คนสตูลลุกฮือต้านเขื่อนทุ่งนุ้ย ล้มกรมชลประทานนำเสนอร่างEIA ชี้ปลอมรายชื่อถวายฎีกาพระราชทาน ไม่ศึกษาชุมชนผลกระทบตรง ตั้งข้อสังเกตุ "Times New Roman"">ชั้นหินผุ—จุดเสี่ยงดินถล่ม-ใกล้เหมืองระเบิดหิน ผู้ว่าฯลูกล่อลูกชนแพรวพราว ท้ายสุดจำนนยุติเวที-เจรจารับข้อเสนอพัฒนาสายน้ำร่วมชาวบ้าน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 มีนาคม 2555 ชาวบ้านตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ประมาณ 500 คน รวมตัวกันบริเวณหน้าโรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่งกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองช้าง (เขื่อนทุ่งนุ้ย) โดยมีการเปิดปราศรัยบนรถแห่ ถือธงเขียว แจกแถลงการณ์คัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำคลองช้าง (เขื่อนทุ่งนุ้ย) และปิดป้ายผ้าเพื่อไม่ให้มีการจัดเวที
นายยุทธนา มรรคาเขต สารวัตรกำนันตำบลทุ่งนุ้ย ปราศรัยว่า กระบวนการศึกษาเขื่อนคลองช้าง ไม่ได้สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการจริง เพราะจากเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างน้อย 3 ครั้ง ที่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 % ต่างมีความเห็นว่ เขื่อนคลองช้างไม่เหมาะสมที่จะสร้างในพื้นที่จังหวัดสตูล แต่กลับไม่ปรากฏความเห็นดังกล่าวในบทสรุปของเอกสารรายงานแต่อย่างใด
“การศึกษา EIA ไม่ครอบคลุม เช่นโรงโม่หินอยู่ห่างจากที่ตั้งสันเขื่อนไม่กี่กิโลเมตร เกิดแรงสั่นสะเทือนในการระเบิดหิน รวมถึงจังหวัดสตูลเป็นชั้นหินผุ และตำบลทุ่งนุ้ยยังเป็นจุดเสี่ยงภัยดินโคลนถล่มด้วยเป็นจุดเสี่ยงสำคัญต่อความปลอดภัยของเขื่อน” นายยุทธนา กล่าว
นายสุกรี เศษระนำ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองช้าง ปราศรัยว่า มีการกล่าวอ้างเหตุผลการสร้างเขื่อนจากกรมชลประทานว่ามีประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานเขื่อน แต่เมื่อตรวจสอบพบว่ามีการราษฎรจำนวนมาก จนอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลมีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง จนบันนี้ก็ยังไม่มีผลสอบที่ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร จึงถือเป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่ชอบตั้งแต่ต้น
“ชาวบ้านต้องการพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงถึงเหตุผลที่คัดค้านอ่างเก็บน้ำคลองช้าง และให้ยุติเวทีปัจฉิมนิเทศโครงการในวันที่ 5 มีนาคม 2555 นี้ไว้ก่อน เพื่อสร้างความกระจ่างตามข้อสังเกตเบื้องต้น” นายสุกรี กล่าว
ต่อมาเวลา 10.27 น. นายพิศาล ทองเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้มาพบกับชาวบ้านที่หน้าเวที ก่อนขึ้นเวทีปราศรัยพูดคุยกับชาวบ้าน จากนั้นนายสุกรี ได้ยื่นหนังสือขอให้นายพิศาล ตรวจสอบกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขื่อนคลองช้าง
โดยนายพิศาล รับปากว่าตนจะตรวจสอบกรณีการปลอมรายชื่อชาวบ้านเพื่อขอพระราชทานเขื่อน โดยให้ตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมเวทีการนำเสนอร่าง EIA อ่างเก็บน้ำคลองช้าง แล้วขึ้นไปยังห้องตะรุเตา โรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ เพื่อเปิดเวทีของกรมชลประทาน ในเวลา 10.43 น.
นายสมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ถามชาวบ้านตัดสินใจว่าจะส่งตัวแทนเข้าเวทีของกรมชลประทาน หรือไม่เข้าเวทีแล้วกลับไปยังตำบลทุ่งนุ้ยเพื่อปิดถนนยนตรการกำธร (หาดใหญ่-สตูล) แต่ต้องล้มเวทีก่อน
เวลา 10.50 น. ชาวบ้านจึงฮือล้มเวทีการนำเสนอร่าง EIA อ่างเก็บน้ำคลองช้าง นายพิศาล ต้องขอเจรจากับตัวแทนชาวบ้าน
“อะไรที่ทำเพื่อประชาชน ผมพร้อมจะปฏิบัติตามและให้ความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอ ข้าราชการ นักธุรกิจ ผมไม่อยากให้มีการปิดถนน ผมอยากให้มีการพูดคุยกันไม่ใช่มาคัดค้าน ถ้าสร้างกลุ่มคัดค้านผมก็สร้างได้โดยการเกณฑ์คนมาสัก 5 พันคน ผมจำได้ว่ามีคนสงขลามาคัดค้านด้วย” นายพิศาล กล่าว
ชาวบ้านตอบว่า ใช่ เป็นชาวบ้านจากบ้านคลองกั่ว ตำบลรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับตำบลทุ่งนุ้ย ซึ่งหากมีการก่อสร้างเขื่อนก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
เวลา 11.15 น. นายพิศาล จึงประกาศยกเลิกเวทีการนำเสนอร่าง EIA อ่างเก็บน้ำคลองช้าง ท่ามกลางเสียงปรบมือของชาวบ้าน
ต่อมาเวลา 11.24 น. ที่ห้อง 302 โรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ นายพิศาล ได้เจรจากับตัวแทนชาวบ้าน 12 คน ตัวแทนชาวบ้านเสนอให้นายพิศาล ดำเนินการตรวจสอบกรณีมีการปลอมรายชื่อชาวบ้านถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานเขื่อน เสนอให้พัฒนาฝายดุสน ที่ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน ซึ่งตื้นเขิน และให้นายพิศาลในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเป็นเจ้าภาพประสานงานกับกรมชลประทานศึกษาพัฒนาสายน้ำต่างๆ ในจังหวัดสตูล โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยนายพิศาล รับปากว่าจะดำเนินการตามที่ตัวแทนชาวบ้านเสนอ
นายพิศาล กล่าวหลังการเจรจาเสร็จสิ้นว่า เมื่อชาวบ้านบอกว่าข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ตนจึงต้องยุติเวทีการนำเสนอร่าง EIA อ่างเก็บน้ำคลองช้าง เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่มาบอกว่าไม่ต้องการเขื่อน จากนี้อาจมีโครงการประเภทอื่นที่แก้ปัญหาเรื่องน้ำมาดำเนินการ
“ก่อนที่ผมจะย้ายมาเป็นผู้ว่าฯ สตูลก็ติดตามข่าวสารภายในจังหวัดตลอด ต่อไปผมจะแก้ปัญหาเดิมทีมีอยู่ ไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ให้เกิดขึ้น และพัฒนาสตูลให้เป็นแบบสตูล ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการพัฒนา ทุกๆ โครงการในจังหวัดสตูลประชาชนต้องมีส่วนร่วม” นายพิศาล กล่าว
กระทั่งในเวลา 11.51 น. นายพิศาล ได้ขึ้นเวทีปราศรัยชาวบ้านอีกครั้ง เพื่อบอกเล่าถึงผลการเจรจากับตัวแทนชาวบ้าน ท่ามกลางเสียงปรบมือและเฮลั่น ก่อนที่กลุ่มชาวบ้านจะสลายตัวในเวลา 12.00 น.