Skip to main content

 

 

"สารพัดโรค" ที่ต้องเฝ้าระวังจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดเวทีตรวจสอบรายงาน EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ผมมาร่วมในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เนื้อหามีหลายประเด็นที่ผมให้ความเห็น แต่หัวใจคือ จุดบกพร่องว่าด้วยการศึกษาข้อมูลพื้นฐานหรือ base line ด้านสุขภาพของประชาชนรอบโรงไฟฟ้าจะนะเป็นรายบุคคล ครอบคลุมรัศมี 5 กิโลเมตร รวม 20,000 คน

ผมเสนอว่า ปัจจุบัน EHIA ทำเพียงการรวบรวมข้อมูลมือสอง (secondary data) จากระบบสาธารณสุข ว่ามีจำนวนป่วยแต่ละโรคกี่ครั้งกี่คน อัตราป่วยเป็นอย่างไร ซึ่งยังไม่พอ

สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ควรต้องสำรวจประชากรรอบที่ตั้งโรงไฟฟ้านั้นจริงจังว่า ปัจจุบันมีใครป่วยด้วยโรคอาจที่เกี่ยวเนื่องจากมลพิษและการพัฒนาบ้าง มีอัตราความชุก prevalence และอุบัติการณ์ incidence ในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีฐานทะเบียนกลุ่มป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงในปัจจุบันด้วย เพื่อที่จะได้มีข้อมูลพิ้นฐานสำหรับการเปรียบเทียบในอนาคต

โรคภัยไข้เจ็บที่ต้องดูได้แก่

- โรคมะเร็งทุกประเภท เพราะสารโลหะหนัก สาร hydrocarbon สาร PAH ล้วนเป็นสารก่อมะเร็ง

- โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง (cardio-cerebrovascular disease ) เพราะ ฝุ่น PM-2.5 สามารถก่อให้เกิดโรคได้

- โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ เพราะมลพิษทางอากาศและฝุ่น สามารถทำให้เกิดโรคได้

- โรคความผิดปกติทางพันธุกรรมของเด็กทารกแรกคลอด (congenital anomaly) เพราะสารมลพิษหลายตัวที่ใช้ในกระบวนการผลิต มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกแรกคลอดได้

- โรคที่เป็นกลุ่มความผิดปกติของการเรียนรู้ เช่น ออทิสติก ปัญญาอ่อน สมาธิสั้น หรือ learning disability อื่นๆ เพราะมลสารหลายชนิดสามารถทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้

- โรคเครียด โรคจิต โรคซึมเศร้า โรคความแปรปรวนทางจิต การฆ่าตัวตาย ควรได้รับการศึกษา เพราะการเปลี่ยนสภาพสังคมของเทพาไปอย่างสิ้นเชิงจากวิถีเดิมๆอาจทำให้เกิดโรคเหล่านี้ได้ สุขภาพจิตควรได้รับการ monitor ด้วย

- โรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง/หัวใจ/อัมพฤกษ์อัมพาต เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป สามารถเป็นปัจจัยเร่งและหนุนให้เกิดโรคเหล่านี้ได้

- โรคทางสังคมเช่น ภาวะการใช้สารเสพติด การแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ การเป็นโรคติดเหล้า (Alcoholism) การท้องไม่พร้อม ซึ่งเป็นสุขภาวะด้านสังคม ก็ควรได้รับศึกษาเป็น baseline เช่นกัน

 

การศึกษาดังกล่าวก็เพื่อว่าในอนาคต อีก 5 ปี 10ปีมีการสำรวจซ้ำ จะได้พอจะบอกได้ว่า ถ่านหินสะอาดจริงหรือไม่

 

ในภาพอาจจะมี 2 คน, ผู้คนกำลังนั่ง และ สถานที่ในร่ม

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป