Skip to main content

วะกัฟความดีที่ไม่สิ้นสุดอย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง

 

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้

[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur

 

 

       ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์พระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

       Waqaf Festival  วะกัฟความดีที่ไม่สิ้นสุด เป็นคำที่ดังมากตามหน้าสื่ออาทิตย์นี้หรือเป็น  กระแสที่ดังมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นแรงบรรดาลใจให้ผู้คนร่วมทำความดี  บริจาคการกุศล

       กล่าวคือ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จัดงาน Waqaf Festival  เป็นงานวันพบปะมุสลีมะห์และงานมหกรรมวะกัฟ ความดีที่ไม่สิ้นสุด วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 6-7 พฤษภาคม  ณ โครงการมะดีนะตุสสลาม (ปัตตานีจายา) เยื้องสถานีขนส่งปัตตานีโดยมี องคมนตรี พลเอกสรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานในพิธีวันที่สอง มีกิจกรรมเด่น 9 โซน เช่น โซนบอลลูนแห่งความดี/บูธวะกัฟ โซนเวทีใหญ่ โซนร้านค้า โซนพบปะมุสลีมะห์ โซนสุขภาพ โซนนิทรรศการ โซนกิจกรรมเด็ก โซน 18 แรงบันดาลใจ โซนภาคสนาม มีบรรยายธรรม อนาซีด อาหารเด่น จักรยาน  big bike ยิงธนู ฯลฯ เพื่อระดมทุนขายที่ดินวากัฟก่อสร้างศูนย์กลางอิสลาม มีมัสยิดกลางจุ 5,000 คน มีที่ดินขายวากัฟ 30 ไร่ๆละ 5 แสนบาท ลานมัสยิดจุ 15,000 คน กษัตริย์ซาอุดิอารเบียบริจาค 687 ล้านบาท (20 ล้านดอลล่าร์) ประกอบด้วยอาคารพิพิธภัณฑ์ ห้องนิทรรศการ ห้องสมุด ห้องสัมมนา ศูนย์กุรอาน สวนพักผ่อน ฯลฯ วิทยากรบรรยายทั้ง 2 วัน กว่า30 คน สรุปงานนี้ได้ยอดบริจาคเกินเป้า กว่า 15 ล้านบาท

       ความเป็นจริงการจัดงาน กินเหนียว ตามที่ชาวบ้านเรียกติดปากเพื่อสร้างสาธารณประโยชน์หรือเรียกว่าวะกัฟมีมานานแล้วในสังคมมุสลิมปตานี/ชายแดนใต้และไทย

        การวะกัฟ เป็นภาษาอาหรับหมายถึง การบริจาคเพื่อสาธารณกุศล ตามนิยามวิชาการหมายถึง การจำกัดกรอบตัวทรัพย์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและอุทิศผลประโยชน์ของมันให้โดยหวังผลบุญจากอัลลอฮผู้อภิบาลแห่งสากลโลก.

ท่านศาสนทูตมุฮัมมัดได้วัจนะความว่า

"เมื่อมนุษย์ได้เสียชีวิต การงานต่างๆ ของเขาก็จะตัดขาด (สิ้นสุดลง) ยกเว้นจากสามสิ่งที่จะไม่ขาด คือจากการบริจาคทานที่คงถาวร ความรู้ที่ให้ประโยชน์ และจากลูกที่ศอลิหฺ(ลูกที่ดี)ที่คอยขอพรให้แก่เขา" [บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1631]

 

สำหรับเงื่อนไขที่จะทำให้การวะกัฟถูกต้องเป็นผล

1.สิ่งที่วะกัฟต้องเป็นทรัพย์สินที่เป็นวัตถุที่รู้แน่นอน สามารถใช้ประโยชน์ได้พร้อมกับคงรูปโดยไม่หมดสิ้นไป

2.การวะกัฟต้องเป็นไปในหนทางที่ดี เช่น มัสญิด สะพานหรือเขื่อน ญาติมิตรและคนยากจน

3.การวะกัฟจะต้องเจาะจงฝ่ายที่จะรับอย่างชัดเจนแน่นอน เช่น ให้แก่มัสญิดหลังนั้น หรือเจาะจงตัวบุคคล เช่น ให้แก่นายซัยดฺ เป็นต้น หรือเจาะจงประเภท เช่น ให้แก่คนยากจน

4.การวะกัฟต้องเป็นผลทันทีโดยไม่มีการกำหนดเวลาหรือผูกขาดไว้กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น หากคนนั้นมาฉันจะวะกัฟ..... ยกเว้นการแขวนไว้กับความตายของตัวผู้วะกัฟเอง คือจะวะกัฟหลังจากที่ตัวเขาตายไปแล้ว ถือว่าใช้ได้

5.ตัวผู้วะกัฟจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำนิติกรรมได้ (ผู้ที่วากัฟจะต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์)

 

ปัญหาและข้อท้าทายวะกัฟสำหรับสังคมมุสลิม

       จะเห็นได้ว่าในปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมมุสลิมไทย การวะกัฟนั้นจะมีการจัดงานขอบริจาคมากมายหลายแห่งโดยเฉพาะมัสยิด  สถานศึกษาสอนศาสนา ด้วยเหตุผลเพื่อเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ พัฒนาการศึกษา การขอรับบริจาคอาจซื้อที่ดิน สร้างอาคาร หรืออื่นๆ ที่เข้าในเงื่อนไขการวะกัฟที่กล่าวมาแล้ว

       สถิติมัสยิดทั่วประเทศไทย 2558 สำรวจโดยหน่วยความมั่นคงไทยพบว่ามีทั้งสิ้น 3,684 มัสยิดถ้าเฉลี่ยมูลค่าที่ดินเเละสิ่งปลูกสร้างประมาณมัสยิดละ10ล้านจะมีมูลค่าเงินวะกัฟ 3 หมื่นกว่าล้านไม่นับสถานศึกษาเเละสาธารณกุศลอื่นๆนับพันเเห่งแต่พบว่าหลายแห่งทรัพย์การวะกัฟมิได้ถูกจดทะเบียนเป็นของกลาง แต่ใส่ชื่อบุคคลไว้

       สิ่งที่ประชาชนตั้งคำถามคือหลังจากที่ประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานหารายได้แต่สถานที่ที่เป็นสิ่งของวะกัฟคนดำเนินการและบริหารจัดการมักจะไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน  ชุมชนในการบริหารจัดการ  หลายกรณีเคยนำทรัพย์เหล่านี้กู้เงินในธนาคารและไม่สามารถถ่ายถอนได้ หลายที่ก็สามารถผ่อนได้ หลายกรณีผู้ครอบครองนำไปใช้ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม   โครงการใหญ่ๆอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  และสังคมเช่นการถมที่ในบริเวณกว้าง 

       ตามทัศนะผู้เขียนเห็นว่า ทรัพย์สินวะกัฟต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในขณะเดียวกันต้องระบุชัดเจน โดยเฉพาะที่ดินให้จดทะเบียนภายใต้มูลนิธิหรือทรัพย์สินอื่นๆที่เขาวะกัฟก็ให้ระบุชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในแง่กฎหมายไทยส่วนกฎหมายพระเจ้านั้นท่านก็ต้องให้คำตอบต่อพระเจ้ากันเอาเอง การบริหารจัดการจะทำอย่างไร  โปร่งใสและตรวจสอบได้  ที่สำคัญประชาชน  ชุมชนจะมีส่วน ในการบริหารจัดการหลังได้รับงบประมาณบริจาคอย่างไร  โครงการใหญ่ๆจะต้องทำประชาพิจารณ์และสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมไหมหรือไม่ เพราะเหล่านี้คือหลักการอิสลามไม่แพ้การเรียกร้องการวะกัฟด้วยเช่นกัน

       วะกัฟความดีที่ไม่สิ้นสุดก็จะบรรลุเป้าประสงค์ตามหลักการอิสลามทั้งต้นน้า กลางน้ำ และปลายน้ำ

กล่าวง่ายๆคือวะกัฟ ความดีที่ไม่สิ้นสุดก็จะไม่ทำให้ปชช.ผิดหวัง

 

หมายเหตุอ้างอิงจาก

1.   มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์.แปลโดยอิสมาน จารง.2552.การบริจาคเพื่อสาธารณะกุศล.

https://islamhouse.com/th/articles/209278/Hud,Kamal.____________________....

http://www.alashraf-leb.org/docs/Awkaf/wakuf_definition/Wakuf_Def.htm

Sulaiman Dorlah.2015.Waqf di Thailand.

2.   https://www.facebook.com/sulaiman.dorloh.5

3.   http://www.deepsouthwatch.org/dsj/th/8196

4.   https://www.facebook.com/WAQAF.TV/?fref=ts