มูฮำมัดอายุบ ปาทาน
การระดมกำลังเข้าตรวจค้น กวาดจับ และควบคุมพื้นที่ความรุนแรง อาจลิดรอนกองกำลังและแนวร่วมขบวนการใต้ดินได้ในระดับหนึ่ง แต่เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นช่วงวันสองวันที่ผ่านมา หลังจากสงบไปร่วม 2 สัปดาห์ ทำให้เห็นว่า การสถาปนาความปลอดภัยในพื้นที่ ยังไม่อาจทำได้อย่างสมบูรณ์
หากสภาพเช่นนี้ยังคงอยู่ต่อไป ก็ยากยิ่งที่จะเอื้อให้ฝ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากหน่วยกำลังรบเข้าไปทำงานเชิงรุกทางการเมือง หรือการพัฒนาต่างๆ เพื่อแย่งชิงมวลชนให้กลับมาเชื่อมั่นและเข้าด้วยกับฝ่ายรัฐ
น่าจับตาว่า การที่ฝ่ายขบวนการใต้ดินก่อเหตุตอบโต้เช่นนี้ ฝ่ายรัฐจะยังคงความสามารถในการกดดันทางทหารอย่างที่เคยทำมาให้ต่อเนื่องไปได้อีกแค่ไหน สองสัปดาห์ซึ่งทุ่มกำลังเข้าควบคุมพื้นที่ความรุนแรงผ่านไป เห็นได้ว่า ขบวนการใต้ดินสามารถปรับยุทธวิธีโต้กลับได้ ปรากฏการณ์นี้อาจสะท้อนได้ว่า แม้จะควบคุมพื้นที่ได้ แต่ไม่อาจสืบทราบถึงความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิบัติการด้านมวลชนยังมิได้ทำกันอย่างเต็มที่
หากไฟใต้ที่โหมแรงคือการก่อสงครามยืดเยื้อ เพื่อรอให้สถานการณ์ทั้งภายในและสากลสุกงอม กองกำลังขนาดใหญ่ของรัฐ คือจุดอ่อนสำคัญ
สองปัจจัยที่ควรตระหนัก คือ กองกำลังของรัฐอาจก่อความหวาดกลัวขึ้นในความรู้สึกของชาวบ้าน แม้จะยึดแนวทางสันติวิธีภายใต้กระบวนการยุติธรรม แต่ภาพของทหารที่เข้าปิดล้อมหมู่บ้าน จะทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกในแง่บวกกับรัฐได้อย่างไร ในเมื่อบ้านของพวกเขาถูกตรวจค้น ญาติพี่น้อง ของพวกเขาถูกควบคุมตัวไปสอบสวน
"ในเมื่อรัฐไม่ไว้ใจเรา แล้วจะให้เราไว้ใจรัฐได้อย่างไร" นี่คือเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ซึ่งน่ากังวลอย่างยิ่ง
และกำลังคนจำนวนมากของรัฐซึ่งกระจายกันอยู่เต็มพื้นที่เช่นนี้ เท่ากับเป้าหมายการก่อเหตุยิ่งมากตามขึ้นไปด้วย การลอบวางระเบิด ซุ่มโจมตี ลอบยิงชุดลาดตระเวน ทำลายกองกำลังฝ่ายรัฐและแย่งชิงยุทโธปกรณ์จะยังดำเนินต่อไป หากขบวนการใต้ดินสบโอกาส
ยุทธวิธี ‘โจร 10 นาที' ซึ่ง ผบ.ทบ.เคยกล่าวถึง คือข้อได้เปรียบในการก่อเหตุของขบวนการใต้ดิน
หากรัฐยังเดินหน้าทุ่มกำลังควบคุมพื้นที่ เหตุการณ์รุนแรงอาจสงบลงไปเป็นช่วงๆ การรุก-รับทางการทหารของทั้งสองฝ่าย จะดำเนินต่อไป สภาพการณ์เช่นนี้ ผู้ซึ่งตกที่นั่งลำบากก็คือมวลชน
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สังคมไทยทุกภาคส่วน ควรต้องยอมรับว่า สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ คือ สงครามยืดเยื้อ
ถึงที่สุดแล้วปฏิบัติการทางทหารยังคงเป็นความจำเป็นในการสถาปนาความสงบสุขปลอดภัย แต่ภายใต้ภาวะที่กองกำลังของขบวนการใต้ดินไม่ปรากฏตัว แต่ปะปนอยู่ร่วมกับมวลชน การแยกน้ำแยกปลาจำเป็นต้องใช้การรุกทางการเมือง เข้าถึงมวลชน และพัฒนาเพื่อให้มวลชนเกิดความเชื่อมั่น ดึงใจมวลชนให้กลับมาอยู่กับฝ่ายรัฐ
ในภาวะซึ่งการทหารเข้าควบคุมพื้นที่ แต่ยังไม่สามารถสกัดความรุนแรง ด้วยไม่อาจครองใจมวลชน อันเป็นผลจากความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นไม่เอื้อต่อบรรยากาศความปลอดภัยที่จะให้ส่วนอื่นๆ นอกเหนือหน่วยกำลังรบเข้าไปทำหน้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ความรุนแรงสูง ซึ่งขบวนการใต้ดินสร้างฐานเครือข่ายไว้อย่างหนาแน่น มาตรการหนึ่งซึ่งน่าจะดำเนินการไปได้ก่อน คือการสานเสวนา สร้างเวทีการพูดคุยกันในทุกฝ่าย ทุกระดับ
การพูดคุยที่ว่านี้ มิใช่แค่การจัดเวทีสัมมนาแล้วแยกย้ายกันกลับ แต่ต้องเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดกันอย่างถึงรากถึงโคน ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยากโดยอาศัยเครือข่ายต่างๆ ซึ่งทั้งภาครัฐหรือฝ่ายต่างๆ ได้ริเริ่มขึ้นมาอาทิ กลุ่มเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เครือข่ายนิติธรรมสมานฉันท์ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากร
นอกจากการเป็นเวทีรับฟัง ให้ทุกฝ่ายทั้งชาวบ้าน ผู้นำศาสนา ข้าราชการทุกส่วน นักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ได้สะท้อนความเห็น ระบายความอึดอัด คับข้องใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกๆ ด้าน ตลอดจนเสนอความเห็นแนวทางแก้ปัญหาแล้ว
อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่สะท้อนออกมาจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐ ในการประเมินแนวทาง นโยบายต่างๆที่ได้ดำเนินการไปว่าได้ผลเป็นอย่างไร
ยุทธศาสตร์ของขบวนการใต้ดินคือการก่อสงครามยืดเยื้อ แต่ด้านยุทธวิธีนั้นมีการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็ว ในขณะที่ฝ่ายรัฐเสียเปรียบด้วยโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ สายการบังคับบัญชายืดยาว มีลักษณะแบบแนวดิ่งจากข้างบนลงมาสู่ผู้ปฏิบัติด้านล่าง โดยไม่ให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจในแนวราบ ทำให้การตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติไม่ทันต่อสถานการณ์
การสานเสวนา โดยให้ทุกฝ่ายและทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อฟังเสียงสะท้อนจากแนวราบ เป็นสิ่งจำเป็นในการตั้งรับและปรับแผนรุกในการต่อสู้เอาชนะทางความคิด สำหรับสงครามยืดเยื้อครั้งนี้
มิฉะนั้นรู้เรา แต่ไม่รู้เขา ทุ่มกำลัง ทุ่มทรัพยากรลงไปเท่าไหร่แต่ไม่ได้ใจมวลชนก็เสียเปล่า รบอย่างไรก็ไม่มีทางชนะ