Skip to main content

ส.ส.อีสานดันกฎหมายนครปัตตานี ยันไม่เกี่ยวรัฐบาล – พรรคเพื่อไทย เคลื่อนงาน 200 เวทีถกกระจายอำนาจดับไฟใต้ เผยปี 56 เดินสายทั่วประเทศ

 

 

นายประสพ บุษราคัม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดอุดรธานี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง ในคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) เปิดเผยว่า กำลัง ศึกษาเพื่อจัดทำร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้ง “นครปัตตานี” คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน จึงจะนำเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาต่อไป

นายประสพ กล่าวว่า ตนดำเนินการในฐานะคณะอนุกรรมการฯ ไม่ใช่ในนามของพรรคเพื่อไทย โดยหวังที่จะให้ส่วนกลางกระจายการพัฒนาและงบประมาณไปสู่มือของชาวบ้าน โดยจะไม่มีการไปแตะต้องในส่วนของหน่วยงานความมั่นคงหรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะทำงานพัฒนาเครื่องมือเพื่อดึงข้อเสนอในประเด็นกระจายอำนาจเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นรวม 200 เวที ในปี 2555 ในช่วงวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2555 ที่เทพาบีช รีสอร์ท ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาว่า คณะทำงานจะพิมพ์เอกสารประกอบให้ผู้เข้าร่วมพิจารณารูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 6 รูปแบบ ทั้งภาษาไทยและมลายู นอกจากนี้ ยังจะทำเอกสารฉบับการ์ตูนและวีดีโอเพื่อทำให้ผู้เข้าร่วมเวทีเข้าใจได้ง่ายขึ้น และจะนำไปเผยแพร่ในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย

นายแพทย์พลเดช เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ปัตตานี ยะลาและนราธิวาสในเดือนกรกฎาคมและจะให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2555 จากนั้นในปี 2556 จะขับเคลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวการกระจายอำนาจเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาคอื่นๆ ของประเทศต่อไป

สำหรับรูปแบบการกระจายอำนาจทั้ง 6 รูปแบบ ที่จะนำเสนอในเวทีรับฟังความเห็น ได้แก่ 1.รูปแบบศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้2.รูปแบบทบวงบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.สามนครสองชั้น โดยผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรง ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ยกฐานะองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) คงเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ไว้

4.สามนครหนึ่งชั้น โดยผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรง ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เลิกเทศบาลและ อบต.5. มหานครสองชั้น โดยรวมปัตตานี ยะลา นราธิวาสเข้าด้วยกัน มีผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรง ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค แต่คง อบจ. เทศบาล อบต.ไว้ และ 6.มหานครหนึ่งชั้น โดยขรวมปัตตานี ยะลา นราธิวาสเข้าด้วยกัน มีผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรง ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค อบจ. เทศบาล และอบต.

นายแพทย์พลเดช เปิดเผยว่า ภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ร่วมผลักดันข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วย 20 องค์กรในพื้นที่ทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554

“ส่วนสำคัญในการเดินเรื่องนี้คือสังคมใหญ่ต้องเข้าใจแนวคิดของกระบวนการนี้ ปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเปิดพื้นที่สื่อสารต่อสังคมใหญ่ให้เข้าใจพร้อมๆ กัน” นายแพทย์พลเดช กล่าว

นายแพทย์พลเดช กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและนักการเมืองบางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พวกนักการเมืองในระดับชาติ มีความเข้าใจก้าวหน้า ล้าหลังต่างกัน แต่เรื่องนี้ถอยไม่ได้ มีแต่จะต้องเพิ่มมากขึ้น

“จากการเข้าร่วมติดตามการขับเคลื่อนเรื่องกระจายอำนาจในพื้นที่ ผมมองว่าสภาประชาสังคมชายแดนใต้ขับเคลื่อนมาไกลมากแล้วครับ เชื่อว่า แม้รัฐบาลจะไม่สนับสนุนเรื่องนี้ มันก็ขับเคลื่อนเองอยู่แล้ว และผมเชื่อว่าในพื้นที่เริ่มมีอำนาจต่อรองสูง” นายแพทย์พลเดช กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายยงยุทธ  วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2555 ว่า การรวมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเขตปกครองพิเศษไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ รัฐบาลหรือใคร ไม่สามารถกำหนดเองได้ว่า จะให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายมาเป็นปัตตานีมหานคร หากจะเป็นปัตตานีมหานคร ก็ต้องมีนราธิวาสมหานครหรือยะลามหานครด้วยใช่หรือไม่ ดังนั้นยืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่มีทางแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ในวันถัดมาว่า ไม่เห็นด้วยกับการรวมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเขตปกครองพิเศษ