Skip to main content

 

ข้อเสนอต่อทุกภาคส่วนหลังท่านประยุทธ์สั่งชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

 

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

 กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ [email protected]

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

 

จากข่าวที่นายกรัฐมนตรี ยอมรับสั่งชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หลังเกิดกระแสเคลื่อนไหวคัดค้าน พร้อมกล่าวย้ำการเดินหน้าตามโรดแมปเลือกตั้งที่วางไว้

กล่าวคือเมื่อ 30 ม.ค.2561 ผู้สื่อข่าวทุกสำนักรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับถึงการสั่งชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หลังเกิดกระแสเคลื่อนไหวคัดค้าน พร้อมกับกล่าวย้ำถึงการเดินหน้าตามโรดแมปเลือกตั้งที่วางไว้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลแต่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมปได้นั้น จะต้องไม่มีปัญหาในข้อกฎหมายเกิดขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ยอมรับในความนิยมที่ลดลงของรัฐบาล-คสช. แต่มองเป็นเรื่องปกติของการบริหารประเทศต่อเนื่อง ที่ต้องเกิดปัญหาและจุดอ่อน ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นแต่ย้ำที่จะขับเคลื่อนงาน เพื่อวางรากฐานให้กับประเทศอีกระยะ แต่จะช้า หรือ เร็ว ให้เป็นไปตามกฎหมาย

นายกรัฐมนตรี ยังยอมรับว่า ได้สั่งการให้ชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาออกไปก่อน หลังเกิดกระแสต่อต้าน-คัดค้าน โดยได้สั่งการให้กระทรวงพลังงาน ไปศึกษาวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานวิธีอื่น ขณะเดียวกันยังสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันพิจารณาการใช้สารชนิดอื่นทดแทนสารพาราควอต แต่ระหว่างนี้ให้หามาตรการในการป้องกันเพื่อให้ใช้ได้อย่างปลอดภัย

(อ้างจากhttps://news.thaipbs.or.th/content/269775)

หลังสั่งชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาพบว่ามีเสียงสะท้อนมากมากมายทั้งฝ่ายหนุนโครงการและฝ่ายค้าน ผู้เขียนมีมีทัศนะว่าหากเป็นไปได้ให้เริ่มนับหนึ่งใหม่หรือเซ็ตซีโร และเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนตั้งแต่ก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการ

  อันเนื่องมาจากผู้เขียนได้ร่วมลงพื้นที่โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียที่อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา และร่วมให้ข้อเสนอแนะในการศึกษา(ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจโครงการขนาดใหญ่ของรัฐโดยนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสันติสุข สถาบันพระปกเกล้าหรือที่เรียกว่า 4 ส รุ่นที่ 8 นำโดยนายแทย์นันทวัทวัช สิทธิรักษ์ หัวหน้าวิชาการและคณะนักศึกษา จำนวน 80 ที่มาจากทุกภาคส่วน

กล่าวคือ         จากการลงพื้นที่ในโครงการขนาดใหญ่หรือเรียกว่าเมกะโปรเจคของรัฐจำนวน 5 โครงการที่มีคุณลักษณะที่แตกต่างกันออกไปทั้งที่ดำเนินการไปแล้วเสร็จ (โครงการโรงแยกแกสจะนะ และโครงการอ่างเก็บน้ำลำตะคอง) กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ (โครงการถมทะเลมาบตาพุดเฟสสาม และโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา) และโครงการที่กำลังก่อรูป (โครงการเชียงใหม่เมืองมรดกโลก) พบว่า

1.  แก่นหลักที่นำมาสู่ความขัดแย้งและความแข็งขืนต่อต้านโครงการของรัฐในภาพรวมคือ ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน (no trust) ประเด้นหลักที่พบได้ทุกโครงการได้แก่ ชุดข้อมูลที่ฝ่ายรัฐและแนวร่วมรัฐหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการมีอยู่มักถูกเผยแพร่สู่สาธารณะในวงจำกัด ไม่เป็นปัจจุบัน และมีการตัดทอนหรือเซ็นเซอร์ ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรืออาจให้ข้อมูลไม่ตรงตามเอกสารจริง  ในขณะที่อีกฝ่ายที่เป็นองค์กรเอกชนถูกอีกฝ่ายอ้างด้วยเช่นกันว่าข้อมูลด้านตรงกันข้ามรวมทั้งมีการใช้วาทกรรมสร้างความแตกแยก

2.  การไม่ยอมรับผลการประเมิน EIA (Environmental Impact Assessmentคือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม”  EHIA (Environment and Health Impact Assessment) คือ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ โดยให้มีส่วนร่วมและรับฟังเสียงจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย จากหลายเหตุผล

3.  กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่รวบรัด ดำเนินการโดยฝ่ายรัฐหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการแต่เพียงฝ่ายเดียว

4.  ความไม่ยืดหยุ่นของเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์โครงการที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน

5.  กระบวนการลดผลกระทบเชิงลบและการเยียวยาของโครงการที่มีต่อประชาชนที่มิได้ศึกษามิติต่างๆทั้งระดับปัจเจก ชุมชน สังคม และจิตวิญญาณ ทั้งที่สามารถตีค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้ (tangible) และมีคุณค่าที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเลขได้ชัดเจน (intangible) อย่างรอบด้าน

6.  ไม่มีกระบวนการติดตามโครงการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

จากการวิเคราะห์ช่องว่างดังกล่าวข้างต้น จึงนำมาสู่การสร้างรูปแบบหรือโมเดลข้อเสนอเพื่อป้องกันความไม่เข้าใจกัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (TRUST) ในทุกภาคส่วนตั้งแต่ก่อนตัดสินใจโครงการ ไปจนกระทั่งถึงกลไกการเฝ้าระวังติดตามโครงการให้มีความสอดคล้องกับแผนที่ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง และบรรเทาปัญหา ผลกระทบต่างๆต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม ทันเวลา

             ดังนั้นขั้นตอนการดำเนินการสามารถแบ่งได้เป็น 2 ช่วงได้แก่

ระยะที่ 1 ก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการ

ขั้นตอนที่ 1 การมีส่วนร่วมต่อจัดหาข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างรอบด้าน

ก่อนการตัดสินใจว่า จะดำเนินโครงการใดๆ ควรมีข้อมูลที่เพียงพอและน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับด้วยกันทุกฝ่าย ในทุกโครงการจะต้องมีการจัดทำข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาอยู่แล้วตั้งแต่ขั้นตอน feasibility study แต่แน่นอนว่า จะเป็นชุดข้อมูลที่ภาครัฐหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการเป็นผู้ว่าจ้างให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และมักต้องทำ EIA และ/หรือ EHIA ด้วย อย่างไรก็ตาม เป็นที่ประจักษ์ว่า การศึกษาดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดบางประการทั้งเรื่องเวลา งบประมาณ รวมทั้งเป็นผู้ว่าจ้างการศึกษาผลกระทบเสียเอง ดังนั้น หากประชาชนรวมทั้งองค์ภาคเอกชนหรือ NGO หรือภาคส่วนอื่นในสังคมมีชุดข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะสามารถส่งเข้ามาเพิ่มเติมได้

ในขั้นตอนนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ

1.  สร้างความเป็นกลางของข้อมูล technical data/EIA/EHIA โดยรัฐและผู้ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการต้องไม่เป็นผู้ว่าจ้างเสียเอง ควรมีการบัญญัติเป็นตัวบทกฎหมายให้จัดตั้งองค์กรอิสระเฉพาะกิจศึกษา technical data/EIA/EHIA มีความเป็นอิสระจากภาครัฐ โดยมีการจัดหาเงินกองทุนจากสามภาคส่วนได้แก่ งบประมาณแผ่นดิน หน่วยงานที่จะดำเนินโครงการ และเพื่อสร้างความเป็นเจ้าของกองทุนนี้ร่วมกัน ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถร่วมสมทบเงินได้ (แต่ไม่ใช่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ)มีคณะกรรมการบริหารกองทุนนี้ องค์ประกอบมาจากสามภาคส่วนในสัดส่วนเท่ากันคือ ตัวแทนภาครัฐ นักวิชาการ และภาคประชาชน เมื่อต้องทำการศึกษาใดๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการชุดนี้ แล้วสำนักงานเลขานุการกองทุนจะเป็นผู้ดำเนินการว่าจ้าง นอกจากนี้ ภาคประชาชนสามารถขอการสนับสนุนการศึกษาได้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งการจัดทำข้อมูลดังกล่าวคู่ขนานจากภาคประชาชน

2.  จัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่สามารถรับชุดข้อมูลจากหลายช่องทาง โดยประชาสัมพันธ์สาธารณะ และมีช่องทางชัดเจนในการรับข้อมูล เมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไขระยะเวลาที่กำหนด ควรมีคณะกรรมการพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานั้นๆ ตัวแทนภาคประชาชน และตัวแทนภาครัฐในสัดส่วนเท่าๆกัน ช่วยกลั่นกรองข้อมูล แล้วสรุป นำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาโครงการต่อไป ชุดข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองนี้จะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ สามารถเข้าถึงโดยง่าย และมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็นด้วย

                             ชุดข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่นจึงมีความสำคัญมาก ความเพียงพอต่อการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจึงต้องครอบคลุม กว้างขวาง และเพียงพอ ไม่ดำเนินการจำกัดในวงแคบ เนื่องจากอาจมีผลกระทบลูกโซ่ ต่อเนื่อง และกินระยะเวลายาวนานกว่าผลกระทบเชิงเดี่ยวจากโครงการหนึ่งๆเท่านั้น

การเข้าถึงข้อมูลต้องกระทำอย่างเปิดเผยทุกขั้นตอน เอกสารที่ร้องขอต้องไม่มีการตัดทอน และต้องสามารถเชื่อมต่อชุดข้อมูลที่มีการปรับปรุงได้ทุกฉบับ สามารถสืบค้นย้อนกลับไปยังหน่วยงานผู้จัดทำได้ถูกต้อง ชุดข้อมูลสุดท้ายที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วมต้องประกาศเปิดเผยผ่านทั้งทางโซเชียลมีเดียและระบบปกติ

ขั้นตอนที่ 2 การร่วมกำหนดเป้าหมายโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและความจำเป็นของรัฐ

แม้ฝ่ายรัฐจะมีการกำหนดเป้าหมายของโครงการมาแล้วก็ตาม แต่ต้องสามารถปรับแต่งได้ให้สามารถสอดรับกับความต้องการของประชาชนด้วย เป็นที่ยอมรับได้ สมประโยชน์ของทุกฝ่าย  ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐควรมีความยืดหยุ่น สามารถปรับแต่งได้ตามความเหมาะสม

การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ผู้มีส่วนได้เสียไม่ควรจำกัดเฉพาะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์หรือได้รับผลกระทบโดยตรงเท่านั้น เช่น การดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้า รัศมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมควรพิจารณาถึงโอกาสที่ฝุ่นละอองหรือควันจะพัดพาไปถึง กรณีทรัพยากรทางทะเลก็ควรพิจารณาถึงผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารทั้งระบบ ในขั้นตอนนี้ หากเป็นโครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ต้องมีผู้ชำนาญการมาเกี่ยวข้อง ควรเพิ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเชิงเทคนิคทางวิชาการด้วย (Technical hearing) เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการและภาคประชาชนที่เข้าใจ เท่าทันเทคโนโลยีสามารถร่วมให้ความเห็นได้อย่างเต็มที่ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ส่วนได้เสียอย่างรอบด้านจะทำให้ทราบความต้องการที่ชัดเจนทั้งจากผู้ที่เห็นด้วย รวมทั้งทราบข้อกังวลใจจากผู้ที่คัดค้านหรือไม่เห็นด้วย ภาครัฐควรนำข้อคิดเห็นต่างๆเหล่านั้นมาปรับแต่งรายละเอียดเป้าหมายโครงการ แล้วนำเสนอกับกลุ่มต่างๆ จนกระทั่งสามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ไม่มีความขัดแย้งรุนแรง

กระบวนการในขั้นตอนนี้ไม่ควรสร้างเงื่อนไขช่วงเวลาและจำนวนครั้งไว้ตายตัว แต่ควรเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรับแต่งเป้าหมายจนกระทั่งทุกฝ่ายยอมรับได้ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน อย่างไรก็ตาม หากสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งที่รุนแรงย่อมเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของโครงการอย่างยั่งยืน

ก่อนการตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย ควรมีการทบทวนอีกครั้งว่า มีความสอดคล้องกับ Strategic Environment Assessment (SEA) หรือไม่ ประชาชนควรต้องมีโอกาสในการกำหนดความต้องการว่า อยากเห็นชุมชนของตนเองเป็นเช่นใดเสียก่อน เช่น อยากเห็นจังหวัดตนเองเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นั้น หรือพื้นที่ท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม หรือประสงค์จะเน้นเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ หากประชาชนมีฉันทามติว่าเป้าหมายในอนาคตของชุมชนแตกต่างจากเป้าหมายที่รัฐประสงค์ ควรเคารพการตัดสินใจของประชาชนเป็นที่สุด และนำเสนอผลการตัดสินใจตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นนี้ผ่านตามขั้นตอนพรบ. สิ่งแวดล้อมต่อไป

ระยะที่ 2 หลังจากตัดสินใจดำเนินโครงการ

ขั้นตอนที่ 3 กระบวนการลดผลกระทบโครงการและการเยียวยาอย่างมีส่วนร่วม

มีความชัดเจนว่าโครงการใหญ่ๆมักสร้างผลกระทบไม่มากก็น้อย ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งผลกระทบที่สามารถประเมินได้เป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ (tangible value) แต่หลายโครงการที่มักก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ความผูกพันที่มีต่อกันในสังคม คุณค่าทางวัฒนธรรม หรือคุณค่าทางจิตใจที่ประเมินเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้ยาก (intangible value) จึงมีข้อเสนอให้มีการประเมินทั้งสองส่วนนี้

นอกจากการจัดการผลกระทบแล้ว กรณีเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหาย หรือเพื่อการทดแทนสิ่งจะขาดหายไปเพื่อแลกกับการเสียสละเพื่อการก่อเกิดโครงการเป็นความละเอียดอ่อนที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเสียตั้งแต่ก่อนดำเนินโครงการ ควรมีการวิเคราะห์ทั้งมิติการอพยพเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ การเสียโอกาสในการทำมาหากิน ความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตหลากหลายมิติ รวมไปถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ การประเมินค่าความเสียหายต่างๆเหล่านี้จะผ่านการยอมรับก็ต่อเมื่อมีตัวแทนชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ควรมีการตั้งคณะกรรมการลดผลกระทบและเยียวยาที่มีอง์ประกอบไตรภาคี ได้แก่ ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนภาควิชาการ และตัวแทนภาคประชาชนในสัดส่วนเท่าๆกัน ภาครัฐอาจมีการจัดตั้งเป็นกองทุนชดเชยเพื่อดูแลผลกระทบในระยะยาว เช่น การส่งเสริมชดเชยอาชีพ

ขั้นตอนที่ 4 กระบวนการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างมีส่วนร่วม

การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เมื่อดำเนินโครงการไปแล้วอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องถือเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ควรมีในพื้นที่ดำเนินโครงการ เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นได้ในเวลาใดเวลาหนึ่ง ควรมีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังขึ้น สามารถแจ้งได้ตั้งแต่สัญญาณเตือนภัย และผลกระทบต่างๆ ช่องทางการแจ้งควรมีหลากหลายช่องทาง ในกรณีผลกระทบทางกายภาพและสุขภาพ จะต้องสามารถแจ้งเตือนภัยก่อนเกิดวิกฤตทั้งทางโซเชียลมีเดียและในพื้นที่ เพื่อลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้สามารถรับข้อมูลการแจ้งเตือนจากหลายช่องทาง และสามารถบริหารการตัดสินใจได้ทันท่วงทีในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

                อนึ่ง เนื่องจากผลกระทบมีได้หลากหลาย และอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ในบางครั้ง อาจเริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าจะมีผลกระทบตามมา จึงเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์การรับเรื่องร้องเรียน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการดำเนินโครงการในระยะยาวที่สมดุลย์ ควรพัฒนาระบบสารสนเทศที่มีชุดการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตัวชี้วัดต่างๆ และต้องเปิดเผยสู่สาธารณะด้วย ควรเปิดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อโครงการต่างๆที่ดำเนินการอยู่ในภาพรวมของจังหวัดเป็น

      ผู้เขียนหวังว่าหากโมเดลนี้หากได้รับการนำไปพิจารณาหรือปฏิบัติอย่างจริงจังโดยอาจจะนำร่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หลังท่านประยุทธ์สั่งชะลอโครงการก่อสร้างก็ได้

ผู้เขียนมีทัศนะว่าปัญหาการประท้วงที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ต่อโครงการนี้ซึ่งจะกระทบเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและ สิทธิชุมชนจนบายบานปลายสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือถ้าได้รับการอนุมัติหรือไม่อนุมัติอย่างไรสังคมในพื้นที่และภายนอกจะยอมรับได้ในกติกานี้ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือหนุน

  ปัญหาการไม่ยอมกันคงมีแต่อาจจะน้อย  การประท้วงหน้าทำเนียบ  ก็คงจะลดหรือถ้ามีประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นโล่ให้รัฐเพราะผ่านกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรมและมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

ในขณะที่  หน่วยความมั่นคงจะลดภาระในการจัดการ  และท้ายสุดรัฐก็มีความมั่นคงโดยมีประชาชนเป็นกองหนุนในที่สุด  ท้ายสุดสังคมไทยสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีอารยะ

 

หมายเหตุ : ข้อเสนอนี้ยังเป็นร่างที่ยังรอการปรับซึ่งทุกภาคส่วนสามารถให้ข้อเสนอเเนะเเละจะเป็นประโยชน์มาก

 

ประมวลภาพวันร่วมเสนอร่าง ณ Thaipbs กรุงเทพมหานคร 27/1/61

 

ดาวน์โหลด (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อการตัดสินใจดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ