Skip to main content

ม.อ.ปัตตานี ท่ามกลางความไม่สงบ วันนี้ยังคงความหลากหลาย นักศึกษานอกพื้นที่เริ่มเข้ามา รับน้องคล้องมาลัย กิจกรรมที่แปรเปลี่ยนไป อาจารย์ยันภาพเก่ายังไม่หาย ผู้ปกครองยังหวาดกลัว ชี้มีแต่คุณภาพการศึกษาเท่านั้นที่ยังสร้างชื่อ

 

รับน้องม.อ.

รับน้อง - รับน้องคล้องมาลัย เป็นกิจกรรมหนึ่งของนักศึกษา ม.อ.วิทยาเขตปัตตานีในช่วงเปิดเทอมแรก ปัจจุบันรูปแบบกิจกรรมมีการปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากมีนักศึกษาที่เป็นคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น แต่ยังคงความหมายของการช่วยเหลือดูแลระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องเหมือนเดิม (ภาพ : องค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)

พวกเด็กหนุ่มสาวหน้าใสเดินเรียงแถวทยอยลอดซุ้มทางมะพร้าวเข้าไปทีละคน ทีละคน พอพ้นประตูเข้าไปในเขตรั้วมหาวิทยาลัย พวกนักศึกษารุ่นพี่ก็เอาพวงมาลัยดอกมะลิมาคล้องคอ และแล้วทั้งคู่ก็จะกลายเป็น “พี่มาลัย” และ “น้องมาลัย” ที่จะคอยช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันตลอดระยะเวลาที่ศึกษาที่นี่

ทว่า นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา กิจกรรมที่กลายเป็นประเพณีไปแล้ว อย่างกิจกรรม “รับน้องคล้องมาลัย”ขององค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือ ม.อ.ปัตตานี เปลี่ยนไปจากการคล้องมาลัยดอกมะลิที่รุ่นพี่ร้อยมากับมือ ไปเป็นการมอบดอกกุหลาบแทน อันมีนัยยะถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะสถานการณ์ความรุนแรง

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีสัดส่วนของนักศึกษาที่มาจากนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยกว่านักศึกษาจากในพื้นที่เป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนนอกพื้นที่ไม่กล้าเข้ามาเรียนที่นี่

เมื่อจำนวนคนนอกพื้นที่น้อยลง จึงกลายเป็นโอกาสให้นักศึกษาในพื้นที่มีโอกาสได้เข้ามาเรียนในสถาบันนี้มากขึ้นตามไปด้วย รูปแบบกิจกรรมจึงต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมกับนักศึกษาที่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และเป็นมุสลิม

แม้รูปแบบจะปรับเปลี่ยนไป แต่ความหมายของ “รับน้องคล้องมาลัย” ยังคงเหมือนเดิม คือการช่วยเหลือดูแล โดยเฉพาะการที่รุ่นพี่ต้องคอยให้คำปรึกษาทั้งเรื่องการเรียนและเรื่องอื่นๆ ให้แก่น้องมาลัย โดยเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงเดือนแรกของภาคเรียนที่ 1 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา

ไม่เพียงแต่กิจกรรมรับน้องที่เปลี่ยนไปเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่หลายคนยังติดตามความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวใน ม.อ.ปัตตานี โดยเฉพาะการเข้ามาเรียนของนักศึกษาจากนอกพื้นที่ ซึ่งจะมีผลต่อความหลากหลายของนักศึกษา ซึ่งช่วงสั่งสมประสบการณ์และรู้จักปรับตัวในการอยู่ร่วมกันของนักศึกษาที่มีพื้นฐานที่แตกต่างกันดังเช่นในอดีต ทั้งยังช่วยในเรื่องการเรียนของนักศึกษาด้วย เพราะทำให้นักศึกษาต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้

ปัจจุบันบรรยากาศดังกล่าว กำลังค่อยๆ กลับมาเหมือนเดิม นักศึกษาจากนอกพื้นที่เริ่มเข้ามาเรียนที่นี่มากขึ้น

 

รับน้องม.อ.1

“เราตั้งใจมาเรียนที่ ม.อ. ปัตตานี”

นางสาวณัฐกานต์ เพ็งสกุล หรือใบเฟิร์น ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่เลือกมาเรียนที่ ม.อ.ปัตตานี โดยเลือกเรียนคณะศึกษาศาสตร์ ในเอกภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 1

ใบเฟิร์น เล่าว่า สอบติดตอน ม.อ.เปิดรับตรงแล้ว แต่ผู้ปกครองไม่ให้มา จากนั้นจึงสอบเอ็นทรานซ์รอบ GATT-PATT อีกครั้งและสอบติดที่นี่ ผู้ปกครองจึงยอมให้มา

“ก่อนจะมาที่นี่ รู้สึกกลัวเหตุการณ์ในพื้นที่อยู่บ้างและกังวลเรื่องการปรับตัว เพราะนักศึกษาและคนที่นี่ส่วนใหญ่นักถือศาสนาอิสลาม กลัวว่าจะปรับตัวเข้ากับพวกเขาไม่ได้และกลัวจะอยู่ไม่ได้ แต่ก็ตั้งใจจะมาเรียนที่นี่แล้ว จึงตัดสินใจมา”

ใบเฟิร์น เล่าอีกว่า ในวันที่มาสอบสัมภาษณ์ เริ่มรู้สึกว่าปัตตานีน่าอยู่ จึงยิ่งอยากมาเรียนมากขึ้น และเมื่อได้มาอยู่ก็รับรู้ได้เลยว่านักศึกษาในผู้คนในพื้นที่แห่งนี้มีความเป็นกันเองมาก

ส่วนนางสาวศิรินทิพย์ สุดจิตร์ หรือทิว จากจังหวัดตรัง นักศึกษาซึ่งอยู่ชั้นปีและเอกเดียวกับใบเฟิร์น ให้เหตุผลที่เข้ามาศึกษาที่ ม.อ.ปัตตานีว่า เพราะอยากมาเป็นลูกพระบิดา และตั้งใจเลือกที่จะมาเรียนที่นี่อยู่แล้ว

ทิว บอกว่า มีความมั่นใจในคุณภาพการศึกษาของม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย และมั่นใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะมีงานทำแน่นอน โดยตนได้ทุนเรียนดี ซึ่งเป็นโควต้าที่ให้นักศึกษาจากนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ผู้ปกครองให้อิสระเต็มที่ที่จะเลือกเรียนที่ไหนก็ได้ เพราะชีวิตเป็นของเราเอง แต่ก็ได้ฝากให้ดูแลตัวเองด้วย เช่น ให้พยายามอยู่ในมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด หรือหากจะออกนอกมหาวิทยาลัยก็ให้ระวังตัว” ทิว ยืนยัน

ทิวบอกว่า เธอเคยมาปัตตานีหลายครั้งแล้ว เห็นว่า สื่อนำเสนอเกินความเป็นจริง เพราะตอนแรกที่ดูข่าวก็รู้สึกว่า เป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรง แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนและใช้ชีวิตในพื้นที่จริงๆ ก็ไม่เห็นว่าจะมีเหตุการณ์เหมือนที่เป็นข่าว หรือถ้ามี ก็ไม่ได้เกิดเหตุในเขตเมืองปัตตานี

“ยิ่งอยู่ในรั้ว ม.อ.ปัตตานีก็ยิ่งปลอดภัย รวมถึงอาจารย์ และรุ่นพี่ทุกคนก็มีความน่ารักและเป็นกันเอง” ทิว กล่าว

ขณะที่นางสาวศุภรัตน์ ใบเต้ หรือซอ นักศึกษาชั้นปี 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกมลายูศึกษา จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เหตุผลว่า ตั้งใจที่จะมาเรียนที่ม.อ.ปัตตานีอยู่แล้ว ก่อนที่จะมาผู้ปกครองก็เป็นห่วง แต่ท้ายที่สุดก็ยอมให้มา

ซอ เล่าว่า สอบเข้ามาโดยวิธีการรับตรง ซึ่ง 5 อันดับแรกของสาขาที่เลือกอยู่ในวิทยาเขตปัตตานีทั้งหมด ตัวเองเป็นมุสลิมอยู่แล้ว จึงไม่ต้องปรับตัวมากยกเว้นเรื่องภาษามลายู เพราะไม่มีพื้นฐานด้านนี้เลย

 

สถาบันการศึกษาที่ยังคงความหลากหลาย

ส่วนในมุมมองของอาจารย์ อย่างนายมูหัมมัดมันซูร หมัดเร๊าะ หัวหน้าแผนกวิชาภาษาอาหรับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เล่าว่า ทั้งช่วงก่อนปี 2547 ที่เริ่มมีเหตุไม่สงบและหลังปี 2547 นักศึกษาเอกภาษาอาหรับไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คือมีทั้งไทยพุทธและมุสลิมที่มาจากภาคกลาง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาในพื้นที่

“ก่อนปี 2547 มีนักศึกษาที่มาไกลสุด คือจากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแพร่ ซึ่งนักศึกษาไทยพุทธที่มีความตั้งใจเรียนภาษาอาหรับอย่างจริงจังมาก ส่วนมากมาจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงนั้นนักศึกษาชั้นปีละเพียงประมาณ 15 คน เป็นนักศึกษานอกพื้นที่ประมาณ 6-7 คน ปัจจุบันมีนักศึกษาชั้นปีละ 50 คน ส่วนใหญ่มาจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

“ปัจจุบันมีนักศึกษาที่มาไกลสุด คือ จากจังหวัดปทุมธานี จำนวน 2 คน โดยอยู่ชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 3”

นายมูหัมมัดมันซูร บอกว่า นักศึกษาจากในพื้นที่มีพื้นฐานภาษาอาหรับอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับความรู้พื้นฐานด้านภาษาอาหรับเล็กน้อย ต่างกับนักศึกษาไทยพุทธที่ไม่มีพื้นฐานเลย จึงต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่แรก แต่เนื่องจากพวกเขามีความตั้งใจที่จะมาเรียนด้านนี้มาก ผลการเรียนจึงไม่ค่อยมีปัญหามากนัก

นางสาวอรพรรณ จันทร์เทา อาจารย์ประจำแผนกวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บอกว่า ก่อนปี 2547 เอกภาษาเกาหลี มีนักศึกษารหัส 45 จำนวน 33 คน เป็นนักศึกษาจากนอกพื้นที่ถึง 30 คน และจากในพื้นที่ 3 คน นักศึกษาจากนอกพื้นที่ส่วนมากมาจากจังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดกระบี่ ตามลำดับ

แต่หลังปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาจากนอกพื้นที่ส่วนมาก ก็มาจากอำเภอหาดใหญ่ และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกระบี่ ซึ่งก็มีเพียง 1 - 2 คน โดยแต่ละชั้นปีมีประมาณ 22 คน

“อาจารย์มักจะเตือนนักศึกษาที่นี่ให้ระวังตัวด้วย โดยเฉพาะเวลาอยู่นอกมหาวิทยาลัย แต่นักศึกษาหลายคนพักอยู่นอกมหาวิทยาลัย มีบางคนทำงานรับจ้างเสิร์ฟอาหารเป็นการหารายได้เสริมด้วย” อาจารย์ประจำแผนกวิชาภาษาเกาหลี กล่าว

 

คุณภาพการศึกษาเท่านั้นที่ดึงคนนอกเข้ามาได้

ในขณะที่ในมุมมองของอาจารย์ระดับผู้บริหาร อย่างดร.ศักรินทร์ ชนประชา รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคลากร คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ระบุว่า แม้เหตุไม่สงบในพื้นที่จะรุนแรงขึ้นหรือลดลง ก็ยังไม่สามารถทำให้นักศึกษานอกพื้นที่เข้ามาเรียนในม.อ.ปัตตานีได้มากขึ้นอยู่ดี เพราะภาพเก่ายังฝังอยู่ในความรู้สึกของคน ว่าเป็นพื้นที่รุนแรงและน่ากลัว ที่เป็นเช่นนั้น เพราะการนำเสนอของสื่อ ซึ่งปัจจุบันความเป็นจริงไม่ได้เป็นไปตามที่สื่อนำเสนอ

ดร.ศักรินทร์ บอกว่า ที่ผ่านมา แม้จะมีการให้ทุนการศึกษาหรือทุ่มงบประมาณจำนวนมากให้กับมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังไม่สามารถดึงนักศึกษาจากนอกพื้นที่เข้ามาเรียนได้มากนัก ดังนั้น จึงอยู่ที่คุณภาพของการศึกษาเท่านั้นที่จะสามารถดึงคนนอกเข้ามาเรียนได้

“ตัวอย่างเช่น ทำไมนักศึกษาต้องมาเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ ของม.อ.ปัตตานี ก็เพราะเป็นคณะที่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพ จนเป็นที่พูดถึงว่า หากจะเรียนครูต้องมาเรียนที่ ม.อ.ปัตตานี”

ดร.ศักรินทร์ ระบุว่า แม้หลังปี 2547 เป็นต้นมา มีนักศึกษานอกพื้นที่เข้ามาเรียนน้อยลง ส่งผลให้มีนักศึกษาในพื้นที่มีโอกาสเข้ามาเรียนม.อ.ปัตตานีมากขึ้น แต่เนื่องจากคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของที่นี่ยังต่ำ จึงยังทำให้หาคนเก่งที่เป็นคนในพื้นที่ไม่ได้

“แต่นั่นก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้รับการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย” ดร.ศักรินทร์ ทิ้งท้ายให้เห็นถึงสิ่งที่ได้มากับสิ่งที่ต้องเสียไป คล้ายกับเป็นโจทย์ให้ต้องคบคิดกันต่อไปว่า จะพัฒนาและยกระดับการศึกษาโดยเฉพาะนักศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้นต่อไปอย่างไร

และแล้วหนุ่มสาวหน้าใสกลุ่มสุดท้าย ก็ค่อยๆ ลอดซุ้มออกมาทีละคน หลายคนต้องเข้ามาอยู่ในม.อ.ปัตตานี ก่อนเปิดเทอมหลายวัน เพื่อปรับพื้นฐานความรู้กับรุ่นพี่ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เพิ่งมีมาไม่กี่ปี เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องการให้นักศึกษาในพื้นที่มีความพร้อมก่อนเข้าเรียนจริงๆ โดยหวังจะยกระดับคุณภาพของนักศึกษาให้สูงขึ้นอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต 

สถิตินักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งแต่ปี 2542-2555
 
 

ปี mso-fareast-font-family:"Times New Roman"">

3 จว.

นอก mso-fareast-font-family:"Times New Roman"">3 จว.

รวม mso-fareast-font-family:"Times New Roman"">

2542

 

153

 

818

 

971

2543

 

208

 

781

 

989

2544

 

476

 

1,149

 

1,625

2545

 

454

 

1,544

 

1,998

2546

 

564

 

1,377

 

1,941

2547

 

963

 

1,387

 

2,350

2548

 

1,641

 

1,014

 

2,655

2549

 

1,643

 

677

 

2,320

2550

 

1,556

 

649

 

2,205

2551

 

1,775

 

591

 

2,366

2552

 

2,203

 

166

 

2,369

2553

 

2,035

 

128

 

2,163

2554

 

1,970

 

331

 

2,301

2555

 

2,265

 

161

 

2,426

รวม mso-fareast-font-family:"Times New Roman"">

 

17,906

 

10,773

 

28,679

ที่มา : งานทะเบียนและสถิตินักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี