Skip to main content

 เวทีชุมชุนสะท้อนเสียง 3 ศาสนา รัฐดูแลไม่เท่าเทียม ชาวไทยพุทธหยุดพึ่งรัฐ ขอเจรจาขบวนการยุติศึกไฟใต้

AFP

(ภาพเอเฟพี)

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 4 มีนาคม 2555 ห้องประชุมรามัน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มูลนิธิศักยภาพชุมชน จัดเวทีหารือเครือข่ายชาวมุสลิม ชาวพุทธและชาวจีน เรื่อง “ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ความเห็นของผู้หญิง เยาวชน และ ผู้นำชุมชน” มีผู้เข้าร่วม 40 คน

นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน รายงานผลการจัดเวทีชุมชน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 รวม 70 เวที มีผู้เข้าร่วม 900 กว่าคน

นางชลิดา รายงานว่า ชาวบ้านทั้ง 3 ศาสนาต่างสะท้อนความรู้สึกออกมาว่า ตนได้รับการดูแลจากรัฐบาลน้อยกว่าศาสนาอื่น เช่น ชาวพุทธมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐให้ความสำคัญกับผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบชาวมุสลิมมากกว่า โดยดูโครงการช่วยเหลือต่างๆ ที่ลงสู่หมู่บ้านมุสลิมก่อน อีกทั้งข้อเสนอของชาวมุสลิมมักได้รับการตอบรับ

นางชลิดา รายงานว่า ชาวบ้านไทยพุทธมองว่า รัฐเอาใจมุสลิมมากกว่า เช่น บางหน่วยงานรัฐ เปิดรับสมัครผู้ที่พูดภาษามลายูได้ แต่ ชาวพุทธพูดภาษามลายูไม่ได้

นางชลิดา รายงานต่อไปว่า ขณะที่ชาวมุสลิมมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐดูแลชาวพุทธมากกว่าชาวมุสลิม ส่วนคนจีนมองว่า ที่ผ่านมาเปรียบเสมือนลูกเลี้ยง คือไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ

นางชลิดา รายงานว่า แต่ชาวบ้านทั้ง 3 ศาสนาต่างมีข้อเสนอเหมือนกัน คือขอให้รัฐปฏิบัติกับชาวบ้านทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน อย่าลำเอียง หรือเอาใจฝ่ายใดฝ่าย

“ทั้งสามศาสนาต่างมองว่าตนถูกละเลยและเห็นว่ารัฐเอาใจอีกฝ่ายมากกว่า จึงเกิดคำถามว่า เจ้าหน้าที่ที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อย่างไร ทำไมจึงทำให้เกิดความรู้สึกเหล่านั้นได้”นางชลิดากล่าว

นางชลิดา รายงานว่า ชาวบ้านต่างสะท้อนให้เห็นว่า เพราะการแก้ปัญหาของรัฐบาลนั้น ไม่เคยฟังชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องพึ่งตัวเอง โดยการรวมกลุ่มหางบประมาณกันเอง เพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมของกลุ่ม

นางชลิดา รายงานว่า ชาวไทยพุทธสะท้อนว่า ชาวไทยพุทธส่วนหนึ่งที่เป็นเหยื่อจากการฆ่ารายวัน จึงอยากให้ขบวนการก่อความไม่สงบ ออกมาบอกพวกตนโดยตรง ว่าจะต้องการอะไร พวกตนอยากเจรจาต่อรองกับขบวนการโดยตรง เพราะพวกตนอาศัยในพื้นที่มานาน ไม่อยากย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะไม่มีต้นทุนเริ่มต้นชีวิตใหม่

นางชลิดา รายงานด้วยว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รายละ 7.5 ล้านบาท เพราะเกินความจำเป็น และกังวลว่า จะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการฆ่าในจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้น และต้องใช้งบประมาณสูง งบประมาณแผ่นดินอาจมีไม่พอ การเยียวยาควรเป็นการสร้างหลักประกันในชีวิต เช่น สนับสนุนทุนการศึกษา สนับสนุนอาชีพแก่แม่หม้าย