20.2% ประเทศรัสเซีย 5.5% ประเทศอินเดีย 5.3% ประเทศญี่ปุ่น 4.6% ประเทศเยอรมัน 2.8% ประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ 2.0% ประเทศแคนาดา 1.9% ประเทศเกาหลีใต้ 1.7% ประเทศอิตาลี 1.7% ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 22 ที่ 0.95%
กลุ่มคัดค้านระบุว่า กรณีปะการังอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส ในเวลาประมาณ 1 เดือน จะทำให้เกิดปะการังฟอกขาว
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า กรณีปล่อยน้ำหล่อเย็นออกจากโรงไฟฟ้า จะมีการควบคุมอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นไม่ให้มีอุณหภูมิน้ำสูงเกิน 1 องศาเซลเซียส จากค่าอุณหภูมิน้ำเข้าสู่ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ห่างไกลจากแนวปะการัง ดังนั้นการระบายน้ำหล่อเย็นออกจากโรงไฟฟ้า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงค่าอุณหภูมิน้ำในแนวปะการังแต่อย่างใด จึงมั่นใจได้ว่าน้ำหล่อเย็นที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้าจะไม่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำในแนวปะการัง จนก่อให้เกิดปะการังฟอกขาวแต่อย่างใด
กลุ่มคัดค้านระบุว่า ปริมาณสารคลอรีนความเข้มข้นเพียง 0.1 มิลลิกรัม/ลิตร ที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิต เมื่อปล่อยลงสู่น้ำทะเลจะส่งผลกระทบทำให้แพลงก์ตอนตาย และกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศน์ทางทะเล
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ปริมาณสารคลอรีนตกค้างในน้ำหล่อเย็นที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้ามีค่าน้อยกว่า 0.1 มิลลิกรัม/ลิตร และเป็นสารที่สลายตัวได้ง่ายเมื่อโดนความร้อน ดังนั้นเมื่อระบายออกจากโรงไฟฟ้าจึงสลายตัวได้รวดเร็ว และไม่ตกค้างในน้ำทะเลจนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และระบบนิเวศน์ทางทะเล
กลุ่มคัดค้านระบุว่า น้ำทะเลที่ผ่านการใช้หล่อเย็น มีอุณภูมิสูงกว่าน้ำทะเล 2–6 องศาเซลเซียส
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การปล่อยน้ำลงสู่ทะเล กฏหมายกำหนดไว้ว่า อุณหภูมิของน้ำ ณ จุดปล่อยและในรัศมี 500 เมตร ต้องไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิบริเวณปะการังต้องไม่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิบริเวณอนุรักษ์เปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 1 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิบริเวณชุมชนเปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 2 องศาเซลเซียส
กลุ่มคัดค้านระบุว่า ความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้าและสารเคมีที่ใช้ การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจนที่เกิดจากการเผาไหม้ อาจก่อให้เกิดฝนกรด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ได้แก่ ดินเสื่อมคุณภาพ การเจริญเติบโตของพืช และการให้ผลผลิตยางพารา ผลไม้ การสะสมโลหะหนักในดิน น้ำกิน น้ำใช้ และอาหาร ส่งผลต่อมนุษย์ และทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต่างๆ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ โรงไฟฟ้ามีการติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เครื่องดักจับฝุ่น และเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องที่ปลายปล่อง และติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมทั้งได้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพดิน และแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดฝนกรด หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจต่างๆ
กลุ่มคัดค้านระบุว่า ความจริงที่แม่เมาะ การทำเหมืองและโรงไฟฟ้ามีปัญหาขัดแย้งกับชุมชน ด้านมลภาวะจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมาก ดัง 3 กรณีต่อไปนี้
คดีที่ 1 ศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 11960/2542 และ 1945/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 354/2547 และ 431/2547 เมื่อปี 2547 ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะทำให้เกิดมลภาวะฝนกรดจริง ทำให้ผู้ป่วย 868 ราย ศาลสั่งให้ชดใช้ค่าพืชผลที่เสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี
คดีที่ 2 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 140/2546 คดีหมายเลขแดง 60/2552 เมื่อเดือนมิถุนายน 2542 ว่า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายค่าเสียหายให้กับชาวบ้านรอบพื้นที่เหมืองและโรงไฟฟ้า 112 ราย โดยแต่ละรายจะได้รับค่าเสียหายตามที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ได้บำบัดอากาศเสียให้มีค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดก่อนปล่อยสู่บรรยากาศ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2535–สิงหาคม 2541 ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสื่อมทั้งสุขภาพอนามัยและจิตใจ
คดีที่ 3 ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 44/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 44/2552 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ สรุปว่า
1.ให้อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร
2.ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และให้ปลูกป่าทดแทน ในพื้นที่ฟื้นฟูขุมเหมืองที่ไปทำสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ
3.ยื่นแก้ไขมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาตรการในพื้นที่ชุ่มน้ำ
4.วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดิน ไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดไปยังชุมชน และกำหนดพื้นที่แนวกันชนจุดปล่อยดินให้ห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำกำแพงกันฝุ่นให้จุดปล่อยดินต่ำกว่าความสูงของกำแพง ให้จัดทำรายงานการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมทุก 2 ปี
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า คดีที่ 1 สิ้นสุดการพิจารณาคดี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชดเชยค่าเสียหายแก่ประชาชนตามคำสั่งศาล คดีที่ 2 และ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ ซึ่งคดีที่ 3 เป็นคดีที่เกี่ยวกับการทำเหมืองลิกไนต์ โดยโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะสร้างในพื้นที่ จะไม่มีการทำเหมืองลิกไนต์
ระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยมิได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยได้ช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อดักจับมวลสาร ตลอดจนมีมาตรการตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันสภาพอากาศของแม่เมาะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา
ปัจจัยด้านเทคโนโลยี
กลุ่มคัดค้านระบุว่า ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ ต้องใช้ถ่านหิน 1,968,600 ตัน/ปี ถ้าต้องการผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ จะต้องใช้ปริมาณถ่านหินเพิ่มขึ้น
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนประเภทผลิตพลังงานไฟฟ้าฐาน ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิ 800 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินซับบิทูมินัสจากต่างประเทศ ปริมาณวันละประมาณ 8,000 ตัน หรือประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี
กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่มีข้อมูลเรื่องท่าเรือว่า จะดำเนินการอย่างไร การขนส่งถ่านหินด้วยเรือบรรทุกลำละ 10 ตัน จะมีการขนส่งประมาณ 250,000 เที่ยว/ปี หรือ 685 เที่ยว/วัน จำเป็นต้องมีการขุดลอกร่องน้ำเป็นประจำ
ข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อยู่ในระหว่างการศึกษาการออกแบบท่าเรือ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็น เพื่อปรับรูปแบบของท่าเรือให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน
เรือขนส่งถ่านหินขนาดบรรทุกประมาณ 8,000–10,000 ตัน/เที่ยว (ประมาณวันละ 1 เที่ยว) ปัจจุบันในแม่น้ำตรังมีการขุดลอกร่องน้ำเป็นประจำอยู่แล้วทุกปี
แหล่งน้ำที่ใช้ในระบบหล่อเย็น ควบคุมอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นด้วยหอหล่อเย็น (Cooling Tower) โดยใช้น้ำทะเลในระบบหล่อเย็นไม่เกิน 200,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และน้ำทะเลปล่อยกลับของระบบหล่อเย็นประมาณ 190,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ใช้ระบบจากผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยใช้ปริมาณน้ำทะเลในการผลิตน้ำจืดประมาณ 4,5000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
ระบบขนส่งถ่านหิน ใช้ระบบปิดตั้งแต่การขนส่งทางทะเล จนถึงกระบวนการผลิตในโรงงานไฟฟ้า การควบคุมสภาพอากาศ โดยติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (SCR) ประสิทธิภาพสูง ติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่น (ESP) ประสิทธิภาพสูง ติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ (FGD) ประสิทธิภาพสูง และติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ
การควบคุมคุณภาพน้ำ โดยก่อสร้างหอหล่อเย็นเพื่อลดอุณหภูมิน้ำ ให้มีระดับใกล้เคียงแหล่งน้ำธรรมชาติ ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำทิ้ง และเก็บกักในบ่อพัก ส่วนการควบคุมระบบตรวจวัดคุณภาพเสียง ติดตั้งอุปกรณ์ดูดซับเสียง และปลูกต้นไม้รอบพื้นที่โครงการ
กลุ่มคัดค้านระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ต้องใช้น้ำหล่อเย็นมากกว่า 4,000 ล้านลิตร/วัน โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ต้องใช้น้ำหล่อเย็นมากกว่า 4,000 ล้านลิตร/วัน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ใช้ระบบหล่อเย็น โดยสูบน้ำทะเลมาระบายความร้อนในโรงไฟฟ้าเพียงวันละไม่เกิน 200,000 ลูกบาศก์เมตร และปล่อยน้ำทะเลกลับคืนประมาณ 190,000 ลูกบาศก์เมตร จึงมีน้ำทะเลที่หอคอยหล่อเย็น (Cooling Tower) บางส่วนระเหยกลายเป็นไอน้ำขึ้นไปในอากาศ
กลุ่มคัดค้านระบุว่า โรงไฟฟ้าใช้น้ำจืดในกระบวนการผลิตมากกว่า 1,062 ลูกบาศก์เมตร/วัน เดือนละ 31,860 ลูกบาศก์เมตร และต้องมีน้ำจืดอีกจำนวนหนึ่งสำหรับสาธารณูปโภคในโรงงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะใช้ระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยใช้ปริมาณน้ำทะเลประมาณ 4,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน เพื่อไม่ให้กระทบแหล่งน้ำจืดของชุมชน
กลุ่มคัดค้านระบุว่า มีข้อสงสัยว่า 1.จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นหรือไม่ 2.จำเป็นต้องมีบริบทบริหารน้ำแบบจังหวัดระยอง เพื่อนำน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรมหรือไม่
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า 1.ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อน เนื่องจากใช้น้ำทะเลในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้า 2.ไม่จำเป็นต้องมีบริษัทน้ำแบบจังหวัดระยอง เนื่องจากโรงไฟฟ้ามีระบบผลิตน้ำใช้เป็นของตัวเองอย่างเพียงพอ จึงไม่กระทบการใช้น้ำของชุมชน
กลุ่มคัดค้านระบุว่า แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ต้องรอนสิทธิในที่ดินที่เป็นเส้นทางสายส่งไฟฟ้ากว้าง 30 เมตร ห้ามปลูกไม้ยืนต้นทุกชนิด
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายค่าชดเชยการรอนสิทธิประมาณ 90% ของราคาประเมิน ส่วนความกว้างเขตแนวสายส่งขึ้นอยู่กับระดับแรงดันไฟฟ้า เช่น ระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ แนวเขตใต้สายส่งสามารถปลูกพืชบางชนิดได้ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น
กลุ่มคัดค้านระบุว่า ยังไมมีข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะดำเนินการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอย่างไร
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ในเบื้องต้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะใช้สายส่งระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ 4 วงจร เชื่อมต่อไปยังที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงทุ่งสง ระยะทางประมาณ 95 กิโลเมตร
ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า
1.กองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ระบุว่า ระหว่างก่อสร้าง (ระยะเวลาประมาณ 5 ปี) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ตามกำลังการผลิตติดตั้งในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนประมาณ 40 ล้านบาท/ปี
ระหว่างการผลิตไฟฟ้า (ระยะเวลาประมาณ 25 ปี) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตรา 2.0 สตางค์/หน่วย เป็นรายเดือนตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น โรงไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะจ่ายเงินเข้ากองทุนประมาณ 112 ล้านบาท/ปี
2.ชุมชนร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) และคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.) ได้รับภาษีเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า เช่น ภาษีโรงเรือน และที่ดิน เป็นต้น ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต วิถีชีวิตชุมชน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน (ไตรภาคี) ได้รับการจ้างงาน ส่งเสริมอาชีพ และกระจายรายได้ในพื้นที่ มีแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ทันสมัยของจังหวัด
กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ 9 โรง เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักตามแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาล
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2010 พ.ศ.2553–2573) แผนดังกล่าวจัดทำโดยภาครัฐร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกปี
กลุ่มคัดค้านระบุว่า มีพลังงานทางเลือกอื่นหรือไม่ ที่สามารถกยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ภาครัฐให้ความสำคัญและส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นทุกปี ตามศักยภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ศึกษา และพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัด เช่น ถ้าไม่มีลมและไม่มีแสงแดดจะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ทำให้ใช้เป็นพลังงานหลักไม่ได้ รวมทั้งมีต้นทุนต่อหน่วยสูง
กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปรับพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานสูงเกินจริงมีการบวกสำรองสูงถึงร้อยละ 15 ทำให้ต้องวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเกินจริง ผลักภาระการลงทุนที่เกินความจำเป็นบวกกับค่าประกันกำไรของผู้ผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน ผ่านระบบต้นทุนผันแปร หรือค่าเอฟที
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ในส่วนค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า จัดทำขึ้นโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพลังงานกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยประมาณ 2–3 ปี/ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้พลังงาน สภาพเศรษฐกิจและข้อสมมุติฐานต่างๆ ในการจัดทำค่าพยากรณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมิให้การจัดหาไฟฟ้าสูงหรือต่ำเกินไป จนเกิดผลเสียต่อประเทศชาติและผู้ใช้ไฟฟ้า
ถ้าหากพยากรณ์สูงเกินจริง จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้าสูงเกินความต้องการ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะถูกผลักสู่ค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชานต้องเป็นผู้แบกรับภาระในที่สุด ถ้าหากพยากรณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง จะทำให้ไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ส่งผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ จึงติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าและสภาพเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปรับปรุงค่าพยากรณ์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนค่าเอฟทีกำหนดโดยอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและบริการ เสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้อนุมัติ โดยค่าเอฟทีจะพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงเป็นหลัก
กลุ่มคัดค้านระบุว่า จังหวัดตรังใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 100 เมกะวัตต์ ขณะที่จังหวัดภูเก็ตใช้ไฟฟ้ามากที่สุดประมาณ 350 เมกะวัตต์ แต่จังหวัดตรังกลับมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป จึงเท่ากับจังหวัดตรังมีโครงการรุนแรง 8 โครงการอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งมีค่ามาตรฐานที่ใช้ควบคุมการปล่อยมวลสาร และเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าจะขนาด 100 เมกะวัตต์ หรือ 800 เมกะวัตต์ เท่ากับมีโครงการรุนแรง 1 โครงการเท่านั้น
จากสถิติความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งรับพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลาง และรับซื้อจากประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมเริ่มทยอยหมดอายุการใช้งาน
จังหวัดตรังมีศักยภาพในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตของภาคใต้ และเกื้อหนุนไปในพื้นที่ภาคอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ
กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เรียงลำดับพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังดังนี้ 1.บ้านทุ่งไพร ตำบลวังวน อำเภอกันตัง 2.ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง 3.ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นในพื้นที่ที่มีศักยภาพ 3 พื้นที่ เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมเพียง 1 พื้นที่เท่านั้น