ผมก็ศิษย์อาจารย์ศรีหนึ่งด้วย
"เราคุยเรื่อง space and platform" ทฤษฎีนี้ไม่สวยหรูอย่างที่คาด
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
เมื่อวาน ผมได้มีโอกาสแวะเวียนไปที่ deep south watch ใน ม.อ.ปัตตานี ได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี และ รอมฎอน ปันจอร์ สองนักคิดนักทฤษฎีแห่งชายแดนใต้
ประเด็นที่ผมได้แลกเปลี่ยนคือ ผมบอกอาจารย์ศรีว่า "ภาคประชาชนในภาคใต้ 11 จังหวัดนอกจากสามจังหวัดชายแดนใต้ กำลังอินและซึมซาบกับแนวคิดเรื่องพื้นที่กลางและชานชาลาที่อาจารย์ศรีได้ไปไข่ทิ้งไว้ ซึ่งเป็นแนวคิดทฤษฎีการบริหารจัดการเครือข่ายที่หลากหลายที่มาแทนแนวคิดเรื่องขบวน"
ชานชาลาหรือพื้นที่กลาง คือแนวคิดที่เปิดพื้นที่สนามให้ทุกฝ่ายเข้ามามีบทบาทได้ตามแต่ตนถนัด มีการควงของพลังความรู้ พลังปฏิบัติการและพลังสื่อสารจนทำให้เกิดกระแสสูงของการเปลี่ยนแปลงได้
แต่อาจารย์ศรีและรอมฎอนต่างหัวเราะแล้วบอกว่า "สงสัยทฤษฎีนี้จะมีปัญหาใช้ไม่ได้" ผมว่า"อ้าว ทำไมอ่ะ" อาจารย์ศรีเลยเฉลยว่า "เพราะพอเวลาผ่านไป คนที่เป็นคนอำนวยความสะดวกในสนามหรือชานชาลาก็คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของชานชาลา แล้วก็ยึดชานชาลาไปเลย กลายเป็นแฟรงเกนสไตน์หรือผีดิบเผด็จการตัวใหม่ไปเสีย ผมเลยบอกว่า "นี่เหมือน animal farm เลย"
อาจารย์ศรีแถมท้ายด้วยว่า "ภาคเหนือภาคอีสาน ทหารเขาเน้นปิดชานชาลาไม่ให้เปิดให้ภาคประชาชนมีสนามเล่น แต่ในชายแดนใต้ยิ่งแล้วใหญ่ มีนวัตกรรมใหม่ เรามีชานชาลาและพื้นที่สนามของเราที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏว่า ทหารมาซื้อชานชาลาของเราไปดื้อๆ ด้วยเงิน 50 ล้านเสียเลย แล้วได้ผลด้วย ทำเอาภาคประชาสังคมที่ต้องการพื้นที่ชานชาลา ต้องมาคำนับเกรงใจเจ้าของชานชาลาคนใหม่ไปโดยปริยาย"
นี่คือความรู้ใหม่ ว่าด้วย space and platform แนวคิดว่าด้วยการขับเคลื่อนภาคประชาชนในโลกที่ซับซ้อนในปัจจุบัน
ขอบคุณอาจารย์ศรีสมภพและรอมฎอน ผมก็ศิษย์อาจารย์ศรีหนึ่งด้วยครับ