Skip to main content

สภาประชาสังคม เสริมเขี้ยวเล็บ 85 คนทีมวิทยากร เตรียม200เวที กระจายอำนาจดับไฟใต้ คาดเวทีประเดิมจัดก่อนเดือนรอมฎอน

รอชิดี 

รอซีดี อาริยะพงศ์กุล

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555 นายรอซีดี อาริยะพงศ์กุล เลขานุการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้เตรียมเดินหน้าจัดทำเวทีดึงข้อเสนอจากพื้นที่ในเรื่องการหลักการกระจายอำนาจในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับพื้นที่และเวทีกลุ่มเฉพาะรวม 200 เวทีแล้ว โดยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ได้จัดปฐมนิเทศทีมวิทยากรกระบวนการซึ่งเป็นตัวแทนภาคีเครือข่ายรวม 85 คน

นายรอซีดี เปิดเผยต่อไปว่า ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2555 จะมีจัดอบรมพัฒนาศักยภาพวิทยากรกระบวนการดังกล่าว ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นวิทยากรอาวุโส 20 คน ที่จะลงไปทำหน้าที่ในเวทีสำคัญๆ เช่น เวทีตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐ เวทีผู้นำชุมชน หรือเวทีกลุ่มเฉพาะอื่นๆ เป็นต้น โดยคาดว่า จะประเดิมจัดเวทีแรกในช่วงก่อนถึงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของมุสลิมประมาณวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จากนั้นจะพักแล้วเริ่มเวทีที่เหลือหลังเดือนถือศีลอด

วันเดียวกันที่หอประชุมเทศบาลนครยะลา เครือข่ายพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองชายแดนใต้จัดเสวนา “24 มิถุนายน...วาระสิทธิของประชาชน” หัวข้อเรื่อง “สิทธิ เสรีภาพตามหลักการอิสลาม สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ” โดยมีพล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดสงขลา นายสมชาย กุลคีรีรัตนา ประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารฮาลาล และนายมันโซร์ สาและ ประธานฝ่ายประสานงานเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเสวนา

นายมันโซร์ กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนเรื่องกระจายอำนาจ ต้องถามประชาชนว่าจะเอาด้วยหรือไม่ ถ้าจะเอาด้วยก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมคือ มาลงชื่อรับรองว่าต้องการให้มีการกระจายอำนาจในรูปแบบใด ซึ่งต้องให้ประชาชนลงชื่อสนับสนุนหนึ่งหมื่นคนขึ้นไป

นายมันโซร์ กล่าวว่า จากการลงชุมชนไปสอบถามความต้องการของประชาชนถึงทางออกของปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ มีข้อสรุปว่า ชาวบ้านต้องการความเป็นธรรมกลับคืนสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดในพื้นที่ เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียกร้องอำนาจควบคู่กันด้วย การกระจายอำนาจจึงเป็นหนทางสู่การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น

นายมันโซร์ กล่าวต่อไปว่า โมเดลหรือรูปแบบโครงสร้างการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานีมหานครหรือปาตานีดารุสลามตามหลักการกระจายอำนาจนั้น คำว่าดารุสลาม สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยปัจจุบัน ที่เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือ Deliberative Democracy คือ สามารถเลือกผู้นำเองได้และสามารถถอดถอนผู้นำที่ตนเลือกได้ ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะประชาชนยังไม่กล้าพอที่จะเสนอถอดถอนผู้นำที่ตนเองเลือก

นายมันโซร์ กล่าวตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมด้วยว่า ปัตตานีมหานคร เป็นรูปแบบการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักการกระจายอำนาจ ซึ่งภาคประชาสังคมในพื้นที่ร่วมกันผลักดันและมีการร่างพระราชบัญญัติออกมาแล้ว ต่างจากนครปัตตานีซึ่งเป็นข้อเสนอของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่ไม่มีการร่างพระราชบัญญัติออกมาแต่อย่างใด

นายมันโซร์ กล่าวด้วยว่า ปลายทางของการขับเคลื่อนข้อเสนอทางการเมืองจากพื้นที่ยังไม่ชัดเจน ว่าจะเป็น merdeka (เอกราช) autonomy (ปกครองตนเอง) หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนจะเสนอ แต่สิ่งสำคัญมากกว่า คือ การให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิที่ตนมี