Skip to main content

 

เปิดเขี้ยวเล็บของรัฐในการควบคุมสื่อ

 
ป้ายแคมเปญรณรงค์ต่อต้าน ร่าง พรบ. ตีทะเบียนสื่อImage copyrightLILLIAN SUWANRUMPHA/AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพสมาคมสื่อฯ ออกแคมเปญรณรงค์ต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .....

หากไม่นับรวมกับ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .....ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) ในลักษณะประนีประนอมด้วยการปรับเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นใบรับรองวิชาชีพที่ออกให้โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ตัดบทลงโทษจำคุกและปรับสื่อมวลชน แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับสื่อมวลชน จนทำให้ในวันนี้บรรดาสมาคมสื่อต่างๆ ต่างออกมากดดันให้ถอดร่างดังกล่าวออกไป

ทั้งนี้เนื่องจากว่ายังกฎหมายหลายฉบับในปัจจุบันที่รัฐบาลสามารถใช้เป็นเขี้ยวเล็บในการควบคุมสื่ออีกไม่น้อย ผลที่ตามมาคือ ทำให้องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน จัดอันดับเสรีภาพสื่อไทยประจำปีนี้ อยู่ที่อันดับ 142 จาก 180 ประเทศ ตกลงมา 6 อันดับจากปีก่อนหน้า ตามหลังเมียนมา กัมพูชา และอินโดนีเซีย

บีบีซีไทยรวบรวบกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเขี้ยวเล็บของรัฐในการควบคุมสื่อ

1) กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์

กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw ระบุว่า ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่ง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้าย โดยเป็นกฎหมายที่อยู่ในหมวด 1 ว่าด้วยความมั่นคงของรัฐ และมีอัตราโทษสูง คือ จำคุก 3-15 ปี โดยภายหลังการรัฐประหาร ในปี 2557 iLaw ตั้งข้อสังเกตว่า สถิติคดีตามมาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการใช้ข้อหานี้ดำเนินคดีกับบุคคลจำนวนมากฐาน "แอบอ้าง" พระนามของพระมหากษัตริย์หรือบุคคลอื่นที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

ในกรณีนี้มีหลายคดี แต่คดีที่เป็นที่สนใจเกี่ยวกับสื่อ เช่น จับกุม "ไผ่ ดาวดิน" หลังแชร์รายงานข่าวบีบีซีไทย

2) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วและจะเริ่มใช้บังคับในเดือนนี้ โดยมีเนื้อหาระบุถึง อำนาจของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่สามารถขอให้ศาลสั่ง "บล็อก-ปิด" เว็บไซต์ได้

คนดูหน้าจอคอมพิวเตอร์Image copyrightCHINA PHOTOS/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จะเริ่มมีผลบังคับใช้ปลายเดือนนี้

สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

  • เพิ่มเติมความผิดของการส่งสแปมเมล์ โดยกำหนดโทษปรับ 2 แสนบาท (มาตรา 11)
  • แก้ไขให้ไม่สามารถนำไปฟ้องฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาได้ (มาตรา 14(1))
  • แก้ไขให้ยกเว้นความผิดสำหรับผู้ให้บริการได้หากยอมลบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย (มาตรา 15)
  • เพิ่มเติมให้ผู้ใดที่มีข้อมูลซึ่งศาลสั่งให้ทำลายอยู่ในครอบครองจะต้องทำลายไม่เช่นนั้นจะได้รับโทษด้วย (มาตรา 16/2)
  • เพิ่มเติมให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ขึ้นมาพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดที่จะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สามารถส่งฟ้องศาลเพื่อระงับหรือลบข้อมูลดังกล่าวได้ (มาตรา 20)

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาหลายมาตราใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้ จะต้องให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ออกกฎกระทรวงหรือประกาศ เพื่อกำหนดรายละเอียดการใช้บังคับต่อไป

3) มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

กสทช.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ ที่ผ่านมา กสทช.ใช้มาตรา 37 ในการลงโทษผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ทั้งการสั่งปรับ พักใบอนุญาต หรือถอดถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการ โดยพิจารณาจากเนื้อหาของรายการโทรทัศน์หรือวิทยุว่ามีเนื้อหาขัดต่อมาตรา 37 หรือไม่ กสทช.ยังมีแนวความคิดจะขยายการดูแลเนื้อหาไปยังกลุ่มที่ออกอากาศรายการผ่านช่องทางสื่อใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า Over The Top หรือโอทีที อีกด้วย ซึ่งหลายฝ่ายต่างกังวลว่าจะกลายเป็นควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จในทุกช่องทางสื่อ

4) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 และ ฉบับที่ 103/2557

รูปไมค์โครโฟนของแตล่ะสถานีวางบนโต๊ะImage copyrightMANAN VATSYAYANA
คำบรรยายภาพที่ผ่านมา กสทช. ได้พิจารณาใช้มาตรการทางปกครองและลงโทษสถานีวิทยุและโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 มีเนื้อหาว่าด้วย การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งในเวลาต่อมา คสช. ได้มีประกาศแก้ไขเพิ่มเติมในฉบับที่ 103/2577 ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ กสทช.ในการพิจารณาออก มาตรการทางปกครองและลงโทษสถานีวิทยุและโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก เช่น การสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีซทีวี สถานีโทรทัศน์ดีเอ็มซีของวัดพระธรรมกาย รวมไปถึงสั่งระงับใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีเป็นเวลา 7 วันอีกด้วย

ในมุมมองขององค์กรสิทธิมนุษยชน นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์การฮิวแมนไรต์ วอทช์ ประจำประเทศไทย มองว่า กลไกทางกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะภาครัฐหรือผู้มีอำนาจอาจจะบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้โดยพลการ และส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของทั้งประชาชนและสื่อมวลชน 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.bbc.com/thai/thailand-39769676