Skip to main content

การปรับแผนโรงไฟฟ้าในภาคใต้ในยุคขาลงของ คสช. "นี่คือการถอยกรูด หรือถอยเพื่อตั้งรับเตรียมการรุกกลับ"

ข่าวที่สำคัญข่าวหนึ่ง รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใหม่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ประกาศทบทวนแผนพลังงานไฟฟ้าของประเทศ สั่งชะลอการเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถอยกลับมาทบทวนและทำแผนใหม่

 เกิดอะไรขึ้น นี่คือการถอยจริงหรือ ชวนให้วิเคราะห์

บริบทการเมืองที่ต้องคำนึงคือ คสช.ยังติดลมบน รัฐประหารมาสามสี่ปีไร้ผลงาน จึงจะขอเป็นรัฐบาลในระบอบการเลือกตั้งเพื่อทำผลงาน (อันเป็นตรรกะที่ตลกสุดๆ) และเสียงภาคใต้นั้นมีความหมายต่อพรรคทหาร แต่ด้วยปัญหาราคายาง ราคาปาล์มและถ่านหิน คสช.เสียคะแนนทางใต้ไปมาก การตัดสินใจแผนพลังงานจึงน่าจะมีปัจจัยหวังคะแนนเสียงให้พรรคทหารมากำหนดด้วย

ชุดวิธีคิดเรื่องความมั่นคงพลังงานแบบเดิมๆยังแข็งปั๋ง สายทุนถ่านหิน ทุนฟอสซิลก๊าซธรรมชาติยังเป็นสายหลัก รมต.ศิริแม้จะดูที่มีท่าทีอ่อนลง แต่ไม่เคยพูดแข็งขันถึงนโยบายโซลาร์รูฟและ net-metering ส่งเสริมให้ประชาชนและเอกชนพึ่งตนเองด้านพลังงาน รมต.มาจากสายเชื่อมั่นในฟอสซิล แน่นอนพลังงานสะอาดยังไม่อยู่ในใจ อย่างมากก็แค่ดาราประกอบ

การ "ชะลอ" ก็เพียงวลีที่บอกว่า ถอนคันเร่ง แต่ยังไม่ได้เหยียบเบรคและหันหัวพวงมาลัยกลับหลังหัน การประกาศชะลอในยามพ่ายศึก เป็นแท็กติกที่สำคัญ ขืนดันเดินหน้าหัวชนฝา สายถ่านหินอาจล้มทั้งกระบวน ลามมาถึงการล้มรัฐบาล การชะลอจึงไม่อาจแปลได้ว่าชะลอจริง แต่น่าจะหมายถึงการชะลอเพื่อลดกระแสการคัดค้านถ่านหิน ให้รัฐบาลโดนด่าน้อยลงต่างหาก และเผื่อเก็บสะสมแต้มให้พรรคทหารได้มากขึ้น

การ "สั่งให้ กฟผ.ไปทบทวนทำแผนมาใหม่" ด้วยความเป็น กฟผ. สุดท้ายหากจะประนีประนอมสุดๆ ยอมตัดโรงไฟฟ้าถ่านหินสักแห่ง แต่แน่นอนว่าจะยังยืนยันสร้างอีกแห่ง ระหว่างกระบี่ 800 เมกะวัตต์และต้องเริ่ม EHIA นับหนึ่งใหม่ กับ สร้างโรงไฟฟ้าเทพา 2,200 เมกะวัตต์ โดย EHIA เสร็จสมบูรณ์แล้วแค่รอส่ง คำตอบก็ชัดแล้วว่า หากเลือกที่จะเหลือ 1 แห่งนั้น จะคงที่ใดไว้ ในความเป็นจริง การจะสร้างเทพาครั้งเดียว 2,200 เมกะวัตต์อันใหญ่โตมโหฬารนี้ ก็ได้คำนวณสร้างเผื่อโรงไฟฟ้าอื่นที่สร้างไม่ได้อยู่แล้ว เหมืองถ่านหินก็ไปลงหุ้นไว้แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่ได้หมดไป จะยังคงอยู่ในแผนอย่างแน่นอน

ด้วยการเคลื่อนไหวของกระแสสีเขียวของพี่น้องคนใต้ที่เดินหน้ากล้าชนด้วยข้อมูลและชุดความคิดที่ปกป้องฐานทรัพยากร ไม่ได้เน้นการล็อบบี้หรือต่อรองผลประโยชน์ ทำให้กระแสสีเขียวเข้มแข็งเติบโต วันนี้แม้รัฐจะผ่อนสั่งชะลอถอนคันเร่งลง ภาคประชาชนยิ่งต้องเร่งเดินหน้า เปิดโปงความไม่เป็นธรรมที่ผ่านมา ขยายเครือข่ายและมวลชน อีกไม่นานรัฐจะรุกกลับ

รัฐ คสช.มีฐานคิดที่มุ่งขยายรัฐราชการให้เกรียงไกร ให้ราชการอันผุพังเป็นกลไกนำพาประเทศ การกระจายอำนาจและมีส่วนของภาคประชาชนในการกำหนดอนาคตตนเองนั้นไม่อยู่ในสมการ มีบ้างก็เป็นเพียงพิธีกรรม การชะลอครั้งนี้ จึงเป็นการถอยเพื่อรุกกลับ

ผมมั่นใจ รอดูต่อไปว่าหมอเดาอย่างผมจะแม่นแค่ไหน ว่านี่คือการถอยเพื่อรุกกลับ

22 ธันวาคม 2560