แถลงการณ์ขอให้ยุติความรุนแรงทุกชนิด
จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2553 ระหว่างแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนนำมาสู่ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย นับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 เรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 รัฐบาล โดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ซึ่งนำโดยกองกำลังทหารและตำรวจ ได้ประกาศใช้มาตราการ “ปิดล้อม” กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เพื่อพยายามคลี่คลายวิกฤต โดยได้ดำเนินมาตรการกดดัน ด้วยการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และประกาศกฎอัยการศึกใน 17 จังหวัด ซึ่งให้อำนาจรัฐในการใช้กำลังปิดล้อมพื้นที่รอบบริเวณที่ชุมนุม ไม่ให้มีการสัญจรไปมา ปิดการสื่อสาร มีการตัดสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา ห้ามมิให้รถเสบียงนำอาหารและน้ำเข้าไปในพื้นที่ ในขณะเดียวกันได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ใช้กำลังตอบโต้กับมาตราการของรัฐบาล ดังปรากฎเป็นความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจน ยากที่จะควบคุมได้ และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์
เหตุการณ์ในลักษณะนี้อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะของการจลาจล สงครามการเมือง หรือ “ความไม่สงบภายใน” ที่มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของบุคคล อันเป็นการขัดกับหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights – UDHR) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ในกรณีเกิดการสู้รบขึ้น
คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ในฐานะที่เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ขอประนามผู้ที่ก่อความรุนแรงทุกฝ่าย ขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงทุกชนิด ทั้งนี้คณะทำงานฯ มีข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ที่ใช้ความรุนแรงดังนี้
1. ให้ยึดหลักการของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการต้องปกป้องการละเมิดสิทธิต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับพลเรือน เด็ก สตรี ผู้ที่ถูกจับ และบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง รวมถึงผู้บาดเจ็บต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยทันที ไม่มีข้อยกเว้นหรือเลือกปฎิบัติทางด้าน เชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อถือหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ห้ามมิให้มีการซ้อมทรมาน ห้ามมิให้มีการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ การกระทำใดที่อาจเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และห้ามมิให้มีการตัดสินลงโทษใดๆที่ไม่ผ่านกระบวนการวินิจฉัยโดย ศาลที่เป็นอิสระ และโปร่งใส ทั้งนี้เป็นไปเนื้อความในอนุสัญญาฉบับที่ 4 ว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองบุคคลพลเรือนในระหว่างสงคราม หรือการขัดแย้งทางกำลังทหาร และ พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ว่าด้วยการคุ้มครองพลเรือนซึ่งได้รับผลกระทบจากการขัดแย้งทาง กำลังทหาร ที่มิใช่ระหว่างประเทศ เช่น สงครามกลางเมือง การขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏ (www.icrc.org)
2. ยึดและเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกฝ่าย โดยเฉพาะสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งได้มีการรับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และตามกติกาสากลระหว่างประเทศนั้น ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธเท่านั้น อีกทั้งหากมีเหตุจำเป็นหรือสุดวิสัยที่รัฐบาลต้องสลายการชุมชุมก็จำเป็นต้องยึดหลักปฎิบัติสากล (Rule of Engagement) และจำเป็นอย่างที่สุดในการต้องรักษาชีวิตของผู้ชุมนุม
3. ขอให้รัฐยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พรก.ฉุกเฉิน) ในทุกเขตพื้นที่ และ ขอให้ผู้ชุมนุมยุติการใช้อาวุธทุกชนิด กลับเข้าสู่ที่ชุมนุมอย่างสงบสันติ และเป็นไปตามครรลองของกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการสร้างเงื่อนไขต่างๆอันจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ทั้งนี้รัฐควรนำแนวทางนี้ไปปรับใช้กับการยกเลิกพรก.ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน
4. คณะทำงานฯขอเรียกร้องยังรัฐบาล กลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล ให้ใช้สติ และปัญญาบนพื้นฐานของความอดทน อดกลั้น ในการแก้ไขปัญหา เพื่อฝ่าวิกฤตินี้ร่วมกัน โดยทุกฝ่ายต้องแสดงความจริงใจในความต้องการยุติความรุนแรง ไม่ยึดถือประโยชน์ และความต้องการส่วนตนเป็นที่ตั้ง บนพื้นฐานของสันติวิธี การเคารพกฎหมาย และพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม (Fair Trail Justice) หันกลับมาสู่การเจรจาเพื่อมิให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนเป็นบาดแผลที่ยากเกินกว่าจะเยียวยาแก้ไข ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยทุกคน
ด้วยความสมานฉันท์
คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ