Skip to main content

ใช่หรือไม่? “การเห็นต่าง

คือหนึ่งในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

กรณี ก(ล)างเมือง: ห้องเรียนเพศวิถี[1]

ที่มา: https://kenanmalik.files.wordpress.com/2012/05/klee.jpg

เราต้องคำนึงร่วมกันว่า

“การสื่อสารอยู่เพียงฝ่ายเดียว ทางเดียว คนเดียว กลุ่มเดียว ท่ามกลางความขัดแย้งและเห็นต่างของสังคมพหุวัฒนธรรมนั้น 

ถือเป็นการทำงานด้านสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งที่ล้มเหลวเสมอ ๆ” 

(บทนำ)

ก่อนหน้านี้ผมเคยนำเสนอบทความชิ้นที่ 2 “ใจกว้าง ถางทางต่างที่ไม่ลงรอย”[2] เพื่อนำเสนอให้มีการเปิดวงคุย “ในประเด็นที่เห็นต่าง” นำไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วม (แม้คู่สนทนาไม่อยากจะคุยประเด็นนี้กันสักเท่าไหร่หรือ 5 วันที่ผ่านมานี้บนสังคมออนไลน์อาจเป็นประเด็นที่ค่อนข้างจะน่าเบื่อ)

แต่ “คนทำงานทางด้านสันติภาพ” ต้องคิดต่างจากคนอื่นเพราะประเด็นที่กำลังถกเถียงนี้คือ ปฐมบทแห่งการหาองค์ความรู้ร่วมกันท่ามกลางสังคมที่มีผู้เห็นต่าง” หากเราไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์เห็นต่างแบบมีส่วนร่วมได้ (ทุกคนพูด แต่ต่างกรรมต่างวาระ) เราก็อาจเป็นหนึ่งใน “นักเคลื่อนไหวสันติภาพ” ที่ใช้กระบวนอื่น นอกเหนือจาก “หลักสันติวิธี” ขั้นพื้นฐานที่อยู่บนฐานความใจกว้างและยอมรับความต่างระหว่างกัน

 “สิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ทั้งฝ่าย (เห็นต่าง) และฝ่าย (เห็นด้วย) เป็นประเด็นสาธารณะ(ไม่ใช่ปัญหาของคน 2 คน) ซึ่งแน่นอน สิ่งนี้จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อชีวิตของผู้คนในแต่ละวันที่เราต้องเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

เมื่องานของผมได้ออกสู่โลกสังคมออนไลน์ ด้วยความเป็นห่วง จึงมีเพื่อนนักวิชาการในสังคมไทยเตือนผมด้วยความเป็นห่วงว่า “ให้หยุดที่จะเขียนอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกรณี ก(ล)างเมือง: ห้องเรียนเพศวิถี” หนำซ้ำยังบอกให้ผม “ลบข้อความดังกล่าวที่ผมเขียนไปในบทความชิ้นที่ 1 (โลกไม่แคบ ใจไม่แคบ แต่เราคับแคบที่จะเรียนรู้ความต่าง)[3] เพราะผมอาจจะไม่มีที่ยืนทางวิชาการในสังคมไทย”

ผมขอบคุณสำหรับมิตรสหายที่เป็นห่วง ผมเข้าใจ สถานการณ์อย่างนี้ หากเราเงียบภายใต้ความขัดแย้ง เราจะไม่เปลืองตัว และหากเราทำไม่รู้ไม่เห็น เราก็จะไม่เพิ่มผู้มองเราเป็นเป็นอื่น สุดท้ายสมรภูมินี้ เราคือผู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

แต่ขอโทษนะครับ!!! “ผมไม่มีที่ยืนและมีชื่อเสียงในสังคมไทยมาตั้งแต่ต้น” กอปรกับท่ามกลางสถานการณ์ “ความมึนงงและความเห็นต่าง”  ผมในฐานะหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกระบวนการสันติภาพและการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย ผมจำเป็นที่จะต้องสื่อสารสิ่งที่ผม “มองต่าง” ออกมาให้ “ชัดเจนที่สุด” และต้องไม่เป็นไป “แบบเทา ๆ”

ความจริง ผมหมายจะจบนำเสนอความเห็น “กรณี ก(ล)างเมือง: ห้องเรียนเพศวิถี” ในบทความชิ้นที่ 2 แต่เมื่อสถานการณ์มาแบบนี้และมีการให้สัมภาษณ์ของ อาจารย์ ดร. อัณธิฌา แสงชัยกับรายการ “เสียงไทยเพื่อเสรีภาพของคนไทย” ของคุณจอม เพชรประดับ ผมก็จำเป็นต้องเขียนบทความชิ้นที่ 3 ออกมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อชี้แจงประเด็นที่มีการ “เห็นพ้องและเห็นต่าง” (ซึ่งแน่นอนไม่มีใครเห็นต่าง “เรื่องผู้หญิงเล่นกีฬาฟุตบอล เพราะถือเป็นสิ่งกระทำได้และไม่ผิดหลักการศาสนา”

แต่การ “มองต่าง” ที่เป็นจุดเริ่มไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างถ้วนหน้าในสื่อออนไลน์คือ การนำเสนอว่า “ผู้หญิงสามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้” (สามารถรับฟังแบบตั้งใจในสารคดีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560) ให้กับ “นักศึกษามุสลิม ผู้มีความเชื่อใต้ฐานคิดแห่งอิสลาม” ต่างหากที่กลายเป็นประเด็นในสื่อออนไลน์)

(เข้าเรื่อง)

กิจกรรมเรื่องเพศวิถี ถือเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันมีผู้อยู่ใน “สถานะ” ดังกล่าวค่อนข้างสูง ซึ่งมีให้เห็นในสังคมมุสลิม ซึ่งรายละเอียดของการรับมือและทำงานเพื่อเพศวิถีสามารถติดตามกิจกรรมของ “ห้องเรียนเพศวิถี” ผ่านการทำงานของ อาจารย์ ดร.อัณธิฌา แสงชัยและอาจารย์ดาราณี ทองศิริซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านนี้ได้ชี้แจงจุดยืนไว้อย่างละเอียด[4] กระนั้นประเด็นข้อถกเถียงในสังคมออนไลน์ ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้

1.       ผมไม่ได้ต้านแนวคิดของ ดร. อัณธิฌา แสงชัยในการทำงานเรื่องเพศวิถี ผมยังเห็นด้วยและสนับสนุน เพราะ ผมก็เห็นปัยหาสังคมมุสลิมไม่ต่างแว่นและมุมของอาจารย์ และสำหรับกรณี “การเล่นฟุตบอลของผู้หญิงหรือเพศทางเลือก” ก็ถือเป็นสิ่งที่สังคมมุสลิมจะต้องให้การสนับสนุน เพราะทุกคนจะต้องได้รับพื้นที่ในความเป็นตัวตนและเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ หนำซ้ำการทำงานของกลุ่มอาจารย์เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งสามารถสร้างกลุ่มเด็ก ๆ และเยาวชนมาเปิดพื้นที่ถกเถียงและร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะแนวคิดทางด้านสิทธิมนุษยชนด้วยแล้วถือเป็น “สิ่งที่ดีมาก” เพราะสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า “สังคมของเราให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน”

ประเด็น “การเล่นกีฬาฟุตบอลของสตรีไม่มีใครขัดแย้งกับอาจารย์” และสังคมมุสลิม “ก็ไม่ได้ห้ามการออกกำลังกาย” ดังกล่าวด้วย (แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยและบริบททางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม สำหรับกรณีของหญิงสาวมุสลิม เช่น การแต่งกายของสตรีจะต้องมิดชิด สถานที่จะต้องหลีกเลี่ยงจากการปะปนกันระหว่างหญิงชายและอื่น ๆ ซึ่งอาจารย์จะต้องสึกษาในบริบทเหล่านี้ให้ละเอียด เพื่อป้องกันการกระแทก “สิทธิของการมีตัวตนของอีกวัฒนธรรมความเชื่ออื่น”)

ผมขอยืนยันภาพรวมของวิถีคิดอิสลามในประเด็นการเล่นกีฬาของสตรี ซึ่งไม่ไม่ใครเห็นต่าง หรือ ขัดแย้ง หากจะมีก็เพียงแค่ขัดกับ “หลักความรู้สึก” แต่ก็ไม่ขัด “หลักการศาสนา” ซึ่งไม่ต่างจากนักวิชาการบางท่านที่ได้นำเสนอไว้[5]

2.       ผมเห็นต่างในประเด็นที่อาจารย์นำเสนอด้วยการพูดออกสื่อรายการ “กรณี ก(ล)างเมือง ตอน ห้องเรียนเพศวิถี” ในช่วงหนึ่งของการให้สมัภาษณ์อาจารย์นำเสนอว่า “สังคมและวัฒนธรรมของเราสร้างค่านิยมและถูกปลูกฝังให้เราเชื่อว่า “ผู้หญิงต้องแต่งงานกับผู้ชายและผู้ชายต้องแต่งงานกับผู้หญิง” แต่ในความเป็นจริง เรามีสิทธิ์ที่จะคิดต่าง ซึ่ง “ผู้หญิงก็สามารถจะแต่งงานกับผู้หญิงได้และผู้ชายก็สามารถจะแต่งงานกับผู้ชาย” ก็ได้ เพราะนี่คือสิทธิมนุษยชน”

การคิดต่างไม่ใช่ปัญหา แต่ภาพรวมของสังคมมุสลิมกลัวว่า การนำเสนอแนวคิดต่างดังกล่าว นำไปสู่การเปิดทางและสนับสนุนให้นำไปสู่การกระทำที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลามของนักศึกษามุสลิม (หากอาจารย์ไม่ได้นำเสนอประเด็นดักงล่าวกับนักศึกษามุสลิม แน่นอน ผมเชื่อว่า “แรงต่อต้านในสื่อออนไลน์ก็จะไม่เกิดขึ้น” การนำเสนอประเด็นนี้ของอาจารย์ต่างหาก ที่สังคมมุสลิมส่วนมากเห็นต่าง จึงต้องออกมาแสดงความคิดต่างเพื่อตอบโต้อาจารย์

คำพูดดังกล่าวของอาจารย์ในประเด็นนี้ มุมมองของผม ถือว่า “ผิดหลักการศาสนา” (แม้อาจารย์เชื่อว่า ผมไม่สามารถพิพากษาใครได้ เพราะหน้าที่ของการพิพากษาเป็นของพระเจ้า) หากอาจารย์พูดกับน้อง ๆ ที่ไม่ใช่มุสลิม ก็ไม่ถือเป็นสิ่งที่ผิด ยิ่งไปกว่านั้น หากอาจารย์พูดในที่ลับ มันคือสิทธิของอาจารย์ แต่ ณ ตอนนี้อาจารย์ประกาศจุดยืนและสิทธิในการนำเสนอของอาจารย์อย่างโจ่งแจ้งผ่านสื่อ

 ด้วยการยืนยันว่า “อาจารย์มีสิทธิ์ที่จะนำเสนอความคิดและจุดยืน” ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ผมก็ขอเรียนกับอาจารย์อย่างตรงไปตรงมาด้วยว่า “การเห็นต่าง” ก็ถือเป็นหนึ่งใน “สิทธิมนุษยชน” ด้วยเช่นเดียวกัน

การนำเสนอแนวคิดของอาจารย์ในครั้งนี้มาเบียดชนและปะทะกับความเชื่ออิสลามอย่างอย่างตรงไปตรงมา ซึ่ง ในมุมมองของผมในฐานะเป็นผู้ติดตามสถานารณ์มาโดยตลอด ผมอยากนำเสนอให้อาจารย์ “ทบทวนคำให้สัมภาษณ์” ดังกล่าวของอาจารย์ แม้อาจารย์จะมองว่า “เราไม่สามารถตัดสินใครถูกผิดได้” แต่คำพูดของอาจารย์ในลักษณะดังกล่าวนั้น ในมุมมองผู้ที่มี “หลักความเชื่อทางศาสนา ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิด”

ผมไม่ได้ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีตัดสินว่า “กิจกรรมของอาจารย์ไม่ดี” (เพราะอาจารย์ก็ถือเป็นคนหนุ่มสาวคนหนึ่งในสังคมไทยที่ขับเคลื่อนเพื่อให้สังคมอยู่ท่ามกลางสันติภาพมาโดยตลอด) แต่ผมอยากนำเสนอว่า “การพูดลักษณะนั้นไม่ควรนำเสนอกับผู้ที่เชื่อตามหลักคิดอิสลาม เพราะอาจารย์อาจถูกวิพากษ์วิจารย์ได้”

อาจารย์ไม่ต้องปักใจเชื่อในสิ่งที่ผมบอก แต่ หากอาจารย์อยากเรียนรู้และรับฟังข้อถกเถียง อาจารย์ลองเปิดใจและถามเพื่อนอาจารย์มุสลิมหรือท่านผู้รู้ทางด้านศาสนา ที่อาจารย์คบหาว่า “การนำเสนอประเด็นผู้หญิงสามารถแต่งงานกับผู้หญิงให้กับนักศึกษามุสลิมะฮฺ (สตรีมุสลิม) นั้น” ถูกต้องมากแค่ไหนตามหลักการและความเชื่ออิสลาม ?  หนำซ้ำอาจารย์ได้นำเสนออย่างโจ่งแจ้งผ่านสื่อ จึงมีหลายคนที่เห็นต่างออกมานำเสนอความคิดเห็นและถกเถียงแนวคิดของอาจารย์อย่างหลีกไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือ ผม (อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม)

ผมเห็นด้วยและสนับสนุนให้กิจกรรมของอาจารย์ดำเนินต่อ ผมไม่ได้มีแนวคิด “หัวรุนแรงหรือสุดโต่ง” แต่ผมแค่นำเสนอ “แนวคิดต่าง” เท่านั้น เพราะการไม่ปฏิบัติตามหลักการศาสนาก็ถือว่า เป็นสิทธิของศาสนิก ผู้ถือเคร่งก็ทำได้แค่เพียง “ตักเตือนเพื่อให้เกิดสำนึก” ส่วนการถือปฏิบัติตามหรือไม่นั้นก็เป็นสิทธิของเขา 

กล่าวคือ พุทธศาสนิกชน เชื่อว่า ศีล 5 เป็นสิ่งที่ควรยึดถือปฏิบัติ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่สามารถรักษาศีล 5 ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ต่างจากชาวมุสลิมที่เชื่อว่า “การละหมาด 5 เวลา ถือเป็น 1 ในการถือปฏิบัติประจำวันของมุสลิม” แต่ศาสนิกหลายคนก็ไม่ได้ปฏิบัติ นั่นถือเป็น “ความอ่อนแอและความบกพร่องของศาสนิกเอง” แต่ศาสนิกก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาปฏิเสธหลักความเชื่อดังกล่าวว่า “ละหมาดเป็นสิ่งที่ไม่มีในหลักการอิสลาม”  เพราะศาสนิกที่ “ปฏิเสธหลักคำสอนของศาสนา” เสี่ยงต่อการเป็น ผู้หลุดพ้นจากศาสนา” (มุรตัด) ไปในที่สุด

ขอให้เข้าใจด้วยว่า ประเด็นที่ผมถกเถียงคือ คำพูดของอาจารย์ที่นำเสนอให้นักศึกษามุสลิมว่า “ผู้หญิงสามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้” (ไม่ใช่เรื่องการเล่นฟุตบอลของผู้หญิง) แน่นอน แนวคิดนี้เป็นสิทธิของศาสนิกหรือเป็นสิทธิ์ของอาจารย์ที่จะพูด แต่หลักศรัทธาของนักวิชาการศาสนาอิสลามมองเห็นพ้องต้องกันว่า ประเด็น “ผู้หญิงสามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้” นั้น “ผิดหลักการศาสนา” คับ เพราะในหลักความเชื่อของอิสลามปฏิเสธ “การแต่งงานของชายกับชายหรือหญิงกับหญิงอย่างชัดเจน” และนี่คือ “จุดเริ่มสำหรับผมที่ต้องเขียนชี้แจงจุดยืนของความเชื่ออิสลาม” และอาจารย์ก็ “ควรให้สิทธิและเปิดพื้นที่” ให้ “ผู้เห็นต่างอย่างผมได้แสดงความเห็นต่าง” ด้วย[6]

3.       อาจารย์ให้สัมภาษณ์ล่าสุดในรายการ “เสียงไทยเพื่อเสรีภาพของคนไทย” ตอน องค์ความรู้"เพศวิถี"ไม่ขัดหลักศาสนา หยุดทำลาย"ค่าความเป็นคน" (ตอนที่ 1 )[7] กรณีผู้เห็นต่างและออกมาตอบโตแนวคิดอาจารย์ในลักษณะการคุกคามอาจารย์ “ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะในฐานะผู้คิดต่าง เราจะต้องให้เกียรติระหว่างกัน”  แต่การออกมา “แสดงความเห็น (ต่าง) ในแบบชี้แจงเพื่อความเข้าใจและไม่คุกคาม”

มุมมองของผมนั้น “การแสดงออกของผู้เห็นต่างท่ามกลางความหลากหลาย ถือเป็นการส่งเสริมกระบวนการสันติภาพให้แข็งแรงขึ้น” ไม่ได้ทำให้กระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดหรือการทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง” (เหมือนที่อาจารย์ให้สัมภาษณ์)

ผมมองว่า “การเห็นต่างในพื้นที่ความขัดแย้งและการออกมาแสดงความเห็นมากกว่า เป็นจุดเริ่มต้นและการก่อตัวของสันติภาพ เพราะสันติภาพไม่ได้เกิดขึ้นแบบสลับซับซ้อนหรือเทา ๆ แต่สันติภาพเกิดจากความจริงที่เราจะต้องรับรู้ เรียนรู้ เผชิญหน้าและก้าวข้ามมันไปพร้อมกัน”

เราได้รับบทเรียนร่วมกันคือ

1.       ทำอย่างไรให้เกิดการถกเถียงหรือโต้แย้งด้วยเหตุผลบนพื้นที่ความต่าง

               อันนี้เป็นจรรยาบรรณของนักวิชาการในสังคมไทย จะต้องใจกว้างกับผู้ที่ “เห็นพ้องและเห็นต่าง”  ซึ่งจะต้อง “ถอดอคติเดิม” (หากมี) ออกให้หมด แล้วนำเสนอสิ่งที่ควรจะเป็น “อย่างไหนดีก็ให้ชื่นชม อย่างไหนยังบกพร่องหรือเป็นช่องโหว่ต้องช่วยกันอุด” ก้าวแรกของการทำงานเพื่อสันติภาพคือ “การลบเหลี่ยมและมายาคติของตนเองที่ยังยึดอยู่กับอคติ การมองผู้เห็นต่างเป็นผู้คับแคบ ไม่เปิดกว้าง หรืออะไรต่าง ๆ” เพราะ การทำงานเพื่อสันติภาพจะต้องใช้ “การเปิดใจยอมรับแนวคิดต่าง” เป็นที่ตั้งเพื่อ “เป็นธงและหมุดหมาย” ในการขับเคลื่อนที่ทรงพลังพร้อม “การสรุปบทเรียน” ไปในเวลาเดียวกัน จากการตั้งข้อสังเกต การตอบโต้กันผ่านสื่ออนไลน์และการให้สัมภาษณ์ สะท้อนภาพให้เห็นว่า

“พวกเราเกือบจะทุกคนยังมีความบกพร่องในการแลกเปลี่ยนกับผู้ที่เห็นต่าง และมุสลิมเราก็ยังมีปัยหาเรื่องการอธิบายตัวตนใต้ภาพแห่งอิสลามที่ชัดเจน”

2.       การนำเสนอข้อมูลด้วยการหลีกการปะทะความเห็นต่างให้มากที่สุด

            การนำเสนอของผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ถือเป็นความชัดเจนในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะ “การทำงานที่ก้าวข้ามกำแพงวัฒนธรรมที่ต่างจากความเชื่อและฐานคิดเดิมของตน” ผู้ทำการเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวท่ามกลางความขัดแย้งจะต้องตระหนักและใส่ใจประเด็นที่ละเอียดอ่อนให้มากที่สุด “การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและพยายามหลีกเลี่ยงการปะทะของผู้เห็นต่าง ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่นักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อสังคมต้องตระหนักให้มากเป็นลำดับเบื้องต้น”  หากไม่มีความจำเป็นหรือมีองค์ความรู้ไม่มากพอ ก็สมควรถอยห่างจากประเด็นละเอียดอ่อนดังกล่าว หรือหากอยากจะนำเสนอ “ประเด็นศาสนาที่ต่างจากความเชื่อของตน” ก็สมควรพูดคุยแลกเปลี่ยนกับปราชญ์ท่านผู้รู้ในศาสนาเหล่านั้นเบื้องต้น เพื่อหลีกเลี่ยง “การปะทะและปะทุ”  ของความเชื่อที่เห็นต่างน้อยที่สุด

 “แม้อันตรายในสังคมไม่ได้เกิดจากการให้นิยามความหมายของความต่าง แต่บ่อยครั้งความรุนแรงที่เราพบเห็นเริ่มต้นจากการให้นิยามผู้เห็นต่างเป็นอื่น” 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ทำงานในฐานะสื่อ ควรตระหนักด้วยว่า “ฝ่ายเห็นพ้องและเห็นต่าง จะต้องมีที่ยืนในสังคมสื่ออย่างเท่าเทียมกัน ทุกฝ่ายต้องมีโอกาสที่จะพูดในฐานะมีชุดความเชื่อของตนเอง” (กรณีนี้ คุณจอม เพชรประดับ ก็จะต้องให้โอกาสได้พูดและรับฟังผู้มองต่างในประเด็น “กรณี ก(ล)างเมือง: ห้องเรียนเพศวิถี” ด้วย)

3.       ความชัดเจนของนักเคลื่อนไหวที่ต้องออกมาชี้แจงถูกผิด เพื่อการวิพากษ์สามัคคีและสร้างบทเรียนร่วมกัน

ข้อเขียนของนักสื่อสารส่วนใหญ่ ไม่มีใครพูดถึงประเด็นของปัญหาว่าเกิดการโต้แย้งกันตรงไหน อย่างไร มองเห็นต่างกันตรงไหน แบบไหน โดยเฉพาะการแสดงความเห็นของ อ.อันธิฌาว่า “ผู้หญิงก็มีสิทธิที่จะแต่งงานกับผู้หญิงได้” น้อยคนนักที่จะออกมาชี้แจงว่า ประเด็นนี้ชนกับความเชื่ออิสลามหรือไม่อย่างไร?

 เท่าที่เห็นบทความที่ออกมาคือ “การเล่นฟุตบอลไม่ผิดหลักการศาสนา” ให้ระลึกเสมอว่า “ความเห็นต่างครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากเรื่องของการเล่นฟุตบอล” แต่เกิดจาก “การกล่อมเกลาด้วยหลักสิทธิว่า ผู้หญิงก็สามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้และผู้ชายก็สามารถแต่งงานกับผู้ชายได้” อันนี้ต่างหากที่เป็นประเด็น (ในมุมมองของผม)

บ่อยครั้งที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา หลายต่อหลายคนเลือกที่จะไม่พูดถึง ไม่อยากนำเสนอแบบตรงประเด็น เพราะกลัวจะ “เปลืองตัว” หรือ “เสียรังวัด” ในเวทีวิชาการ หรือ “เสียมิตรสหายร่วมงาน” เรายอมที่จะไม่พูดว่า อะไรถูกอะไรผิด ? ทั้งที่ตนเองก็รู้ดีถึงประเด็นข้อถกเถียง โดยเฉพาะนักวิชาการมุสลิม น้อยคนนักที่จะมาชี้แจงประเด็นดังกล่าว

ผมอยากนำเสนอว่า “หากรักมิตรสหายที่ร่วมงานจริง” เมื่อเราเห็นว่า “ประเด็นที่นำเสนอนั้นไม่เหมาะหรือล่อแหลม” ก็ควรพูดออกไปตรง ๆ เพื่อเป็นการป้องกันผู้ดำเนินกิจกรรมเองเพื่อไม่ให้เกิด “แรงต้าน” และในฐานที่เราเห็นว่าประเด็นดังกล่าว “ไม่สมควรหรือล่อแหลม” เราก็สมควรเป็น “กันชน” ให้กับมิตรสหายทางวิชาการเพื่อไม่ให้เกิดปะทะกับแนวคิดต่างและสร้างความตระหนักให้พึงระวังในประเด็นดังกล่าว น่าจะเป็นสิ่งที่ดี่สุด (ในมุมมองของผม)

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่า นักวิชาการส่วนใหญ่ทุกคนต่างรู้ดีว่า “ในพื้นที่ชุดความคิดแบบมุสลิม เมื่อมีการการนำเสนอแนวคิดที่ปะทะกับแนวคิดอิสลามก็จะถูกต่อต้านจากสังคมภาพรวมไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” แต่ผมก็ยังสงสัยว่า ทำไมมุสลิมเราไม่เป็นกันชนให้กับมิตรสหายทางวิชาการของตนและออกมาชี้แจงให้ทบทวนประเด็นดังกล่าว (หรือผมเข้าใจผิดที่เชื่อว่าประเด็นการนำเสนอ “ผู้หญิงสามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้ให้กับนักศึกษามุสลิมนั้น” ผิดหลักการศาสนาอิสลาม?)

 (บทส่งท้าย)

ผมไม่ได้มีอะไรบาดหมางกับใครและประเด็นของอาจารย์ที่ผมวิพากษ์นั้นไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของการ “แยกมิตร แยกศัตรู” แต่ผมอยากให้ทุกคนตระหนักและสร้าง “กันชน” ให้กันในสถานการณ์ “ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังและรุนแรง” หนำซ้ำการออกมาเขียนข้อความของผมในลักษณะดังกล่าวอาจทำให้หลายคน “เหม็นขี้หน้า” หรือ “รู้สึกเกลียดผม” ก็เป็นได้ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อประเด็นที่เกิดความเห็นต่าง ซึ่งพวกเรามองต่างมุม ผมจึงนำเสนอทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจเหมือนที่เห็นในข้อความข้างต้น

เพราะ “การเห็นต่าง” ก็ถือเป็นหนึ่งใน “หลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนไม่ใช่หรือ ?”

“เมื่อไม่มีการ “พูดความจริงให้จริง” เราก็กลายเป็นหนึ่งในผู้ฉาบทาความจริงด้วย “สีเทาแห่งความคลุมเคลือ” แน่นอน ทำให้ความจริงอยู่ในสถานะแบบ “กำกวม” ซึ่งส่งผลให้ “การเห็นต่าง” พัฒนาไปสู่ภาวะสงครามทางความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ด้วยความรักและเคารพอย่างฉันท์มิตร

เอ. อาร์ มูเก็ม

ประเทศอินเดีย

14 กุมภาพันธ์ 2560


[1] ติดตามชมรายการสารคดี “ก(ล)างเมือง ตอน ห้องเรียนเพศวิถี” ใน https://www.youtube.com/watch?v=8u_0ZSzYKbw&sns=fb (7 กุมภาพันธ์ 2560) เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2560.

[2] ดูเพิ่มเติมใน อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม, “ใจกว้าง ถางทางต่างที่ไม่ลงรอย” ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/10281 (11 กุมภาพันธ์ 2560) เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2560.

[3] ดูเพิ่มเติมใน อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม, “โลกไม่แคบ ใจไม่แคบ แต่เราคับแคบที่จะเยนรู้ความต่างของกันและกัน”  ที่http://www.deepsouthwatch.org/node/10266 (10 กุมภาพันธ์ 2560) เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2560.

[4] อ่านเพิ่มเติมใน อันธิฌา แสงชัย, “ห้องเรียนเพศวิถี “สอน” อะไร” ที่ http://www.deepsouthwatch.org/ms/node/10285  (12 กุมภาพันธ์ 2560) เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2560.

[5] ดูเพิ่มเติทใน ซากีย์ พิทักษ์คุมพล, “ผมรู้สึกไม่สบายใจ” ที่ http://deepsouthwatch.org/node/10276 (11 กุมภาพันธ์ 2560) เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2560.

 [6] ดูเพิ่มเติมใน มูฮัมหมัดอิสยาส หญ้าปรัง, “จดหมายส่วนตัวถึงอาจารย์อันธิฌาและทีมงานสร้างสารคดีห้องเรียนเพศวิถี” ที่

 http://www.deepsouthwatch.org/node/10296 (14 กุมภาพันธ์ 2560) เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2560.

[7] ดูเพิ่มเติมใน รายการเสียงไทยเพื่อเสรีภาพของคนไทย ตอน องค์ความรู้"เพศวิถี"ไม่ขัดหลักศาสนา หยุดทำลาย"ค่าความเป็นคน" (ตอนที่ 1)  https://www.youtube.com/watch?v=sv-rbrJuZE8&feature=youtu.be (12 กุมภาพันธ์ 2560) เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2560.