Skip to main content

ก้าวย่างที่ก่อเกิด (สันติสุข) ผ่านบทเรียนสะท้อนบางประการจากภาพรวมของงานวิจัยที่เกี่ยวกับอิสลามศึกษาและวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

(2549-2558) ของศูนย์ประสานงานโหนดวิจัยอิสลามศึกษาและวัฒนธรรม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)[1]

 

เรียบเรียงโดย :

อาจารย์สุรชัย  ไวยวรรณจิตร      (หัวหน้าโครงการ)

ผศ.มาหะมะดารี  แวโนะ            (มหาวิทยาลัยฟาฏอนี)

นายมูฮำหมัดราพีร์ มะเก็ง          (นักวิจัยอิสระ)

นางสาวตูแวคอลีเย๊าะ กาแบ       (สกว.ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น)

นางสาวอามีเน๊าะ การีอูมา         (สกว.ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น)

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

จากการสังเคราะห์ภาพรวมของงานวิจัยที่เกี่ยวกับอิสลามศึกษาและวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2549-2558) ภายใต้การสนับสนุนของ ศูนย์ประสานงานโหนดวิจัยอิสลามศึกษาและวัฒนธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมเกือบ 40 เรื่อง พบว่า

ภาพรวมความรู้ของงานวิจัยที่เกี่ยวกับอิสลามศึกษาและวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2549-2558) พบว่า

งานส่วนใหญ่จะเน้นไปใน ด้านการศึกษากับชุมชน ซึ่งมีด้วยกันถึง 19 เรื่อง ทั้งนี้ส่วนใหญ่งานวิจัยด้านนี้จะพูดถึงในเรื่องการศึกษาอัลกุรอานในแบบกีรออาตีพร้อมทั้งแสดงให้เห็นรูปแบบในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กเล็กถึงระดับผู้ใหญ่ ซึ่งมีวิธีการ เทคนิคในการสอนที่แตกต่างกันไป เพื่อหวังผลให้ผู้เรียนให้ความสำคัญกับการเรียนอัลกุรอาน เพราะอัลกุรอ่านเป็นวิถีชีวิตของมุสลิมที่จะต้องเป็นสิ่งนำทางในการดำเนินชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้งานวิจัยยังมีการพูดถึงการบริหารจัดการและการหนุนเสริมการเรียนทางด้านภาษาในการพัฒนาเด็กตั้งแต่ในโรงเรียนตาดีกาถึงมัธยมศึกษา เช่น  มุตอลาอัฮ (หนังสือการอ่านภาษาอาหรับ) ระดับ 1 มูตาวัสสิฏ แปลความหมายจากภาษาอาหรับสู่ 4 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษามาเลเซีย และภาษามลายูปาตานี เป็นต้น 

รองลงมาคือ ด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งได้ให้การสนับสนุนด้วยกันถึง 7 เรื่อง ส่วนใหญ่งานวิจัยในด้านนี้จะพูดถึงแนวทางและรูปแบบส่งเสริมการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวให้อยู่ในสังคมอย่างสันติสุขตามแนวทางอิสลามที่ควรจะเป็น อาทิ เยาวชนกับการพัฒนาชุมชน โดยใช้เทคนิคในการดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมโดยใช้ฐานของมัสยิดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการสร้างครอบครัวสุขสันต์ สตรีกับการเปลี่ยนแปลงบทบาทของตนเองทั้งในเรื่องการดูแลลูก การปรนนิบัติสามี  และ ตามมาด้วยใน ด้านการบริหารจัดการท้องถิ่น ได้ให้การสนับสนุนด้วยกันถึง 5 เรื่อง  ส่วนใหญ่จะเน้นหนักในเรื่องของมัสยิดเป็นฐานในการบริหารจัดการท้องถิ่น ทั้งในเรื่องของรูปแบบการบริหารจัดที่ดี และแนวทางที่เห็นผลได้ชัด ตลอดทั้งกระบวนการทำงานของมัสยิดในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนที่สามารถดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมที่หลากหลาย เช่น การดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่

และในด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ให้การสนับสนุน มีด้วยกันถึง 3 เรื่อง ส่วนใหญ่จะพูดถึงความรู้ความเข้าใจและการอนุรักษ์ทั้งในเรื่องของบทร้องซางี การทำความรู้จักสมุนไพรท้องถิ่น โดยสามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงคุณค่า และมูลค่าให้แก่ชุมชน ทั้งนี้ยังสามารถก่อเกิดเป็นรายได้ของชุมชนอีกด้วย

และ ด้านสุขภาพ หมอเมือง และสมุนไพรท้องถิ่น ให้การสนับสนุน 1 เรื่อง โดยมีการพูดถึงการดูแลสุขภาพโดยหมอพื้นบ้าน ที่ไปเชื่อมโยงกับความเชื่อเดิมของพื้นที่ กับความเป็นสมัยใหม่ทางการแพทย์ พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของอิสลามานุวัฒน์ ที่ส่งผลให้ความเชื่อเดิมๆ หายไป และสุดท้ายคือ ด้านชุมชนกับการจัดการทรัพยากรมี 1 เรื่อง พบว่า เน้นในเรื่องเส้นทางการค้าและรูปแบบเอกสารประกอบการค้าตลาดชายแดน โดยลักษณะผ่านด่านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการส่งออกโดยผ่านพ่อค้าคนกลาง

 

การสร้างพลังชุมชนบนฐานงานวิจัยในการขับเคลื่อนพื้นที่อย่างมีทิศทาง

ที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า งานวิจัยสามารถเป็นเครื่องมือให้กลุ่มชุมชนได้มีการจัดระบบ ได้มองเห็นปัญหา และนำไปสู่การแก้ไข เพราะก่อนการวิจัย มองเห็นปัญหา แต่ยังไม่มีเครื่องมือช่วย การวิจัยเข้ามาสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด มีแกนนำในการขับเคลื่อน

           สำหรับงานวิจัยที่เห็นได้อย่างเด่นชัดอย่างกีรออาตี ที่ผ่านมา พบว่า ด้านการบริหารจัดการ พัฒนาครู พัฒนาเด็ก พัฒนาศูนย์ พัฒนาหลักสูตร มีการประชุม ติดตาม การประเมินผล เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างศูนย์กับเด็ก กับชุมชน กับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่  ผู้นำท้องถิ่น เพราะงานวิจัยทำให้ชมรมได้แผนการบริหารจัดการชมรมที่ชัดเจน ซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมปรึกษาหารือ คิดวิเคราะห์ วางแผนร่วมกันของทีมงาน จะเห็นได้ว่า การพัฒนาที่เกิดขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่องของงานวิจัยกลุ่มกีรออาตี ล้วนเกิดจากการขับเคลื่อนผ่านงานวิจัยจนเป็นที่ประจักษ์ในสังคมปัจจุบัน ชุมชนเกิดการมีส่วนร่วม ผู้นำ ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารศูนย์ เป็นหูเป็นตาในการดูแล ทำให้เด็กเข้ามาเรียนมากขึ้น ตลอดจนเด็กมีคุณธรรม จริยธรรม แยกแยะได้อะไรดี อะไรไม่ดี

อีกประการ พบว่า งานวิจัยเป็นตัวเชื่อมนักวิชาการและชุมชนให้มาร่วมช่วยกันในการแก้ปัญหา ทุกครั้งที่เกิดปัญหาในชุมชนแกนนำกล้าที่จะเผชิญปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ งานวิจัยทำให้เห็นคุณค่าของชุมชน ครอบครัว ตัวเอง และเพื่อนบ้าน

ตลอดจนสามารถดึงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเข้ามาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผ่านกิจกรรมต่างๆของงานวิจัยสร้างเวทีให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ศักยภาพ และความต้องการของเยาวชน และสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งระหว่างเยาวชนและผู้นำต่างๆ เยาวชนได้ใกล้ชิดกับมัสยิด / ศาสนามากขึ้น

อีกทั้งงานวิจัยทำให้เกิดครอบครัวสุขสันต์ ลดการหย่าร้าง ลดการทะเลาะเบาะแว้ง ชุมชนเป็นสุข มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในชุมชนร่วมกันมากขึ้นการเข้ากลุ่มฮาลาเกาะฮมุสลิมแท้ ทำให้ได้เห็นการเปลียนแปลงที่ชัดเจน เช่น แต่ก่อนเวลาทะเลาะกับสามีไม่คุยกันเป็นเดือน แต่พอผ่านกระบวนการฮาลาเกาะฮ ทำให้ได้เรียนรู้ศาสนาในการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในครอบครัว ทำให้จิตใจอ่อนโยน ให้อภัย มีความรับผิดชอบ รู้จักแบ่งเบา เพราะการทำฮาลาเกาะฮคือการขัดเกลาจิตใจ

งานวิจัยกลุ่มเด่นที่จะควรมีการดำเนินการวิจัยต่อ  ประกอบด้วย   การวิจัยเรื่องซากาต  การวิจัยภาษาอาหรับในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  บทบาทมัสยิดกับการพัฒนาและแก้ปัญหาสังคม  เป็นงานวิจัยที่มีโอกาสในการดำเนินการต่อได้อย่างมาก  เนื่องจาก

สังคมยังขาดความรู้ในด้านการจัดการซากาตสูง ซึ่งดำเนินการโดยมัสยิด และประเด็นนี้ในประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม  ทั้งเป็นฐานการจัดการสู่การลดความเลื่อมล้ำทางสังคม  สามารถช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้อย่างทั่วถึง  และการดำเนินการอย่างเป็นระบบจะนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนด้วย สร้างความรักความเข้าใจของคนในชุมชน

ด้านการศึกษาภาษาอาหรับเป็นภาษาที่สองของโลก   และเป็นภาษาที่เชื่อมโยงไปสู่การสร้างฐานการสร้างอัตลักษณ์ทางภาษา  การศึกษา   ศาสนา และเศรษฐกิจในสังคมยุคอนาคตได้เป็นอย่างดี  เพราะเมืองไทยเป็นประเทศที่มีชาวตะวันออกกลางมาใช้บริการทางการแพทย์จำนวนมาก  ซึ่งควรมีการศึกษาภาษาอาหรับอย่างยิ่งจังเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและรายได้ของคนไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

มัสยิด  เป็นองค์กรที่สำคัญในอิสลามที่สามารถพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์และพัฒนามุสลิมให้เป็นมุมิน(ผู้ศรัทธา) ที่สมบูรณ์   มัสยิดเป็นองค์กรที่สามารถที่สามารถบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยของชุมชนนั้นๆได้เป็นอย่างดี  ดังนั้น จึงเชื่อว่าหากมีกระบวนการพัฒนาสังคมบนฐานมัสยิดจะทำให้สังคมมุสลิมมีการพัฒนาได้อย่างแน่นอน  และนำไปสู่การพัฒนาสังคมองค์รวมของประเทศชาติได้ ทั้งนี้นั้น การดำเนินการวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับฐานเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรมมุสลิมที่มีช่องว่างอยู่มาก 

ดังนั้นจากข้อค้นพบ ประเด็นต่างๆที่กล่าวมา  แม้ว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของศูนย์ประสานงานโหนดวิจัยอิสลามศึกษาและวัฒนธรรม จะมีการสนับสนุนโครงการในมิติต่างๆของพื้นที่บ้างแล้ว  แต่เป็นการวิจัยในบางมุมของเรื่องเท่านั้นยังไม่ครอบคลุมการแก้ปัญหานั้นๆได้  ซึ่งมีประเด็นอื่นๆที่ควรศึกษาต่อเนื่องอย่างเป็นระบบเป็นอย่างมาก  อีกทั้งเป็นงานวิจัยในระดับหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่สามารถสร้างพลังผลักดันในระดับนโยบายได้เท่าที่ควร จึงควรมีการขยายทั้งเชิงเนื้อหาที่ครอบคลุมการแก้ปัญหา  และการขยายเชิงพื้นที่ ไปพร้อมกันด้วย  เพื่อสร้างพลังไปสู่การสร้างสันติสุขของพื้นที่ 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

สำหรับจุดอ่อนของงานวิจัยที่ผ่านมา ทำให้งานขาดพลัง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของนักวิจัยเองที่ขาดทักษะด้านภาษาและด้านงานเขียน เพื่อการเผยแพร่  การบริหารโครงการที่ต่อเนื่อง  การออกแบบงานวิจัยที่ไม่สอดคล้องกับระยะเวลาโครงการ   ความรู้เฉพาะในเรื่องที่ทำ  สภาพทางสังคมที่นักวิจัยมาจากหลากหลายอาชีพมาทำร่วมกัน ปัจจัยนี้มีผลกระทบด้านการแบ่งเวลาในการบริหารโครงการ ที่บางครั้งทำให้โครงการล่าช้าไปด้วย  ความทุ่มเทและรักในงานวิจัยที่ทำ  การปรับเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างดำเนินงาน  สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ที่ส่งผลกระทบกับนักวิจัย 

นอกจากนี้งานวิจัยในบางพื้นที่ระดับชุมชนไม่สามารถเชื่อมร้อยให้กลุ่มคนในชุมชนโดยเฉพาะผู้นำศาสนา  ผู้นำชุมชน  ผู้นำท้องถิ่น  ผู้นำธรรมชาติ เข้ามาร่วมในกระบวนการวิจัย  ทำให้ไม่สามารถที่จะต่อเรื่องสู่การแก้ปัญหาระดับเหนือโครงการได้เท่าที่ควร  ดังนั้น การสร้างพลังชุมชนบนฐานงานวิจัยในการขับเคลื่อนพื้นที่อย่างมีทิศทางในอนาคตของศูนย์ประสานงานโหนดวิจัยเพื่อท้องถิ่นอิสลามศึกษาและวัฒนธรรม ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิเคราะห์กลุ่มคนเพื่อเชื่อมร้อยคนสู่การสร้างพลังให้มากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรกระตามทท้ายที่สุดก็สะท้อนให้เราเห็นอย่างหนึ่งว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้นิ่งดูดายกับพื้นถิ่นท้องที่ของตัวเอง ยังมีคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่ลุกขึ้นมาพยายามพัฒนา แก้ปัญาพื้นถิ่นท้องที่ของตัวเองผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “งานวิจัยท้องถิ่น” ในการสร้างสันติสุข/สันติภาพที่เราทุกคนอยากเห็นอีกมิติ

         

 



[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย“การสังเคราะห์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในรอบ 10 ปี (พ.ศ.2549 - พ.ศ. 2558) ของศูนย์ประสานงานโหนดวิจัยอิสลามศึกษาและวัฒนธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ประจำปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังจะแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ในปีนี้ (2560)