Skip to main content

 

อัยการยุติฟ้อง 3 นักสิทธิ คดีรายงานซ้อมทรมานภาคใต้

 

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
กรุงเทพฯ
2017-11-02
 
 
 
    171102-TH-activists-620.jpg
    น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ (ซ้ายมือ) และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ในงานขององค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2559
    ภาพโดย น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ในวันพฤหัสบดี (2 พฤศจิกายน 2560) นี้ นายสมชาย หอมลออ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ได้ยุติการดำเนินคดีกับตนเอง และนักสิทธิมนุษยชน อีก 2 คน ในคดีที่ กอ.รมน. ฟ้องหมิ่นประมาท จากการเผยแพร่รายงานที่กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในระหว่างการถูกควบคุมตัวในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

    นายสมชาย หอมลออ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นโจทย์ฟ้องนายสมชาย น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และน.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ในข้อหาหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่โดยการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ในห้วงปี พ.ศ. 2557-2558

    “ผมทราบเรื่องเมื่อวาน กอ.รมน. โดยนายกรัฐมนตรี ถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่แก้ไขใหม่ ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป พนักงานอัยการมีคำสั่งเป็นอันยุติ ขอบคุณ กอ.รมน. นายกรัฐมนตรี ที่รับฟังเสียงเรียกร้องอันนี้ ขอบคุณองค์กรสิทธิ และสื่อมวลชนที่ร่วมเรียกร้องให้ยุติ” นายสมชายกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

    “ถือว่าเป็นประเด็นที่รัฐบาลไม่ควรจะดำเนินการ เพราะสิ่งที่เราทำนั้นเป็นการทำในฐานะเป็นนักสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ทำในนามส่วนตัว เป็นการทำเพื่อประเทศชาติ อย่างไรก็แล้วแต่ เห็นว่ายังมีนักสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมอีกไม่น้อยที่ยังถูกดำเนินคดีจากภาคธุรกิจ หรือหน่วยงานรัฐ อยากให้กรณีของเรา เป็นกรณีตัวอย่างในพิจารณากับคดีอื่นๆ” นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติม

    ต่อการยุติการดำเนินคดีครั้งนี้ นายเจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุผ่านแถลงการณ์ในวันเดียวกันว่า ต้องการให้รัฐบาลไทยยกเลิกการดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนทั้งหมดในทุกกรณี เพื่อเป็นการปกป้องการทำหน้าที่ของพวกเขา

    “ทางการไทยต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจัง เพื่อสร้างบรรยากาศที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถทำหน้าที่ของพวกเขาได้ โดยไม่กลัวการตอบโต้หรือเอาคืน ทางการไทยยังควรยกเลิกการดำเนินคดีทั้งหมดต่อบุคคลที่ถูกจำคุก หรือต้องเข้ารับการไต่สวนเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของพวกเขาอย่างสันติด้วย” นายโกเมซ กล่าว

    ขณะที่ นายคิงสลีย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ว่า รู้สึกยินดีกับการยุติคดีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานในพื้นที่ภาคใต้ด้วย

    “การดําเนินคดีที่ได้ผ่านมาแล้วนั้น ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อผู้ที่ร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น การทรมานและการปฎิบัติที่โหดร้ายต่อภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จําเป็นต้องได้รับการแก้ไข สิ่งสําคัญที่จําเป็นจะต้องกระทําคือการออกกฎหมายที่กําหนดให้การทรมาน และการปฎิบัติอย่างทารุณเป็นความผิดทางอาญา และให้ความคุ้มครองต่อผู้ที่ต้องการดําเนินการร้องเรียนการละเมิดดังกล่าวอย่างจริงจัง” นายแอ๊บบอตกล่าว

    รายงานการซ้อมทรมานฯ ที่นำมาสู่การฟ้อง

    รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ. 2557-2558 ถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในเว็บไซต์ https://voicefromthais.wordpress.com โดยการจัดทำรายงานฉบับนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเหยื่อจากการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations for Victims of Torture) และถูกแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559

    การรวบรวมข้อมูลทำรายงานชิ้นนี้ เป็นการรวมข้อมูลจากคำบอกเล่าของผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน ระหว่างปี 2547-2558 มาบันทึกไว้ อายุ 19-48 ปี รวม 54 ปาก โดยมีจุดมุ่งหวังเพื่อแสวงหาความเป็นธรรมและเยียวยาให้กับเหยื่อที่ถูกทรมาน โดยใช้แบบประเมินผลกระทบจากการทรมานเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งออกแบบโดย Physicians for Human Rights (PHR) และ American Bar Association Rule of Law Initiative (ABAROLI) ในกระบวนการรวบรวมใช้ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้ผ่านการฝึกอบรม ในการใช้แบบสอบถามดังกล่าวหลายครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ

    ผู้จัดทำชี้แจงว่า ในการเขียนรายงาน มิได้ประสงค์ที่จะระบุชื่อของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทรมาน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรม วิธีการ สถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมของการกระทำทรมาน ความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดกับผู้เสียหายจากการทรมานเป็นสำคัญ

    กระทั่ง กอ.รมน.ยื่นเรื่องถอนฟ้องต่อพนักงานสอบสวน และสำนักงานอัยการมีคำสั่งถอนฟ้องลงวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา

     

    เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-rights-activists-11022017144019.html