Skip to main content

ผู้แทนกอ.รมน. ชี้ปัญหาไฟใต้มีสัญญาณที่ดี เตรียมเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่ม เผยกำลังพิจารณารายพื้นที่ ยันหน่วยงานความมั่นคงก็อยากเลิก แต่ต้องมีตัวชี้วัด 

             เมื่อเวลา19.00 น.วันที่ 27 มิถุนายน 2555 ที่อาคาร Park Ventures Ecople ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ร่วมกับสหภาพยุโรป มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดสานเสวนาเครือข่ายชายแดนใต้เรื่อง “ความก้าวหน้าในการเข้าถึงความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง” โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน

        พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5                                                      กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาณาจักร (กอ.รมน.) 
 
พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า การต่ออายุการใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ครั้งต่อไปอาจจะลดพื้นที่การประกาศใช้ลง เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีหลายประการ ทั้งจากโอไอซี (องค์กรความร่วมมืออิสลาม) และสัญญาณอื่นๆ ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงกำลังพิจารณาเป็นรายหมู่บ้านและตำบล
 
“ทุกคนโจมตีว่าเรื่องการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ว่าหน่วยงานทางด้านความมั่นคงไม่อยากเลิก แต่การยกเลิกจะต้องมีตัวชี้วัดหลายๆ อย่าง ไม่อยากเลิกแล้วต้องนำกลับมาใช้ใหม่”, พล.ต.นักรบกล่าว
 
ขณะนี้มีกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้มีการบังคับใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยกเว้นอ.แม่ลานในจ.ปัตตานี  โดยในอำเภอดังกล่าวและอีกสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา คือ นาทวี สะบ้าย้อย เทพา และจะนะ มีการใช้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงรักษาภายในราชอาณาจักร
 
พล.ต.นักรบ กล่าวว่า ตัวชี้วัดที่ใช้ในการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึกได้แก่ 1.สถิติความรุนแรงลดลง 2.สามารถทลายโครงสร้างของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ได้ 3.ประชาชนเข้มแข็งและสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งเมื่อยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว จะนำพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาใช้แทน
 
พล.ต.นักรบ กล่าวด้วยว่า สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ คือมาตรา 21 ที่จะให้ผู้ต้องหาเข้าอบรมแทนการฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งเป็นขั้นตอนของการพูดคุยกับคนที่คิดเห็นต่าง และกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ
 
“ส่วนการปกครองพิเศษเป็นเรื่องอีกนาน และน่าจะทำในพื้นที่ที่มีความสงบมากกว่า แต่พื้นที่ที่มีความรุนแรงอยู่ หน่วยงานความมั่นคงมองว่าไม่น่าทำ เป็นเงื่อนไขในการแยกเป็นเอกราช” พล.ต.นักรบ กล่าว
 
.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่าปัญหาที่สำคัญมากถือเป็นรากเหง้าของปัญหาภาคใต้ คือ ธรรมาภิบาล ส่วนการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทำให้ปัญหามีความรุนแรงมากขึ้น