Skip to main content

โดยกลุ่มด้วยใจและเพื่อนๆ

25 ตุลาคม 2560

 

วันนี้ในอดีตเป็นวันประวัติศาสตร์ที่คนในประเทศไทยและทั่วโลกรับทราบข่าวอันเลวร้ายถึงเหตุการณ์ที่มีการตายจำนวนมากของผู้คนที่ริมน้ำหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากมีการจับกุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คน เนื่องจากมีกรณีปล้นปืนและเจ้าหน้าที่สงสัยว่าอาจไม่ใช่การปล้นปืนทำให้ชาวบ้านไม่พอใจจึงมาประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจตั้งแต่เช้า

ผู้คนเริ่มมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งเวลา 15:00 น จึงมีปฏิบัติการณ์สลายการชุมนุมเมื่อชาวบ้านเริ่มขว้างหินและสิ่งของไปยังเจ้าหน้าที่ ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงเริ่มฉีดน้ำใส่ผู้คน และมีการใช้กำลังและความรุนแรงจนทำให้มีประชาชนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 6 คน เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 14 คน และมีการนำประชาชนที่มาชุมนุมขึ้นรถบรรทุกไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีระยะทาง 150 กิโลเมตรซึ่งจากปฏิบัติการดังกล่าวรายงานของคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีตากใบระบุว่าการปฏิบัติการณ์ไม่มีการแก้ไขให้ทันท่วงทีทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายจำนวน 78 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยมีผู้ที่ถูกควบคุมไปกับรถจำนวน 1,370 คน นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหายอีก 7 คน[1]

เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และประเทศด้วยเช่นกัน และนั่นก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้เริ่มรุนแรงขึ้นอีกทั้งยังเป็นภาพความทรงจำที่นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการชักชวนให้ผู้คนเข้าร่วมขบวนการปลดปล่อยปาตานี

 

ทำไมเราจึงทำกิจกรรมตากใบทัวร์

เราได้ชวนเพื่อน NGO เยาวชน และ นักศึกษา คนรุ่นใหม่ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์พวกเขาอายุเพียง 10 กว่าปีเท่านั้น เพื่อไปเรียนรู้ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ตากใบ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาได้รับรู้จากภาพข่าว คลิป และเรื่องเล่าจากนักกิจกรรม แต่ในโอกาสนี้พวกเขาจะได้รับรู้ข้อเท็จจริงจากผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์เลยทีเดียว เราเริ่มต้นจากการไปพูดคุยกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่บ้านหลังหนึ่งในตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อมาถึงกับข้าวที่พวกเขาจัดเตรียมให้เราก็เสร็จพอดี  ไม่อยากบอกว่าอร่อยมากแกงเหลืองปลาโอ ปลาทอด บูดู ไข่เจียว และผัก คือเมนูมื้อเที่ยงของเรา

เราก็ชวนคุยกันถึงสารทุกข์สุกดิบของทุกคน ที่บ้านหลังนี้สูญเสียลูกชายวัย 19 ปี ไป เขาได้รับการเยียวยาเป็นเงิน 7.5 ล้านบาท บ้านที่เราไปสวยงาม กว้างขวาง น่าอยู่บ้าน  แต่มันแฝงด้วยความเหงา เศร้า ที่เราสัมผัสได้ เมาะอีกคนก็สูญเสียลูกชายไปในเหตุการณ์ ต่อมาลูกชายอีกคนก็สูญหายเพราะเขาไปเป็นพยานสำคัญในคดีหนึ่ง และเมาะๆอีกหลายคนที่มาร่วมกันในวันนี้  ทุกคนก็ดีใจที่พวกเรามาเยี่ยม ได้กินข้าวร่วมกัน เราถามว่าเมื่อถึงวันที่ 25 ตุลาคม ของทุกปีพวกเขารู้สึกอย่างไรกันบ้าง บางคนก็บอกว่าได้ดูภาพเหตุการณ์เก่าๆก็รู้สึกเจ็บปวดและเจ็บใจในการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนั้น บางคนก็บอกว่าอยากลืมไม่อยากจดจำ รัฐเองก็ได้มีการเยียวยาซึ่งก็ทำให้พวกเขารู้สึกดีที่มีการรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นแต่ก็ยังไม่สามารถคลายความโกรธที่พวกเขามีได้ ตอนนี้มีแต่รุ่นเขาที่ยังจดจำเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไรและพวกเขาก็แก่และเหนื่อยมากแล้วกับเรื่องนี้ แต่พวกเขาก็มิอยากให้เรื่องนี้เลือนหายไป อยากให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องจากหลายๆมุมและอยากให้มีการจัดทำที่แห่งความทรงจำเพื่อเตือนสังคมให้ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

หลังจากนั้นเราก็มาที่กุโบร์ที่ฝังศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เราเลือกมาที่กุโบร์แห่งนี้เพราะเป็นทางผ่านที่เราจะไปสถานที่เกิดเหตุ   กุโบร์เป็นที่ที่ทำให้เรารับรู้ว่าที่นี้มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง เราได้อ่านอัลกุรอ่านและขอดุอาร์ให้กับพวกเขาและทุกคนที่อยู่ในกุโบร์   ต่อมาเราได้เดินทางต่อมาที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ สถานที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมากมีการสร้างสำนักงานใหม่ และเพิ่มอาคารสถานที่ราชการ กะแยนะได้พาเราไปดูจุดทีกะแยนะยืนดูสถานการณ์และเห็นเหตุการณ์ตอนที่ชาวบ้านเริ่มขว้างหินและปาสิ่งของจนเจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำใส่ฝูงชน ทำให้ผู้คนกระจัดกระจายและกลายเป็นภาพสะเทือนใจต่อมา ภาพเหล่านั้น จุดๆจุดนั้นมันฝังแน่นอยู่ที่กะแยนะ  กะเล่าว่าคนเต็มพื้นที่วิ่งกันกระจัดกระจายมาที่ริมฝั่งน้ำ เจ้าหน้าที่ก็ยิงอาวุธใส่มีคนคนหนึ่งถูกยิงเข้าที่เบ้าตา และถูกมัดมือ และสั่งให้นอนคว่ำกับพื้น เขาขยับตัวเหมือนปลาที่อยู่บนพื้นดินกระดุกกระดิกไปมา ขณะที่เราคุยกันมีชาวบ้านที่นอนเล่นอยู่บนศาลาได้ยินเราคุยกันจึงได้เล่าให้เราฟังว่าเขาเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ตอนนั้นเขาอายุ 17 ปี เขากับเพื่อนมีบ้านอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุจึงมาดูเหตุการณ์แต่เจ้าหน้าที่ปิดล้อมจนไม่สามารถกลับบ้านได้เขาเห็นเพื่อนถูกยิงเขาได้พยายามที่จะดึงเพื่อนออกมาจากจุดนั้นแต่ไม่สำเร็จเขาออกมาได้แต่เพื่อนของเขาเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นเขาจึงถูกบังคับให้ขึ้นรถบรรทุกคันที่ 5 และนอนคว่ำในชั้นที่ 3 แต่โชคดีของเขาที่เขาอยู่ด้านนอกสุดทำให้ได้รับอากาศจากช่องลมของรถบรรทุก  เขาบอกว่า ณ ขณะนั้นเขาเหมือนกับอยู่ใกล้วันกิยามัต หรือวันสิ้นโลกแล้ว และเขายังบอกอีกว่าเขาอยากเอาหัวฝังลงไปในดินไม่อยากรับรู้ไม่อยากเห็นอะไรอีกแล้ว ตอนนี้เขา 30 ปีแล้วมีครอบครัวมีลูกแล้ว แต่บางครั้งภาพเหตุการณ์ก็หวนกลับมาให้เขานึกถึง ทุกวันที่ 25 ตุลาคม เขาก็จะมาที่นี้  เขายังรู้สึกโกรธอยู่ เราสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของเขา เราเข้าใจว่าทำไมเขายังมีภาพหลอนอยู่ เราไม่รู้ว่า  1370 คน ที่รอดชีวิตมาพวกเขาเป็นแบบนี้ด้วยไหมนะ

รถของเราได้พาเราผ่านตัวเมืองนราธิวาสจนถึงที่อำเภอบาเจาะและพาเราไปที่มัสยิด 300 ปี หรือมัสยิดตะโละมาเนาะ ทำไมเรามาที่นี้ ก็เพราะว่าที่นี้มีการฝังศพ 28 ศพ[2] ที่ไม่มีญาติมารับศพไปประกอบพิธีทางศาสนา เราเดินข้ามสะพานที่เป็นเขตแดนกั้นระหว่างมัสยิดกับกุโบร์ จากจุดที่เรายืนกับหลุมฝังศพค่อนข้างไกล ที่นี้มีการขุดหลุมฝังรวมกันทั้ง 28 ศพเลย และมีการระบุว่าเป็นผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ตากใบ

จบตากใบทัวร์ของเราด้วยคำถามที่ว่าเราจะเปลี่ยนผ่านความทรงจำที่เจ็บปวดของผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้ไปสู่ความทรงจำที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพได้อย่างไร เมื่อเราได้ทบทวนเหตุการณ์เราก็พบว่า

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง การรายงานต่างๆ ข่าวสารที่ปรากฎมีหลายมุมที่แตกต่างกันเช่นจากมุมของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ มุมของเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติการ ความแตกต่างนี้ทำให้ข้อมูลแต่ละชุดถูกนำไปขยายผลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลของมุมตนเอง

มีการเยียวยาทั้งจากภาครัฐและเอกชนทั้งที่เป็นค่าชดเชยจำนวน 7.5 ล้านบาทให้กับผู้เสียชีวิต และค่าชดเชยจำนวนหนึ่งให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ มีการเยียวยาสภาพจิตใจให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต มีการจัดงานรำลึกต่อเหตุการณ์ตากใบโดย NGO ในพื้นที่ และมีการขอโทษจากนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลลานนท์ ทั้งนี้เป็นการเยียวยาต่อปัจเจกบุคคล แต่ไม่ได้มีการเยียวยาต่อความรู้สึกของสังคมที่สุญเสียความไว้วางใจต่อรัฐไปจากผลการกระทำของเจ้าหน้าที่ในครั้งนั้น ผลจากการเยียวยาครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบทำให้พวกเขามีความพึงพอใจในระดับหนึ่งแต่ความพึงพอใจนั้นยังไม่ส่งผลต่อการคลี่คลายความรู้สึกของสังคม

 กรณีนี้มีกระบวนการไต่สวนการตายเพราะเป็นการตายในการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐแต่สุดท้ายศาลระบุว่าเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจทั้งๆที่ในการชันสูตรพลิกศพโดยแพทย์ระบุว่าสาเหตุการตายเกิดจากขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศ ถูกกดทับที่หน้าอก ไตวายเฉียบพลัน  และในที่สุดก็ไม่มีคนผิดถูกดำเนินคดี ทางครอบครัวผู้เสียชีวิตได้มีความพยายามในการแสวงหาความยุติธรรมทั้งทางแพ่งและอาญาจนได้มีการไกล่เกลี่ยและนำมาสู่การเยียวยาด้วยเงินจำนวน 7.5 ล้านบาทกรณีที่มีการเสียชีวิตแต่ในทางคดีอาญาทางครอบครัวก็ไม่ดำเนินการต่อ[3]

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงไม่มีใครที่อยากจะให้เกิดซ้ำแต่กระบวนการป้องกันยังไม่ได้เกิดขึ้น  หลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ แม่ทัพภาค 4 ในขณะนั้น ก็ได้ขอย้ายตัวเองออกจากการเป็นแม่ทัพภาค 4 และต่อมาก็มีการถูกตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบ ซึ่งผลการสอบสวนพบว่าเจ้าหน้าที่ขาดความพร้อม และบกพร่องต่อหน้าที่ในการเผชิญเหตุโดยสันติ [4] จนกระทรวงกลาโหมตั้งกรรมการลงโทษทางวินัย ถูกย้ายและ ริบบำเหน็จ แต่ยังไม่มีกลไกใดๆในการป้องกันหรือคัดเลือกมิให้คนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาปฎิบัติงาน และการปฎิรูปกฎหมายและการปฎิรูปสถาบันความมั่นคง

มีข้อค้นพบว่าจากความขัดแย้งทั่วโลกเครื่องมือหรือกลไกที่จะเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพที่ก่อนการเปลี่ยนผ่านหรือระหว่างการเปลี่ยนผ่านนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงนั้นเรียกว่าความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การจัดการกับปัญหาในอดีต (Dealing with the Past) ซึ่งมี 4 กลไกที่ร้อยเชื่อมกันก็คือ การค้นหาความจริง(Truth seeking)  การเยียวยา (Reparation) การสอบสวนและการดำเนินคดี  (Prosecution) และการปฏิรูปสถาบัน(Institution Reform) ทั้งหมดเพื่อที่จะไม่ให้เกิดซ้ำอีก(non recurrence)  เมื่อเรามาทบทวนกรณีตากใบเราก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ขาดหายไปตลอดระยะเวลา 13 ปีอย่างแรกก็คือ การรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงที่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบถึงเหตุการณ์นี้  สิ่งที่ขาดหายต่อมาก็คือการฟื้นคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการหลายอย่างโดยเฉพาะการฟื้นฟูสภาพจิตใจซึ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่ทั่วถึง และการสร้างความเข้าใจต่อสังคมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งการเยียวยาสังคมก็มีหลากหลายรูปแบบเช่น การทำพิพิธพันธ์  การทำอนุสรณ์สถาน การจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์  สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการนำคนผิดมาลงโทษหรือแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ตามกระบวนการยุติธรรม และสุดท้ายสิ่งที่ขาดหายไปคือการป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำไม่ว่าจะเป็นการปฎิรูปสถาบัน ระบบคัดกรองคนที่จะมาทำงานที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก่อน สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดมิใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำ แต่สิ่งที่สามารถทำได้ง่ายที่สุดและส่งผลต่อความรู้สึกของคนในสังคมได้มากที่สุดก็คือการเยียวยาสังคมโดยรวม เพราะเมื่อลดความรู้สึกคับข้องใจได้การเปิดใจก็จะตามมาและการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น



[1] ดูเพิ่มเติมในรายงานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตากใบ

[2] “กก.อิสลาม” สลดใจ!ม็อบตากใบไร้ญาติ 28 ศพ, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9470000073588

[3] 11 ปีตากใบ : สูญเสียทุกฝ่าย...มีแต่พ่าย ไร้คนชนะ, http://www.komchadluek.net/news/crime/215772

[4] เปิด" ความจริงที่ตากใบ" ฉบับกมธ.พัฒนาสังคม, https://prachatai.com/journal/2004/12/1893