Skip to main content

 

เยรูซาเล็มอีกสักครั้ง

 

โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

 

 

สำนักจุฬาราชมนตรี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีมติออกมาแล้วให้ประณามประธานาธิบดีทรัมพ์กรณีอนุมัติการย้ายสถานทูตอเมริกันจากเทลอะวีฟไปเยรูซาเล็ม ผมเองเห็นด้วยอย่างยิ่งกับมติ ทั้งเห็นว่าโลกมุสลิมโดยเฉพาะโอไอซีน่าจะแสดงปฏิกิริยาในเรื่องนี้มาเป็นระยะก่อนหน้านี้เนื่องจากการรับรองเยรูซาเล็มหรืออัลกุดส์ในภาษาอาหรับของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นมานาน 22 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2017 ที่ผ่านมานี้เอง

ย้อนหลังกลับไปใน ค.ศ.1995 สภาคองเกรสสหรัฐรับรองสถานะของเยรูเล็มว่าเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเมื่อครั้งผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยสถานะของเยรูซาเล็ม มาถึงปี 2002 ยังรับรองซ้ำไปอีกว่าหากคนอเมริกันคนใดเกิดในเยรูเล็มและประสงค์จะเพิ่มข้อมูลด้านสัญชาติเพิ่มเติม ทางสถานกงสุลอเมริกันที่เยรูซาเล็มสามารถกำหนดไปในใบเกิดได้เลยว่าสัญชาติอิสราเอล เป็นการยืนยันว่าสหรัฐอเมริกายอมรับว่าเยรูซาเล็มเป็นดินแดนของอิสราเอล และในเมื่อสหรัฐไม่ยอมรับการแบ่งแยกเยรูซาเล็มออกเป็นเขตตะวันตกและตะวันออก ย่อมหมายความว่าสหรัฐถือว่าเยรูซาเล็มทั้งหมดเป็นของอิสราเอลอย่างเบ็ดเสร็จ นั่นคือเหตุผลในทางทฤษฎี

ลองไปดูเหตุผลในทางปฏิบัติกันบ้าง ดูจากจำนวนเจ้าหน้าที่กงสุลอเมริกันเกือบพันคนในเยรูซาเล็ม ดูงบประมาณมหาศาลที่รัฐบาลสหรัฐจ่ายให้กับสถานกงสุลที่นั่นก็แทบจะมั่นใจได้ว่าสหรัฐอเมริกาเฉียดจะมีสถานทูตอยู่ในเยรูซาเล็มแล้วเพียงแต่ยังไม่เรียกอย่างเป็นทางการเท่านั้น เหตุที่รับแล้วว่าเยรูซาเล็มเป็นดินแดนของอิสราเอลแต่ยังรีรอที่จะย้ายสถานทูตของตนเองไปอยู่ที่นั่นก็เพราะมีแรงต้านค่อนข้างสูง ส่วนทรัมพ์เป็นคนห่ามๆอยู่แล้วจึงกล้าย้ายทั้งยังพูดในทำนองว่าย้ายสถานทูตอเมริกันไปเยรูซาเล็มอย่างที่ควรจะเป็น เพราะในข้อเท็จจริงคือมันเป็นของมันอยู่แล้ว การที่ยังไม่ยอมรับเป็นแค่เหตุผลทางการทูตเท่านั้น ผมจึงว่าโอไอซีช้าเกินไป แต่ถึงช้าเพิ่งตื่นมาประท้วงกันในวันนี้ก็ยังไม่สาย

อำนาจต่อรองในเรื่องเยรูซาเล็มของโอไอซีเบาหวิวเมื่อเทียบกับอิสราเอลก็เพราะความสามัคคีของชาติสมาชิกมีปัญหา โดยเฉะาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านที่ยังไม่มีใครยอมใคร ซึ่งก็เข้าทางสหรัฐ อังกฤษและอิสราเอล อย่าไปหาเลยว่าใครผิดใครถูก เอาเป็นว่าการที่โลกอิสลามทั้งในชาติมุสลิมและมิใช่มุสลิมช่วยกันคัดค้านรวมทั้งประณามความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการย้ายสถานทูตน่าจะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในเวลานี้ ทำมากกว่านี้คงไม่ได้

ในระยะยาวหากไม่ประสงค์จะเสียอัลกุดส์หรือเยรูซาเล็มให้อิสราเอลเป็นการถาวรทั้งทางการเมืองและทางการทูต โลกอิสลามต้องสร้างอำนาจต่อรองให้กับตนเอง เริ่มต้นด้วยทางการทูต ตามด้วยทางเศรษฐกิจ ส่วนในทางทหารนั้นกลัวว่าแทนที่จะรบกับอิสราเอล ชาติมุสลิมจะรบกันเองซะก่อน ทิศทางคล้ายจะเป็นอย่างนั้น บรรดากองเชียร์ที่อยู่นอกพื้นที่ทั้งหลายจึงต้องยั้งมือกันหน่อย