รัฐบาลไทยมีความหวาดวิตกมานานว่าการที่องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation หรือ โอไอซี) เข้ามาเกี่ยวข้องจะเป็นการยกระดับให้ความขัดแย้งในภาคใต้กลายเป็นประเด็นสากลและอาจทำให้โอกาสในการแยกดินแดนอาจเป็นจริงได้มากขึ้น
นาย Sayed Kassam El-Masry ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซีกล่าวกับประชาชนที่มารอต้อนรับที่มัสยิด 300 ปีหรือมัสยิดอาดีอัลฮูเซ็นที่อ.บาเจาะ จ.นราธิวาสใน วันที่ 9 พฤษภาคม 2555 (ภาพ: ฮัสซัน โตะดง)
ประมาณหนึ่งเดือนก่อนหน้าที่ผู้แทนระดับสูงของโอไอซีจะเดินทางมาเยือนประเทศไทย โอไอซีได้ออกแถลงการณ์หลังเกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ในวันที่ 31 มีนาคมในอ.หาดใหญ่ จ.สงขลาและจ.ยะลาโดยประณามว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น “การก่อการร้าย” ทางการไทยและผู้สังเกตการณ์อิสระต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าขบวนการน่าจะอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 คนและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน
ในวันที่ 9 พฤษภาคม นาย Sayed Kassam El-Masry ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซีได้กล่าวกับประชาชนที่มาต้อนรับที่จ.ยะลาเป็นภาษาอาราบิคว่า “อัรกุรอ่านได้บอกไว้ว่าผู้ใดฆ่าผู้บริสุทธิ์เพียงหนึ่งคน ก็เหมือนเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งโลก” นอกจากนั้น เอกสารการแถลงข่าวร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้แทนโอไอซีซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 14 พฤษภาคมก็ได้ย้ำประเด็นนี้อีกว่า “ทั้งสองฝ่ายประณามการกระทำรุนแรงต่อพลเมืองอย่างไม่แยกแยะเพราะสิ่งนี้ขัดกับหลักคำสอนของอิสลาม”
เป็นที่ชัดเจนว่าเหตุการณคาร์บอมบ์เป็นก้าวที่ผิดพลาดอย่างสำคัญสำหรับขบวนการ ซึ่งกลับส่งผลให้รัฐไทยได้คะแนนทางการเมืองไปอย่างไม่ตั้งใจ เหตุการณ์รุนแรงในครั้งนั้นลดความชอบธรรมของขบวนการในสายตาของประชาคมโลก โดยเฉพาะในโลกมุสลิมและผู้ที่เห็นอกเห็นใจต่อการต่อสู้ของพวกเขา
โอไอซีนับเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด รองจากสหประชาชาติ โอไอซีประกอบไปด้วยสมาชิก 57 ประเทศซึ่งล้วนมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม โอไอซีมีความเห็นอกเห็นใจต่อปัญหาของคนมลายูมุสลิมในภาคใต้ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศไทย แต่ก็ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างถึงที่สุด ไม่มีเป้าหมายทางการเมืองใดๆ ที่จะทำให้การกระทำเช่นนั้นมีความชอบธรรมได้
ปัญญาชนมลายูมุสลิมและผู้นำศาสนาบางคนก็ออกมาตั้งคำถามในที่สาธารณะกับพี่น้องร่วมศาสนาของพวกเขาด้วยเช่นกัน เป็นความเคลื่อนไหวที่เราไม่ได้เห็นบ่อยนักที่คณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี มูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิมและกลุ่มประชาสังคมอื่นๆ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันหลังเหตุการณ์คารบอมบ์ เรียกร้องให้ผู้ก่อความรุนแรงหยุดการกระทำเช่นนี้และร่วมกันแก้ไขความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองด้วยสันติวิธี
อ.อับดุลสุโก ดินอะ ปัญญาชนชาวมลายูมุสลิมได้เขียนบทความลงในหน้าเว็บไซต์ของศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศราว่า จริงอยู่ที่คัมภีร์อัลกุรอานส่งเสริมให้ผู้ที่ถูกกดขี่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากผู้กดขี่และการกระทำเช่นนั้นคือ การญิฮาด แต่การก่อเหตุคาร์บอมบ์นั้นไม่ใช่การญิฮาดและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุในครั้งนั้นก็ไม่สมควรเรียกว่านักรบเพื่อพระเจ้า เขากล่าวว่า “การก่อการร้ายไม่ใช่การญิฮาด” เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าความเห็นของพี่น้องมุสลิมทั้งในและนอกประเทศเหล่านี้จะมีผลอย่างไรหรือไม่ต่อการกระทำของขบวนการในอนาคต
ความเห็นของโอไอซีส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางบวกกับสิ่งที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการ แต่ว่าทางโอไอซีได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยบอกว่ากฎหมายพิเศษนี้เป็นเงื่อนไขให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำให้เกิดสภาวะของการไม่ต้องรับผิด (climate of impunity)
พ.ร.ก. ฉุกเฉินถูกใช้ในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งต้องมีการต่ออายุทุกสามเดือน พ.ร.ก. อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้ไม่เกิน 30 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา และพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พบทนายความในช่วงเวลาดังกล่าว
แม้ว่าเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจต้องขออนุมัติหมายจับจากศาลก่อนดำเนินการจับกุม แต่การออกหมายภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นใช้หลักฐานน้อยกว่าการออกหมายภายใต้ป.วิอาญาซึ่งเป็นกฎหมายปกติ ก่อนหน้านี้ การอนุญาตให้เยี่ยมนั้นขึ้นกับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแต่เพียงผู้เดียว แต่ว่าหลังจากที่นักสิทธิมนุษยชนได้ทำการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันนี้ ญาติสามารถที่จะเข้าเยี่ยมได้
ในช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ในอำนาจ เขากล่าวว่ารัฐบาลของเขาจะพิจารณายกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินในพื้นที่ที่มีความรุนแรงต่ำ ข้อเสนอของรัฐบาลถูกทหารตำรวจคัดค้าน รัฐบาลสามารถยกเลิกกฎหมายพิเศษได้เพียงพื้นที่เดียวคือ อ.แม่ลานในจังหวัดปัตตานี รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรไม่ได้กล่าวอะไรในประเด็นนี้ เพราะไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่เธอจะลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับกองทัพในเรื่องนี้
ในวันที่ 10 พฤษภาคม พล.ท. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคสี่ ได้กล่าวกับผู้แทนโอไอซีระหว่างการประชุมที่ยะลาว่าเขาได้เสนอต่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการสนทนากับผู้เขียน พล.ท.อุดมชัยกล่าวว่าขณะนี้สามารถระบุตัวผู้ต้องสงสัยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจึงไม่ได้มีความจำเป็นมากนัก คงต้องดูกันต่อไปว่าคำพูดของแม่ทัพภาคสี่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงหรือไม่ เดือนมิถุนายนซึ่งจะเป็นกำหนดเวลาของการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินรอบถัดไป จะเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้พิสูจน์ความจริง
ประเด็นอีกอย่างหนึ่งที่ทางโอไอซีได้หยิบยกขึ้นมา แต่ไม่ได้ถูกระบุอย่างเป็นทางการในแถลงการณ์ คือ ความสำคัญของการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ซึ่งรวมถึงขบวนการที่ติดอาวุธด้วย นาย El-Masry ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งการดำเนินการในเรื่องนี้ เขาใช้คำว่า “ยิ่งเร็ว ยิ่งดี”
สิ่งที่เขากล่าวนี้อาจทำให้เจ้าหน้าที่ของไทยบางส่วนไม่พอใจ ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยไม่พอใจอย่างมากที่โอไอซีจัดการประชุมพูดคุยกับขบวนการขึ้นพร้อมกันในกรุงกัวลาลัมเปอร์กับเจดดาห์ในช่วงปลายปี 2553 ดูเหมือนกับว่ารัฐบาลไทยจะประสบความสำเร็จในการเจรจาให้โอไอซีระงับกระบวนการนี้ นาย El-Masry ระบุในระหว่างการเยือนประเทศไทยว่าโอไอซีจะ “สนับสนุน” ให้รัฐบาลไทยดำเนินการพูดคุยกับผู้เห็นต่างแต่ว่าจะไม่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลาง กลุ่มขบวนการรุ่นเก่าซึ่งลี้ภัยอยู่นอกประเทศที่คาดหวังสูงกับโอไอซีอาจจะผิดหวังกับคำแถลงนี้
การมาเยือนในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าดูเหมือนรัฐบาลไทยจะมีแต้มต่อในเวทีสากล โอไอซีได้ระบุชัดว่าเขาเคารพในเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยและถือว่าเรื่องปัญหาภาคใต้นี้เป็นเรื่องภายใน แต่ รัฐบาลก็ไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจกับชัยชนะทางการทูตนี้ ไม่มีใครควรที่จะเฉลิมฉลองในขณะที่ผู้คนยังคงล้มตายอยู่เกือบทุกวัน
หากว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ความรุนแรงยุติลง รัฐบาลจะต้องแสดงถึงความจริงจังและต่อเนื่องในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ การที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อนโยบายการพูดคุยอันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2555 – 2557 ที่ร่างขึ้นโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นั้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อุปสรรคที่สำคัญในขณะนี้คือความไร้เอกภาพและการแข่งขันกันเองระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยนี้
การพูดคุยที่ดำเนินการโดย สมช. ซึ่งได้ทำมาหลายปีอย่างเงียบๆ และไม่เป็นทางการดูเหมือนจะชะงักลง หลังจากที่พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ริเริ่มการพูดคุยในกรอบใหม่ในช่วงหลายเดือนๆ ที่ผ่านมา
ความเห็นของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกหลังเหตุการณ์คาร์บอมบ์ดูเหมือนจะเป็นการวิจารณ์การดำเนินการของพ.ต.อ.ทวีในเรื่องนี้โดยตรง พรรคเพื่อไทยได้ให้การสนับสนุน พ.ต.อ.ทวีอย่างเต็มที่ พล.อ.ประยุทธได้กล่าวว่าการพูดคุยกับขบวนการเพียงบางกลุ่มบางคนอาจจะทำให้กลุ่มอื่นๆ ที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความสนใจไม่พอใจ และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดคาร์บอมบ์ขึ้น ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรงยิ่งขึ้นอีกหลังจากที่ฝ่ายค้านได้นำเอาข่าวการพูดคุยระหว่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกับกลุ่มขบวนการที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามาเปิดเผยกับสาธารณะ การต่อสู้กันทางการเมืองระหว่างทักษิณกับกองทัพทำให้การพูดคุยเพื่อสันติภาพนี้มีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก
การเจรจาระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งกันนั้นเป็นวิธีการที่สำคัญในการยุติความรุนแรงในหลายๆ พื้นที่ที่มีความขัดแย้ง แม้ว่ากระบวนการนี้อาจจะใช้เวลานานก็ตาม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ควรจะต้องมีภาวะการนำในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เข้มแข็งมากขึ้น อำนาจของรัฐบาลพลเรือนควรที่จะได้รับการหนุนเสริม ในขณะที่กองทัพควรมีบทบาทรองในเรื่องนี้ หากดูถึงสมการทางอำนาจในยุคหลังการรัฐประหารแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเรื่องนี้เป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาล นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมามีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่าห้าพันคนในความขัดแย้งในภาคใต้ รัฐบาลไม่สามารถที่จะผัดวันประกันพรุ่งได้อีกต่อไป
หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ภายใต้หัวเรื่อง “Govt must now take lead in peace dialogue” รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักวิจัยอิสระที่ติดตามสถานการณ์ในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ติดต่อผู้เขียนได้ที่ [email protected]