กอ.รมน.ภาค 4 สน.แถลงผลงานดับไฟใต้ โชว์ 3 ประเด็นเชิงรุก การเมือง การทหาร ขจัดภัยแทรกซ้อน พอใจโอไอซี (OIC) เห็นความจำเป็นใช้กฎหมายพิเศษ เผย 6 เดือนจับผู้ก่อเหตุได้ 50 คน ยึดปืน 100 กระบอก ตั้งทีมพิเศษปราบยาเสพติด น้ำมันเถื่อน พบโยงป่วนใต้ นำสู่การยึดทรัพย์ 300 ล้าน
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์/รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงผลการดำเนินงานของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ในการแก้ปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ประชาชนเชื่อมั่นรัฐมากขึ้นและเริ่มปฏิเสธความรุนแรง ซึ่งหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ออกมาประณามการก่อเหตุรุนแรงเกือบทุกครั้ง ถือเป็นนิมิตหมายอันดี
พ.อ.ปราโมทย์ แถลงต่อไปว่า ผลการปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา แบ่งออกได้ 3 ประเด็น ได้แก่ การรุกทางการเมือง การรุกทางการทหาร และการขจัดภัยแทรกซ้อน โดยในประเด็นการรุกทางการเมือง มี 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเสริมสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะองค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (OIC) ที่เข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้กฎหมายพิเศษและการใช้กำลังทหาร เป็นต้น
พ.อ.ปราโมทย์ แถลงอีกว่า ส่วนประเด็นการรุกทางทหาร ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สามารถติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีหมาย ป.วิอาญาได้กว่า 50 คน ตรวจยึดอาวุธปืนชนิดต่างๆ ได้กว่า 100 กระบอก ตลอดจนตรวจยึดวัตถุระเบิดจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลสำเร็จที่ได้จากความร่วมมือของประชาชน และขจัดภัยแทรกซ้อน หลายครั้งที่จับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการ พบหลักฐานเชื่อมโยงเส้นทางการเงินของกลุ่มค้ายาเสพติดหรือน้ำมันเถื่อนกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง แม่ทัพภาคที่ 4 จึงกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนในการจัดการขั้นเด็ดขาด และมีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อแก้ปัญหา
พ.อ.ปราโมทย์ แถลงอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาสามารถตรวจยึดน้ำมันเถื่อนได้กว่า 3 แสนลิตร และยาเสพติดจำนวนมาก นำไปสู่การยึดทรัพย์กว่า 300 ล้านบาท
ผลปฏิบัติงานดับไฟใต้ กอ.รมน.ภาค 4 สน.
ต่อไปนี้เป็นคำชี้แจงของพ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์/รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ถึงผลการดำเนินงานของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ที่ห้องประชุมศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 สน. มีเนื้อหาสรุปดังนี้
กอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน โดยนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รวมถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง
นอกจากนี้ยังนำยุทธศาสตร์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 6 ยุทธศาสตร์มาเป็นแนวทางการปฏิบัติภายใต้นโยบายสานใจสู่สันติ ตามแนวทางการเมืองนำการทหาร
ที่ผ่านมา การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง ได้ผนึกกำลังกันแก้ปัญหา ทำให้สถานการณ์โดยรวมพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ประชาชนเชื่อมั่นในอำนาจรัฐมากขึ้น และเริ่มปฏิเสธความรุนแรง ซึ่งในหลายๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ออกมาประณามการก่อเหตุรุนแรงเกือบทุกครั้ง ถือเป็นนิมิตหมายอันดี
การปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การปฏิบัติการรุกทางการเมือง
กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้วางกรอบในการเสริมสร้างความเข้าใจ เพื่อชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ มีความเข้าใจถึงนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา รวมถึงความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ และคำสอนของศาสนาที่ถูกต้อง
ผลจากการดำเนินการด้านการเสริมสร้างความเข้าใจ ด้วยการชี้แจงสร้างความเข้าใจและเชิญองค์กรต่างๆ เข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่หลายครั้ง ทำให้ประชาชนเข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากขึ้น จะเห็นจากช่วงหลังๆ ไม่มีการชุมนุมประท้วงหรือการเรียกร้องของประชาชน ที่สำคัญองค์กรระหว่างประเทศเข้าใจนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะองค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (OIC) ที่เข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้กฎหมายพิเศษ, การใช้กองกำลังทหาร ถือเป็นความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาโดยการเสริมสร้างความเข้าใจอย่างแท้จริง
ด้านการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้พัฒนาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนรู้จักพอประมาณ ใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันกรณีมีเหตุที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
ด้านสิทธิมนุษยชน แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เน้นย้ำและกำหนดเป็นนโยบายที่มีความจำเป็นในการดำเนินการด้านการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน หากมีเจ้าหน้าที่คนใดละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็จะมีการลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ผลการปฏิบัติที่ผ่านมา ไม่พบประเด็นในเรื่องการร้องเรียนเกิดขึ้นอีกเลย
ด้านการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน เพื่อขยายเครือข่ายเชื่อมโยง รู้เบื้องหลังการก่อเหตุร้าย ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ด้านการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน อาทิ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสภาสันติสุขตำบลที่ตั้งขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหา โดยอาศัยผู้นำสี่เสาหลัก และส่วนราชการในตำบลมาเป็นกลไกขับเคลื่อน และมีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานหลัก คือ กอ.รมน. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ 17 กระทรวงหลัก เพื่อกำหนดให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ประเด็นที่ 2 การปฏิบัติการรุกทางการทหาร
หลายฝ่ายเคยพูดว่า มีการใช้กำลังทหารกว่า 6 หมื่นคน ทำไมเหตุการณ์จึงไม่สงบสักที ปัจจุบันมีกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 63,000 กว่านาย ประกอบด้วย ทหาร ประมาณ 38,000 นาย ตำรวจประมาณ 18,000 นาย ที่เหลือเป็นกำลังจากอาสาสมัคร
กำลังทั้งหมดถูกนำมาใช้ใน 2 ภารกิจ คือ ภารกิจที่ 1 การพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร เป็นการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็น พระ วัด เส้นทางคมนาคม รัฐวิสาหกิจ ย่านชุมชน ร้านค้า ครูและโรงเรียน
ภารกิจที่ 2 ใช้กำลังทหารกดดันติดตามจับกุมกลุ่มคนร้าย ปฏิบัติด้วยความละมุนละม่อม ยึดหลักชนะโดยไม่ต้องรบ ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ยกเว้นเกิดเหตุจำเป็นจริงๆ แต่ก็ยังปฏิบัติตามกฎการปะทะอย่างเคร่งครัด ซึ่งถือเป็นกฎเหล็กของเจ้าหน้าที่ทุกคน
ผลจากการปฏิบัติดังกล่าว ทำให้ประชาชนให้ความเชื่อมั่นและร่วมมือกันแจ้งเบาะแสต่างๆ ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สามารถติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีหมาย ป.วิอาญาได้กว่า 50 คน สามารถตรวจยึดอาวุธปืนชนิดต่างๆ กลับคืนมาได้กว่า 100 กระบอก ตลอดจนตรวจยึดวัตถุระเบิดได้จำนวนมาก และอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำรงชีพ
ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2555 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 30 สนธิกำลัง 3 ฝ่ายตรวจยึดฐานปฏิบัติการขนาดใหญ่และอุปกรณ์ต่างๆ หลายรายการ ซึ่งเป็นผลสำเร็จทางการทหารที่ได้จากความร่วมมือของประชาชน
ประเด็นที่ 3 การจัดการปัญหาภัยแทรกซ้อน
ปัญหาภัยแทรกซ้อนไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด น้ำมันเถื่อน อิทธิพล อำนาจมืด และปัญหาการเมือง ปัญหาภัยแทรกซ้อนบางส่วนเชื่อมโยงกับผู้ก่อเหตุรุนแรง ในลักษณะผลประโยชน์ซับซ้อน การเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
หลายครั้งที่เข้าติดตามจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดหรือน้ำมันเถื่อน พบหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่า เชื่อมโยงเส้นทางการเงินกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ฉะนั้นมาตรการในการปราบปรามปัญหาภัยแทรกซ้อน โดยเฉพาะยาเสพติดและน้ำมันเถื่อน ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่แม่ทัพภาคที่ 4 เข้ามาจัดการด้วยตนเองและมีจัดการขั้นเด็ดขาด โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษ มีการวางกำลังร่วมกันทั้งตำรวจ ทหาร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และนำกฎหมายยึดทรัพย์เข้ามาจัดการ
ในช่วงที่ผ่านมาสามารถตรวจยึดน้ำมันเถื่อนได้กว่า 3 แสนลิตร และยาเสพติดจำนวนมาก นำไปสู่การยึดทรัพย์กว่า 300 ล้านบาท
ด้านการป้องกัน ทางผู้นำศาสนาได้เข้ามามีส่วนร่วมเข้ามาในโครงการมัสยิดสานใจ และวัดสานใจ ล่าสุดได้มีการทำปฏิญญาร่วมกันของโต๊ะอิหม่ามทุกมัสยิดทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 เรียกว่าปฏิญญาปัตตานี
ครั้งนั้น ท่านจุฬาราชมนตรีได้กล่าวได้งานว่า “ยาเสพติดถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ยาเสพติดทำลายศาสนา ดังนั้น เราเป็นมนุษย์เรามีความคิด การที่เรามีความคิดทำให้เราได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสหรือใกล้ชิดกับองค์อัลเลาะห์ แต่ยาเสพติดทำลายความคิดของมนุษย์ เท่ากับเป็นการทำลายศาสนาและทำให้เราสูญเสียความเป็นมนุษย์ไป” ฉะนั้น ในมิติของศาสนา จากนี้ไปผู้นำศาสนาทุกมัสยิดจะเข้ามาร่วมหามาตรการในการป้องกันปัญหายาเสพติด
นอกจากนี้ ยังมีโครงการญาลันนันบารู ที่นำเยาวชนในพื้นที่เข้ามาทั้งบำบัดและป้องกันยาเสพติดในพื้นที่ โดยเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง ขณะนี้มีการจัดตั้งชมรมญาลันนันบารูในพื้นที่ได้กว่า 500 ชมรม มีเยาวชนที่ผ่านโครงการนี้มาแล้วกว่า 20,000 คน
ทั้งหมดเป็นยุทธศาสตร์และนโยบายในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ผลการสำรวจในช่วงที่ผ่านมา พบว่า การแก้ปัญหาในพื้นที่มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ สิ่งสำคัญที่สุดที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. มุ่งหวังคือ การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ได้ จากนี้ไปไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตำรวจ ทหาร และประชาชน จะผนึกทำงานร่วมกัน โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งไปสู่ความปรองดอง และความสมานฉันท์ จนสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้มิติความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรืออยู่ร่วมกันได้ภายใต้สังคมแบบพหุวัฒนธรรมอย่างสันติสุข
ขอรับรองว่าเป็นข่าวสารของทางราชการ
พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์
หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า