หมายเหตุ: ชื่อหมู่บ้านจำนวนมากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตั้งชื่อผิดเพี้ยนจากเดิม “ชื่อบ้าน นามเมือง ในพื้นที่ชายแดนใต้” เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ดำเนินการมาเพื่อความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ด้านภาษาและประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านการศึกษาชื่อ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งระดับท้องถิ่น ผู้นำศาสนา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชาวบ้านเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชนโดยมี 10 หมู่บ้านรวมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส นอกจากนี้มีการประสานงานกับภาครัฐ ศอ.บต. ผู้ว่าราชการจังหวัด แขวงการทางจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้กระบวนการการเปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้านบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ เป็นการคลี่คลายความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรม และนับว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่ส่งเสริมสันติภาพได้อย่างดีเยี่ย.....
หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปัตตานี คำว่า “บลีดอ” เป็นภาษามลายูถิ่น หมายถึง ปลากรายซึ่งมีอยู่อย่างชุกชุมในบึงของหมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูน้ำหลากของทุกๆ ปี ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “กัมปงบลีดอ” หมายถึง หมู่บ้านปลากราย
เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน มีชายหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อ นายสุหลง และเซ็ง เดินทางจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อมาศึกษาเล่าเรียนวิชาศาสนาที่ปอเนาะแห่งหนึ่งในปตานี[1] หลังจากนั้นท่านได้เข้ามาตั้งรกราก ณ หมู่บ้านแห่งนี้และได้สมรสกับหญิงสาวชาวปตานี ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง “ปอเนาะบลีดอ” เพื่อใช้เป็นสถานที่สอนศาสนา วิชาภาษามลายูอักษรญาวี ฝึกการปฏิบัติละหมาด ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือท่านเสมือนบิดาและเรียกท่านว่า “โต๊ะบลีดอ” ปัจจุบันบุคคลสำคัญในหมู่บ้านที่สืบเชื้อสายมาจาก “โต๊ะบลีดอ” คือ นายฮัจญีอับดุลรอนิง แวนิ อิหม่ามประจำมัสยิด “บลีดอ” ชาวบ้านหมู่บ้าน “บลีดอ” ล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานของท่านทั้งสิ้น
ในบรรดาหมู่บ้านนับพันของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมู่บ้าน “บลีดอ” เป็นหมู่บ้านที่มีปัญหาเกี่ยวกับป้ายชื่อหมู่บ้านมากที่สุด ทั้งนี้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 มีการตัดถนนลาดยางเข้าสู่หมู่บ้านโดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดปัตตานี (รพช.) เมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงาน ทาง รพช. ได้ติดตั้งป้ายชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านปิดอ” โดยไม่ได้ปรึกษาชาวบ้าน ความเร่งรัดและความไม่รอบคอบในครั้งนั้นสร้างความคับข้องใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เพราะคำว่า “ปิดอ”มีความหมายไม่เหมาะสม (หมายถึง อวัยวะเพศหญิงและชาย) หลังจากนั้นประมาณ 4 – 5 ปี ป้ายชื่อดังกล่าวก็ถูกทำลาย เหลือไว้แค่เพียงเสาเท่านั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 กรมชลประทานได้เข้ามาพัฒนาและปรับปรุงบึงในหมู่บ้าน โดยได้ขึ้นป้ายชื่อว่า “บึงปรีดอ” ตามชื่อหมู่บ้าน “ปรีดอ" ดังที่ปรากฏในชื่อทะเบียนหมู่บ้าน อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
แม้ว่าปัจจุบันชื่อของหมู่บ้านจะเปลี่ยนจาก “บ้านปิดอ” เป็น “บ้านปรีดอ” แล้วก็ตาม ชาวบ้านก็ยังต้องการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านของตนเป็น “บ้านบลีดอ” ดังที่เคยเรียกขานกันในอดีตเนื่องจากเป็นชื่อที่ตรงกับที่มาของชื่อหมู่บ้าน สร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของตนเอง
ปลากราย หรือ “อีแกบลีดอ”
ที่ชาวบ้านจับได้จากบึงในหมู่บ้าน”
ผู้นำชุมชนชี้จุดที่มีปลากราย หรือ “อีแกบลีดอ” ชุกชุม
โต๊ะอิหม่ามชี้เสาที่เคยติดป้ายชื่อหมู่บ้าน “ปิดอ”
ป้ายปัจจุบันบ้าน “บลีดอ”
มีชื่อทางการว่าบ้าน “ปรีดอ”
[1] ปตานี เขียนโดยยึดหลักตามคำเขียนภาษามลายูอักษรยาวี ( فتاني ) แปลว่า ชายหาดนี้ ทั้งนี้หมายถึง ราชอาณาจักรปตานี ดารุสสลาม ในอดีต
ติดตามอ่านเรื่องราวประวัติการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน ตามโครงการ "ชื่อบ้านนามเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้" ที่ผ่านมา