งานเสวนาวิชาการ “ปาตานี ในมิติประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม” ที่ม.อ. พบโครงการวิจัย 100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับชายแดนใต้ อ่านสาระโดยสังเขปหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งของไทย มลายูและต่างประเทศ
หนังสือ Hikayat Patani
ภาพจาก http://ms.wikipedia.org/wiki/Hikayat_Patani
ในโอกาสที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับองค์กรต่างๆ จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ปาตานี ในมิติประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม”ที่หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ระหว่างวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2555 ปรากฏหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การแนะนำโครงการ “ร้อยเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปาตานี”
เป็นโครงการที่มีชื่อเต็มว่า โครงการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ : ร้อยเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปาตานี ที่นายพุทธพล มงคลวรวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และคณะทีมงานจะมานำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ
ต่อไปนี้ เป็นรายชื่อ 100 เอกสารสำคัญที่ทีมงานได้คัดเลือก เป็นร่างรายชื่อเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปาตานี ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ปัตตานี/ปาตานี จากข้อมูลหลักฐานที่เอาปัตตานี/ปาตานีเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นร่างรายชื่อเอกสารที่ถูกนำเสนอผ่านเวทีสาธารณะได้วิพากษ์วิจารณ์ในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อจัดทำรายชื่อพร้อมบทปริทัศน์เอกสารสำคัญต่อไป
รายชื่อ 100 เอกสารสำคัญของประวัติศาสตร์ปาตานี
เอกสารภาษามลายู
1. Hikayat Patani
2. ข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลงและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
3. Gugusan Cahaya Kesalamatan ของหะยีสุหลง
4. Sejarah Kerajaan Melayu Patani (ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปาตานี) ของ อิบรอฮิม ชุกรี
5. บันทึกสายตระกูลมลายูบางกอก
6. ข่าวและบทความในอุตูซันมลายู (Utusan Melayu) และหนังสือพิมพ์ภาษามลายู
7. นิตยสารอาซาน
8. ตำนาน Raja-Kota
9. Kanun Pahang –โครงสร้างการปกครองเมืองปัตตานี
10. Kekati Besar – Undang Undang Patani
11. Tarikh Patani
12. Shair Negori Patani
13. Hikayat Patani: Keturunan raja-raja Patani dan Sejarahuya
14. Sejarah Patani – Tg. Putra
15. ตราตั้งมุฟตีของเจ้าเมืองสายบุรี
เอกสารภาษาไทย
1. ปาตานีในพระราชพงศาวดารสยามสมัยจารีต (คริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19)
2. พงศาวดารเมืองปัตตานี
3. พงศาวดารหัวเมืองปักษ์ใต้ต่างๆ
4. จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ
5. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสแหลมมลายู
6. เอกสารประเภทหนังสือบุด
7. เอกสารการแต่งตั้งเจ้าเมือง 7 หัวเมือง
8. รายงานตรวจหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 115 ของสมเด็จฯ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีว่าการมหาดไทย รายงานตรวจราชการเมืองตานี ร.ศ. 118 ของ พระยาสุขุมนัยวินิต
9. กฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ. 120
10. สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลาม
11. รายงานตรวจราชการมณฑลปัตตานี พ.ศ. 2473
12. เอกสารชุดปัตตานีกับสงครามโลกครั้งที่สอง
13. รายงานการประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 4 จังหวัดภาคใต้ ปี2489
14. เอกสารราชการเกี่ยวกับการจัดตั้งและดำเนินการทัณฑนิคมธารโต จังหวัดยะลา
15. ปัตตานี อดีต – ปัจจุบัน ของ อ. บางนรา
16. ประวัติเมืองปัตตานี(2509) ของ พระยารัตนภักดี
17. ตัวละบาท (Sekob Seekor) หรือ ซือโก๊ะแซกอ (2522) ของ สุชีพ ณ สงขลา
18. งานเขียนของเจ๊ะอับดุลเลาะห์ หลังปูเต๊ะ
19. เอกสารการช่วยเหลือคนไทยในมักกะฮ์ พ.ศ. 2483 – 2486
20. เอกสารเกี่ยวกับการควบคุมนักศึกษาไทยในซาอุดีอารเบีย พ.ศ. 2502 – 2505
21. เอกสารการจัดการไทยอิสลามเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ พ.ศ. 2504
22. เรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์
23. วารสารรูสมิแล
24. หนังสือพิมพ์ทางนำ
25. งานเขียนและการเก็บข้อมูลท้องถิ่นของอนันต์ วัฒนนิกร
26. งานเขียนและการเก็บข้อมูลของประพนธ์ เรืองณรงค์
เอกสารชาวต่างชาติและภาษาต่างประเทศ
1. ปาตานีในเอกสารจีน ศตวรรษที่ 6 – 19
2. ปาตานีในเอกสารญี่ปุ่น
3. ปาตานีในเอกสารโปรตุเกส The Suma Oriental of Tome Pires
4. จดหมายเหตุและพงศาวดารของฟานฟลีต Van Vliet
5. บันทึกของ Peter Floris และ เอกสารอังกฤษอื่นๆ อาทิAlexander Hamilton
6. เอกสารเฮนรี่ เบอร์นี่ Burney Paper
7. เอกสารของจอห์น ครอว์ฟอร์ด John Crawfurd
8. Siam in the Malay Peninsula : a short account of the position of Siam in the states of Kelantan, Patani, Legeh and Siam (1902) by R.D. Davis
9. บันทึกความทรงจำของคณะสำรวจมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ที่บริเวณรัฐมลายูตอนเหนือระหว่างปี พ.ศ.2442 – 2443 ของ สกีต ใน W.W. Skeat and F.F. Laidlaw, “Reminisacences of the Expedition” Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society 26:4 (December 1953)
10. Kelantan; a state of the Malay Peninsula; a handbook of information (1908) by W.A.Graham
11. Report of the Financial Adviser on the monetary position in Patani (1907) by W.J.F.Williamson
12. เอกสารของ Barbara Whittingham-Jones (Jones Papers)
13. ข่าวและบทความในเดอะสเตรทไทม์(The Straits Times) และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในมลายา
14. บทความและหลักฐานที่อยู่ในวารสารราชสมาคมเอเชีย สาขามลายา (Journal of Malayan Branch of Royal Asiatic Society)
15. หนังสือพิมพ์The voice of Patani
16. สนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ ปี1909 (Anglo-Siamese Treaty 1909)
เอกสารทางด้านศาสนา
1. Fattawa al-fataniyyah
2. Faridatul Fara-id
3. Furu’ al Masa’il wa Usul al-Wasa’l
4. Tayyibul-Ihsan Fi Tibbil Insan
เอกสารประเภทอื่นๆ
1. ตราพระราชลัญจกรประจำรายาตนกูอับดุลการเดร์ กามารุดดีน
2. เงินตรา 7 หัวเมืองปักษ์ใต้
3. แผนที่การแบ่งเขตแดนเปรัก-รามันห์
4. แผนที่การแบ่งเขตแดนกลันตัน-ระแงะ
5. แผนที่ฮอลันดาแสดงเขตแดนเมืองนครศรีธรรมราช-ปัตตานี
6. แผนที่บริเวณ 7 หัวเมืองสมัย ร.5
อ่านสาระสังเขป 100 เอกสารสำคัญของประวัติศาสตร์ปาตานี
เอกสารภาษามลายู
1. Hikayat Patani
ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยจารีตเล่มสำคัญที่สุดของปาตานี เล่าเรื่องราววงศ์กษัตริย์ของปาตานี สภาพบ้านเมือง ศาสนาประเพณีความเชื่อ และสงคราม ฮิกายัตปาตานีเป็นหลักฐานสำคัญที่สุดในการศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีสมัยจารีต ซึ่งมีการปริวัตรเป็นอักษรรูมี แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย Wyatt และTeeuw และแปลเป็นภาษาไทยโดย วัน มโรหะบุตร
2. ข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลงและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
เป็นเอกสารที่มีความสำคัญตั้งแต่ในยุคสมัยที่มีการเผยแพร่ คือ ในปี2490 ที่รัฐบาลส่งตัวแทนมารับฟังความคิดเห็นของราษฎรในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ทั้งนี้ “ข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลง” เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ที่มีหะยีสุหลงเป็นประธาน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ยื่นให้รัฐบาลพิจารณา
นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องของจังหวัดและพื้นที่อื่นๆ อีกซึ่งสะท้อนความคิดทางด้านการเมืองการปกครองของกลุ่มผู้นำทางศาสนาและราษฎรในท้องถิ่น
3. Gugusan Cahaya Kesalamatan ของหะยีสุหลง
หนังสือ “ฆูฆูสซัน จะฮยา กือซือลามัตตัน/รวมแสงแห่งสันติ” หนังสือ(กีตาบมลายู)เล่มนี้เขียนในยุคก่อนปี 2500 เมื่อนาย
หลังจากได้รับการเลือกตั้งครั้งนั้น โดยหะยีอามีน โต๊ะมีนา ได้ให้โรงพิมพ์ เซาดารอเพรส ตั้งอยู่ที่ถนนฤดี เมืองปัตตานี สั่งพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญนี้
เนื้อหาในหนังสือส่วนแรก หน้า 1-15 กล่าวถึงประวัติ ความเป็นมา ข้อเท็จจริงในชีวิตของหะยีสุหลงที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ทั้งงานทางด้านศาสนาและงานด้านสังคมเพื่อชาวมลายูปัตตานี และยังมีการบันทึกเนื้อหาในประเด็นข้อเรียกร้องทางการเมืองต่อทางการไทย ซึ่งเรียกกันว่า “คำร้องขอ/ข้อเรียกร้อง 7 ประการ” ที่เป็นข้อเรียกร้องของชาวไทยมลายูมุสลิมในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยหนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นหลักฐานเบื้องต้นและแหล่งข้อมูลแรกที่มีการบันทึกข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งบันทึกสำนวนเดิมเป็นภาษามลายูอักษรยาวี
ส่วนที่สองของหนังสือคือ ตั้งแต่หน้า 16 ถึงหน้า 86 มีเนื้อหาที่ท่านหะยีสุหลงเขียนเกี่ยวกับการปฏิบัติความดี (อามัล) ต่างๆ ในการครองตนเป็นมุสลิมที่ดีและบทขอพร(ดุอาร์) ในวาระและโอกาสต่างๆ ในวิถีชีวิตของมุสลิม อาทิ ดุอาร์ให้รอดพ้นจากการคุกคามของคนร้าย หมอปลุกเสกหรือหัวขโมย(น.23) ดุอาร์ให้พ้นจากการเป็นหนี้และขอปัจจัยยังชีพ (ริสกี) และความมั่งคั่งจากพระเจ้า(น.44)เป็นต้น
4. Sejarah Kerajaan Melayu Patani (ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปาตานี) ของ อิบรอฮิม ชุกรี
หนังสือเล่มนี้แต่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2490 เป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์แนวชาตินิยมเล่มแรกที่ได้สร้างแม่แบบการเล่าเรื่อง (master narrative) ให้กับประวัติศาสตร์ปาตานีในเวลาต่อมา
5. บันทึกสายตระกูลมลายูบางกอก
ตระกูลชาวมลายูพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แม้จะจาก “แผ่นดินแม่” มายาวนาน แต่ก็ยังคงรักษาธรรมเนียมมลายูหลายๆ อย่างเอาไว้ รวมถึงการเชื่อมโยงตนเองเข้ากับปาตานีที่บรรพบุรุษจากมาผ่านสายตระกูลและบันทึกต่างๆ ซึ่งมลายูบางกอกหลายตระกูลก็ยังคงเก็บรักษาไว้และบันทึกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
6. ข่าวและบทความในอุตูซันมลายู(Utusan Melayu) และหนังสือพิมพ์ภาษามลายู
หนังสือพิมพ์อุตูซันมลายู เป็นหนังสือพิมพ์ภาษามลายูที่มีชื่อเสียงอันหนึ่ง ในช่วงที่เกิดกระแสชาตินิยมมลายูในมาลายาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อุตูซันมลายูและหนังสือพิมพ์ภาษามลายูฉบับอื่นๆ ได้ลงข่าวและบทความเกี่ยวกับชาวมลายูในสยามและการเคลื่อนไหวของมลายูปาตานีด้วย
7. นิตยสารอาซาน
นิตยสารภาษามลายูอักษรยาวี ซึ่งมีการออกแบบและเนื้อหาที่ทันสมัยมากในทศวรรษ 1970 นำเสนอทั้งเรื่องศาสนา การเมือง สังคมของชาวมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้
8. Shair Negori Patani
Syair Negeri Patani หรือ บทร้อยกรองรัฐปาตานี เป็นหนังสือที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของปาตานี โดยเขียนเป็นบทร้อยกรอง (Syair) มีความยาวทั้งหมด 40 หน้า นายฮัจญีวันอิสมาแอล ปาดัง เป็นผู้เขียนเมื่อปี ฮ.ศ.1301 หรือ ค.ศ.1880 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในประเทศมาเลเซีย
เอกสารภาษาไทย
1. ปาตานีในพระราชพงศาวดารสยามสมัยจารีต (คริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19)
ราชอาณาจักรปาตานีมีสถานะเป็นรัฐคู่ค้า คู่สงคราม ตลอดจนเป็นประเทศราชในสายตาของศูนย์กลางอำนาจที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ราชสำนักอยุธยาและราชสำนักกรุงเทพ
เหตุการณ์และความสัมพันธ์กับปาตานีจึงถูกรวบรวมและบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารของสยามฉบับสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดารที่เขียนขึ้นในสมัยอยุธยา คือ พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ พงศาวดารอยุธยาที่ถูกชำระและเรียบเรียงใหม่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ คือ พงศาวดารอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ พงศาวดารอยุธยาฉบับบริติชมิวเซียม พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตลอดจนพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับปาตานีที่ปรากฏจะถูกนำเสนอในลักษณะที่ตายตัวคือความเป็นประเทศราชและกบฏ หลักฐานข้อมูลจากมุมมองรัฐมหาอำนาจภายนอกนี้ ได้เผยให้เห็นสถานะความเป็นไปของดินแดนปาตานีในบริบทการแข่งขันอำนาจทางการเมืองระหว่างรัฐต่างๆ ในภูมิภาค ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้เป็นอย่างดี
2. พงศาวดารเมืองปัตตานี
พงศาวดารเมืองปัตตานี หรือ พงศาวดารมณฑลปัตตานี รวบรวมและเรียบเรียงโดยพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลา (พ.ศ. 2431-2439) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และถูกตีพิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 3 เมื่อปีพ.ศ.2457
เนื้อหาของพงศาดารเริ่มขึ้นในราวยุคสี่ราชินีปกครองอาณาจักรปาตานีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือพุทธศตวรรษที่ 21 อันตรงกับยุคราชวงศ์ปราสาททองของอาณาจักรอยุธยา ระบุถึงการหล่อปืนใหญ่ของชาวจีนที่ชื่อหลิมโต๊ะเคี่ยม และการเสียชีวิตของหลิมกอเหนี่ยว
เนื้อหาเน้นสมัยที่ปาตานีตกเป็นประเทศราชของราชสำนักกรุงเทพ ข้อมูลการแต่งตั้งเจ้าเมืองและข้าราชการไปปกครองหัวเมืองต่างๆ ในดินแดนปาตานี และจบเรื่องเมื่อปาตานีถูกเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กลายเป็นมณฑลปัตตานีในปีพ.ศ.2449
ข้อมูลในพงศาวดารเมืองปัตตานี สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของราชสำนักกรุงเทพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสยามประเทศ โดยผูกโยงประวัติศาสตร์เมืองประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้ร้อยรัดเข้ากับประวัติศาสตร์ส่วนกลางในกรอบของรัฐชาติ
3. พงศาวดารหัวเมืองปักษ์ใต้ต่างๆ
เนื้อความเกี่ยวกับดินแดนปาตานีถูกบันทึกและรวบรวมอยู่ในพงศาวดารหัวเมืองปักษ์ใต้ฉบับต่างๆ ที่ถูกรวบรวมตีพิมพ์ในชุดประชุมพงศาวดารโดยราชสำนักกรุงเทพ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ได้แก่
พงศาวดารเมืองสงขลา โดยพระยาวิเชียรคีรี(บุญสังข์),พงศาวดารเมืองสงขลา โดยพระยาวิเชียรคีรี(ชม), พงศาวดารเมืองสงขลา โดยพระยาสวัสดิ์คีรีศรีสมันตราษฎร์(เย็น สุวรรณปัทม), พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช, พงศาวดารเมืองไทรบุรี(ฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน), พงศาวดารเมืองตรังกานู(ฉบับศาลาลูกขุน) และพงศาวดารเมืองกลันตัน (ฉบับศาลาลูกขุน)
4. จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ
จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติเป็นเอกสารที่บันทึกโดยหลวงอุดมสมบัติ(จัน) ซึ่งเป็นข้าราชการในกรมพระคลังสินค้า ที่ได้รับมอบหมายจากพระยาศรีพิพัฒน์ เมื่อครั้งเป็นแม่ทัพนำกำลังไปช่วยเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลาปราบกบฏไทรบุรี เมื่อพ.ศ.2381/ค.ศ.1839 ให้รายงานข้อราชการเกี่ยวกับหัวเมืองปักษ์ใต้และหัวเมืองประเทศราชมลายูที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหล่าขุนนางได้ประชุมปรึกษาหารือกันที่กรุงเทพฯ บอกไปให้ทราบ จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ
นับได้ว่าเป็นเอกสารชั้นต้น ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี พ.ศ.2449 แม้ว่าเนื้อความหลักจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นไปในดินแดนปาตานี แต่สัมพันธ์กับเหตุการณ์สงครามกับรัฐไทรบุรี และการเมืองของ กลันตันและตรังกานูอันเป็นรัฐมลายูที่อยู่แวดล้อมปาตานี รัฐเหล่านี้ต่างก็อยู่ในสภาวะเดียวกัน คือต้องเผชิญหน้ากับการขยายอำนาจของราชสำนักกรุงเทพ และพยายามต่อสู้และต่อรองกับอำนาจภายนอกเพื่อความอยู่รอดของผู้ปกครอง
5. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสแหลมมลายู
ประกอบไปด้วย จดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมลายูรัตนโกสินทร์ศก 109 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู คราว รศ. 109, ร.ศ. 117, ร.ศ.119, ร.ศ. 124 และ ร.ศ. 128 โดยสมเด็จฯกรมพระสมมตอมรพันธุ์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์จักรีที่เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พระองค์ทรงเสด็จโดยเรือกลไฟไปถึงเมืองสงขลาในปีพ.ศ.2401 และถึงปัตตานีในปี พ.ศ.2406 ดังความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์
ในรัชสมัยต่อมารัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์เสด็จประพาสแหลมมลายูหลายครั้ง ประพาสหัวเมืองสำคัญต่างๆ อาทิ สงขลา ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์จดหมายรายวันในระหว่างการเสด็จประพาสส่วนหนึ่งได้รับการคัดสรรรวบรวมตีพิมพ์เป็นจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบกทางเรือรอบแหลมมลายู ร.ศ.109 เป็นต้น
นอกจากพระราชนิพนธ์ของพระองค์แล้ว การเสด็จพระราชดำเนินครั้งต่างๆ ได้รับการพระนิพนธ์บันทึกโดยพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จ อาทิ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระสมมอมรพันธุ์ เป็นต้น จดหมายเหตุระยะทางดังกล่าวนี้ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายการปกครองของราชสำนักกรุงเทพที่มีต่อรัฐประเทศราชมลายูต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
6. เอกสารประเภทหนังสือบุด
หนังสือบุด หรือสมุดไทยภาคใต้ เป็นเอกสารประเภทหนึ่งทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคนไทยภาคใต้ และเป็นแหล่งภูมิปัญญาที่บ่งบอกสภาพวิถีชีวิตคนไทยในท้องถิ่นภาคใต้ได้เป็นอย่างดี ปรากฏร่องรอยของการบันทึกตำรับตำรายา การแพทย์พื้นบ้าน ตำนานความเชื่อเรื่องต่างๆ ในหนังสือบุดในท้องถิ่นดินแดนปาตานีเฉกเช่นเดียวกับดินแดนแถบสงขลาและพัทลุง บางส่วนได้รับการคัดสรรและตีพิมพ์เผยแพร่ในชุดวรรณกรรมทักษิณ อาทิ ตำนานการสร้างโลกบ้านป่าลาม ฯลฯ
ข้อมูลในหนังสือบุด ช่วยสะท้อนประวัติศาสตร์สังคมในด้านความเชื่อ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของคนพื้นถิ่นในดินแดนปาตานี
7. เอกสารการแต่งตั้งเจ้าเมือง 7 หัวเมือง
เอกสารจำพวกใบบอกแต่งตั้งพระยาเมืองของ 7 หัวเมืองสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก่อนการปฏิรูปการปกครอง รวมถึงใบบอกจากหัวเมืองปักษ์ใต้กราบบังคมทูลในเรื่องต่างๆ
8. รายงานตรวจหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 115 ของสมเด็จฯ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีว่าการมหาดไทย รายงานตรวจราชการเมืองตานี ร.ศ.118 ของ พระยาสุขุมนัยวินิต
รายงานทั้งสองชิ้นเป็นหนังสือราชการที่เล่าถึงสภาพการปกครองและเศรษฐกิจของบริเวณ 7 หัวเมืองและเมืองตานี ซึ่งเขียนขึ้นโดยพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่เป็น “สถาปนิกแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในช่วงที่สยามกำลังปฏิรูปการปกครอง
เรื่องราวในรายงานทั้งสองไม่เพียงแต่เห็นสภาพของปาตานีในทัศนะของชนชั้นนำสยามแล้ว ยังทำให้เห็นแนวนโยบายในการจัดการต่ออาณาบริเวณแถบนี้ด้วย
9. กฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ.120
เอกสารฉบับนี้คือเอกสารที่มีความสำคัญในการจัดการปกครองแบบใหม่ ในบริเวณ 7 หัวเมือง ที่ทำให้รัฐจารีตกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์สยาม ที่สำคัญคือการใช้ระบบเรสซิเดนท์ หรือ ข้าหลวงแบบเดียวกับอังกฤษปกครองรัฐมลายู ซึ่งเอกสารดังกล่าวนี้ ยังมีความสำคัญในแง่ที่ว่า เป็นหนังสือที่รายาอับดุลกาเดร์ พระยาตานี ปฏิเสธที่จะลงนามจึงทำให้ถูกจับกุมในข้อหาขัดพระบรมราชโองการ และนำตัวไปคุมขังที่พิษณุโลกในที่สุด
10. สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลาม
พิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.2466 ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระแสพระโอวาทพระราชทานแก่ข้าราชการมณฑลปัตตานี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2472 และเกี่ยวข้องกับที่มาของหลักรัฐประศาสนโยบายสำหรับมณฑลปัตตานีของรัชกาลที่ 6 จำนวน 6 ข้อ
จัดทำขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงตระหนักถึงปัญหาที่เกิดแก่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้มีการจัดทำ “สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑล ซึ่งมีพลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลาม” และพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.2466 ดังคำปรารภว่า
“เมื่อไปตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้ต้นปี 2466 มีเหตุผลที่ได้ยินประกอบการพิจารณาเห็นด้วยกับตนเอง ทั้งความคุ้นเคยในราชการและรู้จักท้องที่เหล่านี้อยู่ ประกอบกับชวนให้คิดว่า น่าจะต้องมีสมุดคู่มืออย่างที่พิมพ์ขึ้นนี้ ไว้สำหรับตักเตือนเพื่อนราชการที่มารับราชการในหน้าที่ปกครองอยู่ประจำมณฑลและจังหวัดภาคนี้...จึงตักเตือนไว้เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนราชการ ผู้มาประจำหน้าที่ในภายหลังที่ยังไม่ทราบก็จะได้ทราบ ได้เป็นเครื่องประกอบในข้อปฏิบัติราชการ ที่ทราบอยู่แล้ว ถ้าหลงลืมก็จะเป็นเหตุให้กลับระลึกได้”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวเตือนข้าราชการว่า “เจ้าหน้าที่ผู้ปกครองราษฎรซึ่งมีคตินิยมต่างจากคนไทยและต่างจากคนไทยและต่างศาสนาดังเช่นมณฑลปัตตานีเป็นต้น ควรจะต้องรู้จักหลักพระราชประสงค์และรัฐประศาสน์ของรัฐบาลไว้เป็นอารมณ์ เพื่อดำเนินทางราชการให้ถนัดชัดเจนว่า ไม่ประสงค์จะขัดขวางศาสนาและลัทธิของเขาดังกล่าวแล้ว”เอกสารคู่มือสำหรับราชการดังกล่าวมีอำมาตย์โทพระรังสรรค์ สารกิจ (เทียม กาญจนประ-กร) ข้าราชการที่นับถือศาสนาอิสลามจัดทำขึ้น
ในคู่มือดังกล่าวยังปรากฏรายละเอียดว่าชาวอิสลามรังเกียจอะไรและถืออะไรว่าเป็นบทบัญญัติที่ต้องห้ามในศาสนาอีกด้วย
นอกเหนือสมุดคู่มือราชการ พ.ศ.2466 แล้วยังมีเอกสารที่น่าสนใจได้แก่รายงานการประชุมเรื่อง มณฑลปัตตานีของเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์ ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2466 อันเป็นผลมาจากการให้พระยายมราช ลงไปตรวจราชการที่มณฑลปัตตานีเพื่อสำรวจปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การประชุมในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2466
ผลการประชุมนำไปสู่แนวคิดที่ว่าเฉพาะในกรณีของมณฑลปัตตานี สมควรให้มีนโยบายพิเศษจึงมีการเสนอ “หลักรัฐประศาสนโย-บายสำหรับมณฑลปัตตานี” จำนวน 6 ข้อ
11. รายงานตรวจราชการมณฑลปัตตานี พ.ศ. 2473
เรียบเรียงโดย จอมพลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ในขณะดำรงตำแหน่ง อภิรัฐมนตรี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รายงานตรวจราชการมณฑลปัตตานีฉบับนี้ จะแบ่งเป็นสองตอน ตอนแรกว่าด้วยการณ์ทั่วไป มีเนื้อหาที่ว่าด้วยรายละเอียดการตรวจพบตามระยะทางในการตรวจราชการครอบคลุมทั้งเรื่องภูมิศาสตร์ พลเมือง สัญชาติ การปกครอง ตำรวจภูธร การศาลยุติธรรม การเงิน การกสิกรรม อุตสาหกรรม พาณิชการ มาตราเลี้ยงชีพของพลเมือง เรื่องคนเข้าเมืองและเรื่องอื่นๆ
อีกตอนหนึ่ง เป็นส่วนรายละเอียดเฉพาะท้องที่ซึ่งคณะผู้ตรวจราชการเดินทางผ่านไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระหว่างวันที่ 9- 26 มิถุนายน พ.ศ.2473 ที่น่าสนใจมีรายละเอียดข้อมูลในอดีตของอำเภอมะกรูด อำเภอตุยง อำเภอสะบารัง ของจังหวัดปัตตานี
อำเภอกลาพอ อำเภอตะลุบันขึ้นกับเมืองสายบุรี อำเภอสะเตง และอำเภอโกตาบารูของจังหวัดยะลา และอำเภอโต๊ะโม๊ะของจังหวัดนราธิวาส
12. เอกสารชุดปัตตานีกับสงครามโลกครั้งที่สอง
ปัตตานีเป็นจุดหนึ่งที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งมีความสำคัญยุทธศาสตร์การโจมตีอังกฤษในมาลายา นอกจากนี้เหตุการณ์ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกก็ยังอยู่ในความทรงจำและการรับรู้ในปัจจุบัน
เรื่องราวของเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งผลของเหตุการณ์มีความสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการทางการเมืองทั้งของไทยและปาตานี/ปัตตานีเอง แต่กลับไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนักในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปาตานี/ปัตตานีเท่าไรนัก
แต่จากการค้นคว้าพบว่ามีเอกสารจำนวนหนึ่งทั้งของฝ่ายไทยและญี่ปุ่นที่รายงานถึงสภาพการสู้รบและสภาพของบ้านเรือนและผู้คนในปัตตานีหลังเหตุการณ์ญี่ปุ่นบก ดังนั้นเอกสารชุดดังกล่าวจึงมีความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานี/ปัตตานี
13. รายงานการประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 4 จังหวัดภาคใต้ ปี2489
เป็นรายงานการประชุมร่วมของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดของปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล ซึ่งอาจจะเป็นครั้งเดียวที่ได้มีการประชุมร่วมอย่างเป็นทางการ สาระสำคัญของการประชุม นอกจากจะมีเรื่องการศาสนาอิสลามแล้ว ยังมีการพิจารณาในประเด็นอื่นๆ ซึ่งเป็นต้นเค้าของ “ข้อเรียกร้องของหะยีสุหลง” และข้อเรียกร้องอื่นๆ ในปี 2490 ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความแตกต่างทางความคิดระหว่าง “3 จังหวัด” กับทางสตูลอีกด้วย
14. เอกสารราชการเกี่ยวกับการจัดตั้งและดำเนินการทัณฑนิคมธารโต จังหวัดยะลา
ทัณฑนิคมธารโตหรือคุกธารโต ตั้งอยู่ที่บ้านไอร์เยอร์กะดง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ถูกจัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2478 เพื่อใช้เป็นที่คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์จากทั่วประเทศ คุกธารโตถูกปิดเมื่อปี พ.ศ.2500 ต่อมาพื้นที่ทัณฑนิคมเดินถูกเปลี่ยนให้เป็นนิคมสร้างตนเองธารโต
เอกสารราชการจากสำนักหอจดหมายเหตุ เรื่องเงินทุนจัดโครงการเรือนจำภาคธารโต จังหวัดยะลา หรือเรื่องเรือนจำภาคตำบลแม่หวาด อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา, 5 ตุลาคม 2478 – 5 กันยายน 2483 ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินกิจการต่างๆ ของทัณฑนิคมธารโต ได้แก่ กิจการป่าไม้และโรงเลื่อย กิจการเหมืองแร่ และกิจการกสิกรรม ตลอดจนงบประมาณและค่าใช้จ่าย
15. ปัตตานี อดีต – ปัจจุบัน ของ อ. บางนรา
เป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ปาตานีเล่มสำคัญอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งเขียนขึ้นภายใต้บรรยากาศของเสรีภาพหลัง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งไม่เพียงแต่เล่าประวัติศาสตร์ของปาตานีตั้งแต่อดีตเรื่อยมา แต่ยังบันทึกเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ ในยุคหลัง พ.ศ.2500 ไว้ด้วย
16. ประวัติเมืองปัตตานี (2509) ของ พระยารัตนภักดี
เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ปัตตานีอีกชิ้นหนึ่งที่เขียนโดยอดีตข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีคนสำคัญ
17. ตัวละบาท (Sekob Seekor) หรือ ซือโก๊ะแซกอ (2522) ของ สุชีพ ณ สงขลา
กรณีการสังหาร 5 ศพที่สะพานกอตอถูกนำเสนอโดยหนังสือพิมพ์ในยุคประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่และถูกนำเสนอในรูปแบบนวนิยายที่สมจริง จนกลายเป็นหนังสือที่มีความสำคัญเล่มหนึ่งในวงการวรรณกรรมและประวัติศาสตร์การเมืองปัตตานีร่วมสมัย
18. งานเขียนของเจ๊ะอับดุลเลาะห์ หลังปูเต๊ะ
ผู้มีบทบาทในฐานะกอฎี-ดาโต๊ะยุติธรรม ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและในฐานะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อีกทั้งท่านยังเป็นตัวแทนมุสลิมในการนำเสนอให้รัฐบาลไทยในอดีตเข้าใจถึงการปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลาม
ท่านเป็นนักคิดนักเขียน นักจดบันทึกที่มีผลงานมากมาย อาทิDua Badan Satu Jiwa. (เขียนด้วยอักษรยาวี1952), Segugus Bunga : Pada Menyataan Masaalah Yang Mushkin Di Dalam Hukum Shariah. (เขียนด้วยอักษรยาวี 1955), Suluhan Rukun Islam Yang Kelima dan Haji di tanah Jawi (เขียนด้วยอักษรยาวี 1957),
ประวัติย่อเมืองสตูล(2501),พงศาวดารศรีวิชัยหรือศรีวิยายาและบัลลงค์มายาปาเฮต(2503), มุสลิมกับสัญลักษณ์(2506), “จรือมิงเปอร์มูดา เปอร์มูดีมุสลิม” กระจกเงายุวมุสลิมและมุสลิมะห์(2508), Bunga Paspa Layangan (เขียนด้วยอักษรยาวี1972) กระจกไม่มีเงา ปัญหา 4 จังหวัดภาคใต้(2518) เป็นต้น
นอกจากการเป็นบรรณาธิการและนักเขียนและท่านยังได้นำเสนอแนวทางในการพัฒนาสังคมมุสลิมกับรัฐบาล ให้รัฐบาลนั้นเข้าใจถึงการนับถือศาสนาและวัฒนธรรมของประชาชนและต้องไม่กระทำสิ่งกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนท้องถิ่นมีสิทธิปกครองตนเอง ประชาชนท้องถิ่นย่อมเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียบ ประเพณี และศาสนาของตนเป็นอย่างดี เรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม เอกลักษณ์ความเป็นมุสลิม
19. เอกสารการช่วยเหลือคนไทยในมักกะฮ์ พ.ศ. 2483 – 2486
เอกสารกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการช่วยเหลือคนไทยจำนวน 523 คน ที่เดินทางไปประกอบศาสนกิจฮัจญ์ แต่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้เนื่องจากเป็นช่วงเกิดสงคราม เรือไม่สามารถเดินได้ เนื่องจาก ณ เวลานั้นยังไม่กงสุลไทยในซาอุดีอาระเบีย คนไทยจำเป็นต้องพึงกงสุลฝรั่งเศส และอังกฤษในในซาอุดีฯ และรัฐบาลตุรกี ในการช่วยประสานมายังไทย
20. เอกสารเกี่ยวกับการควบคุมนักศึกษาไทยในซาอุดีอารเบีย พ.ศ. 2502 – 2505
เอกสารกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการตรวจสอบการเคลื่อนไหวของนักเรียนไทยในซาอุดีฯ เนื่องจากนักเรียนไทยมีจำนวนมากขึ้น ไม่มีสถานที่สำหรับการติดต่อประสานงาน ให้มีการตรวจสอบจำนวนนักเรียนไทยที่แน่นอน ตรวจสอบสถานภาพและจำนวนสถานศึกษาที่มีนักเรียนไทยเข้าศึกษา และให้มีการลงทะเบียนนักเรียนไทยกับทางรัฐบาลไทยทั้งในประเทศไทย และประเทศซาอุดีอาระเบีย
21. เอกสารการจัดการไทยอิสลามเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ พ.ศ. 2504
หนังสือจากกงสุลใหญ่ประจำนครเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย มาถึงกระทรวงการต่างประทศ นำเสนอแนวทางการจัดการผู้แสวงบุญ จากประเทศไทยที่จะเดินทางไปในปีนั้น โดยต้องการทราบจำนวนผู้จะเดินทางไปแสวงบุญที่ชัดเจนเพื่อจะได้ประสานยังบริษัทเดินเรืออังกฤษจัดรับนักแสวงบุญที่ประเทศสิงคโปร์ รวมถึงเอกสารและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ที่ผู้เดินทางต้องเตรียมไว้
22. เรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์
มนัส จรรยงค์ ราชาเรื่องสั้นแห่งบรรณพิภพไทย เคยทำงานเป็นผู้จัดการร้านค้าแบบสหกรณ์ที่ทัณฑนิคมธารโตในช่วงปี พ.ศ.2480 จากการใช้ชีวิตสองปีที่ได้คลุกคลีอยู่กับผู้คุมและนักโทษที่คุกธารโต
มนัสได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของเขาผ่านเรื่องสั้นชื่อดังของเขาหลายชิ้น อาทิ จับตาย บาโหย ซึงผี กากมนุษย์ และบ้านเล็ก-ลูกน้อย ฯลฯ แม้ว่าเรื่องสั้นของเขาจะเป็นวรรณกรรมเรื่องแต่งตามจินตนาการ แต่บรรยากาศ ฉาก และบทบาทของตัวละครในเรื่องสั้นของเขาล้วนเป็นภาพสะท้อนจากสิ่งที่มนัสประสบโดยตรง
ดังนี้จึงกล่าวได้ว่าเรื่องสั้นของมนัสที่เกี่ยวกับชีวิตที่คุกธารโตจึงเปรียบเสมือนเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้นที่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ที่คุกธารโตในช่วงเวลาที่เขาทำงานอยู่ได้
23. วารสารรูสมิแล
เป็นวารสารของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ในด้านสังคมวัฒนธรรมที่สำคัญอันหนึ่งในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมเรื่องคติชน บทสัมภาษณ์ การค้นคว้าวิจัยหรือข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับภาคใต้ตอนล่างเอาไว้อย่างน่าสนใจ
24. หนังสือพิมพ์ทางนำ
เป็นหนังสือพิมพ์มุสลิมที่ลงข่าวต่างๆ เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวกรณีฮิญาบที่วิทยาลัยครูยะลาและกรณีมัสยิดกรือเซะเมื่อปี 2533
25. งานเขียนและการเก็บข้อมูลท้องถิ่นของอนันต์ วัฒนนิกร
อนันต์ วัฒนานิกร ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาตร์ปาตานีและวัฒนธรรมภาคใต้ เป็นชาวปัตตานีโดยกำเนิดเกิดเมื่อปี พ.ศ.2458 ท่านได้รับราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ท่านได้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์เมืองลังกาสุกะ เมืองโบราณปัตตานี ได้เขียนบทความเผยแพร่ตีพิมพ์ลงในวารสารต่างๆ อาทิ วารสารรูสมิแล เมืองโบราณ ศิลปวัฒนธรรม
ผลงานของท่านได้ถูกรวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือ อาทิ ประวัติศาสตร์เมืองลังกาสุกะ ประวัติเมืองหนองจิกและวัดมุจลินทวาปีวิหาร ตลอดจนอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระราชพุทธิรังษี(หลวงพ่อดำ นนฺทิโย) ฯลฯ
26. งานเขียนและการเก็บข้อมูลของประพนธ์ เรืองณรงค์
รองศาสตราจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมภาคใต้ มีผลงานการศึกษาค้นคว้าและตีพิมพ์เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในจังหวัดภาคใต้
ตลอดจนดินแดนปาตานีเป็นจำนวนมาก อาทิ สมบัติไทยมุสลิมภาคใต้ การศึกษาคติชาวบ้านไทยมุสลิม จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส, ลุ่มน้ำตานี, เล่าเรื่องเมืองใต้: ภาษา วรรณกรรม ความเชื่อ, นิทานพื้นบ้านปัตตานี, บุหงาปัตตานี: คติชนไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้ และ 100 เรื่องเมืองใต้: สาระความรู้เพื่อความเข้าใจแผ่นดิน ผู้คน และวัฒนธรรม ฯลฯ
เอกสารของชาวต่างชาติและภาษาต่างประเทศ
1. ปาตานีในเอกสารจีน ศตวรรษที่ 6 - 19
อ้างอิงการศึกษาอย่างลุ่มลึกของศาสตราจารย์เจฟ เวด (Geoff Wade) ชื่อของปาตานีถูกบันทึกอยู่ในเอกสารโบราณของจีน สืบย้อนกลับไปได้ถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ในบันทึกทางประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์เหลียง ระบุถึงชื่อรัฐลังกาสุกะ
เอกสารทางประวัติศาสตร์ของจีน ทั้งพงศาวดาร คำให้การบันทึกการเดินทาง การทูต การค้าขาย แผนที่ และการเดินเรือของจีนอย่างน้อยตั้งแต่สมัยราชงศ์ซ้องเป็นต้นมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง มีปรากฏชื่อและเรื่องราวของรัฐปาตานีโดยตลอด
ข้อมูลนอกจากจะสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตระหว่างจีนและปาตานีแล้ว ยังสะท้อนความสัมพันธ์ของสยามกับปาตานีและสถานการณ์ทางการเมืองของคาบสมุทรมลายูตลอดจนน่านน้ำทะเลจีนใต้ได้เป็นอย่างดี
2. ปาตานีในเอกสารญี่ปุ่น
ปาตานีติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่นย้อนกลับไปได้ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ครั้งที่อาณาจักรริวกิวทางตอนใต้ของหมู่เกาะญี่ปุ่น ยังคงเรืองอำนาจอยู่ เอกสารทางประวัติศาสตร์การเดินเรือขายของริวกิวได้มีบันทึกถึงเรือสินค้าและการติดต่อกันระหว่างปาตานีกับริวกิว ต่อมาเมื่อริวกิวหมดอำนาจ ปาตานียังคงค้าขายกับญี่ปุ่นต่อไป
เอกสารคำให้การพ่อค้านักเดินเรือประจำท่าเรือนางาซากิของญี่ปุ่นยังคงบันทึกเรื่องราวทั้งทางการค้าและการเมืองของปาตานีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18
3. ปาตานีในเอกสารโปรตุเกส The Suma Oriental of Tome Pires
เขียนโดย Tome Pires ชาวโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามาค้าขายในเอเชียเมื่อโปรตุเกสสามารถยึดครองเมืองมะละกาได้ในปี ค.ศ.1511 เขาได้พำนักในมะละกาในระหว่างปี ค.ศ.1512-1515 เขาได้บันทึกการเดินทางและเรื่องราวของเมืองท่าการค้าต่างๆในน่านน้ำเอเชียในหนังสือThe Suma Oriental ปาตานีในฐานะรัฐสุลต่านและเมืองท่าสำคัญได้ถูกบันทึกและบรรยายในเอกสารนี้เช่นเดียวกัน
4. จดหมายเหตุและพงศาวดารของฟานฟลีต Van Vliet
เยเรเมียส ฟาน ฟลีต ( Jeremias van Vliet) (ค.ศ.1602 - ค.ศ.1663) พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ ของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย เป็นหัวหน้าสถานีการค้าของอีสต์อินเดีย (VOC) ในกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ระหว่าง พ.ศ. 2176 ถึง พ.ศ. 2185 และได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับประเทศไทยไว้ 3 เล่มเป็นภาษาดัตช์ ต่อมาได้มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ คือ
1) Description of the Kingdom of Siam (การพรรณนาเรื่องราชอาณาจักรสยาม) 2) The Short History of the Kingdom of Siam (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาโดยสังเขป) "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา" และ 3) The Historical Account of the War of Succession following the death of king Pra Interajatsia, 22nd King of Ayuthian Dynasty "จดหมายเหตุวันวลิต (ฉบับสมบูรณ์)" บันทึกเหตุการณ์สงครามระหว่างอยุธยาและปาตานีในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
5. บันทึกของ Peter Floris และ เอกสารอังกฤษอื่นๆ อาทิAlexander Hamilton His Voyage to the East Indies in the Globe, 1611-1615: Siam, Pattani, Bantam
ปีเตอร์ ฟลอรีส พ่อค้านักเดินเรือชาวดัตช์ที่ทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (British East India Company) เขามีประสบการณ์การเดินเรือและทำการค้าในโลกตะวันออก เขาได้นำเรือ The Globe ของอังกฤษเดินทางเยือนน่านน้ำอ่าวเบงกอลและอ่าวไทยเป็นครั้งแรก
การเดินทางครั้งนี้ เขาได้แวะทำการค้าตามเมืองท่าที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ บันตัม อยุธยา รวมถึงปาตานี เขาบันทึกถึงรายาและเสนาบดีแห่งอาณาจักรปาตานี ตลอดจนวิธีทำการค้าและบทบาทของชาวต่างชาติที่เมืองท่าปาตานี อันตรงกับสมัยของราชินีฮิเยา
นอกจากนี้ยังมีบันทึกของ Alexander Hamiltion ซึ่งเขาเป็นชาวสก็อต มีประสบการณ์การเดินเรือและทำการค้าในโลกเอเชียทั้งอินเดียและจีนตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในช่วงเวลานี้เขาได้เดินเรือมาทำการค้ายังเมืองท่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งปาตานีด้วย เขาได้บันทึกถึงสภาพบ้านเมืองและการค้าของปาตานีในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตรงกับยุคที่ปาตานีอยู่ภายใต้การปกครองของรายาแห่งราชวงศ์กลันตัน
6. เอกสารเฮนรี่ เบอร์นี่ Burney Paper
ชุดเอกสารประกอบด้วยบันทึก จดหมาย และรายงานของร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี(Henry Burney) ที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจทางการทูต คือ การทำสนธิสัญญาเบอร์นีอยู่ในประเทศสยามเป็นเวลา 9 เดือนในช่วง พ.ศ.2368-2369
เอกสารสะท้อนให้เห็นนโยบายของอังกฤษต่อรัฐในคาบสมุทรมลายู สถานการณ์ทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกรุงเทพฯกับหัวเมืองมลายูต่างๆ อาทิ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู แม้จะไม่ได้เจาะจงถึงปาตานีเป็นการเฉพาะหากเปรียบกับกรณีของไทรบุรี แต่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงบริบททางการเมืองร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี
7. เอกสารของจอห์น ครอว์ฟอร์ด John Crawfurd
จอห์น ครอว์เฟิร์ด ได้รับแต่งตั้งจากผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดียเป็นทูตเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 ในปีพ.ศ.2365 มีความมุ่งหมายเจรจาเรื่องการค้าและเรื่องการเช่าเกาะหมากจากสุลต่านไทรบุรี อย่างไรก็ตาม การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ เขาได้เขียนบันทึกการเดินทางเกี่ยวกับสยามและรัฐในคาบสมุทรมลายูในหนังสือเรื่องดังกล่าว (จะนำเรื่องของครอว์ฟอร์ด, เบอร์นีย์ และบาว์ริง รวมเขียนด้วยกัน เป็นชุดเอกสารความสัมพันธ์ทางการทูตที่กล่าวถึงปาตานี)
8. Siam in the Malay Peninsula : a short account of the position of Siam in the states of Kelantan, Patani, Legeh and Siam (1902) by R.D. Davis
เล่มนี้เป็นหนังสือรวมบทความของ R.D. Davis ที่เขียนเกี่ยวกับปาตานี ซึ่งเคยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ฟรีเปรส (Singapore Free Press) เนื้อหาพูดถึงประวัติศาสตร์ระยะใกล้ของปาตานี และสถานการณ์ทางการเมืองการปกครองของบริเวณ 7 หัวเมืองในช่วงปฏิรูปการปกครองของสยาม ท่าทีและน้ำเสียงของผู้เขียนค่อนข้างโจมตีสยามอย่างรุนแรง เพราะมองว่าสยามเป็นผู้ปกครองที่กดขี่ขูดรีดเหนือรัฐมลายูทั้งในส่วนของ ปาตานี(หรือที่สยามเรียกบริเวณ 7 หัวเมือง) และกลันตัน
9. บันทึกความทรงจำของคณะสำรวจมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ที่บริเวณรัฐมลายูตอนเหนือระหว่างปี พ.ศ.2442 – 2443 ของ สกีต ใน W.W. Skeat and F.F. Laidlaw, “Reminisacences of the Expedition” Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society 26:4 (December 1953)
การสำรวจทางด้านชาติพันธุ์วิทยา (Ethnology) ในรัฐมลายูของสยาม ได้แก่ ปาตานีและกลันตันเมื่อปี ค.ศ.1899 – 1900 ของคณะสำรวจเคมบริดจ์ ที่มีสกีตเป็นหัวหน้า ซึ่งได้ข้อมูลด้านมานุษยวิทยาและคติชนวิทยาที่น่าสนใจนั้น ไม่ได้มีการตีพิมพ์รายงานออกมา แต่เรื่องราวของการสำรวจดังกล่าวได้รับรู้ผ่านบันทึกของสกีตและผู้ร่วมคณะคนอื่นๆ ซึ่งทำให้เราเห็นสภาพสังคมวัฒนธรรมของปาตานีในยุคเปลี่ยนศตวรรษได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
10. Kelantan; a state of the Malay Peninsula; a handbook of information (1908) by W.A.Graham
ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลสยามสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นตัวแทนของสยามให้เป็นที่ปรึกษาแก่สุลต่านรัฐกลันตัน รัฐบาลสยามเข้าไปมีอำนาจเหนือรัฐกลันตันตามสนธิสัญญาอังกฤษ-สยามปีค.ศ.1902 เขาได้ดำเนินการปรับปรุงระบบบริหารราชการ การเงิน การศาล และการศึกษาในรัฐกลันตัน และได้บันทึกในหนังสือเล่มนี้ แม้ว่าจะกล่าวถึงกลันตันโดยเฉพาะ แต่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลและนโยบายของสยามที่มีต่อหัวเมืองมลายูได้เป็นอย่างดี
11. Report of the Financial Adviser on the monetary position in Patani (1907) by W.J.F.Williamson
บันทึกฉบับนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ โดย W.J.F Williamson ที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งรายงานสถานะทางการเงินการคลังของมณฑลปัตตานีและข้อเสนอแนะให้เสนาบดีดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลังของมณฑลปัตตานีด้วย
12. เอกสารของ Barbara Whittingham-Jones (Jones Papers)
บาร์บาร่า วิททิงนัม-โจนส์ ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษที่ประจำอยู่ที่สิงคโปร์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงผู้ศึกษาเรื่องปาตานี/ปัตตานี จากบทความเรื่อง “ปาตานี รัฐมลายูนอกมลายา” ในสเตรทไทม์(ฉบับวันอาทิตย์- ซันเดย์ไทม์) เมื่อปี1947 อันเป็นเหตุข้ออ้างอันหนึ่งในการจับตัวหะยีสุหลง
นอกจากบทความที่มีชื่อเสียงอันสะท้อนให้เห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองของมลายูปาตานีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองชิ้นนี้แล้ว วิททิงนัม-โจนส์ นับว่ามีความสนิทสนมใกล้ชิดกับมะไฮยิดดิน บุตรชายของรายาองค์สุดท้ายอับดุลการ์เดร์ ผู้นำฝ่ายชาตินิยมคนสำคัญและมีบทบาทสำคัญใน GAMPAR ดังมีจดหมายส่วนตัวโต้ตอบระหว่างกันอยู่หลายฉบับ
ปัจจุบันเอกสารจดหมายโต้ตอบนั้นถูกเก็บรักษาที่ SOAS ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งจดหมายบางส่วนถูกนักวิชาการนำมาศึกษาบ้างแล้ว ดังปรากฏในงานของนันทวรรณ ภูสว่าง เหมินทร์
13. ข่าวและบทความในเดอะสเตรทไทม์ (The Straits Times) และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในมลายา
ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือพิมพ์เดอะสเตรทไทม์และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในมลายา (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสิงคโปร์) ได้รายงานข่าวต่างๆ เกี่ยวกับปาตานีตั้งแต่ในช่วงปฏิรูปการปกครองของสยาม ประเด็นสยาม – อังกฤษ มีอิทธิพลเหนือหัวเมืองมลายู ไปจนกระทั่งกระแสชาตินิยมมลายูและการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้รับการรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เหล่านี้ด้วย
14. บทความและหลักฐานที่อยู่ในวารสารราชสมาคมเอเชีย สาขามลายา (Journal of Malayan Branch of Royal Asiatic Society)
วารสารราชสมาคมเอเชีย สาขามลายู หรือ JMBRAS เป็นแหล่งรวบรวมความรู้และการศึกษาเกี่ยวกับโลกมลายู ซึ่งก่อตั้งตั้งแต่สมัยอาณานิคม ทั้งนี้ในวารสารดังกล่าวมีบทความบางส่วนที่พูดถึงและศึกษาเกี่ยวกับปาตานีหรือรัฐมลายูของสยามด้วย
15. หนังสือพิมพ์The voice of Patani
เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เป็นกระบอกเสียงของขบวนการกู้ชาติปาตานีในทศวรรษ 1980 ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นอุดมการณ์ทางการเมืองและเป้าหมายของการต่อสู้ในยุคสมัยดังกล่าว
16. สนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม ปี1909 (Anglo-Siamese Treaty 1909)
สนธิสัญญาอังกฤษ – สยาม ค.ศ. 1909 นั้นประกอบไปด้วยหนังสือสัญญา 2 ฉบับ ซึ่งมีข้อตกลงว่า สยามยอมยกดินแดนกลันตัน ตรังกานู เคดะห์ เปอร์สิศ และเกาะที่อยู่ใกล้เคียงให้กับอังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกหนังสือสัญญาลับสยาม – อังกฤษ ค.ศ.1897 แลกกับการผ่อนคลายสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ตลอดจนการที่รัฐบาลสหพันธรัฐมลายูตกลงให้สยามกู้เงินเพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้
เอกสารทางด้านศาสนา
1. Fattawa al-fataniyyah
เป็นงานเขียนของ เชค อะหมัด อัลฟาตอนีที่แสดงให้เห็นถึง ความสามารถอย่างลึกซึ้งในความเข้าใจและความสามารถของผู้เขียนในการยึดกุมวาทกรรมหลักทางศาสนา (strong grasp of mainstream intellectual religious discourse) ในหลากหลายสาขาวิชา เช่น ศาสนศาสตร์(usul al-din) กฎหมาย (fiq) ภาษาและโครงสร้างทางภาษา (language and gramma) ประวัติศาสตร์(Islamic history) และการบริหารรัฐกิจ (public affairs). เป็นหนังสือ ฟัตวา ที่ Hooker กล่าวว่าดีที่สุดในโลกมลายู
2. Faridatul Fara-id
เชค อะหมัด อัลฟาตอนี หรือที่รู้จักกันในนาม เชค อะหมัด ฟารีดะห์ ทั้งนี้เนื่องจากงานเขียนทางเทววิทยา (Theology) อันโด่งดังของท่านที่ชื่อ Faridatul – Fara’id เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในโลกมาเลย์ และยังใช้เป็นตำราประกอบการสอนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามทั้งในประเทศไทยและมาเลเซียจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
3. Furu’ al Masa’il wa Usul al-Wasa’l
เป็นงานเขียนชิ้นเอก (magnum opus) ทางด้านกฎหมายและเทววิทยาของเช็ค ดาวุด อัลฟาตอนี และเป็นงานชิ้นท้ายๆในบรรดางานเขียนกว่า 100 ชิ้นของท่าน
ศาตราจารย์Hurgronje สถาปนิกผู้ออกแบบการปกครองของดัชท์ในอินโดนีเซีย กล่าวว่า เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ทางด้านกฎหมายและหลักการทางศาสนา ซึ่งใช้กันอย่างมากในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก (อินโดนีเซีย) (great work on law and dogma much used in the East-Indies)
56. Tayyibul-Ihsan Fi Tibbil Insan
คนทั่วมักจะเข้าใจว่า สังคมชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะความเป็นประเพณี(Traditional) สูง ใช้ความเชื่อมากกว่าจะใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ และยิ่งเมื่อกล่าวถึงโต๊ะครูหรือผู้นำศาสนา ภาพของความเป็นคนที่ยึดติดในความเชื่อ (Dogmatic) ก็ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น
ความเข้าใจดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการนำเสนอของนักมานุษยวิทยา ส่วนหนึ่งมาจากสื่อกระแสหลัก หนังสือ ตัยยิบุล เอี๊ยะซาน ฟี ติ๊บบิล อินซาน (Tayyibul-Ihsan Fi Tibbil Insan) ที่เขียนโดย โต๊ะครู นักปราชญ์มาลายู เชค อะหมัด อัลฟาตอนี จะทำให้เราเปลี่ยนความคิดดังกล่าว เนื่องจากเป็นหนังสือที่สนับสนุนการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และพยายามสืบค้น (Investigate) ต้นตอของปัญหาต่างๆในสังคม ตลอดจนตอบปัญหากฎเกณฑ์ต่างๆ ทางศาสนา (fatwa) โดยนำเอาหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ประกอบอีกด้วย
เอกสารอื่นๆ
1. ตราพระราชลัญจกรประจำรายาตนกูอับดุลการเดร์ กามารุดดีน
ซึ่งเป็นรายาปาตานีองค์สุดท้าย มีรูปทรงกลม เขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวี ระบุรายละเอียดในตราแสดงถึงตราแสดงอำนาจของรายาปาตานี บันทึกปีที่ใช้ในปีฮิจเราะฮศักราช 1318 ตรงกับปี คริสต์ศักราช 1900
ปัจจุบันตราพระราชลัญจกรนี้อยู่ในการครอบครองนาย
ตราพระราชลัญจกรประจำรายาหัวเมืองต่างๆ ในยุคปัตตานีและยุคเจ็ดหัวเมือง(สมัยรัชกาลที่ 5) ก็มีปรากฏและเก็บรักษาอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ในมือลูกหลานตระกูลที่สำคัญๆที่ทำหน้าที่ปกครองในสมัยนั้น)บางส่วนอยู่ในมือชาวบ้าน ผู้ค้าของเก่าและพิพิธพันธ์ในประเทศมาเลเซีย
2. เงินตรา 7 หัวเมืองปักษ์ใต้
มีการใช้เงินเหรียญในบริเวณเจ็ดหัวเมืองปักษ์ใต้ เท่าที่มีการค้นพบมีการใช้เงินเหรียญอยู่ในเมืองปาตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองระแงะ เมืองรามันห์ โดยแต่ละเมืองอัตราราคาของเงินเหรียญมีความแตกต่างกัน เงินเหรียญเมืองระแงะมีราคาแพงที่สุด ส่วนเมืองปาตานีมีราคาถูกที่สุด สำหรับเมืองปาตานีนั้นมีการผลิตเงินเหรียญอยู่หลายสมัย
3. แผนที่การแบ่งเขตแดนเปรัก-รามันห์
เมืองรามันห์กับรัฐเปรัคมีปัญหาในเรื่องการแบ่งเขตแดนอยู่หลายครั้ง และในการแบ่งเขตแดนครั้งสุดท้าย ทำให้เมืองรามันห์ต้องเสียดินแดนให้แก่รัฐเปรัค จนถึงปัจจุบันลูกหลานชาวรามันห์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เสียให้แก่รัฐเปรัค ยังคงถูกเรียกว่าชาวปาตานี
4. แผนที่การแบ่งเขตแดนกลันตัน-ระแงะ
เมื่อ 10 มีนาคม 1909 มีการแลกเปลี่ยนดินแดนระหว่างเมืองระแงะกับรัฐกลันตัน โดยเมืองระแงะมอบดินแดนบริเวณตอนใต้สุดของเมืองระแงะให้แก่รัฐกลันตัน รวมทั้งบริเวณแม่น้ำเปอร์กาว ในขณะเดียวกันรัฐกลันตันก็ได้มอบดินแดนที่เรียกว่า มุมเล็กๆทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐกลันตัน (a small corner in the northeast of Kelantan) หรือบริเวณอำเภอตากใบในปัจจุบันให้แก่เมืองระแงะ
ที่มา : ข้อมูลจากเอกสารประกอบเวทีสาธารณะ โครงการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ : ร้อยเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปาตานี 18 สิงหาคม 2554 ใต้ถุนห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลรูสะมิแล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
กำหนดการ
โครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง“ปาตานี ในมิติประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม”