Skip to main content

 

สัมพันธ์ตุรกี - อิสราเอลกับปัญหาปาเลสไตน์

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เขียนบทความเพราะต้องใช้เวลากับการเขียนงานเรื่องแนวคิดสุดโต่ง (Extremism) แต่เนื่องจากมีเพื่อนหลายคนขอให้ผมอธิบายขยายความประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี-อิสราเอลหลังจากที่ผมให้สัมภาษณ์กับ อ. สุทธิชัย หยุ่นในรายการของ Nation TV ว่า “ตุรกีเองก็ทำการค้ากับอิสราเอล ถึงแม้ว่าจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลต่อกรณีปัญหาปาเลสไตน์” ผมเลยต้องขอใช้พื้นที่ตรงนี้สักนิดหน่อยเพื่อขยายความในประเด็นดังกล่าวให้เกิดความเข้าใจ

เท่าที่ติดตามจุดยืนและนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลตุรกียุคนี้ ผมเห็นว่ารัฐบาลตุรกียืนอยู่เคียงข้างชาวปาเลสไตน์อย่างเห็นได้ชัด แม้ขณะนี้ปาเลสไตน์จะแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่ายคือ ฮามาสที่ปกครองกาซ่า กับกลุ่มฟาตาห์ที่ปกครองเวสต์แบงก์ แต่ตุรกีก็มีความสัมพันธ์ที่ดีและสนับสนุนการดำเนินการของทั้ง 2 กลุ่มอย่างเปิดเผย 

อย่างเมื่อปลายปี 2014 ตุรกีก็ให้การต้อนรับการมาเยือนของ คอลิด มิชอัล แกนนำคนสำคัญของฮามาส อย่างสมเกียรติ ทั้ง ๆ ที่ฮามาสถือเป็นกลุ่มก่อการร้ายในสายตาของอิสราเอล สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร

Ahmet Davutoglu อดีตนายกรัฐมนตรีตุรกี กล่าวถึงการมาเยือนตุรกีของแกนนำกลุ่มฮามาสว่า ‘การต้อนรับคอลิด มิชอัล ที่เมืองคอนย่า (Konya) และความรักที่เราแสดงให้เขาเห็น ถือเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงการยืนอยู่เคียงข้างปาเลสไตน์ของพวกเรา และเราหวังว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส ในโอกาสต่อไปเช่นกัน” หลังจากนั้นไม่นานก็มีการเยือนตุรกีของฝ่ายฟาตาห์

แนวทางอย่างนี้ของตุรกีเป็นเรื่องที่ต่างจากหลายประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลาง เพราะขณะที่อียิปต์และซาอุดิอาระเบียเลือกที่จะยืนอยู่ข้างกลุ่มฟาตาห์ อิหร่านเลือกที่จะสนับสนุนตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอย่างกลุ่มฮามาส แต่ตุรกีกลับให้ความสำคัญกับทั้งฮามาสและฟาตาห์อย่างไม่แบ่งแยก แม้การมีสัมพันธ์แนบแน่นกับฮามาสจะทำให้อิสราเอลและชาติตะวันตกกระอักกระอ่วนที่จะคบหากับตุรกีก็ตาม

อิสราเอลเองกล่าวหาตุรกีว่าเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย เพราะให้ที่พักพิงแก่ศอเละห์ อัล-อะรูรี่ (Saleh al-Arouri) ซึ่งตามความเชื่อของอิสราเอล เป็นผู้ที่ลักพาตัวและสังหารเยาวชนอิสราเอล 3 คนเมื่อปี 2014 

ยิ่งกว่านั้น ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างตุรกี-อิสราเอลยังย้ำแย่ถึงขีดสุดเมื่อหน่วยคอมมานโดอิสราเอลได้สังหารประชาชนชาวตุรกี 7 คนในเรือบรรเทาทุกข์ Mavi Marmara ที่กำลังเคลื่อนเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าเมื่อปี 2010

นับจากนั้นมาตุรกีก็อยู่เบื้องหลังผลักดันสนับสนุนปาเลสไตน์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ จนปาเลสไตน์ได้รับการยอมรับความเป็นรัฐจากเสียงส่วนใหญ่มากกว่า 2 ใน 3 ของเวทีการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2012 อีกทั้งตุรกียังสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการทูตของฝ่ายปาเลสไตน์ในประเทศต่าง ๆ อีกด้วย เรื่องนี้ทำให้อิสราเอลและสหรัฐฯไม่พอใจยิ่ง

แต่ที่น่าแปลกก็คือ แม้ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี-อิสราเอลจะตกต่ำถึงขีดสุดในช่วงนั้น ปรากฏว่าตัวเลขการค้าการขายระหว่าง 2 ประเทศกลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต จนกระทั่งไปแตะอยู่ในจุดสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในปี 2014 

จากแต่ก่อนตัวเลขการค้าการขายทวิภาคีอยู่ที่ระดับ 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

อิสราเอลจำเป็นต้องค้าขายกับตุรกี เพราะไม่มีชาติอาหรับไหนในตะวันออกกลางกล้าจะมาติดต่อค้าขายกับอิสราเอลอย่างเปิดเผย ยิ่งเรื่องจะทำการค้ากับอิหร่านคงไม่ต้องพูดถึง ขณะเดียวกัน ตุรกีก็มีนโยบายให้อิสราเอลต้องพึ่งพาอาศัยตุรกีให้มากขึ้น อิสราเอลเองก็จำเป็นต้องเดินตามตุรกีไปในแนวทางนั้น 

ดูง่าย ๆ อย่างการวางท่อก๊าซจากอิสราเอลเข้าไปขายในยุโรป หากอิสราเอลไม่พิงพาตุรกี อิสราเอลคงต้องจ่ายเงินลงทุนมหาศาล (ประมาณ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อวางท่อก๊าซผ่านประเทศกรีซและไซปรัส ก่อนเอาไปขายในยุโรป แต่หากอิสราเอลวางท่อก๊าซผ่านตุรกี ค่าใช้จ่ายจะลดลงมาทันทีเหลือแค่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เมื่อเป็นอย่างนี้ ผมจึงพอเข้าใจแล้วว่า ทำไมหลังจากการปิดล้อมกาซ่ายาวนานหลายปีและหลังจากสงครามที่อิสราเอลถล่มกาซ่า เราจึงเห็นตุรกีเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการเปิดทางให้เข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูกาซ่าหลังสงคราม (ร่วมกับกาตาร์)

เห็นได้ชัดครับว่า การสร้างพลังต่อรองทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ประเทศมุสลิมต้องเร่งรีบดำเนินการ ยิ่งอิสราเอลต้องพึ่งพาเศรษฐกิจตุรกีมากเท่าใด ก็ยิ่งจะทำให้ตุรกีมีอิทธิพลในการแก้ปัญหาให้แก่ชาวปาเลสไตน์มากขึ้นเท่านั้น แม้ขณะนี้พลังต่อรองทางเศรษฐกิจของตุรกีที่มีเหนืออิสราเอลจะยังไม่ทรงพลังพอที่จะหยุดยั้งอิสราเอลจากการคุกคามสิทธิของชาวปาเลสไตน์ แต่ก็มีมากพอที่จะต่อรองเพื่อเข้าไปฟื้นฟูเยียวยาและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ชาวปาเลสไตน์ผู้ถูกปิดล้อมในกาซ่ามายาวนาน