Skip to main content

บทวิเคราะห์หลังเหตุการณ์: ข้อท้าท้ายกระบวนการสันติภาพ ต้องดึง BRN ที่เห็นต่างสู่โต๊ะเจรจา

‘ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี’ ร่วมวง ‘มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน’ วิเคราะห์สถานการณ์หลังเหตุความไม่สงบกว่า 26 จุด ชายแดนใต้ ชี้เป็นการแสดงพลังของ BRN ที่ไม่เข้าร่วมกับการพูดคุยสันติภาพ พร้อมระบุเป็นความท้าทายที่จะดึงผู้เห็นต่างมาร่วมโต๊ะเจรจาหาทางออกอย่างสันติ ย้ำจากการทำข้อมูล ประชาชนหนุน ‘กระบวนการสันติภาพ-พื้นที่ปลอดภัย’

 

กรณีเหตุความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ในคืนวันที่ 6 เม.ย. 2560 รวมทั้งสิ้น 19 อำเภอ กว่า 26 จุด โดยส่วนใหญ่เป็นการลอบวางระเบิดและเผาเสาไฟฟ้าทำให้หลายพื้นที่เกิดไฟฟ้าดับ สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไรในพื้นที่

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep south watch) และมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ ถามตอบข้อสงสัยทั้งประเด็นท่าทีกลุ่มความขัดแย้ง สถานการณ์ในพื้นที่ เชื่อมโยงถึงกระบวนการเจรจาสันติภาพ

000

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในคืนวันที่ 6 และต่อเนื่องมาถึงเช้าวันที่ 7 และวันที่ 8 คิดว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ค่อนข้างจะมีลักษณะพิเศษทั้งทางด้านกว้างและด้านลึก แต่ก่อนอื่นต้องดูภาพรวมก่อน ภาพใหญ่ของเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจากข้อมูลผลการศึกษาของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ฐานข้อมูลหรือที่เรียกว่า DSID (Deep South Incident Database) พบว่าเหตุการณ์ความไม่สงบของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ‘ลดลง’ ในความเป็นจริงคือลดลงตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

ถ้าเราดูเทรนด์ ดูภาพของกราฟเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 3-4 ปี ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามันเทลงเหมือนเป็นขั้นบันได โดยที่เราเห็นภาพชัดตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา และมันจะลดลงเป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงปี 2559 จะเห็นว่ามันไต่บันไดลงมาจนถึงประมาณ 800 เหตุการณ์ตลอดทั้งปี ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วๆ มา อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับวิธีในการนับเหตุการณ์ด้วยซึ่งก็อาจแตกต่างกันไป แต่ก็จะมีปรากฎการณ์ที่มีการแกว่ง หรือความแปรปรวนของเหตุการณ์ในบางช่วงด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นในบางครั้ง กระบวนการตรงนี้จะเป็นลักษณะของการโจมตี หรือการก่อเหตุที่สามารถจะสร้างข่าวหรือสร้างผลสะเทือนได้เป็นครั้งๆ ในช่วงระหว่างทาง

ในปีที่แล้วในช่วงประมาณเดือน ส.ค. ก็มีเหตุการณ์การโจมตีก่อเหตุพร้อม ๆ กันในหลาย ๆ จุด เช่นที่เทพา สงขลา ต่อเนื่องมาที่เส้นทางปัตตานีหาดใหญ่ ก็ประมาณกว่า 10 จุดในตอนนั้น ก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างกินพื้นที่กว้างในรอบปีที่แล้ว จากนั้นก็เงียบหายไป

จริง ๆ แล้วการโจมตีก่อเหตุในลักษณะของการขยายพื้นที่ในวงกว้างที่สามจังหวัด และ 4 อำเภอในเวลาเดียวกัน พร้อม ๆ กัน 30-40 จุด มันเคยเกิดขึ้นมาก หากย้อนดูเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547-25450 จะเห็นว่าเหตุการณ์จะสูงโด่งขึ้นในบางช่วง บางเดือนอาจสูงขึ้นถึง 200 เหตุการณ์ ซึ่งมีการโจมตีก่อเหตุในลักษณะของ “การโจมตีพื้นที่กว้าง” บ่อย แต่ว่าเหตุการณ์ลักษณะเช่นนั้นมันลดน้อยลงและหายไปหลังจากปี 2550 เป็นต้นมา ต่อมาก็จะเกิดเหตุการณ์สั้น ๆ เป็นช่วง ๆ

การเกิดเหตุในลักษณะที่เรียกว่า “การประสานการโจมตีพร้อม ๆ กัน” โดยเฉพาะพื้นที่กว้างแล้วก็มีเหตุการณ์ 30-40 จุดพร้อม ๆ กัน อาจกล่าวได้ว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีเลย และอย่างที่เล่าว่าปีที่แล้วเกิดเหตุ แต่ก็ไม่ได้มาก ประมาณ 10 กว่าจุดพร้อม ๆ กัน

สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้น่าสนใจ ที่บอกว่ามีลักษณะพิเศษก็คือว่า มีการก่อเหตุลักษณะแบบนี้และผลกระทบมันเกิดในวงกว้าง ในแง่ที่ว่าสามารถที่จะมีการทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญคือเรื่องของไฟฟ้า เสาไฟฟ้าแรงสูงที่ส่งกระแสไฟฟ้าไปทั่วพื้นที่เขต จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส โดยเฉพาะในเขตเมือง เขตชุมชนได้รับผลกระทบเพราะสายไฟแรงสูงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตส่งมาที่จะต้องใช้เชื่อมต่อกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคถูกตัด หม้อแปลงไฟหลักถูกระเบิด ทั้งจากยะลามาปัตตานี และจากสงขลา หาดใหญ่มาปัตตานีด้วย ก็ถูกตัดทั้ง 2 ทางเลย

เรียกได้ว่าเป็นการโจมตีที่ก่อผลกระทบอย่างหนักในเรื่องของความเสียหายในเรื่องเศรษฐกิจ แต่ที่น่าสนใจก็คือไม่มีเรื่องของการเสียชีวิต ไม่มีการบาดเจ็บ มีการยิงในการก่อเหตุบ้างแต่ก็ไม่รุนแรงมาก ดูจากที่มีการทำลายโครงสร้างพื้นฐาน มีการวางระเบิด

ทั้งระเบิด ทำลายเสาไฟฟ้า แล้วก็ในแง่ของการถูกจับได้ แล้วก็ถูกจับก่อนด้วย มีหลายลักษณะ โดยรวมแล้วก็ประมาณไม่ต่ำกว่า 40 จุด ที่เราประมาณตัวเลขขั้นต้น เพราะว่าตอนนี้ยังไม่สามารถรวบรวมตัวเลขที่ชัดเจนได้ เนื่องจากมีความต่อเนื่องตั้งแต่คืนวันที่ 6 เช้าวันที่ 7 และวันที่ 8 ตอนนี้ก็ยังมีเหตุการณ์อยู่บ้าง และมีเรื่องของการเก็บกู้ระเบิดอยู่ด้วย ถ้าเรานับรวมก็น่าจะเกินกว่า 40 เหตุการณ์

เรื่องผลกระทบ แม้ในแง่เรื่องของชีวิตมันไม่มี แต่ผลกระทบในในแง่ของสังคม จิตวิทยา ผลกระทบในด้านของเศรษฐกิจถือว่าค่อนข้างสูงมากทีเดียว เพราะว่ามันทำให้เกิดไฟฟ้าดับทั้งเมืองเป็นเวลายาวนานนับเป็นสิบชั่วโมง และต่อเนื่องตั้งแต่คืนวันที่ 6 ซึ่งในคืนวันที่ 7 ก็ยังดับอยู่ส่วนใหญ่ แม้การไฟฟ้าจะพยายามแก้ไข แต่ก็ต้องใช้เวลา เพราะว่าจุดหลักๆ ในสายเมนนั้นหม้อไฟมันถูกทำลาย

คราวนี้ผมคิดว่าน่าจะมีผลกระทบอย่างมากในแง่ทางจิตวิทยา ในแง่ของคน ในแง่ของวิถีชีวิต ที่ต้องอยู่มืดๆ โดยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อไม่มีไฟฟ้าน้ำก็ไม่มี ไฟไม่มี น้ำไม่เดิน แล้วก็มีปัญหาในเรื่องของโทรศัพท์ก็ใช้ไม่ได้ มันจะมีปัญหาหลายอย่างมาประกอบกัน

มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน : มันจะมีปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวไหมครับอาจารย์ แหล่งท่องเที่ยวในเขต อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ก็ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ด้วย เพราะไฟดับใช้เวลานานเกิน 5-6 ชั่วโมง ทำให้ชาวบ้าน และคนที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวเกิดความวิตกกังวล ผมคิดว่าประเด็นทางเศรษฐกิจไม่ค่อยมีคนประเมิน อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร?

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : ใช่ เพราะว่าไฟฟ้ามันมีผลต่อชีวิตทางเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว แล้วก็แหล่งที่พักของคน ตอนหลังเรามีการขยายตัวเรื่องของธุรกิจ เรื่องการท่องเที่ยวชุมชน มีรีสอร์ทต่าง ๆ ซึ่งแถวอ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ก็เยอะ คนไปเที่ยวเยอะเหมือนกัน ปรากฎว่าเกิดไฟดับก็เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ไม่เที่ยวกันด้วย มีความเสียหายอยู่มากเหมือนกัน อันนี้เรายังไม่ได้ประเมินในเรื่องของโรงงาน หรือโรงแรม แต่ว่าพวกนี้เขาก็จะมีเรื่องของการสำรองไฟอยู่ แต่ว่าชีวิตของคนโดยทั่วไปจะไม่มีและก็จะมีปัญหา

ทีมข่าวพลเมือง ถาม : เรื่องไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน ๆ ที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นไหม?

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : ประสบการณ์ของผมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ การเกิดไฟดับโดยเป็นเวลายายนานขนาดนี้ยังไม่เคยมีที่ปัตตานี จากที่เกิดเหตุการณ์ไฟดับนานขนาดนี้ก็จะเป็นช่วงที่มีพายุเข้า สตอร์มเซิร์จที่อ่าวปัตตานีเมื่อราวปี 2552-2553 ตอนนั้นก็เป็นช่วงที่มีไฟฟ้าดับยาว แต่ว่าการก่อเหตุความไม่สงบที่ทำให้เกิดไฟฟ้าดับยาวนานขนาดนี้ ข้ามคืนอย่างนี้ ไม่มี ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นมันจึงมีผลทางจิตวิทยาตรงนี้แหละ

หากดูจากแผนที่การกระจายของพื้นที่ของเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบปี 2559 สำหรับของปัตตานี จะเห็นได้ว่า ปัตตานีเมื่อปี 2559 มีเหตุการณ์สูงที่สุด ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในภาพรวมจะลดลง แต่ว่าในแง่ของการเกิดเหตุเมื่อปีที่แล้ว ทั้งเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความไม่สงบและเหตุการณ์ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้มันก็กระจายทั่ว และจุดที่เกิดเหตุการณ์มากมักเป็นจุดที่เป็นถนนสายหลัก เส้นยะลา-ปัตตานี และเส้นจากหาดใหญ่-ปัตตานี-นราธิวาส จะเห็นว่าจุดของการเกิดเหตุกระจายอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ค่อนข้างมาก และรอบ ๆ ใกล้เขตเมืองปัตตานี นี่ก็เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนี่งของการเกิดเหตุในตอนหลัง ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน จะมีการเกิดเหตุในพื้นที่ที่เป็นถนนหลวง ทางสายหลัก สายรอง

สิ่งที่เขตเมืองน่าสนใจก็คือว่า จริง ๆ แล้วเขตเมืองหลัก จะมีการป้องกันโดยหน่วยงานรัฐค่อนข้างดี มีนโยบาย มีโครงการพิเศษ มีการปกป้องคุ้มครองโดยรัฐ เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีเหตุหรือมีเหตุเกิดขึ้นน้อยมาก แต่จะกระจายไปอยู่นอกพื้นที่เขตเมือง อันนี้ก็จะเป็นลักษณะพิเศษของการเกิดเหตุที่ปัตตานี

ส่วนที่ จ.ยะลาก็เช่นเดียวกัน ข้อมูลเมื่อปี 2559 เส้นทางที่ 410 จนไปถึง อ.เบตง ก็จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตลอดทาง มันก็จะผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านถนน และที่ จ.นราธิวาสก็เช่นเดียวกัน เส้นทางหลักจะมีเหตุเกิดอยู่รอบ ๆ เยอะ

ลักษณะของการก่อเหตุความไม่สงบในช่วงหลังนี้ผมคิดว่า เนื่องจากที่การป้องกันสูงในเขตเมือง มันก็จะกระจายไปอยู่ตามรอบนอก ตรงถนนหลวง ถนนสายหลัก สายรอง เป็นต้น

มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน : ข้อมูลนี้มีการยืนยันเมื่อปี 2559 ทีนี้พอมาดูของปี 2560 ที่เริ่มเข้ามาได้ 4 เดือน มีข้อมูลไหมครับอาจารย์ว่าเขายังก่อเหตุในรูปแบบเดิม ๆ อยู่ไหม?

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : ช่วง 3 เดือนแรก ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. เนื่องจากเป็นช่วงที่มีฝนตกเยอะในปีนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพอากาศ มีพายุ มีฝนตกหนัก เพราะฉะนั้น ม.ค.-ก.พ. เหตุการณ์จะเกิดไม่มาก และส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นรอบนอกเช่นเดียวกัน ส่วนเดือน มี.ค.ก็เกิดขึ้นบ้าง

ผมคิดว่าเดือน เม.ย.นี้ อาจเป็นช่วงที่เริ่ม เนื่องจากฤดูแล้งมาถึงแล้ว ความพร้อมในการก่อเหตุต่าง ๆ การเตรียมพร้อมการเตรียมการต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ อาจเกิดมากขึ้น และเราก็คาดว่าน่าจะซ้ำแบบเดิม เพราะว่าการป้องกันเหตุในพื้นที่เขตเมืองของรัฐบาล ของทหารสูงมาก ด่านตรวจต่าง ๆ มีความเข้มข้นมาก เพื่อป้องผลกระทบต่อเขตเมือง เขตเศรษฐกิจ แต่พื้นที่รอบนอกผมคิดว่ายังมีจุดที่อาจก่อเหตุได้ ถือว่าเป็นความยากลำบากในการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพราะไม่สามารถป้องกันเหตุได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ตัวอย่างการเกิดเหตุในช่วงนี้ คือเมื่อคืนวันที่ 6 เม.ย. ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 7 เม.ย. ปรากฎว่าถนนสายหาดใหญ่-ปัตตานีในช่วงที่มีระเบิดเสาไฟฟ้าจะมีจุดตรวจใหญ่อยู่จุดหนึ่ง จุดตรวจนั้นก็ได้รับผลกระทบอยู่เหมือนกัน ตรงเกาะหม้อแกง อ.จะนะ จ.สงขลา เท่าที่สังเกตุจากการนั่งรถผ่าน ผมไม่เห็นทหารอยู่เลย คงจะซุ่มอยู่ จากปกติ่แล้วจะมีจุดตรวจรถ แต่เมื่อคืนนี้ (คืนวันที่ 7 เม.ย.) มืดหมดเลย ฟ้ามืด อาจจะซุ่มดูอยู่ไม่ได้ออกมา

มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน : ผมมีประเด็นหนึ่งคือ การก่อเหตุครั้งนี้ในรอบหลายที่ผ่านมา นับตั้งแต่การพูดคุยเมื่อปี 2556 ต่อมา 2558-2559 ดูการพูดคุยมันชัดขึ้น มีโต๊ะพูดคุยแต่ละฝ่ายก็มีการคุยกันหลายครั้ง ซึ่งเห็นโจทย์อันหนึ่งว่าในทุกครั้งที่จะมีการพูดคุย และมีการลงนามข้อตกลงมักมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ตรงนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กันไหม อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายหน่อยว่ามันสัมพันธ์กันอย่างไร ในแง่ของสถิติที่อาจารย์ทำมา?

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : มันสัมพันธ์กันมากนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการกำหนดว่าจะมีการคุยกันช่วงไหน เดือนไหน วันไหน แล้วเราไปดูสถิติแต่ละช่วง มันก็จะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น เหมือนกับเป็นการท้าทาย เป็นสัญลักษณ์เชิงปฏิเสธออกมาสำหรับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย ซึ่งเราก็ทราบด้วยว่ากลุ่มนี้คือ ส่วนหนึ่งของ BRN (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี – Barisan Revolosi National melayu patani : BRN) ที่ไม่ได้เข้าร่วมกับการพูดคุย และค่อนข้างที่จะมีปฏิกิริยาปฏิเสธการพูดคุย

เรื่องเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผมคิดว่านี่คือสัญลักษณ์ในการตอบโต้ และปีที่แล้วก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีข่าวว่าจะมีการพูดคุยเหตุการณ์ก็เกิด จริง ๆ ในช่วงวันที่ 6-7 เม.ย. นี้ก็มีการพูดคุยกัน อย่างลับๆ โดยทีมงานทางเทคนิคของทั้ง 2 ฝ่าย ที่กัวลาลัมเปอร์ เพื่อที่จะกำหนดพื้นที่ปลอดภัยหรือ safety zone ได้ข่าวว่าเขาตกลงกันแล้วด้วย แต่ว่าไม่ทราบว่าที่ไหน

อันนี้ก็คงเป็นการท้าทายที่น่าสนใจที่สุด คือการที่จะพูดคุยกันได้ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายมาราปาตานีต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ลักษณะของการพูดคุยนี้มันมีลักษณะที่เราเรียกว่า inclusive หรือรวมทุก ๆ ฝ่ายให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นปีกที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย ก็จะต้องหาทางทำให้เขามาร่วมโต๊ะกับการพูดคุยด้วยเช่นเดียวกัน ก็เป็นแนวทางที่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นอยู่เหมือนกันว่า ทำอย่างไรจะทำให้เกิดขึ้นได้

มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน : จากการที่อาจารย์ทำงานอยู่ในศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อาจารย์เจอทูตที่เดินทางมาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ที่เขาพูดถึงเรื่องการพูดคุยกรณีที่อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามาบนโต๊ะการเจรจา หรือพยายามที่จะให้ B มาอยู่บนโต๊ะการพูดคุย ประเด็นนี้ได้มีการถามจากบรรดาทูตที่มาพบกับอาจารย์บ้างไหม?

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : มีเยอะนะครับ คือ ประการแรก ผมสังเกตุว่า การพูดคุยสันติภาพในกรณีภาคใต้ของเราได้รับความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศมาก ทั้งจากสถานทูตของประเทศใหญ่ ๆ หลายประเทศที่แวะมาก็มาถามเรื่องนี้ องค์กรระหว่างประเทศที่ลงมาก็มาถามเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวหรือสำนักข่าวต่างประเทศก็ถามเรื่องนี้ตลอด

ผมคิดว่าประเด็นใหญ่ๆ ที่เขาต้องการให้เกิดขึ้นก็คือว่า ต้องการให้การพูดคุยมีความคืบหน้า และเขาอยากให้มีความร่วมมือกันจากหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ มีความต้องการที่ว่ามันจะมีการเปิดพื้นที่ให้กว้างที่สุดในการพูดคุยกัน

มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน : ประเด็นนี้มันจะเป็นข้อท้าทาย เพราะในการพูดคุยมันมีโต๊ะอยู่แล้ว ซึ่งสังเกตุเห็นว่าข้อท้าทายที่สำคัญมาก ต่อฝ่ายไทย ต่อมาราปาตานี ต่อภาคประชาสังคม และต่อมาเลเซียเอง ที่ต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรที่จะให้ฝ่ายขบวนการ BRN มาร่วมอยู่บนโต๊ะการพูดคุย ผมว่ามันเป็นประเด็นที่หลังจากการพูดคุย 3 ปีมานี้ มันค่อนข้างจะชัดว่ามีขบวนการ BRN บางส่วนที่ไม่ได้มาร่วมอยู่บนโต๊ะการพูดคุย ซึ่งการอยู่บนโต๊ะการพูดคุยแน่นอนว่ามันเป็นประโยชน์ เพราะว่าเป็นประโยชน์ในการรับฟังข้อเสนอจากทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งจากฝ่ายมาราปาตานีเอง ฝ่ายไทยเองก็ต้องฟังข้อเสนอแบบนี้อยู่แล้ว

ผมคิดว่าข้อท้าทายแบบนี้เราจะต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไร ถ้าเขาจะเข้ามาสู่โต๊ะการพูดคุย อะไรที่จะเป็นเงื่อนไข อะไรเป็นประเด็นที่จะต้องคุยกัน นี่มันสำคัญ เพราะถ้าเราไปดูผลการสำรวจของ peace survey ครั้งที่ 1-2 และเพิ่งจะเริ่มทำให้รอบที่ 3 มันสะท้อนประเด็นใกล้เคียงกันมากคือ “ประชาชนเห็นด้วยในเรื่องการหนุนเสริมกระบวนการพูดคุย” แน่นอนในรายละเอียดประชาชนอาจจะไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ประชาชนเห็นด้วยกับการพูดคุยระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายมาราปาตานี

อันที่สองที่ผมเห็นชัดมากในการพูดคุยครั้งนี้คือ ทุกคนเริ่มมีเสียงพูดถึงความปลอดภัย และที่พูดกันมากคือความยุติธรรม ผมว่าสองอย่างนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายมาราปาตานีเองต้องเอาใจใส่เรื่องนี้

อีกประเด็นที่เห็นในตอนนี้คือ การเรียกร้องทั้งสองฝ่ายให้ยุติการใช้ความรุนแรง อันนี้เป็นเสียงจากชาวบ้าน เวลาเราไปทำเวทีเราเจอข้อเสนอแบบนี้เยอะ ผมคิดว่าเป็นข้อท้าทายที่จะทำอย่างไรให้บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยเข้ามาสู่โต๊ะพูดคุย ประเด็นแบบนี้ถ้าเห็นสถิติลดลงมันน่าสนใจ

อาจารย์คิดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้หลังการพูดคุย เหตุการณ์ความรุนแรงลดลง เพราะอะไร?

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : เทรนด์นี้เกิดจากการที่ทุกฝ่าย ตระหนักว่า “ความรุนแรงไม่ได้แก้ปัญหา” เพราะฉะนั้นจะมีการหันมาสู่แนวทางการเมืองมากขึ้น สำคัญมากคือหันมาสู่แนวทางสันติภาพ ลดความรุนแรงลง ถึงแม้บางฝ่ายจะไม่เห็นด้วย ยังเกิดเหตุอยู่ แต่ภาพรวมก็ลดลง อีกส่วนหนึ่งเรื่องการป้องกันและการถอดบทเรียนของฝ่ายรัฐเอง ฝ่ายความมั่นคงทำได้ดีขึ้นในการป้องกันและมีมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการระมัดระวังป้องกันความมั่นคง ความปลอดภัยก็จะสูงขึ้นพร้อม ๆ กัน มาตรการทางทหารต่าง ๆ ก็ดีขึ้น

อีกด้านหนึ่งที่มีส่วนด้วย คือเรื่องความร่วมมือของประชาชน อย่างการขยายตัวของพื้นที่สาธารณะ พื้นที่กลาง ทำให้หลายๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมในการพูดคุยสันติภาพเป็นแรงกดดันอันหนึ่งในภาคสังคม อย่างเช่น สภาประชาสังคมชายแดนใต้ที่ทำงานต่อเนื่องเรื่องกระบวนการสันติภาพมาตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบันก็ทำงานอย่างต่อเนื่อง จำนวนของผู้เข้าร่วมในกระบวนการภาคประชาสังคม องค์กรต่าง ๆ ก็ขยายตัวขึ้น ตอนนี้มีประมาณ 50-60 กลุ่มที่เข้ามาร่วม และขยายไปทุกระดับ การตื่นตัวของภาคประชาสังคมและพื้นที่สาธารณะขยายตัวออกและเสียงสนับสนุนต่อกระบวนการสันติภาพก็เข้มแข็งขึ้น

อย่างหนึ่งที่เราเห็นก็คือการทำ peace survey เราทำทุกครั้งก็ยืนยันทุกทีไปว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการสนับสนุน กระบวนการสันติภาพและพื้นที่ปลอดภัย ความต้องการตรงนี้หนักแน่น เราทำหลายครั้งซ้ำไปซ้ำมา เราทำหลาย ๆ กลุ่ม ก็ยืนยันแนวทางเดียวกัน พลังประชาสังคมเข้มแข็งสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ อันนี้ก็เป็นปัจจัยอันหนึ่งลดเงื่อนไขความรุนแรง นำมาสู่ลักษณะที่เราจะพูดบ่อย ๆ ว่า การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการหาทางออกจากความขัดแย้งที่ใช้ความความรุนแรงไปสู่กระบวนการสันติภาพ อันนี้ผมคิดว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก

มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน : ที่ผ่านมาสภาประชาสังคมสันติภาพชายแดนใต้ก็จัดงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ มีข้อเสนอ 5 ประเด็นที่สมัชชาร่วมกับจัดลำดับประเด็นก็มีประเด็นหนึ่งที่เป็นประเด็นพูดกันเยอะ คือเรื่องของพื้นที่ปลอดภัย ต้องให้เครติดกับกลุ่มผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ที่สร้างบทสนทนาให้คนได้ตระหนักถึงเรื่องนี้

ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นก็กระทบต่อความรู้สึกของคนเพราะว่าเรื่องไฟฟ้าเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยหลักของมนุษย์ ที่อยู่ในบ้านเมื่อไฟฟ้าดับความหวาดกลัวก็ตามมา เมื่อไฟฟ้าไม่สามารถใช้การได้การหุงหาอาหาร การทำกิจกรรมในครอบครัว การสอนอัลกุรอานก็ลำบาก การอ่านหนังสือ สัมพันธ์ไปหมด การใช้ชีวิตประจำวันกระทบไปหมด อันนี้เป็นความรู้สึกที่คนกำลังหวาดกลัว ผมคิดว่าปัจจัยแบบนี้ ถ้าไม่รีบสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและทุกฝ่ายก็จะลำบาก แต่เรามีความเชื่อมั่นการมีโต๊ะพูดคุยผมคิดว่าข้อเสนอแบบนี้ต้องไปสู่โต๊ะพูดคุย ว่าการกระทำแบบนี้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวาดกลัว และมีผลกระทบจริง ๆ

ประเด็นที่ผมยังย้ำ มันเป็นข้อท้าทายที่ว่า เราจะดึงขบวนการ BRN ที่ยังไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสู่โต๊ะการคุยจะทำอย่างไร อันนี้ผมว่าเป็นปัจจัยที่ต้องช่วยกันคิด สนามพื้นที่กลางเปิดโอกาสให้ รูปแบบรูปธรรมที่คุยกับเขาจะทำอย่างไร ต้องริเริ่มคิดเรื่องนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของกระบวนการสันติภาพ ในการดึงคนที่เห็นต่างไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาทำความเข้าใจกัน

ทุกวันนี้สนามการพูดคุยเปิดขึ้นเยอะและไปช่วยในบางเรื่อง สะท้อนว่าปี 2557 – 2559 สถานการณ์ลดลงจริง อันนี้น่าสนใจจากสถิติที่เก็บไว้ ซึ่งสะท้อนว่าการพูดคุยมันจำเป็นและสำคัญ เป็นช่องทางสำคัญที่ต้องเดินไปข้างหน้า

แล้วอาจารย์มองสถานการณ์เรื่องนี้ต่อไปอย่างไร?

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : ก็เห็นด้วย ถ้าหากว่าการพูดคุยจะเดินหน้าต่อไป ต้องทำให้เกิดลักษณะของการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ภาคสังคมภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม การสร้างพื้นที่กลางก็มีความสำคัญ คู่ความขัดแย้งหลัก ฝ่ายรัฐกับฝ่ายกระบวนการร่วมมือกันมากขึ้นให้มีกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน อย่างเช่น ในช่วงแรกมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ขบวนการ BRN และปีกทางการทหาร ที่ยังมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น เพราะมีความเชื่อมั่นศักยภาพ

การที่ทำเหตุการณ์ในครั้งนี้ วันที่ 6 – 7 เม.ย. แสดงว่าเขามีศักยภาพ คือเราตระหนักว่าเขามีศักยภาพจริง ๆ ดูเบาไม่ได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องส่งข้อมูลข่าวสารทางการเมืองส่งกลับไปด้วยว่า ประชาชนเดือนร้อน จะทำอย่างไรที่จะเข้ามาร่วมในการพูดคุยและหาทางออกอย่างสันติ และไม่ให้ประชาชนมีผลกระทบ ถึงแม้คราวนี้จะมีจุดที่ไม่มีการเสียชีวิตแต่ความเสียหายด้านจิตใจและเศรษฐกิจค่อนข้างจะมาก ต้องระมัดระวังในจุดนี้

ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพให้มากที่สุด ไม่ใช่เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้จะหมายความว่าสันติภาพล้มเหลวแล้ว มันไม่ใช่อย่างนั้น แต่มันยืนยันให้เห็นว่ามันต้องเพิ่มขึ้น เดินข้างหน้า ต้องมีการมีส่วนร่วมทุก ๆ ฝ่ายให้มากขึ้นด้วย

ทีมข่าวพลเมืองถาม : เราจะมองสถานการณ์นี้ต่อไปอย่างไรได้บ้าง?

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : ผมคิดว่าช่วงนี้ ต้องดูความคืบหน้าของการพูดคุยว่าจะไปทางไหน เป็นตัวสำคัญของการเปลี่ยนสถานการณ์ในพื้นที่ และเรื่องของพื้นที่ปลอดภัยว่าจะมีความคืบหน้าขนาดไหน มีการช่วยกันตรวจสอบยังไง เป็นตัวสำคัญที่จะชี้ให้เห็นความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการพูดคุย

ประกอบกับการดำเนินนโยบายด้านอื่นที่เกี่ยวข้องที่เป็นจุดที่อ่อนไหว เราต้องยอมรับว่าเราต้องคำนึงถึงประเด็นที่มีความอ่อนไหว ตัวอย่างเช่น ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน อันนี้ต้องระวังจะมีผลกระทบเช่นเดียวกัน พยายามให้ขับเคลื่อนในทางบวกต่อการที่จะแก้ปัญหาในส่วนนี้ด้วย

การพูดคุยสันติภาพต้องผ่านกระบวนการสร้างความยุติธรรมด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีความยุติธรรมสันติภาพก็จะเดินไปได้ยาก ความยุติธรรมในความรู้สึกของคน มีการทำหลายอย่าง แต่หลายอย่างก็ยังมีข้อกังขา อันนี้ก็ต้องยอมรับและแก้ไขกันด้วย

สันติภาพต้องมีความยุติธรรม และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและจะมากระทบ หลายเรื่องอาทิ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการพลังงาน เราก็ต้องระวังด้วยเช่นเดียวกัน ทำอย่างไรจะให้มันไปด้วยกันได้ในทางบวก เพราะการพูดคุยสันติภาพมันเป็นตัวอย่างให้เห็น “ความขัดแย้งที่รุนแรง” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า มันแก้ไขด้วยวิธีการสันติ ความขัดแย้งอื่น ๆ ที่ไม่รุนแรง กลายเป็นความรุนแรง เราก็ต้องป้องกันด้วยเช่นกัน อันนี้เป็นประสบการณ์ที่สำคัญสำหรับการแก้ปัญหาของรัฐบาล

มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน : ในส่วนรัฐบาลต้องตระหนักเรื่องความยุติธรรม สิทธิ ฝ่ายคนเห็นต่างต้องตระหนักเรื่องอะไรบ้าง?

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : คนเห็นต่างก็เช่นเดียวกัน คือ เราก็ต้องให้รับรู้เช่นเดียวกันว่า สันติภาพต้องการการร่วมกันของทุกฝ่าย การก้าวไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ต้องผ่านการพูดคุยสันติภาพถึงจะแก้ปัญหาได้ ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เองก็ต้องการสันติภาพ ต้องการความสงบสุข ต้องการชีวิตที่ดี ที่ผ่านกระบวนการแก้ปัญหาโดยสันติ ดังนั้น ฝ่ายเห็นต่างไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตาม หรือกลุ่มที่ยังไม่ได้เข้าร่วม ควรคิดใคร่ครวญว่าทำอย่างไรถึงจะมีส่วนร่วม หรือชักชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ให้ได้

มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน ถาม : ต้องระมัดระวังเรื่องเป้าอ่อน (ประชาชนที่ตกเป็นเป้าหมายในเหตุการณ์ความรุนแรง) ด้วย?

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : อันนี้สำคัญมาก คือผู้บริสุทธิ์ ประชาชน ไม่ว่ากลุ่มสตรี เด็ก กลุ่มพี่น้องไทยพุทธในพื้นที่ เป็นจุดที่อ่อนไหว และมีผลกระทบต่อความรู้สึกของคน ต้องพยายามระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบ การก่อเหตุความไม่สงบ มันเป็นปัญหา มีผลกระทบต่อประชาชน ควรหลีกเลี่ยงเป้าอ่อนให้มากที่สุด อย่างน้อยถ้าเรายังยุติมันไม่ได้ ความรุนแรงต้องเกิดขึ้น แต่ว่าการแยกแยะเป้าหมาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นผู้บริสุทธิ์ ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบ

มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน : ผมยังยืนยันว่าเรื่องความรุนแรง มันไม่ใช่ทางออก ที่อื่นยังคุยกันได้ทำไมที่นี่จะคุยกันไม่ได้ ถ้าคุยไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่มีความมุ่งมั่นพอที่จะหาทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ผมคิดว่ามีข้อสรุปหลายเรื่องจากการสำรวจ peace survey เวทีต่าง ๆ ทำให้เห็นว่า มันถึงเวลาแล้วที่ 2 ฝ่ายต้องคุยกัน เพราะเป็นเรื่องที่แปลกมาก ผมยืนยันทุกที่ว่า ที่นี่คนตรงกลางที่เป็นประชาชนเสียชีวิตบาดเจ็บเยอะกว่าคู่ขัดแย้ง อันนี้ที่เป็นเรื่องที่ต้องคุยและปล่อยไม่ได้ ต้องหาทางออกให้ได้ข้อยุติ เพราะว่าคนตรงกลางเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บมาก ไม่ว่าจะเป็นพุทธและมุสลิม

ความรุนแรง 13 ปีสร้างผลกระทบเยอะ ขณะที่ข้างในพื้นที่เองก็มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว ตลาดนัด ฯลฯ ถ้าปล่อยให้ความรุนแรงยืดเยื้อ มันจะยิ่งมีผลกระทบมากขึ้นไปอีก อันนี้เรียกร้องต่อทุกฝ่ายในฐานะที่เป็น CSO เรียกร้องทุกฝ่ายต้องมีความมุ่งมั่นให้โต๊ะการพูดคุยเดินไปข้างหน้าและเชื่อว่าประชาชนจะค้ำจุนเรื่องการพูดคุยไปข้างหน้าได้ครับ

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.citizenthaipbs.net/?p=18625