Skip to main content

ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีกบฏ “พูโลใหม่” นายกอเซ็ง มะนาเซ โดยพิพากษาให้จำเลยจำคุกตลอดชีวิต 

เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่ห้องพิจารณาคดี 814 ศาลอาญา เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 27 มิถุนายน ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายกอเซ็ง หรืออูเซ็ง หรือมะนาเซ หรือชาการิม หรือซาการิม เจะเลาะ หรือเจ๊ะเลาะ หรือเจ๊ะเล๊าะ หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติการในเมือง “ขบวนการพูโลใหม่” เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร สะสมกำลังพลและอาวุธ สมคบกันเพื่อเป็นกบฏ และสมคบกันเป็นซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 114, 210 ประกอบมาตรา 83, 32, 33 

 

           โดยโจทก์ยื่นฟ้องระบุความผิดสรุปว่า ตั้งแต่ปี 2511 - 10 ก.พ. 2541 จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มปฏิบัติการในเมือง “ขบวนการพูโลใหม่” ได้ร่วมกับ นายหะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ, นายหะยี ฮาเซ็ม อับดุลเลาะห์มาน, นายอับดุล รอมาน และนายสะมะแอ ท่าน้ำ และนายยามี มะเซ๊ะ หรือนายยามิง หรือยามี มะเสะ และกับพวกอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องสมคบกันเป็นตัวการแบ่งแยกหน้าที่กันกระทำการเป็นกบฏ สะสมกำลังพลและอาวุธเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร ก่อตั้งองค์การทางการเมืองที่ชื่อว่า “องค์การปลดแอกแห่งชาติปัตตานี” หรือ “องค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานี” หรือ “องค์การปลดปล่อยสหปัตตานี” หรือ “PATANI UNITED LIBERATION ORGANISATION” ใช้อักษรย่อภาษาอังกฤษว่า “ P.U.L.O.”  ซึ่งรู้จักกันในชื่อภาษาไทยว่า “ขบวนการพูโล”

โดยการก่อตั้ง มีวัตถุประสงค์แบ่งแยกดินแดน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ จ.ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, สตูล และบางส่วนของ จ.สงขลา ใน อ.จะนะ  อ.สะบ้าย้อย และ อ.เทพา เพื่อสถาปนาเป็นรัฐอิสระปกครองตนเองในชื่อว่า  “สาธารณรัฐอิสลามปัตตานี” หรือ “ประเทศอิสลามมลายูปัตตานี” หรือ “ประเทศมลายูอิสลามปัตตานี” ซึ่งองค์กรนั้นได้มีปฏิบัติการข่มขู่กรรโชกทรัพย์เรียกเงินค่าคุ้มครองจากพ่อค้า นักธุรกิจ ในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเงินจัดซื้ออาวุธปืน ทำการลอบยิงตำรวจ ทหาร ลอบวางระเบิดทางรถไฟ ซุ่มยิงขบวนรถไฟ เผาสะพาน เผาโรงเรียนและจับคนเรียกค่าไถ่ รวมถึงวางระเบิดสถานที่ราชการสำคัญ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจ สถานีรถไฟ วางระเบิดโรงแรม และโรงเรียน โดยจำเลยให้การปฏิเสธ

             ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2551 ให้ยกฟ้องจำเลย แต่ให้ขังไว้ในระหว่างอุทธรณ์ และริบของกลาง โดยโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่  ศาลระบุว่าพนักงานสอบสวน พยานโจทก์ เบิกความรับฟังได้ว่า ชื่อ “ซาการิม” เป็นนามแฝงของกลุ่มพูโลใหม่ ซึ่งขบวนการดังกล่าวมีการกำหนดยุทธวิธี ปลุกระดมชาวมุสลิมลอบวางระเบิด เผาสถานที่ราชการ ฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้ต้องปกปิดชื่อจริง และทำให้พยานบุคคลไม่กล้าชี้ตัวเพราะเกรงจะถูกทำร้าย นอกจากนี้โจทก์ ยังมีพยานหลักฐานเกี่ยวกับหน่วยงานข่าวกรองที่มีข้อมูลทางราชการว่าข้อมูลและหลักฐานภาพถ่ายของนายซาการิม นายกอเซ็ง และจำเลย ที่มีชื่อจริงว่า “มะนาเซ เจ๊ะเลาะ” มีบทบาทสำคัญในการฝึกและวางแผนก่อการร้าย ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวเป็นบัตรประชาชน ที่มีเลขรหัสตรงกันภาพตามหมายจับ ที่แม้ส่วนสูงของบุคคลในภาพจะต่างกัน แต่อาจเป็นเพราะเกิดจากช่วงวัยที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ โดยวันที่จำเลยถูกจับกุมขณะกำลังออกนอกประเทศจำเลยก็ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหา จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการจับกุมตามหน้าที่ โดยไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน

นอกจากนี้ เมื่อถูกจับกุมจำเลยได้ลงลายมือชื่อ ทั้งในชื่อ “มะนาเซ, ซาการิม และกอเซ็ง” โดยจำเลยรับว่าเป็นผู้ยิงและได้หลบหนีจริง ส่วนที่อ้างว่าถูกบังคับให้ลงชื่อเห็นว่า หากจำเลยรู้ว่าไม่ใช่บุคคลในภาพ ก็ไม่สมควรลงลายมือชื่อ  

            ในการนำสืบที่จำเลยว่าได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศซีเรีย และลิเบีย โดยใช้ชีวิตประเทศมาเลเซียนานถึง 10 ปี จำเลยไม่ได้นำพยานมาเบิกความถึงการดำเนินชีวิตของจำเลยว่าเป็นไปอย่างไร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับกลุ่มพวก เป็นพวกหัวรุนแรงทางการเมือง มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศไทย จึงทำให้จำเลยไม่สามารถนำพยานมาสืบสนับสนุนได้ ข้อต่อสู้จำเลยไม่อาจหักล้างโจทก์ได้ อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น  ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย

ภายหลังฟังคำพิพากษา บุตรสาวและญาติของนายกอเซ็งถึงกับร่ำไห้ เสียใจ ขณะที่นายกอเซ็งพยายามพูดปลอบใจบุตรสาว