เรื่องโดย อาทิตย์ เคนมี
ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร deepsouth bookazine Vol.3, 2551
มีคำพูดอยู่ว่า...นักเก็บกู้วัตถุระเบิดมีโอกาสทำงานผิดพลาดได้เพียงครั้งเดียว เพราะจะไม่มีโอกาสให้แก้ตัวเป็นครั้งที่สอง!
ทว่าใครบางคนอาจย้อนว่า ที่จริงแล้วนักกู้ระเบิดสามารถทำผิดพลาดได้ไม่เกิน 2 ครั้ง โดยความผิดครั้งแรกก็คือ การที่พวกเขาตัดสินใจเลือกเข้ามาสังกัดหน่วยนี้ตั้งแต่ต้น
ในความรู้สึกของคนทั่วไปก็อาจจะคิดเช่นนั้น แต่สำหรับวีรบุรุษเดนตายอย่างหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือ ‘อีโอดี’ (Explosive Ordnance Disposal) แม้จะรู้ดีว่าวัตถุแปลกปลอมต้องสงสัยที่วางอยู่ตรงหน้าอาจฉีกร่างของเขาออกเป็นชิ้นๆ ได้ทุกเมื่อ ...แต่พวกเขาก็เกิดมาเพื่อสิ่งนี้
ท่ามกลางสถานการณ์สงครามที่ไม่มีความปรานีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น้อยคนนักที่จะมีจิตอาสากล้าเข้ามาแบกรับหน้าที่นี้ โดยเฉพาะการทำงานอยู่กับวัตถุอันตรายที่ไม่เข้าใครออกใคร
ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดออกปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตายในพื้นที่ นั่นหมายความว่า ขาข้างหนึ่งของพวกเขาได้ก้าวล่วงเข้าสู่ดินแดนแห่งความตายอย่างไม่อาจปฏิเสธ
– 1 –
จากรายงานเชิงสถิติที่รวบรวมโดย ‘เครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้’ (Violence-related Injury Surveillance: VIS) ระบุว่า เฉพาะในปี 2550 เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 1,228 ครั้ง หรือเฉลี่ย 3.4 ครั้งต่อวัน โดยเกือบครึ่งหนึ่งมีสาเหตุจากอาวุธปืน และมากกว่า 1 ใน 3 เป็นการใช้วัตถุระเบิด
หากวัดระดับความรุนแรงในการก่อเหตุแล้ว การวางระเบิดนับว่ามีอานุภาพทำลายล้างสูงกว่าการใช้อาวุธปืนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะการเลือกลงมือด้วยวิธีดังกล่าวไม่เพียงแต่จะหวังผลในการ ‘สังหารหมู่’ เท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายสร้างแรงกระเพื่อมทางความรู้สึกของประชาชนในวงกว้าง รวมถึงลดทอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐในเกมที่ผู้ก่อความไม่สงบเป็นผู้กำหนดอีกด้วย
ดังนั้น หนทางในการยับยั้งความรุนแรงมิให้ตัวเลขคนเจ็บและคนตายพุ่งสูงขึ้น รวมถึงการแสดงศักยภาพในการเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดแต่ละลูกที่ตรวจพบ จึงเป็นงานท้าทายของรัฐที่จะเรียกความเชื่อมั่นและช่วงชิงความรู้สึกของมวลชนกลับคืนมา
พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ (ผบช.สนว.ตร.) กล่าวถึงภาพรวมของเหตุระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สถานการณ์ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกจังหวัด เห็นได้จากสถิติการเกิดเหตุตั้งแต่ปี 2547-2550 ซึ่งหากเปรียบเทียบเป็นตารางแล้วจะพบตัวเลขที่น่าตกใจ ดังนี้
ในขณะที่เหตุลอบวางระเบิดมีความถี่สูงขึ้นเป็นลำดับ รัฐต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่ชุดอีโอดีที่ออกปฏิบัติหน้าที่เก็บกู้วัตถุอันตรายเหล่านี้ไปแล้วถึง 5 นาย ยังไม่นับรวมผู้บาดเจ็บและพิการอีกจำนวนไม่น้อย ดังนั้นในการปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตายแต่ละครั้ง จึงต้องรัดกุมและรอบคอบอย่างถึงที่สุด
พล.ต.ท.อัมพร กล่าวถึงนโยบายหลักในการทำงานของชุดอีโอดีว่า ในเบื้องต้นหากพบวัตถุต้องสงสัยไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ประการแรกจะต้องตรวจสอบว่าเป็นวัตถุระเบิดจริงหรือไม่ ถ้าใช่ ต้องเอ็กซเรย์ให้แน่ชัดว่าเป็นระเบิดชนิดใด มีความยากง่ายในการเก็บกู้เพียงใด หากเห็นว่าจุดที่พบวัตถุระเบิดมีความปลอดภัย ห่างไกลจากแหล่งชุมชน ก็ให้ยิงทำลายด้วยปืนแรงดันน้ำ (Water Cannon) เพราะถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรเอาชีวิตเข้าแลก
ประการต่อมา หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นวัตถุระเบิดที่ยากแก่การเก็บกู้หรือเคลื่อนย้าย ก็ควรทำลายระเบิดลูกนั้น ณ จุดที่คนร้ายวางไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปเก็บกู้
"การปล่อยให้มีการระเบิดที่จุดเกิดเหตุ ถือเป็นการทำงานตามหลักวิชาการ แต่คนมักไม่เข้าใจ และผู้ใหญ่หลายคนก็ไม่เข้าใจ พยายามจะให้เราเก็บกู้ นี่คือสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่อีโอดีต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่เสมอ แม้แต่ประเทศอังกฤษที่พบระเบิดกลางกรุงลอนดอน ก็ยังสั่งให้อพยพคนออกจากพื้นที่ แล้วจุดระเบิดตรงนั้นโดยไม่พยายามเคลื่อนย้ายหรือเก็บกู้ เพราะเป็นสัจธรรมว่าคนวางระเบิดไม่ต้องการให้กู้ได้อยู่แล้ว" พล.ต.ท.อัมพร กล่าว
เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สงครามในแบบที่เรียกว่า ‘การก่อการร้ายย่อยๆ’ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเรียนรู้กลเม็ดและวิธีการวางระเบิดของกลุ่มคนร้ายเหล่านี้มากขึ้น โดย พล.ต.ท.อัมพร กล่าวจากประสบการณ์ว่า เป็นที่รู้กันดีว่ากลุ่มก่อการร้ายจะไม่วางระเบิดเพียงลูกเดียว แต่จะวางซ้อนกันหลายลูก ส่วนตัวเคยเจอมากถึง 3 ลูก โดยระเบิดลูกที่ 2 หรือ 3 มีเป้าหมายชัดเจนที่จะปลิดวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเก็บกู้ ทำให้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานและชุดอีโอดีหลายรายต้องบาดเจ็บล้มตายจากระเบิดลูกที่ 2 หรือ 3
"แต่สาเหตุสำคัญที่สุดมาจากการพยายามเก็บกู้จนลืมหลักความปลอดภัย ลืมแม้กระทั่งเครื่องป้องกันตัวหรือเสื้อเกราะที่หลวงซื้อให้ นี่คือสาเหตุของการบาดเจ็บล้มตายมากที่สุด ทั้งๆ ที่อุปกรณ์ป้องกันเรามีครบ ไม่ได้ขาดแคลน ผมจึงบอกกับลูกน้องเสมอว่า อย่าเอาชีวิตและเลือดเนื้อของเราไปแลกกับกล่องอะไรก็ไม่รู้ เพราะมันไม่คุ้ม" พล.ต.ท.อัมพร กล่าว
แรงกดดันในการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลานับเป็นสิ่งที่ชุดอีโอดีทุกหน่วยต้องเผชิญ ความรู้สึกเช่นนี้ไม่ต่างกับ ร.ต.ท.ไพโรจน์ เมืองสุวรรณ หัวหน้าชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มักเกิดเหตุระเบิดในย่านใจกลางเมือง
หมวดไพโรจน์ อธิบายถึงกระบวนการคิดและวิธีทำงานของชุดอีโอดีว่า ทุกอย่างจะต้องแข่งขันกับเวลา ทุกวินาทีมีค่าสำหรับชีวิตเสมอ และที่สำคัญมันคือ ‘เกมวัดใจ’ ระหว่างผู้ถอดสลักกับผู้จุดชนวน โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องอาศัยความใจถึงพอๆ กัน เพราะโอกาสในการเล่นมีแค่ครั้งเดียว
“ระเบิดก็เหมือนงูเห่า อันตรายพอกัน ถ้าระเบิดลูกนั้นถูกวางไปแล้ว มันก็จะไม่รู้จักเจ้าของอีกต่อไป” เขากล่าว
ในการเก็บกู้วัตถุระเบิดแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่จึงต้องประเมินสถานการณ์อย่างถี่ถ้วนรอบด้าน ต้องสังเกตแม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ว่ามีสิ่งผิดปกติอื่นใดหรือไม่ เพื่อจะวิเคราะห์ให้ได้ว่าระเบิดลูกนั้นควรจะเก็บกู้หรือทำลาย หรือมีระเบิดลูกที่สองซุกซ่อนอยู่อีกหรือไม่ ฉะนั้นต้องอ่านใจผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามให้ขาด
“ในบางครั้งนักกู้ระเบิดก็ต้องคิดแบบโจร คือคิดในมุมกลับว่าถ้าเราเป็นโจร เราจะวางกับดักหลอกล่ออย่างไร ถ้าสามารถเข้าใกล้ความรู้สึกของโจรได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะทำงานสำเร็จก็มีมากขึ้นเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือความปลอดภัยของชีวิตจะต้องมาเป็นอันดับแรก” หมวดไพโรจน์ กล่าว
ร.ต.ท.ไพโรจน์ บอกอีกว่า อุปสรรคการทำงานที่ผ่านมาคือ ปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างองค์กร ซึ่งหน่วยราชการส่วนใหญ่มักมีสายบังคับบัญชาที่ค่อนข้างซับซ้อน จนบางครั้งอาจไม่ทันการ หรือคำสั่งที่ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ก็อาจผิดเพี้ยน ทำให้การวิเคราะห์สถานการณ์ผิดพลาดได้ ส่งผลให้ชุดอีโอดีต้องแบกรับความเสี่ยงมากขึ้น
ส่วนปัญหาเรื่องการสวมอุปกรณ์ป้องกันตัวนั้น หมวดไพโรจน์ มีคำอธิบายในฐานะผู้ปฏิบัติงาน
“ถึงแม้ว่าหน่วยอีโอดีจะมีชุดบอมบ์สูท ซึ่งเป็นชุดเสื้อเกราะกันสะเก็ดระเบิดที่ไว้ใจได้ระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างเทอะทะ ไม่ว่าจะลุก นั่ง ยืน เดินก็ไม่คล่องตัว และในสถานการณ์จริงจะใส่ชุดบอมบ์สูททุกครั้งคงไม่ได้ เพราะบางวันต้องลงพื้นที่ตรวจวัตถุต้องสงสัยสูงสุดถึง 17 ครั้งต่อวัน ฉะนั้นก็ต้องเสี่ยงเอา” หมวดไพโรจน์ บอก
– 2 –
นับตั้งแต่เหตุการณ์ลอบวางระเบิดเพิ่มความถี่มากขึ้นในช่วงปี 2547 เป็นต้นมา หน่วยงานความมั่นคงทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจภูธร และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ต่างก็พยายามส่งเจ้าหน้าที่ชุดอีโอดีเข้ามาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มากขึ้น เพื่อปลดชนวนความรุนแรงที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเอาไว้
แต่ปัญหาก็คือ...ทุกวันนี้ กำลังเจ้าหน้าที่ชุดอีโอดีขาดแคลนอย่างหนัก และไม่เพียงพอต่อการรับมือกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นแบบรายวัน และบ่อยครั้งยังมักเกิดเหตุพร้อมกันหลายจุด ทำให้เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เพียงหยิบมือเดียวต้องทำงานกันอย่างชนิดเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน
หนึ่งในชุดอีโอดีที่มีประสบการณ์โชกโชนอย่าง ด.ต.แชน วรงคไพสิฐ หรือ ‘ดาบแชน’ ตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานทำลายวัตถุระเบิด (ต.ทบ.) หน่วยปฏิบัติการพิเศษ สภ.เมืองนราธิวาส สะท้อนข้อมูลให้ฟังว่า โดยหลักการแล้วชุดอีโอดี 1 ชุด จะต้องประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 5 นาย แต่ข้อเท็จจริงขณะนี้พบว่า หน่วยงานตำรวจภูธรใน 3 จังหวัดภาคใต้ ยังมีเจ้าหน้าที่ไม่ครบตามอัตรากำลัง และขาดแคลนนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่จะมาเป็นหัวหน้าทีม
ทุกวันนี้ ชุดอีโอดีของดาบแชน มีตำรวจชั้นประทวนเพียง 4 นาย ต้องรับผิดชอบพื้นที่ทั้ง จ.นราธิวาส ครอบคลุมถึง 10 อำเภอ ยกเว้น 3 อำเภอคือ สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก และแว้ง ที่อยู่ในความดูแลของ ตชด. ซึ่งเมื่อเกิดเหตุแต่ละครั้ง ชุดอีโอดีของตำรวจภูธรจะต้องเป็นชุดแรกที่ไปถึงจุดเกิดเหตุเพื่อเคลียร์พื้นที่ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะรับมือได้ทัน
“สาเหตุที่มีเจ้าหน้าที่ไม่ครบชุด เพราะไม่มีใครอยากมาเสี่ยงตายกับงานนี้ ทั้งลูกเมียและคนที่อยู่ข้างหลังก็ไม่สบายใจ และงานแบบนี้ก็ไม่มีผลประโยชน์อย่างอื่นมาเกี่ยวข้อง นอกจากเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงที่มากกว่าหน่วยงานทั่วไปแค่ไม่กี่พันบาท” ด.ต.แชน กล่าว
ด.ต.แชน เริ่มจับงานด้านเก็บกู้วัตถุระเบิดตั้งแต่ปี 2531 ภายหลังได้ไปศึกษาต่อในหลักสูตรอีโอดีจากกรมสรรพาวุธเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ทั้งตำรวจและทหารใช้เรียนร่วมกัน จากนั้นจึงถูกส่งไปเรียนต่อที่สหรัฐอีก 1 เดือน
นักรบเดนตายอย่างดาบแชน ผ่านประสบการณ์เฉียดเป็นเฉียดตายในดงระเบิดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน มีผลงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ลูก เขาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่ผ่านมาตลอดช่วง 4 ปี ว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุมีการพัฒนาศักยภาพมากขึ้นเป็นลำดับ โดยยุคแรกนิยมใช้ระเบิดขว้างหรือระเบิดน้อยหน่า ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นระเบิดแสวงเครื่อง จุดชนวนด้วยนาฬิกาปลุกแบบอนาล็อก จากนั้นได้พัฒนาเป็นนาฬิกาดิจิทัล ซึ่งความน่าสะพรึงกลัวของการใช้นาฬิกาดิจิทัลก็คือ สามารถตั้งเวลาได้ยาวนานข้ามปี จนกว่าแบตเตอรี่จะหมดอายุการใช้งาน ฉะนั้นผู้ก่อเหตุจึงสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ว่าจะลงมือในช่วงใด
ต่อมาจึงเริ่มมีการใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือเป็นตัวจุดชนวน ส่งผลให้รัฐบาลต้องหันมาจัดระเบียบซิมการ์ดกันอลหม่าน โดยผู้ซื้อซิมการ์ดในระบบเติมเงินจะต้องลงทะเบียนชื่อและเลขประจำตัวประชาชน แต่สุดท้ายมาตรการดังกล่าวก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะไม่สามารถควบคุมได้
อย่างไรก็ตาม การใช้สัญญาณโทรศัพท์เป็นตัวจุดชนวนระเบิดก็มีโอกาสพลาดเป้าได้ง่าย เพราะสัญญาณไม่แน่นอน กระทั่งภายหลังคนร้ายจึงหันมาใช้สัญญาณรีโมทคอนโทรล เนื่องจากมีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงกว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้กับระเบิดชนิดเหยียบและกับระเบิดแบบลวดสะดุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนร้ายมีการคิดค้นและประยุกต์วิธีการใหม่ๆ มาใช้อย่างหลากหลายและต่อเนื่อง จนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไล่ตามแทบไม่ทัน
คงเหลือแต่เพียง ‘ระเบิดพลีชีพ’ เท่านั้นที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่หากสถานการณ์บานปลายและทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีกรณีระเบิดพลีชีพที่กลุ่มขบวนการยอมสละชีวิตเพื่อแลกกับความเชื่อบางอย่างของพวกเขาก็ได้
ด.ต.แชน กล่าวว่า สำหรับลักษณะพิเศษในการประกอบวัตถุระเบิดที่สังเกตได้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่อง อันหมายถึงวัตถุระเบิดที่ประกอบขึ้นจากวัสดุที่หาได้ใกล้ตัว ไม่มีรูปแบบชัดเจน โดยวัสดุที่ใช้ห่อหุ้มมีตั้งแต่ซองบุหรี่ กระป๋องเบียร์ กล่องเหล็ก ท่อเหล็ก ท่อพีวีซี หรือที่เรียกว่าไปป์บอมบ์ ซึ่งยากแก่การตรวจจับและเล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่ได้ง่าย
ขณะที่ส่วนผสมหลัก ได้แก่ ปุ๋ยเคมีประเภทโซเดียมคลอเรท หรือเรียกภาษาชาวบ้านก็คือยาฆ่าหญ้า ซึ่งหาซื้อได้ง่าย ราคาถูก และมีขายตามท้องตลาดทั่วไป แต่เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลก็สามารถผลิตเป็นอาวุธฆ่าคนได้
“สูตรผสมดินระเบิดสมัยนี้หาเรียนที่ไหนก็ได้ เปิดดูทางอินเตอร์เน็ตก็มีเยอะแยะ ไม่จำเป็นต้องไปเรียนถึงต่างประเทศ โดยกลุ่มคนร้ายจะส่งต่อความรู้กันเป็นทอดๆ แต่ละกลุ่มจะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มหนึ่งเป็นฝ่ายผลิต กลุ่มหนึ่งวางระเบิด และอีกกลุ่มเป็นผู้จ้างวาน ใช้งบลงทุนไม่กี่บาทก็สามารถทำได้แล้ว อย่างเช่นเครื่องโทรศัพท์ราคา 300 บาท ปุ๋ยกิโลละ 90 บาท ค่าจ้าง 500 บาท บวกค่าอุปกรณ์อีกนิดหน่อย เบ็ดเสร็จไม่เกิน 1,200 บาท” ด.ต.แชน กล่าว
ด.ต.แชน วิเคราะห์ด้วยว่า นอกจากกรรมวิธีในการประกอบวัตถุระเบิดที่มีลักษณะเฉพาะตัวแล้ว ยุทธวิธีและรูปแบบในการลอบวางระเบิดก็มีการพลิกแพลงอย่างน่าสนใจ ซึ่งคาดว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุอาจได้รับอิทธิพลทางความคิดบางอย่างจากดินแดนตะวันออกกลางอย่างอัฟกานิสถานหรืออิรัก เห็นได้จากการที่คนร้ายมักใช้วิธีซุกซ่อนวัตถุระเบิดไว้ตามถังขยะ ตลาด ชุมชน สถานที่ราชการ หรือซุกไว้ในรถจักรยานยนต์ กระทั่งต่อมาใช้วิธีขุดเจาะใต้ผิวถนนเพื่อฝังระเบิดที่ดัดแปลงจากถังดับเพลิง ซึ่งมีอานุภาพร้ายกาจถึงขั้นถล่มรถยนต์ฮัมวี่จนหงายท้องได้
และล่าสุดยังพัฒนาถึงขั้นติดตั้งวัตถุระเบิดไว้ในรถยนต์ หรือที่เรียกว่า ‘คาร์บอมบ์’ ดังเช่นเหตุการณ์ที่หน้าโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อค่ำวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา
“ขณะนี้ถนนแทบทุกสายมีการเจาะถนนฝังระเบิดไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะเส้นทางสายย่อยในหมู่บ้าน เพียงแต่เราจะหาเจอหรือไม่เท่านั้น” เขาบอก
ด.ต.แชน ประเมินว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุลอบวางระเบิดมีหลากหลายกลุ่มและกระจัดกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ ในขณะที่กำลังพลของเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด ซึ่งเขามองว่า หากเป็นไปได้ควรจะมีหน่วยอีโอดีประจำอยู่ทุกโรงพัก แต่ในความจริงก็เป็นที่รู้กันว่า เป็นเรื่องยากที่จะควานหาผู้เสียสละมาทำหน้าที่นี้
“หลายคนที่ไปเรียนหลักสูตรอีโอดีมาแล้ว แต่ไม่ลงมาทำงานตรงนี้ เพราะเขาเรียนเพื่อเอาเหรียญอีโอดีมาประดับอก และคิดว่าไม่คุ้มที่จะมาเสี่ยงให้มือขาดขาขาด” ดาบแชน ระบายความรู้สึก
ด.ต.แชน ยืนยันว่า ทุกวันนี้ไม่เคยคิดท้อแท้หรือวางมือจากวงการ เพราะนับวันก็ยิ่งหาคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนได้ยาก อีกทั้งบ้านเกิดเมืองนอนของเขาก็อยู่ที่นี่ ส่วนลูกเมียก็ทำใจยอมรับได้แล้ว จึงไม่คิดหนีไปไหนแน่นอน แม้ว่าในบางค่ำคืนจะต้องสะดุ้งตื่นจากฝันร้ายก็ตาม
“มีอยู่วันหนึ่งผมเอนหลังนอนบนรถ 191 จากนั้นได้ยินเสียงตูมดังสนั่น พอสะดุ้งตื่นขึ้นมาก็รีบคลำตามร่างกายว่าอยู่ครบหรือเปล่า ปรากฏว่าโชคดีที่แค่ฝันไป” เขาเล่า
– 3 –
ตลอดห้วง 4 ปีที่ผ่านมา ระเบิดลูกแล้วลูกเล่าถูกมือที่มองไม่เห็นมุ่งสร้างสถานการณ์ความหวาดกลัวแก่พี่น้องในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมามีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเอาธงชาติไทยมาห่อหุ้มวัตถุระเบิด การวางระเบิดแผงหมูในตลาดสด รวมถึงการวางระเบิดธนาคารพาณิชย์พร้อมกันถึง 22 จุด ฯลฯ แต่ละกรณีล้วนมีการสื่อสัญลักษณ์บางอย่างที่กลุ่มคนร้ายพยายามส่งสารมายังรัฐไทย
ทว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏชัดเจนว่าคนร้ายจะอ้างตัวเป็นกลุ่มใดหรือมีเป้าหมายอย่างไร ทำให้เจ้าหน้าที่กองวิทยาการและฝ่ายพิสูจน์หลักฐานทำได้เพียงแกะรอยจากซากชิ้นส่วนของวัตถุพยานที่ยังพอหลงเหลืออยู่ ก่อนจะแยกแยะหลักฐานส่งต่อให้ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) จ.ยะลา เพื่อรวบรวมข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อ
และด้วยเหตุที่สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรเลียในการจัดตั้ง ‘ศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด’ หรือ ‘บอมบ์ดาต้าเซ็นเตอร์’ (Bomb Data Center) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 โดยมีหลายประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่าย
พล.ต.ท.อัมพร กล่าวถึงจุดประสงค์สำคัญในการก่อตั้ง บอมบ์ดาต้าเซ็นเตอร์ ก็เพื่อรวบรวมข้อมูลระเบิดจากทุกจุดทั่วประเทศไทย แล้วบันทึกข้อมูลไว้ เนื่องจากระเบิดทุกลูกย่อมปรากฏร่องรอย หรือ Signature เหมือนเป็นลายเซ็นของผู้ประกอบระเบิด ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์ได้ว่าระเบิดลูกนั้นเป็นฝีมือใครหรือกลุ่มใด และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น เหตุระเบิด 9 จุดที่กรุงเทพฯ ในคืนส่งท้ายปีเก่า 2549 กับเหตุระเบิดที่ภาคใต้มีความเกี่ยวโยงกันหรือไม่ เป็นต้น
“บอมบ์ดาต้าเซ็นเตอร์ จะเชื่อมข้อมูลระเบิดและมือระเบิดกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วย เพราะเราเชื่อว่ามือระเบิดทั่วโลกนั้นมีความเชื่อมโยงกันหมด แต่เท่าที่วิเคราะห์หลักฐานต่างๆ จากระเบิดในภาคใต้แล้ว ยังไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้ายในกลุ่มประเทศมุสลิมหัวรุนแรง แต่อาจเป็นเพียงการลอกเลียนแบบแนวคิดกันมาเท่านั้น” พล.ต.ท.อัมพร ระบุ
พล.ต.ท.อัมพร กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระเบิดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้กันอย่างเป็นทางการ เพราะมีหลายหน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร และ ตชด. เนื่องจากแบ่งพื้นที่กันดูแล แต่จะมีการพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเรียนรู้ร่วมกันถึงพัฒนาการของกลุ่มก่อความไม่สงบ
และจากการเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างไม่เป็นทางการนี้เอง ได้ส่งผลถึงการแกะรอยพยานหลักฐานต่างๆ จนสามารถนำไปสู่การจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้จำนวนไม่น้อย โดยนับตั้งแต่ปี 2547 ถึงเดือนมกราคม 2551 ศาลได้พิพากษาลงโทษคดีที่เกี่ยวกับระเบิดไปแล้วทั้งสิ้นถึง 71 คดี
ฉะนั้น จึงพิสูจน์ได้ว่าวัตถุชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ถูกทำลายจากแรงระเบิดและกระจายอยู่ในที่เกิดเหตุนั้น ทุกชิ้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้สาวไปถึงตัวคนร้ายได้ ความระมัดระวังในการ ‘เก็บหลักฐาน’ ไม่ให้กลายเป็นการ ‘ทำลายหลักฐาน’ จึงสำคัญอย่างยิ่งไม่แพ้กัน
นับจากนี้ไปจึงได้แต่หวังว่า กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลระเบิดของหน่วยงานด้านความมั่นคงจะมีความชัดเจนมากขึ้นไปอีก โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบและประสานงานกันระหว่างชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดกับทีมพิสูจน์หลักฐาน เพื่อค้นหามือมืดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
และที่สำคัญคือต้องอาศัยความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของหน่วยกล้าตายอย่าง ‘อีโอดี’ ที่พร้อมพลีชีพได้ทุกเมื่อเพื่อความปลอดภัยของทุกคน