Skip to main content

กลุ่มวาดะห์รวมตัวอีกครั้ง หลังได้บทเรียนจากการแยกกันเดิน ‘เด่น – วันนอร์ – อารีเพ็ญ – นัจมุดดีน’ จับมือตั้งทีมนักการเมืองรุ่นใหม่ สร้างความหวังดับไฟใต้

แม้การเมืองเรื่องศาลรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้วอย่างโล่งอกของใครหลายคน การเมืองเรื่องชายแดนใต้กลับยิ่งน่าสนใจขึ้นมา เมื่ออดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์จะรวมกลุ่มกันอีกครั้งท่ามกลางความหวังที่น้อยลงทุกทีของคนพื้นที่ที่จะให้นักการเมืองมาช่วยดับไฟใต้

อดีตแกนนำที่นำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายเด่น โต๊ะมีนา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนายนัจมุดดีน อูมา ได้สรุปบทเรียนจากการแยกกันเดิน เลือกตั้งกันคนละพรรคได้นำมาสู่หายนะ ล่าสุดคือการแพ้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างราบคาบ

โดยการเลือกตั้งครั้งนั้น ทั้งนายเด่น นายอารีเพ็ญ และนายนัจมุดดีน จับมือกันเข้าสังกัดพรรคมาตุภูมิของ “บิ๊กบัง” หรือ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ยังคงยืนหยัดอยู่กับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทยเดิม แม้อยู่ในช่วงถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีจากคดียุบพรรคไทยรักไทย

การรวมกลุ่มครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะพี่ใหญ่ของกลุ่มพ้นโทษตัดสิทธิทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา และได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยทันที

 วาดะห์

วาดะห์รวมกลุ่ม? – นักการเมืองอดีตแกนนำและสมาชิกกลุ่มวาดะห์ เช่น นายเด่น โต๊ะมีนา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนาย background:white">นัจ font-style:normal">มุดดีน  background:white;font-style:normal">อูมา เมื่อครั้งร่วมสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 6 เมื่อ 11 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรม ซีเอส ปัตตานี

 

นายบูรฮานูดิน อุเซ็ง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.ยะลา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มวาดะห์ ระบุว่า ที่ผ่านมาอดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์มีการประชุมเดือนละครั้งทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และที่กรุงเทพมหานคร โดยแกนนำหลักๆ คือ นายวันมูหะมัดนอร์ นายเด่น นายอารีเพ็ญ และนายนัจมุดดีน แต่ไม่ทราบว่าอดีตแกนนำคนอื่นๆ จะเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่งนั่นเป็นสิทธิของแต่ละคน

“ที่ผ่านมากลุ่มวาดะห์ได้รับบทเรียนมา 3 เรื่องหลัก คือ การถูกดันจากรัฐ เช่น สมาชิกบางคนถูกฟ้องดำเนินคดีว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ การถูกตัดสิทธิทางการเมืองของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และบทเรียนที่สำคัญคือการแยกกันเดินโดยแยกกันลงสมัครเลือกตั้งในพรรคการเมืองต่างกัน” นายบูรฮานูดิน ระบุ

นายบูรฮานูดินบอกว่าที่ผ่านมาคนในพื้นที่ยังจำผลงานของกลุ่มวาดะห์ได้ เสมือนหนึ่งการปลูกผลไม้ ที่เริ่มออกดอกผลแล้ว แต่กลับปรากฏว่ามีการโค่นต้นเสียก่อนที่มันจะออกดอกผลมาอย่างเต็มที่มากกว่านี้ ซึ่งการรวมตัวกันใหม่ก็คงอาจต้องใช้เวลา กว่าจะออกดอกออกผลอีกครั้ง

อดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์อย่างนายวันมูหะมัดนอร์เคยเป็นถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองนายกรัฐมนตรี นายเด่น อดีต ส.ส.หลายสมัยของจังหวัดปัตตานี ในฐานะผู้ที่ริเริ่มชักชวนนักการเมืองมุสลิมไฟแรงในอดีตมารวมเป็นกลุ่มวาดะห์ หรือ “วะห์ดะห์” ที่แปลว่า “เอกภาพ” ก็เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.หลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส ก็เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงยากที่จะหากลุ่มการเมืองใดในชายแดนใต้ที่มีบทบาทได้มากขนาดนี้

เพราะฉะนั้น การรวมตัวของนักการเมืองกลุ่มวาดะห์ในครั้งนี้ จึงเป็นไปเพื่อเตรียมสร้างดรีมทีมรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนแกนนำรุ่นเก่าที่โรยรา ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมเตรียมจัดตั้งคณะทำงานชุดใหม่มาแล้ว 4 ครั้ง

การประชุมครั้งแรกมีขึ้นที่บ้านของนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ครั้งที่ 2 ที่บ้านของนายเด่น โต๊ะมีนา ครั้งที่ 3 ที่โรงเรียนดาริลกุรอานิลการีม หรือปอเนาะบลูกาสะนอ ตำบลตะปอเยาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ของนายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันเป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

และครั้งล่าสุด 4 คือที่บ้านของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจะมีการจัดสัมมนาครั้งใหญ่ของสมาชิกกลุ่มวาดะห์รุ่นใหม่ในช่วงเดือนกันยายน 2555 หรือช่วงหลังจากเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม

นายบูรฮานูดินระบุว่ากลุ่มใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาต้องการให้เป็นของคนในพื้นที่ ไม่ใช่เป็นของนักการเมืองกลุ่มวาดะห์เดิม ส่วนแกนนำกลุ่มวาดะห์เดิมจะไปเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นผู้สนับสนุนคนรุ่นใหม่ขึ้นมา และคงไม่ได้หวังผลในตำแหน่งทางการเมืองแล้ว หรือถ้าลงเลือกตั้งก็คงอยู่ในระบบบัญชีรายชื่อและจะดูแลในภาพรวมทั้งเรื่องการเมือง ความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะทำงานชุดใหม่มีตัวแทนจากคน 7 กลุ่ม ได้แก่ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตัวแทนสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนสถาบันการศึกษาปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนชมรมตาดีกาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนนักวิชาการในพื้นที่ ตัวแทนอูลามาอ์ (นักปราชญ์ทางด้านศาสนาอิสลาม) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยผู้ที่จะมาเป็นคณะทำงานหลักๆ เช่น นายนัจมุดดีน อูมา นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด เจ้าของโรงเรียนดาริลกุรอานิลการีม นายมูฮำหมัด อาดำ โต๊ะครูปอเนาะภูมี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี นายนูรุดดี สารีมิง ตัวแทนนักวิชาการจากจังหวัดปัตตานี และนายแวอาแซ กอตอ ตัวแทนนักวิชาการจากจังหวัดยะลา เป็นต้น

คณะทำงานชุดใหม่จะเป็นผู้กำหนดแนวทางการทำงานของกลุ่ม โดยอาจจะตั้งชื่อใหม่หรือใช้ชื่อเดิม และจะมีการร่างระเบียบข้อบังคับเพื่อเป็นธรรมนูญของกลุ่มต่อไป

สำหรับประเด็นที่กลุ่มวาดะห์รุ่นใหม่จะผลักดันต่อไป เช่น ให้มีการออกกฎหมาย 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับมุสลิม ได้แก่ พระราชบัญญัติการส่งเสริมกิจการฮัจย์ พระราชบัญญัติกองทุนซากาต และพระราชบัญญัติศาลชารีอะห์

นายบูรฮานูดินพยายามหาคำตอบว่าทำไมการผลักดันร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นนัก แม้แต่ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลที่มีการร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวแล้ว สุดท้ายก็ยังไม่ออกมาเป็นกฎหมายอยู่ดี

ทว่า ประเด็นสำคัญที่สุดที่กลุ่มวาดะห์รุ่นใหม่จะต้องเข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนในการดำเนินการ คือ การสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายบูรฮานูดิน ระบุว่า ข้อเสนอหนึ่งที่สำคัญของกลุ่ม คือ ขอให้รัฐบาลพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษาและพัฒนากระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อันเป็นข้อเสนอเดียวกับเวทีสานเสวนานักการเมืองชายแดนใต้ ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเวียนกันจัดในพื้นที่มาแล้ว 7 ครั้ง ตั้งแต่ปลายปี 2554 ในชื่อโครงการสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเวทีล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2555 ที่โรงแรมอิมพีเรียล จังหวัดนราธิวาส ในหัวข้อ “เราจะนำเสนอกลไกการสร้างความสันติได้อย่างไร”

แม้เป็นเวทีที่มีนักการเมืองจากหลากหลายพรรคเข้าร่วม รวมทั้ง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ แต่เกือบทุกครั้งมีอดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์เข้าร่วมครบทีม ทั้ง นายเด่น นายวันมูหะมัดนอร์ นายอารีเพ็ญ และนายนัจมุดดีน

วาดะห์รุ่นใหม่เพิ่งจะก่อร่างสร้างตัว พวกเขาจะเป็นความหวังให้คนชายแดนใต้ได้สัมผัสกับสันติสุขในเร็ววันได้หรือไม่ คงยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะต้องผ่านการเลือกตั้งอีกกี่ครั้ง