ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่รับพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งการไต่สวนการตายคดีตากใบ
เวลา 9.00 น. วันที่ 8 มิถุนายน 2555 ศาลอาญา กรุงเทพมหานคร นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในกรณีญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบจำนวน 34 คน ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญไทย และศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ผู้ร้องจึงได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญา
ศาลอุทธรณีมีคำพิพากษาว่า “ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ว่า ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าศาลจังหวัดสงขลารับคดีไว้และทำการพิจารณาพิพากษาไปแล้ว นางสาวมัสตะกับพวกจึงมาคำร้องต่อศาลอาญา ซึ่งกรณีเช่นนี้ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาได้อีก เป็นการต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2535 มาตรา 15 ที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของนางสาวมัสตะ กับพวกรวม 34 คน ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ”
ศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพหรือคดีไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 78 คน โดยศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งว่าผู้ตายทั้งหมดเสียชีวิตเนื่องจาก “ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่”
ญาติผู้เสียชีวิตเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี นอกจากนี้ยังไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มาตรา 150 เนื่องจากหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง กรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบนี้ เมื่อรับฟังจากคำให้การพยานในคดีแล้ว เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นไปโดยไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม
ญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 34 คนได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตร เนื่องจากเห็นว่าศาลอาญาและศาลจังหวัดสงขลาเป็นศาลยุติธรรมชั้นต้นด้วยกัน เมื่อศาลสงขลารับคดีไว้พิจารณาแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจพิจารณาได้อีกต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ญาติผู้เสียชีวิตจึงได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องของศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์